ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง

ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง (จีน: 唐山大兄; อังกฤษ: The Big Boss) หรือในชื่อสำหรับเวอร์ชันอเมริกา ฟิสท์ออฟฟิวรี่ (อังกฤษ: Fists Of Fury) เป็นภาพยนตร์แอ็คชั่นของฮ่องกง จัดฉายขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1971 โดยเป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่เรื่องแรกของบรูซ ลี ซึ่งสถานที่ถ่ายทำอยู่ในประเทศไทยตลอดทั้งเรื่อง นับเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ส่งผลให้บรูซลีมีชื่อเสียง และโด่งดังที่สุดในยุคนั้น[2][3]

ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง
โปสเตอร์ภาพยนตร์ฉบับฮ่องกง
กำกับหลอ เว่ย
เขียนบทบรูซ ลี
หลอ เว่ย
อำนวยการสร้างเรย์มอนด์ เชา
นักแสดงนำบรูซ ลี
มาเรีย ยี่
เจมส์ เทียน
หยินชี หาน
โทนี่ หลิว
ดนตรีประกอบหวัง ฟู่หลิง
(ต้นฉบับภาษาจีนกลาง)
ปีเตอร์ โธมัส
(เวอร์ชันภาษาอังกฤษ)
โจเซฟ คู
(เวอร์ชันภาษากวางตุ้งฉบับทำใหม่)
ผู้จัดจำหน่ายโกลเด้นฮาเวสท์
วันฉายฮ่องกง:
3 ตุลาคม ค.ศ. 1971
ความยาว110 นาที
ประเทศฮ่องกง
ภาษาจีนกลาง
กวางตุ้งมาตรฐาน
ทำเงิน3,197,417 ดอลลาร์ฮ่องกง
อเมริกาเหนือ:
2,800,000 ดอลลาร์ (ค่าเช่าในสหรัฐอเมริกา/แคนาดา)[1]

เนื้อเรื่องย่อ แก้

เฉาอัน ชายหนุ่มชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ เขาพักอาศัยอยู่กับลุงและเหล่าคนงานในโรงงานผลิตน้ำแข็งของเถ้าแก่หาว และแล้วเมื่อได้มีเหตุการณ์น้ำแข็งแตก ก็ได้พบว่ามียาเสพติดซ่อนอยู่ข้างใน ที่ซึ่งแท้จริงแล้ว โรงงานแห่งนี้เป็นเพียงฉากบังหน้าของการลักลอบขนยาเสพติดที่นำโดยเถ้าแก่หาว พวกคนงานต่างปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ พวกเขาจึงถูกสังหารและทำลายหลักฐาน

ครั้นเมื่อลูกพี่ลูกน้องสองคนได้รับการส่งไปยังบ้านของเถ้าแก่หาวก็ได้ถูกสังหาร และเหล่าชายฉกรรจ์ได้ก่อการจลาจลที่โรงงาน เพื่อบรรเทาความตรึงเครียด จึงได้มีการแต่งตั้งให้เฉาอันขึ้นเป็นหัวหน้า พร้อมกับจัดหาเครื่องดื่มและสาว ๆ ให้ ครั้นเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งได้บอกความจริงแก่เฉาอัน เขาก็ได้เข้าไปในโรงงานในเวลากลางคืน และได้พบกับร่างที่ไร้วิญญาณของลูกพี่ลูกน้อง แล้วเขาก็ถูกพบตัวโดยเหล่าแก๊งอันธพาล

เฉาอันได้ทำการต่อสู้เพื่อหาทางออก และได้สังหารลูกชายของเถ้าแก่หาว เมื่อเขากลับถึงบ้าน เขาก็พบว่าทั้งครอบครัวของเขาได้ถูกฆ่าตาย และเขาได้ตั้งใจที่จะล้างแค้นด้วยการกำจัดเถ้าแก่หาวในการต่อสู้ครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นเขาก็ได้ยอมมอบตัวกับทางตำรวจไทย ที่ได้เดินทางมาถึงหลังจากที่เขาได้โค่นล้มเจ้านายใหญ่ลง

