ไทยเชื้อสายเปอร์เซีย

ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซีย หรือบางครั้งอาจถูกเรียกว่า แขกมะหง่น[2], แขกมะหง่อน, แขกมห่น, แขกมะห่น (ตรงกับคำว่า โมกุล) หรือ แขกเจ้าเซ็น (มุสลิมชีอะห์) หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นอย่างน้อย บรรพชนของพวกเขาสมรสกับหญิงพื้นเมืองในอินเดียลงมา กลายเป็นชาติพันธุ์ลูกผสมซึ่งชาวตะวันตกในยุคนั้นเรียกว่า มัวร์ ก่อนอพยพมาตั้งรกรากในดินแดนไทย[3][4] นับเป็นประชาคมที่มีความสำคัญชุมชนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เบื้องต้นเข้ามาประกอบกิจเป็นพ่อค้า ภายหลังเข้ารับราชการเป็นขุนนางระดับสูง ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้ากรมท่าขวา อัครมหาเสนาบดี เจ้าเมือง สมุหกลาโหม หรือขันที[5] หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในฝั่งธนบุรีเป็นสำคัญ มีมัสยิดสำคัญประจำชุมชนคือ มัสยิดกุฎีหลวง กุฎีเจริญพาศน์ มัสยิดดิลฟัลลาห์ และมัสยิดผดุงธรรมอิสลาม[6]

ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซีย
มะหง่น/มห่น/แขกเจ้าเซ็น
เจ้านายฝ่ายในที่สืบเชื้อสายจากสกุลบุนนาค
ประชากรทั้งหมด
ไม่มีข้อมูล
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ไทย ประเทศไทย
ภาษา
ภาษาไทย
ศาสนา
ส่วนใหญ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
ส่วนน้อยศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์
อดีต ศาสนายูดาห์และโซโรอัสเตอร์[1]

ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม โดยกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ตั้งถิ่นฐานแถบฝั่งเขตธนบุรี, เขตยานนาวา, เขตบึงกุ่ม, เขตสะพานสูง, เขตมีนบุรี และบางส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทราเท่านั้น เช่น สกุลอหะหมัดจุฬา อากาหยี่ และนนทเกษ[7] ส่วนกลุ่มที่หันไปนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท คือ สกุลบุนนาค บุรานนท์ ศุภมิตร และศรีเพ็ญ แม้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนไทย แต่พวกเขายังกุมอำนาจและส่งต่อการพัฒนาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมได้ต่อเนื่องยาวนาน[8]

ประวัติ แก้

 
สุสานของเฉกอะหมัด ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

ชาวเปอร์เซียกลุ่มแรกได้เข้าไปตั้งชุมชนในเมืองมะริดและตะนาวศรีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16[9] ก่อนขยับขยายไปตั้งชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในกรุงศรีอยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพราะที่นั่นเป็นเมืองท่าที่เชื่อมการค้าระหว่างเดกกันกับเอเชียตะวันออก[10] นอกจากการเป็นพ่อค้าสำเภาแล้ว ชาวเปอร์เซียในกรุงศรีอยุธยายังประกอบอาชีพอย่างหลากหลาย เช่น สถาปนิก, ช่างฝีมือ, นักปราชญ์ และกวี[11] ซึ่งขณะนั้นยังเป็นหัวเมืองฝั่งมหาสมุทรอินเดียใต้อิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา โดยชาวเปอร์เซียที่มีชื่อเสียงที่สุดคือเฉกอะหมัด เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2086 ที่ตำบลปาอีเนะชาฮาร เมืองกุม[12] ได้เข้ามาในสยามในฐานะพ่อค้าเมื่อครั้งรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจจนมีฐานะมั่นคงและได้เข้ารับราชการในตำแหน่งกรมท่าขวาดูแลกิจการการค้ากับพ่อค้าชาวมุสลิม จนได้รับการแต่งตั้งเป็นพระยาบวรราชนายก ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง และลูกหลานของเขาก็มีบทบาทในตำแหน่งกรมท่าขวาเรื่อยมา[7] จนกระทั่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ตำแหน่งดังกล่าวจึงตกเป็นฝ่ายซุนนีย์ เฉกอะหมัด เป็นบรรพบุรุษของสกุลบุนนาค อหะหมัดจุฬา อากาหยี่ และนนทเกษ เป็นต้น[7]

