โฮเซ รีซัล (สเปน: José Rizal) หรือชื่อเต็มคือ โฮเซ โปรตาซีโอ รีซัล เมร์กาโด อี อาลอนโซ เรอาลอนดา (José Protacio Rizal Mercado y Alonzo Realonda) เป็นนักเขียนและวีรบุรษคนสำคัญของฟิลิปปินส์ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากสเปน เขาถูกจับและถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2439 การเสียชีวิตของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวฟิลิปปินส์ลุกขึ้นสู้จนขับไล่สเปนออกไปได้สำเร็จ แม้จะถูกยึดครองโดยสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

โฮเซ รีซัล
เกิด19 มิถุนายน พ.ศ. 2404
คาลัมบาซิตี, ลากูนา, ฟิลิปปินส์
เสียชีวิต30 ธันวาคม พ.ศ. 2439 (35 ปี)
บากัมบายัน, มะนิลา, ฟิลิปปินส์
สาเหตุเสียชีวิตโทษประหารชีวิต
สัญชาติฟิลิปปินส์
องค์การพรรคลาโซลีดารีดัด, พรรคลาลิกาฟิลิปินา
ลายมือชื่อ

ชาติกำเนิด แก้

รีซัลเกิดเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2404 ในครอบครัวที่มีฐานะดี มีเชื้อสายจีน สเปน ญี่ปุ่น และตากาล็อก จัดเป็นชนชั้นเมสตีโซตามการแบ่งชนชั้นในยุคอาณานิคมสเปน เขาได้รับการศึกษาจากโรงเรียนของบาทหลวงโดมินิกันและเยซูอิต เขาใช้ได้หลายภาษาทั้งภาษาตากาล็อก ภาษาสเปน ภาษาละติน และภาษาฮีบรู

แม่ของรีซัลถูกตัดสินจำคุก 2 ปี ด้วยข้อหาวางยาพิษเพื่อนบ้าน พี่ชายของเขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะใกล้ชิดกับกลุ่มบาทหลวงชาวพื้นเมืองที่ถูกศาสนจักรสเปนสั่งแขวนคอ เมื่อ พ.ศ. 2415 ในมรสุมชีวิตดังกล่าว รีซัลมีอายุเพียง 10-11 ปี เท่านั้น ในที่สุดรีซัลจึงถูกส่งไปเรียนแพทย์ในยุโรปเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งกลายเป็นห้วงเวลาที่เขาได้เพาะบ่มอุดมการณ์เพื่อต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมสเปน

การต่อสู้ แก้

 
การประหารชีวิตโฮเซ รีซัล ในเช้าวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2439

รีซัลกลับฟิลิปปินส์เมื่อ พ.ศ. 2430 แต่อยู่ได้เพียง 6 เดือน ก็ถูกบีบให้กลับไปอยู่ในยุโรปอีก ซึ่งเป็นผลจากนวนิยาย “อันล่วงละเมิดมิได้” เขากลับมาฟิลิปปินส์อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยช่วงที่อยู่ในยุโรปช่วงที่ 2 นี้ เขาเขียนนวนิยายเรื่อง El Filibusterimos ซึ่งเป็นภาคต่อของนิยายเรื่องแรก เมื่อเขากลับมาถึงฟิลิปปินส์ หน่วยสืบราชการลับของสเปนพบนิยายต้องห้ามในกระเป๋าเดินทาง เป็นเหตุให้เขาถูกเนรเทศไปอยู่เกาะดาปีตัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมินดาเนา

ช่วง พ.ศ. 2411–2421 เกิดการลุกฮือขึ้นในคิวบา พรรคพวกของรีซัลวิ่งเต้นให้รีซัลไปทำงานด้านการแพทย์ในสงครามนี้ รีซัลได้รับอนุญาตให้ไปคิวบาเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2439 แต่เขาพลาดเรือ ไม่ได้เดินทางไป ขณะเดียวกันนั้น อันเดรส โบนีฟาซีโอ นักปฏิวัติผู้ก่อตั้งสมาคมกาตีปูนัน ติดต่อรีซัลให้เข้าร่วมปฏิวัติด้วยความรุนแรงแต่เขาปฏิเสธ

รีซัลถูกกักตัวบนเรือรบสเปนและถูกส่งไปสเปนเมื่อ 3 กันยายน แต่หลังจากการโจมตีสเปนของโบนีฟาซีโอเมื่อ 30 สิงหาคม ทำให้ฝ่ายอาณานิคมเพ่งเล็งรีซัล และส่งโทรเลขให้จับกุมรีซัลไว้และส่งกลับฟิลิปปินส์เมื่อ 3 ธันวาคม เขาถูกนำตัวขึ้นศาลไต่สวนเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม การประหารชีวิตมีขึ้นในตอนเช้าวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2439 นำโดย นายกรัฐมนตรีสเปน Antonio Canovas del Castillo ทำให้รีซัลกลายเป็นวีรบุรุษของฟิลิปปินส์ไปในที่สุด

บทกวีลาตาย แก้

ก่อนถูกประหารชีวิต เขาเขียนบทกวีลาตายไว้ ขนาดยาว 14 บท เป็นภาษาสเปนชื่อ mi último adiós บทกวีนี้ได้รับการส่งเสริมให้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งภาษาท้องถิ่นของฟิลิปปินส์โดยสถาบันประวัติศาสตร์แห่งชาติฟิลิปปินส์ ปัจจุบันแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 100 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย บทกวีนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2444 ภาษาสวีเดน พ.ศ. 2446 ภาษาญี่ปุ่น พ.ศ. 2460 ภาษาฮังการี ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน พ.ศ. 2470 ภาษาอินโดนีเซีย พ.ศ. 2493 ส่วนภาษาอื่น ๆ รวมทั้งภาษาไทย เริ่มแปลประมาณ พ.ศ. 2523

อ้างอิง แก้

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. "โฮเซ่ ริซัล ลัทธิชาตินิยมกับ “ปีศาจ” ของการเปรียบเทียบ" ใน จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล. อันล่วงละเมิดมิได้. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548.