นักแสดงนำ แก้

การถ่ายทำ แก้

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 บรู๊ซลีบินจากลอสแอนเจลิสมาถึงกรุงเทพ โดยจะแวะที่ฮ่องกงก่อน แต่เรย์มอนด์ เชา -ผู้อำนวยการสร้าง เป็นกังวลว่าทางชอว์บราเดอร์ส อาจแอบไปยื่นข้อเสนอด้านผลประโยชน์ฉบับใหม่กับตัวบรู๊ซลี เชาจึงต้องการให้บรู๊ซลีบินตรงมาที่กรุงเทพเลย แต่บรู๊ซลีปฏิเสธโดยแวะที่ฮ่องกงก่อนช่วงสั้น ๆ เพื่อพบปะทักทายเพื่อนและใช้โทรศัพท์[4] บรู๊ซลีพักอยู่ที่กรุงเทพ 5 คืน พบปะกับนักแสดงท่านอื่นและทีมงานเกือบทั้งหมด รวมทั้งพบเรย์มอนด์ เชาเป็นครั้งแรก[5]

การถ่ายทำเริ่มต้นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2514 ที่อำเภอปากช่อง และการที่บรู๊ซลีต้องพักอยู่ที่ปากช่องถึง 4 สัปดาห์ บรู๊ซลีแสดงความไม่ชอบใจในสถานที่ผ่านทางจดหมาย ที่ตัวเขาเองเขียนถึงลินดา(Linda Lee Cadwell - ภรรยาของบรู๊ซลี) โดยบอกว่าที่นี่เหมือนไม่มีกฎหมาย เป็นหมู่บ้านซอมซ่อ ไร้การพัฒนา และเนื่องด้วยไม่มีอาหารสดรับประทาน ทำให้น้ำหนักตัวของบรู๊ซลีลดลง บรู๊ซลีต้องรับประทานเนื้อกระป๋องและวิตามินเสริม ซึ่งในส่วนนี้ตัวเขาจัดเตรียมมาเอง มีบางครั้งที่บรู๊ซลีไม่สามารถเปล่งเสียงได้ ในเวลาที่ต้องตะโกนในกองถ่าย มียุงและแมลงสาบชุกชุม น้ำประปาที่โรงแรมก็มีสีเหลืองขุ่น[6][7][8] บรู๊ซลีขอให้พนักงานโรงแรมยกที่นอนลงมาวางไว้บนพื้นห้อง เพราะการนอนบนเตียงเป็นปัญหากับสุขภาพหลังของเขา[9] บรู๊ซลีต้องการนอนพักผ่อนให้มาก หลังจากที่ต้องเข้าฉากคิวบู๊[10]

ตอนที่บรู๊ซลีมาถึงปากช่อง เหล่าบรรดาตัวแทนจากบริษัทคู่แข่งของโกลเดนฮาร์เวสต์ รวมทั้งชอว์บราเดอร์สด้วย ต่างพยายามให้บรู๊ซลีตีตนออกห่างจากโกลเดนฮาร์เวสต์ ด้วยการยื่นข้อเสนอผลประโยชน์ใหม่ที่ดีกว่า มีแม้กระทั่งผู้อำนวยการสร้างจากจีนไทเป เสนอให้บรู๊ซลีฉีกสัญญากับโกลเดนฮาร์เวสต์ทิ้ง โดยจะเป็นคนดูแลเรื่องข้อกฎหมายให้เอง บรู๊ซลีซึ่งเป็นคนรักษาคำพูดจึงไม่สนใจในข้อเสนอใหม่เหล่านั้น ถึงแม้ตัวเขาเองจะต้องพบความตึงเครียดเนื่องจากสถานที่ถ่ายทำอยู่ ณ เวลานั้นก็ตาม [11][12]

การถ่ายทำเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นในช่วงแรก ๆ เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวผู้กำกับจาก Wu Chia Hsiang ไปเป็นหลอ เว่ย (สามีของ Liu Liang Hua หนึ่งในสองผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้าง)[13] ทำให้ในช่วงแรก ๆ บรู๊ซลีไม่แน่ใจในตัวหลอ เว่ย เห็นได้จากจดหมายที่เขาเขียนถึงลินดา ระบุว่านายคนนี้เป็นพวก "ชอบเอาหน้า" และยังเป็น "คนจำพวกเห็นใครเหนือกว่าไม่ได้" [14][15]