นอกจากผู้สืบเชื้อสายจากเฉกอะหมัดแล้ว ก็ยังมีคนเชื้อสายเปอร์เซียคนอื่น ๆ มีบทบาทในระดับสูงเช่นกัน โดยในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็มี อากามูฮัมหมัด อัครเสนาบดี, เจ้าพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา และเจ้าพระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ก็มีเชื้อสายเปอร์เซียเช่นกัน[13]

ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีลูกหลานของเฉกอะหมัดคือ พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ที่เป็นข้าราชการใกล้ชิดในตำแหน่งจางวางกรมล้อมพระราชวัง ทุกครั้งเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จไปไหนเขาก็จะตามเสด็จด้วย แต่ต่อมาพระยาเพ็ชรพิไชยไม่มีชื่อในหมายตามเสด็จเมื่อครั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปนมัสการพระพุทธบาท พระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการ "พระยาเพ็ชรพิไชยเปนแขกเปนเหลื่อ ก็ให้สละเพศแขกเสีย มาเข้ารีตรับศีลทางไทยในพระพุทธศาสนา"[14] พระยาเพ็ชรพิไชยจึงสนองพระบรมราชโองการ และปฏิญาณเป็นชาวพุทธ จึงมีการแยกฝ่ายที่นับถือพุทธและอิสลามเกิดขึ้นตั้งแต่นั้น[14]

การตั้งถิ่นฐาน แก้

 
ครอบครัวของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม) ขุนนางจากสกุลบุนนาคในยุครัตนโกสินทร์

เฉกอะหมัดได้เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมด้วยน้องชายชื่อ มะหะหมัดสะอิด โดยเข้ามาตั้งภูมิลำเนาท้ายเกาะอยุธยาเรียกว่าท่ากายี และละแวกที่แขกสองพี่น้องตั้งถิ่นฐานนั้น ชาวบ้านเรียกว่า บ้านแขก[15] เฉกอะหมัดได้สมรสกับสตรีชาวไทยชื่อเชยมีบุตรด้วยกันสามคน ต่อมาเฉกอะหมัดได้สร้างกุฎี และขยายสุสาน ซึ่งปัจจุบันรากฐานของกุฎีดังกล่าวได้ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา[16]

ชาวเปอร์เซียในอยุธยาสร้างบ้านเรือนเป็นตึกก่อปูนหลังคามุงกระเบื้อง โดยจะคับคั่งทางฝั่งคลองประตูจีนด้านทิศตะวันตก กำแพงเมืองด้านทิศใต้เกาะเมืองอยุธยาซึ่งอยู่ระหว่างประตูจีนกับประตูชัย เรียกว่าคลองประตูเทพหมี ซึ่งในแผนที่กรุงศรีอยุธยาเรียกว่าประตูเทพสมี ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่ของทั้งชาวอาหรับและเปอร์เซีย ในหนังสือแผนที่กรุงศรีอยุธยาเรียกว่าถนนบ้านแขก และชุมชนบ้านแขกทางฝั่งตะวันตกของคลองประตูจีนมีถนนตัดผ่านกลาง ซึ่งเป็นชุมชนชีอะฮ์เสียส่วนใหญ่น่าที่จะเป็นชาวเปอร์เซีย[17]

เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียบางส่วนถูกกวาดต้อนพร้อมกับเชลยชาวไทยเชื้อสายอื่น ๆ ไปยังประเทศพม่า[18] ส่วนชาวเปอร์เซียที่ยังเหลืออยู่ได้เดินทางเข้าสู่กรุงธนบุรี โดยที่ตั้งถิ่นฐานที่เก่าแก่ของชาวชีอะฮ์คือ บริเวณคลองบางกอกใหญ่และคลองบางกอกน้อย[11] มีศาสนสถานสำคัญเช่น กุฎีเจริญพาศน์ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นสถานที่มีสมาชิกหนาแน่นกว่าที่อื่น ๆ[7] นอกจากนี้ยังมีชุมชนของชาวชีอะฮ์อีก เช่น กุฎีหลวง, กุฎีดิลฟัลลาห์ (กุฎีปลายนา) และสุเหร่าผดุงธรรม[19] ในอดีตมีกุฎีที่บ้านบางหลวง ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันชาวชีอะฮ์ที่นั่นได้ย้ายตั้งถิ่นฐานที่บ้านทวาย เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร[20]

ส่วนชาวเปอร์เซียที่อพยพจากประเทศอิหร่านในสมัยหลังมานี้ ส่วนใหญ่อาศัยแถบซอยนานา กรุงเทพมหานคร[21]

ราวปี พ.ศ. 2548 มีการประมาณการว่ามีชาวมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซียอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครราว 600-800 คน[22]

วัฒนธรรม แก้

ไทยและเปอร์เซียมีความสัมพันธ์กับไทยมากว่า 400 ปี หากแต่ว่ามิได้พบหลักฐานเอกสารการมาของชาวเปอร์เซียที่ชัดเจนก่อนหน้า แต่ก็ยังพบโบราณวัตถุจำนวนมากเช่น กษาปณ์ ดวงตรา ลูกปัด และประติมากรรมต่างๆ ที่ชาวเปอร์เซียได้ทิ้งไว้[2] ตลอดหลายร้อยปีชาวเปอร์เซียได้ทิ้งร่องรอยทางวัฒนธรรม ภาษา สถาปัตยกรรม อาหารที่ตกทอดมาเนิ่นนานจนชาวไทยบางคนคิดว่าเป็นของไทยมาแต่ดั้งเดิม

ภาษา แก้

 
คณะราชทูตสยามสวมลอมพอก เจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียมีอิทธิพลต่อชาวมุสลิมในกรุงศรีอยุธยามาก ในเอกสารของเอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ แพทย์ชาวดัตช์ที่เข้าสู่กรุงศรีอยุธยาในยุคปลาย ระบุว่าภาษาเปอร์เซียเป็น 'ภาษากลาง' ของชาวมุสลิมในสยาม[23] ทว่าภาษาของพวกเขาเริ่มสูญหายเพราะขาดการติดต่อกับอิหร่านและโลกชีอะฮ์ใน พ.ศ. 2265 เป็นต้นมา หลังราชวงศ์ซาฟาวิดสิ้นอำนาจ และกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย[23] พวกเขาทิ้งมรดกทางภาษาไว้ เช่น คำว่า ปสาน ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งในสมัยสุโขทัย ซึ่งนักวิชาการให้ความเห็นว่ามาจากคำว่า บอซัร ในภาษาเปอร์เซียที่มีความหมายว่า ตลาดห้องแถว ตลาดขายของแห้ง[2] คำว่ากุหลาบ ที่ยืมมาจากคำว่า กุล้อบ (เปอร์เซีย: گل اب) ในภาษาเปอร์เซีย ที่มีความหมายเดิมว่า น้ำดอกไม้[24][25] และคำว่าคำว่า โมล์ค ที่แปลว่าไก่ แต่คนไทยมุสลิมกลับใช้เรียกเป็นข้าวหมก[26] คำว่า ภาษี มาจาก บัคซี ที่มีความหมายว่า "ของให้เปล่า ของกำนัล หรือรางวัล" และคำว่า สนม มาจากคำว่า ซะนานะฮ์[27] เป็นต้น

ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียสูญเสียอัตลักษณ์สำคัญทางชาติพันธุ์ เพราะชุมชนต้องปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมพหุวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครโดยถูกกลืนไปกับระบบการศึกษาและการติดต่อกับชุมชนอื่น ๆ และใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน[28] จากงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2545 พบว่าชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองได้น้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับชาวไทยมุสลิมกลุ่มอื่นในกรุงเทพมหานคร[29] กระนั้นชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียในฝั่งธนบุรียังคงรักษา "ศัพท์เฉพาะ" สำหรับสื่อสารกับคนในท้องถิ่น เช่น โขบ บุ่นด่า ลั่นดี ซ่าเหรี่ย บ้ะหล่า เป้ระหาน เป็นต้น[30]

เครื่องแต่งกาย แก้

 
ภาพการแต่งกายของแขกเจ้าเซ็นที่วัดบางขุนเทียนนอก

แม้แต่เครื่องแต่งกายอย่างลอมพอก ก็เป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของเปอร์เซีย ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผ้าโพกหัวของชาวมุสลิมกับชฎาของไทย โดยลอมพอกถือเป็นหมวกสำหรับขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในรัชกาลเดียวกันก็ได้ส่งราชทูตไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีในปี พ.ศ. 2229 ลอมพอกจึงเป็นที่สนใจของชาวฝรั่งเศสอย่างมาก[13]

ขณะเดียวสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็โปรดฉลองพระองค์อย่างชาวเปอร์เซียเช่นกัน[13] ในหนังสือสำเภากษัตริย์สุลัยมานของอิบนิ มูฮัมหมัด อิบราฮิม ได้กล่าวถึงสมเด็จพระนารายณ์ ความว่า "เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ทอดพระเนตรภาพพระราชวังคาข่าน รวมทั้งภาพวาดพระเจ้ากรุงอิหร่านก็ทรงสนพระทัย และเมื่อรับสั่งให้คณะราชทูตเข้าเฝ้าฯ มักเห็นพระนารายณ์ฉลองพระองค์ด้วยเสื้อผ้าอย่างอิหร่าน คือเสื้อคลุมยาว กางเกงขายาว เสื้อชั้นใน ถุงเท้ารองเท้า และเหน็บกริชเปอร์เซีย แต่พระองค์ไม่ได้คลุมผ้าบนพระเศียรดังเช่นแขกทั่วไป ด้วยเหตุที่ทรงหนัก"[13] นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเสวยอาหารเปอร์เซียอีกด้วย[13]

เดิมแขกเจ้าเซ็นมีอัตลักษณ์การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าลายยาวกรอมข้อเท้า สวมกางเกงขายาว และใช้ผ้าพันศีรษะ ปัจจุบันเหลืออัตลักษณ์เพียงอย่างเดียวคือสวมหมวกฉาก หรือหมวกกลีบ ที่ใส่ในช่วงพิธีเจ้าเซ็นเท่านั้น[31]

พิธีกรรม แก้

ชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียที่นับถือนิกายชีอะฮ์ มีพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญคือ พิธีเจ้าเซ็น ซึ่งทำพิธีถึง 11 วัน โดยหลังจากครบ 11 วันแล้ว ได้มีการทำบุญครบรอบวันตาย 3 วัน 7 วัน 15 วัน 30 วัน และ 40 วัน ตามลำดับ[32] พิธีกรรมดังกล่าวทำเพื่อระลึกถึงฮุเซน บุตรของอะลี ตลอดจนญาติคนอื่นๆที่ถูกลอบสังหารอย่างเหี้ยมโหดที่เมืองกัรบะลาอ์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก) ซึ่งเป็นที่มาของพิธีเจ้าเซ็น[33] เหตุที่เรียกว่าเจ้าเซ็นนั้นมาจากทำนองภาษาเปอร์เซีย ที่กล่าวว่า "ยาอิมาม ยาฮุเซ็น ชาอฮะซัน ยาฮุเซ็น ยาเมาลา ยาชะฮีต ชาคะลีย ยาฮุเซน" มีความหมายว่า "โอ้ท่านผู้นำ โอ้ท่านฮะซัน โอ้ท่านฮุเซ็น โอ้นายผู้เสียสละตามแนวทางพระเจ้า" คนในอดีตคงได้ยินคำว่า ยาฮุเซ็น ที่มีคนขานหนักแน่นมากกว่า จึงถูกเรียกว่าแขกเจ้าเซ็น[34]

