ตัวละคร สตาร์ วอร์ส
ไควกอน จินน์
'
'
ตำแหน่ง อาจารย์เจได
บ้านเกิด ไม่ทราบ
เกิด ปีที่ 92 ก่อนยุทธการยาวิน
ตาย ปีที่ 32 ก่อนยุทธการยาวิน
เผ่าพันธุ์ มนุษย์
เพศ ชาย
ส่วนสูง 1.93 เมตร
สังกัด นิกายเจได, สาธารณรัฐกาแลกติก
นักแสดง เลียม นีสัน
ชูชาติ อินทร (เสียงไทย)
หมวดหมู่ ตัวละครในสตาร์ วอร์ส

ไควกอน จินน์ (อังกฤษ: Qui-Gon Jinn) เป็นตัวละครในเรื่องแต่งชุดสตาร์ วอร์ส แสดงโดยเลียม นีสัน มีบทบาทสำคัญเป็นตัวละครหลักในสตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 1: ภัยซ่อนเร้น และเนื้อหาในจักรวาลขยายอีกจำนวนมาก

ไควกอน จินน์เป็นอาจารย์เจไดที่เป็นที่เคารพนับถือ แต่ก็เป็นผู้มีแนวคิดสวนกระแสอย่างมาก เป็นพาดาวันของเคานท์ดูกู และผู้ฝึกสอนโอบีวัน เคโนบี ผู้จะกลายเป็นอัศวินเจไดที่ยิ่งใหญ่ในกาลต่อมา ไควกอนมักจะมีเหตุให้ต้องขัดแย้งกับสภาเจไดอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับเหล่าอาจารย์เจไดที่มีแนวคิดเคร่งครัด เขาให้ความสนใจในการศึกษาและรับใช้พลังเป็นสำคัญที่สุด เขามักจะทำให้เจไดคนอื่นๆ ประหลาดใจในความแหกคอกของเขา รวมถึงการปฏิเสธตำแหน่งในสภาเจได อย่างไรก็ดี ไควกอน จินน์ ก็ได้รับการยอมรับนับถือจากเจไดจำนวนมากว่าเป็นผู้ทรงภูมิและมีปัญญาเฉียบแหลมที่สุดคนหนึ่ง

อาจนับได้ว่าไควกอน จินน์ เป็นนักรบ และปราชญ์ผู้มีความเชี่ยวชาญในหลายสาขา ทั้งสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมยานยนต์อวกาศจำนวนมาก รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่เห็นใน เอพพิโซด 1 เขาสวมใส่ชุดคลุมของชาวไร่ความชื้นเพื่อทำตัวให้กลมกลืนกับชนท้องถิ่นของมอส เอสปา และยังเป็นผู้มีท่วงท่าในการต่อสู้ด้วยกระบี่แสงที่งดงามสมบูรณ์ที่สุดคนหนึ่ง

อนึ่ง กระบวนท่าที่ไควกอนถนัดที่สุดคือ รูปแบบที่ 4 อาตารุ ซึ่งเน้นการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วและพลิ้วไหว

ไควกอนอุทิศตนให้กับสาธารณรัฐ ต่อนิกายเจได และให้กับพลังตราบจนสิ้นชีวิต มีส่วนร่วมภารกิจต่อสู้กับโจรก่อการร้ายเนบูลา ฟรอนท์ และมีชื่อเสียงจากเหตุการณ์การรุกรานนาบู ไควกอน จินน์ เป็นผู้ค้นพบผู้ถูกเลือก (อนาคิน สกายวอล์คเกอร์) บนทาทูอีนระหว่างวิกฤตการณ์นี้และมีส่วนร่วมอย่างมากในการทำให้อนาคินได้รับการฝึกในฐานะเจได แม้กระทั่งหลังจากที่เขาเสียชีวิตจากการต่อสู้กับดาร์ธ มอลแล้ว ไควกอนก็ยังมีบทบาทสำคัญมากต่ออนาคตของเจได