บรู๊ซลีถูกแก้วบาดมือขวาขณะล้าง บาดแผลมีขนาดเย็บ 10 เข็ม[16][17] ทำให้ต้องแปะพลาสเตอร์ขนาดใหญ่ในขณะถ่ายทำ ซึ่งปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะฉากที่ถ่ายทำที่โรงน้ำแข็งธรรมรงค์ไทย อันเป็นสถานที่ถ่ายทำลำดับแรกในปากช่อง โดย Fatty Ma มีผู้ช่วยประสานงานกับเจ้าของโรงน้ำแข็ง ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ถ่ายทำได้ 2-3 วัน[18]

คืนหนึ่ง การถ่ายคิวบู๊ที่โรงน้ำแข็งต้องหยุดไปเป็นชั่วโมง เนื่องจากคอนแทคเลนส์ของบรู๊ซลีหล่นหาย คนจำนวนหนึ่งโหลต้องคลานกับพื้นเพื่อช่วยกันหาท่ามกลางก้อนน้ำแข็งนับพันก้อน ท้ายที่สุดบรู๊ซลีก็หาพบเอง ในขณะที่หลอ เว่ยสงสัยว่าจริงแล้วมันอยู่ในกระเป๋าของบรู๊ซมาตลอดหรือไม่ และนั่นเป็นเหตุจงใจที่จะก่อกวนกองถ่าย[19]

นอกจากโรงน้ำแข็งแล้ว ยังมีการถ่ายทำในสถานที่อื่นอีกเช่นลำตะคอง (ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล) และซ่องนางโลมในพื้นที่ (โรงแรมมิตรสัมพัน)ซึ่งต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ แต่ฉากในห้องนอนไปถ่ายทำที่บังกะโลริมน้ำ เป็นของเจ้าของเดียวกันกับโรงแรมนิววันชัย (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ริมธารอินน์) และที่นี่ก็เป็นที่พักของกองถ่าย เนื่องจากห้องพักของซ่องนางโลมมีกลิ่นสกปรกและไม่สะอาด อัตราค่าซื้อบริการจากโสเภณีในเวลานั้นคือ 15 บาทต่อครั้ง แต่กองถ่ายจ่ายให้ 100 ถึง 200 บาทเพื่อมาร่วมเข้าฉาก[20]

หนึ่งในสถานที่โดดเด่นและถูกอุปโลกน์ว่าเป็นคฤหาสน์และสวนของหัวหน้าใหญ่ คือวัดศิริสัมพันธ์ (วัดสำเพาอุปถัมภ์)[21] สร้างในปี พ.ศ. 2506[22] ซึ่งยังคงรักษารูปลักษณ์ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก เพื่อคงความประทับใจให้กับเหล่านักท่องเที่ยว นักแสวงบุญ ได้พบเห็นสถานที่ถ่ายทำดั้งเดิม[23]

มีการคาดเดากันว่าบรู๊ซลีลงมือต่อสู้จริง ๆ ในฉากบู๊หัวหน้าใหญ่ จากภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่อง Dragon: The Bruce Lee Story ออกฉายในปี 1993 ถึงแม้ว่าการต่อสู้นั้นจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง บรู๊ซลีก็ได้ลองประมือกับสตั๊นแมนคนไทย (หนึ่งในนั้นคืออดีตแชมป์มวยไทยรุ่นแบนตั้มเวท) มีการแลกเปลี่ยนทักษะกันระหว่างการถ่ายทำ แต่กระนั้นบรู๊ซลีดูเหมือนไม่ประทับใจนัก อีกทั้งยังเรียกท่าเตะของสตั๊นแมนว่า "ส่งโทรเลข (telegraphed)" ส่วนทีมสตั๊นแมนจากฮ่องกง (หลิน เจิ้งอิง และพี่น้อง บิลลี่ ฉาน ปีเตอร์ ฉาน หลุง) เริ่มไม่ประทับใจในตัวบรู๊ซลี อีกทั้งยังสงสัยในทักษะของเขาอีกด้วย แต่ความคิดเหล่านั้นก็เปลี่ยนไป เมื่อลัมท้าประลองกับบรู๊ซลีในโรงแรม และก็ถูกบรู๊ซลีเตะออกนอกห้อง[24]