ช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้มีหมายรับสั่งให้นำพิธีกรรมดังกล่าวไปถวายให้ทอดพระเนตรในพระบรมมหาราชวังหน้าพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ติดต่อกันถึงสองปี (ในปี พ.ศ. 2358 และ พ.ศ. 2359) และมีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จชมพิธีดังกล่าวอยู่เสมอ ครั้งหลังสุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทอดพระเนตร ณ กุฎีเจริญพาศน์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2496[35]

ในอดีตทุกคนต้องนุ่งดำ งดงานรื่นเริงและการกินเนื้อสัตว์ ทานอาหารเปเรส (อาหารเจ ที่ทำจากผัก) และผู้ชายต้องโกนหัวไว้ทุกข์ด้วย[36] ในประเทศไทยเองยังมีการควั่นหัว โดยใช้มีดโกนกรีดลงกลางศีรษะ ซึ่งผู้กรีดต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เดิมใช้มีเหล็กแหนบรถไฟ แต่ปัจจุบันได้ใช้มีดเยอรมันตราตุ๊กตาคู่ ซึ่งการควั่นหัวเป็นการบนบาน (เหนียต) ตั้งจิตระลึกถึงฮุเซน และเชื่อกันว่ายิ่งควั่นแล้วเลือดออกมากเท่าใดก็ยิ่งแสดงถึงความศรัทธา[37] แต่พิธีควั่นหัวดังกล่าวปรากฏในประเทศเลบานอน และซีเรีย ขณะที่ชาวชีอะฮ์ในประเทศปากีสถาน อินเดีย และพม่า มีเพียงการลุยไฟเท่านั้น[37] ส่วนในอิหร่านเองก็เคยมีการทรมานดังกล่าว แต่ภายหลังการปฏิวัติอิสลาม อยาตุลเลาะห์ โคมัยนีให้ยกเลิกพิธีกรรมดังกล่าว[38]

สถาปัตยกรรม แก้

 
โค้งซุ้มประตูพระนารายณ์ราชนิเวศน์ซึ่งโค้งยอดแหลมที่เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากเปอร์เซีย

เปอร์เซียในยุคราชวงศ์ซาฟาวิยะห์เป็นยุคที่รุ่งเรืองทางด้านศิลปกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานสถาปัตยกรรม ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้มีการส่งคณะทูตไปยังราชสำนักเปอร์เซียสมัยชาห์สุลัยมานแห่งราชวงศ์ซาฟาวิยะห์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อกันระหว่างสยามกับเปอร์เซีย[39] ในยุคนี้ไทยจึงมีการรับสถาปัตยกรรมของเปอร์เซียเข้ามา

ในเรื่องราวดังกล่าวศาสตราจารย์พิทยา บุนนาค ผู้ศึกษาอิทธิพลศิลปกรรมเปอร์เซียในสถาปัตยกรรมอยุธยา พบว่าโค้งยอดแหลมในอยุธยาเป็นโค้งแบบอิสลามไม่ใช่โค้งแบบกอธิค คือมีการโค้งด้วยการก่ออิฐให้รับน้ำหนักไปข้างๆ และลงสู่ผนัง และมีลักษณะพิเศษคือเป็นโค้งยอดแหลมแบบตวัดนิดหน่อย ซึ่งพบได้ในอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ แต่ไม่พบในการก่อสร้างลักษณะนี้ในอิหร่าน จึงมีการสันนิษฐานว่าโค้งลักษณะดังกล่าวคงถูกพัฒนาโดยชาวเปอร์เซียในอินเดียก่อนเข้ามาในสยาม[39]