ดวงวิญญาณของไควกอนกลับมาปรากฎตัวอีกครั้งในร่างพลัง (Force Ghost) เพื่อถ่ายทอดความรู้ในวิถีแห่งพลังที่เขาค้นพบให้กับโอบีวัน ในระหว่างที่โอบีวันมาพำนักบนดาวทาทูอีนเพื่อเฝ้าดูลุค

เบื้องหลัง แก้

 
William John "Liam" Neeson

จากข้อมูลที่เปิดเผยออกมาใน The Art of Star Wars Episode I: The Phantom Menace (งานศิลป์จากสตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 1: ภัยซ่อนเร้น) นั้น มีการคิดสร้างสรรค์ตัวละครไควกอน จินน์ขึ้นมาในช่วงเตรียมงานสร้างภาพยนตร์ภัยซ่อนเร้น โดยเห็นได้จากมีภาพงานศิลป์ต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่าโอบีวันปฏิบัติหน้าที่ลำพังขณะอยู่บนยานสหพันธ์ฯ และขณะพบจาร์ จาร์ บิงคส์ และแม้เมื่อตัวละครนี้ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ในช่วงแรกลูคัสก็ยังให้ตัวละครนี้เป็นเจไดหนุมอายุน้อยกว่านี้ ดังที่มีงานศิลป์ต้นแบบแสดงให้เห็นตัวละครโอบีวันมีอายุมากกว่า

ตัวละครไควกอน จินน์แสดงโดยเลียม นีสันในภาพยนตร์ภัยซ่อนเร้น มีการใช้เสียงของเลียม นีสันในภาพยนตร์กองทัพโคลนส์จู่โจมเล็กน้อย และในภาพยนตร์การ์ตูนสตาร์ วอร์ส : สงครามมนุษย์โคลน มีการให้เสียงโดย Fred Tatasciore และในเกม Star Wars: Galactic Battlegrounds ก็ให้เสียงโดย James Warwick

แต่เดิมนั้นมีกำหนดว่าจะให้มีเสียงของจินน์ปรากฏในภาพยนตร์ซิธชำระแค้นด้วย จากที่เคยมีการเปิดเผยว่าเลียม นีสันจะมีส่วนร่วมในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตามข่าวเมื่อต้นปี ค.ศ. 2005[1] อย่างไรก็ดี ฉากนี้ถูกตัดออกจากเรื่อง และเลียม นีสัน ก็ไม่ได้มาให้เสียงในฉากนี้[2] ฉากที่โยดากับไควกอน จินน์สนทนากันนั้นยังปรากฏอยู่ในบทภาพยนตร์และหนังสือนิยาย นอกจากนี้ตัวละครไควกอน จินน์ยังถูกกล่าวถึงในเกมซิธชำระแค้นฉบับ Gameboy Advance/Nintendo DS ด้วย

ยังมีข้อสับสนอยู่เกี่ยวกับว่าไควกอน จินน์เคยมีศิษย์มาแล้วกี่คนกันแน่ แหล่งข้อมูลทุกแหล่งยืนยันตรงกันว่าจินน์เคยฝึกซานาทอสก่อน หลังจากนั้นจึงได้ฝึกเคโนบี แต่บางครั้งก็มีการอ้างอิงถึงศิษย์พาดาวันคนก่อนหน้าซานาทอสด้วย ความไม่เข้ากันนี้ได้รับการแก้ไขในข้อมูล Databank ของจินน์บนเว็บไซต์ starwars.com ซึ่งกล่าวว่า "ไควกอนยังคงหมกมุ่นกับความล้มเหลวของเขาต่อไปอีกหลายปี ละทิ้งความสำเร็จในฐานะครูก่อนหน้านี้ทั้งหมด และมักเอ่ยถึงซานาทอสว่าเป็นศิษย์ 'คนแรก' "[3]

อ้างอิง แก้

  1. USATODAY - Movie-star night in Palm Springs
  2. Star Wars: Message Boards: Rick McCallum 6/3/05 - 4:00 p.m. PT[ลิงก์เสีย]
  3. "Qui-Gon obsessed over his failure for years, dismissing his earlier successes as a teacher and often referring to Xanatos as his "first" apprentice". Qui-Gon Jinn ใน Star Wars Databank

แหล่งข้อมูลอื่น แก้