หลังจากความฉุกระหุกในช่วงแรกของการถ่ายทำที่ปากช่อง ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2514 การถ่ายทำก็ไหลรื่น บรู๊ซลีกับหลอ เว่ยร่วมมือทำงานกันด้วยดี แต่ยังมีความไม่ลงรอยกันบ้างในบางฉาก โดยเฉพาะการใช้แทมโพลีนและฟูกที่นอนในการช่วยส่งให้ตัวแสดงลอยตัวสูงในอากาศ และฉากที่บรู๊ซลีเล่นงานตัวแสดงเป็นสมุนหัวหน้าใหญ่ทะลุผนัง และมีการตบแต่งให้ผนังทะลุเป็นรูปร่างคน[25] บรู๊ซลียังไม่ยอมรับความคิดของหลอ เว่ย ในการถ่ายทำฉากเข้าพระเข้านาง กับนักแสดงที่รับบทโสเภณี แต่ท้ายที่สุดก็ยินยอมทำตามคำยืนกรานของหลอ เว่ย ที่ต้องการสร้างภาพตัวละครในมิติใหม่ เป็นนักสู้ที่ถูกผลักดันด้วยแรงแค้น

ฉากสุดท้ายที่เป็นการต่อสู้กับตัวหัวหน้าใหญ่ (แสดงโดยหาน หยินชี และยังเป็นผู้ออกแบบท่าต่อสู้ในภาพยนตร์ให้อีกด้วย) โดยถ่ายทำกันที่ปากช่อง ซึ่งต้องประสบกับปัญหา"นรกสองวัน" บรู๊ซลีกัดฟันสู้กับอาการบาดเจ็บข้อเท้า อันเนื่องมาจากต้องกระโดดลอยตัวขึ้นสูงและตกลงมาลื่นลงบนฟูกที่นอน และถูกนำตัวเข้าพบแพทย์ที่กรุงเทพทันที ตามมาด้วยการติดเชื้อไวรัสเนื่องจากอากาศร้อนและแออัด ต้องใช้วิธีถ่ายเจาะใกล้ (Close-ups) เพื่อให้ฉากต่อสู้นั้นจบโดยสมบูรณ์ ในขณะที่บรู๊ซลีต้องใช้สภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์เข้าถ่ายทำด้วยอาการเหนื่อยล้า [26][27][28]

12 วันสุดท้ายในเดือนสิงหาคม นักแสดงและทีมงานยกกองถ่ายมาที่กรุงเทพ บรู๊ซลีได้รับความสะดวกสบายในโรงแรม เป็นความหรูหราที่เขาไม่ได้รับจากปากช่อง [29][30] ฉากปาร์ตี้มื้อค่ำถ่ายทำที่ห้องด้านหลังของภัตราคารพูลสิน สาขาที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงแรมนั่นเอง[31][32] มีอีก 2-3 ฉากถ่ายทำกันริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอพระประแดง รวมทั้งฉากเปิดที่บรู๊ซลีกับคุณลุงก้าวขึ้นจากเรือข้ามฟากและเดินออกมาจากท่าเทียบเรือ บ้านไม้สักโบราณที่ตั้งอยู่ที่พระประแดง ถูกอุปโลกน์เป็นบ้านของครอบครัว รวมไปถึงถ่ายทำฉากต่อสู้ครั้งแรกของลูกพี่ลูกน้องเฉาอัน โดยมีเหมียวเข่อซิ่วที่แสดงเป็นแม่ค้าขายน้ำแข็งไส ร่วมเข้าฉากด้วยในฐานะนักแสดงรับเชิญ โดยเลือกเอามุมด้านตะวันตกที่คล้ายคลึงกันกับปากช่อง[33] เนื่องจากกองถ่ายประสบปัญหาฝนตกหนัก[34]

ทีมงานกองถ่ายเดินทางกลับฮ่องกงวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2514 มีการถ่ายทำเพิ่มเติมที่สนามกอล์ฟรอยัลฮ่องกง เพื่อมาใช้เป็นฉากแทรก(insert shot) เช่นฉากหลบหลีกสุนัข และฉากต่อสู้กับหัวหน้าใหญ่ ต่อมามีการตัดฉากต่อสู้ที่มีรถเข็นในตรอกทิ้งไป โดยทำกันที่เวเดอร์สตูดิโอในฮ่องกง เนื่องจากในเวลานั้น โกลเดนฮาร์เวสต์ยังไม่ได้ก่อตั้งสตูดิโออันมีชื่อเสียงที่ถนนแฮมเมอร์ฮิลล์[35]