อาหาร แก้

อาหารของชาวเปอร์เซียได้เป็นมรดกตกมาถึงยุคปัจจุบันแม้ว่าจะเป็นอาหารแบบเดียวกับมุสลิมกลุ่มอื่นไม่ว่าฮินดูหรือมุสลิม หริอ ชาวจาม อินเดีย ยะวา และมลายู ซึ่งหากินได้ทั่วไปจนเข้าใจว่าเป็นอาหารดั้งเดิมของไทย แต่อาหารเปอร์เซียในไทยนั้นจะมีรสชาติที่แตกต่างจากอิหร่าน ได้แก่ กะบาบ ในประเทศไทยเองก็มีเช่นกัน แต่ทำเฉพาะในงานบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย (บุญสี่สิบวัน) ถือเป็นอาหารพิเศษที่ทำไม่มากชิ้น รสชาติของกะบาบไทยจะอมหวานนิดๆ อาจเนื่องมาจากความมันของกะทิ[40] แกงกุรหม่าของไทยก็มีความแตกต่างจากแกงกุรหม่าของอิหร่านเช่นกัน เนื่องจากแกงกุรหม่าไทยมีกลิ่นเครื่องเทศมาก ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากอาหารอินเดียหรืออาจมาจากการผสมผสาน[41] ฮะยีส่า หรือข้าวอาชูรอ ที่ทำกันทั้งนิกายซุนนีย์และชีอะฮ์ในวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม (มะหะหร่ำ) ที่กุฎีเจริญพาศน์นั้น ฮะยีส่ามีชื่อเสียงมากที่สุดจนกล่าวกันว่า "ข้าวฮะยีส่า สามกุฎีสี่สุเหร่า สู้ที่นี่ไม่ได้"[42]

นอกจากนี้ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซีย เช่น ข้าวหมก, ข้าวเปียกนม, ข้าวแขก, อาลัว, มัศกอด และขนมไส้ไก่ เป็นต้น[43]

ดูเพิ่ม แก้

เชิงอรรถ แก้

อ้างอิง
  1. สมลักษณ์ วงษ์รัตน์. อิหร่านใน...8 ทิวาราตรี. นนทบุรี : อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์, หน้า 111-112
  2. 2.0 2.1 2.2 สุดารา สุจฉายา. หน้า 135
  3. วรพจน์ วิเศษศิริ และลำพอง กลมกูล (มกราคม–มิถุนายน 2562). มุสลิมชีอะห์จากอิหร่านกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทย. วารสารพุทธอาเซียนศึกษา (4:1). p. 20.
  4. พิทยะ ศรีวัฒนสาร (10 มกราคม 2554). "แขกเทศ : ชาวโปรตุเกส หรือ แขกมุสลิม?". สยาม-โปรตุเกสศึกษา. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. วรพจน์ วิเศษศิริ และลำพอง กลมกูล (มกราคม–มิถุนายน 2562). มุสลิมชีอะห์จากอิหร่านกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทย. วารสารพุทธอาเซียนศึกษา (4:1). p. 18.
  6. วรพจน์ วิเศษศิริ และลำพอง กลมกูล (มกราคม–มิถุนายน 2562). มุสลิมชีอะห์จากอิหร่านกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทย. วารสารพุทธอาเซียนศึกษา (4:1). p. 19.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 153
  8. วรพจน์ วิเศษศิริ และลำพอง กลมกูล (มกราคม–มิถุนายน 2562). มุสลิมชีอะห์จากอิหร่านกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทย. วารสารพุทธอาเซียนศึกษา (4:1). p. 25.
  9. สุเทพ สุนทรเภสัช, หน้า 113
  10. Christoph Marcinkowsk (กุมภาพันธ์ 2557). Persians and Shi‘ites in Thailand: From the Ayutthaya Period to the Present (PDF). Pasir Panjang, Singapore: Nalanda-Sriwijaya Centre Working Paper Series No. 15. p. 5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-12-15. สืบค้นเมื่อ 2022-04-16.
  11. 11.0 11.1 สุเทพ สุนทรเภสัช, หน้า 114
  12. สุดารา สุจฉายา. หน้า 138
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 ""มุสลิม" ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-06-13.
  14. 14.0 14.1 พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ), หน้า 84
  15. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ), หน้า 29
  16. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ), หน้า 34
  17. น. ณ ปากน้ำ. "ขุนนางแขกสมัยกรุงศรีอยุธยา". วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 17 1 มกราคม-มีนาคม 2534, หน้า 61-66
  18. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ), หน้า 93
  19. "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 154
  20. "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 110
  21. "ตร.เฝ้าระวังโบสถ์ยิว ร้านอาหารอิสราเอล ซ.รามบุตรี". ผู้จัดการออนไลน์. 17 กุมภาพันธ์ 2555. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  22. สุเทพ สุนทรเภสัช, หน้า 120
  23. 23.0 23.1 Christoph Marcinkowski (กุมภาพันธ์ 2557). Persians and Shi‘ites in Thailand: From the Ayutthaya Period to the Present (PDF). Pasir Panjang, Singapore: Nalanda-Sriwijaya Centre Working Paper Series No. 15. p. 9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-12-15. สืบค้นเมื่อ 2022-04-16.
  24. สุดารา สุจฉายา. หน้า 144
  25. ""กุหลาบ" คำยืมจากภาษาเปอร์เซีย ที่ดั้งเดิมไม่ได้แปลว่า "กุหลาบ" (?)". ศิลปวัฒนธรรม. 14 กุมภาพันธ์ 2560. สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. สุดารา สุจฉายา. หน้า 165
  27. "มุสลิมเชียงใหม่ดอตเน็ต - มุสลิมและชาวเปอร์เซียในสยามประเทศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-06-12.
  28. สุเทพ สุนทรเภสัช, หน้า 120
  29. วราภรณ์ ติระ - คำเรียกญาติของชาวไทยมุสลิมที่มีเชื้อสายต่างกันในกรุงเทพมหานคร
  30. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย, หน้า 234
  31. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย, หน้า 81-85
  32. "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 102
  33. "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 100
  34. "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 106
  35. ธเนศ ช่วงพิชิต, หน้า 45
  36. "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 103
  37. 37.0 37.1 "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 116
  38. ธเนศ ช่วงพิชิต, หน้า 35
  39. 39.0 39.1 สุดารา สุจฉายา. หน้า 167
  40. สุดารา สุจฉายา. หน้า 163
  41. สุดารา สุจฉายา. หน้า 164
  42. "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี, หน้า 114
  43. สุดารา สุจฉายา. หน้า 166-167
บรรณานุกรม
  • ธีรนันท์ ช่วงพิชิต (2551). พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมนิกายชีอะห์ในสังคมไทย (PDF). ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • สุดารา สุจฉายา. "ประวัติศาสตร์เก็บตกที่อิหร่าน ย้อนรอยสายสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน". กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550, หน้า 134-169
  • สุดารา สุจฉายา (บรรณาธิการ). "นักเดินทาง...เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน" ธนบุรี. กรุงเทพฯ : กรุงเทพ, 2542, ISBN 974-8211-87-8
  • ธเนศ ช่วงพิชิต. "วิถีความเชื่อ". กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550, หน้า 28-47
  • พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ). เล่าเรื่องเฉกอะหมัดต้นสกุลบุนนาค จากเอกสารพิมพ์ดีด ๒๔๘๒. กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม, หน้า 84
  • สุเทพ สุนทรเภสัช. ชาติพันธุ์สัมพันธ์ : แนวคิดพื้นฐานทางมานุษยวิทยาในการศึกษาอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ ประชาชาติ และการจัดองค์กรความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548. ISBN 974-7383-89-6

แหล่งข้อมูลอื่น แก้