อ้างอิง แก้

  1. "Big Rental Films of 1973", Variety, 9 January 1974 p 19
  2. ข้อมูลภาพยนตร์ (อังกฤษ)
  3. ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง (จีน)
  4. Lee, Linda; Bleecker, Tom (1989). The Bruce Lee Story. Ohara Publications, Inc.(อังกฤษ)
  5. Kerridge, Steve; Chua, Darren (2018). Bruce Lee: Mandarin Superstar. On The Fly Productions Ltd.(อังกฤษ)
  6. Lee, Linda; Bleecker, Tom (1989). The Bruce Lee Story. Ohara Publications, Inc.(อังกฤษ)
  7. Lee, Linda (1975). Bruce Lee: The Man Only I Knew. Warner Paperback Library.(อังกฤษ)
  8. Little, John (1998). Bruce Lee: Letters of the Dragon. Tuttle Publishing.(อังกฤษ)
  9. Kerridge, Steve; Chua, Darren (2018). Bruce Lee: Mandarin Superstar. On The Fly Productions Ltd.(อังกฤษ)
  10. Lee, Linda (1975). Bruce Lee: The Man Only I Knew. Warner Paperback Library.(อังกฤษ)
  11. Lee, Linda; Bleecker, Tom (1989). The Bruce Lee Story. Ohara Publications, Inc.(อังกฤษ)
  12. Lee, Linda (1975). Bruce Lee: The Man Only I Knew. Warner Paperback Library.(อังกฤษ)
  13. Lee, Linda (1975). Bruce Lee: The Man Only I Knew. Warner Paperback Library.(อังกฤษ)
  14. Lee, Linda; Bleecker, Tom (1989). The Bruce Lee Story. Ohara Publications, Inc.(อังกฤษ)
  15. Lee, Linda (1975). Bruce Lee: The Man Only I Knew. Warner Paperback Library.(อังกฤษ)
  16. Lee, Linda (1975). Bruce Lee: The Man Only I Knew. Warner Paperback Library.(อังกฤษ)
  17. Little, John (1998). Bruce Lee: Letters of the Dragon. Tuttle Publishing.(อังกฤษ)
  18. Kerridge, Steve; Chua, Darren (2018). Bruce Lee: Mandarin Superstar. On The Fly Productions Ltd.(อังกฤษ)
  19. Clouse, Robert (1988). Bruce Lee: The Biography. Unique Publications.(อังกฤษ)
  20. Kerridge, Steve; Chua, Darren (2018). Bruce Lee: Mandarin Superstar. On The Fly Productions Ltd.(อังกฤษ)
  21. Geo coordinates
  22. Kerridge, Steve; Chua, Darren (2018). Bruce Lee: Mandarin Superstar. On The Fly Productions Ltd.(อังกฤษ)
  23. In Pursuit of the Dragon (2012 documentary) by John Little.(อังกฤษ)
  24. Kerridge, Steve; Chua, Darren (2018). Bruce Lee: Mandarin Superstar. On The Fly Productions Ltd.(อังกฤษ)
  25. Bruce Lee in The Big Boss published by Bruce Lee JKD Club (1980)(อังกฤษ)
  26. Lee, Linda; Bleecker, Tom (1989). The Bruce Lee Story. Ohara Publications, Inc.(อังกฤษ)
  27. Lee, Linda (1975). Bruce Lee: The Man Only I Knew. Warner Paperback Library.(อังกฤษ)
  28. Little, John (1998). Bruce Lee: Letters of the Dragon. Tuttle Publishing.(อังกฤษ)
  29. Lee, Linda; Bleecker, Tom (1989). The Bruce Lee Story. Ohara Publications, Inc.(อังกฤษ)
  30. Lee, Linda (1975). Bruce Lee: The Man Only I Knew. Warner Paperback Library.(อังกฤษ)
  31. Kerridge, Steve; Chua, Darren (2018). Bruce Lee: Mandarin Superstar. On The Fly Productions Ltd.(อังกฤษ)
  32. Kerridge, Steve; Chua, Darren (2018). Bruce Lee: Mandarin Superstar. On The Fly Productions Ltd.(อังกฤษ)
  33. Kerridge, Steve; Chua, Darren (2018). Bruce Lee: Mandarin Superstar. On The Fly Productions Ltd.(อังกฤษ)
  34. Little, John (1998). Bruce Lee: Letters of the Dragon. Tuttle Publishing.(อังกฤษ)
  35. Kerridge, Steve; Chua, Darren (2018). Bruce Lee: Mandarin Superstar. On The Fly Productions Ltd.(อังกฤษ)

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้