โรเบิร์ต ก็อดเดิร์ด

โรเบิร์ต ฮัทชิงส์ ก็อดเดิร์ด (อังกฤษ: Robert Hutchings Goddard, Ph.D.; 5 ตุลาคม ค.ศ. 1882 - 10 สิงหาคม ค.ศ. 1945) เป็นอาจารย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ริเริ่มการค้นคว้าจรวดที่ใช้เชื้อเพลิงเหลวในการควบคุม เขายิงจรวดลำแรกของโลกที่ใช้เชื้อเพลิงเหลวเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1926 จากนั้นระหว่างปี ค.ศ. 1930-1935 เขาทดสอบยิงจรวดหลายลำที่ทำความเร็วได้สูงสุดถึง 885 กิโลเมตร/ชั่วโมง (550 ไมล์ต่อชั่วโมง) งานของเขานับเป็นการปฏิวัติในวงการสำรวจอวกาศ แต่ทฤษฎีของเขามักถูกเยาะเย้ยถากถางและได้รับการสนับสนุนค่อนข้างน้อย ต่อมาในภายหลังเขาจึงได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในสามของบิดาแห่งวิทยาการจรวด[1][2]

โรเบิร์ต ก็อดเดิร์ด
เกิด5 ตุลาคม ค.ศ. 1882
แมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิต10 สิงหาคม ค.ศ. 1945
แมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา
สัญชาติอเมริกัน
อาชีพนักวิทยาศาสตร์ อาจารย์
มีชื่อเสียงจากบิดาแห่งวิทยาการจรวดและการสำรวจอวกาศ

เกียรติประวัติ แก้

 
ป้ายบรอนซ์ที่เมืองออเบิร์น แมสซาชูเสตต์ ณ ตำแหน่งที่ก็อดเดิร์ดทดสอบยิงจรวดครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 1926

ก็อดเดิร์ดได้รับสิทธิบัตรจากผลงานของเขารวมทั้งสิ้น 214 รายการ ในจำนวนนี้ 83 รายการได้รับในระหว่างที่เขายังมีชีวิตอยู่ ศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ดซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1959 ได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา รวมถึงแอ่งก็อดเดิร์ดบนดวงจันทร์

ที่บ้านเกิดของเขาคือเมืองวอร์เชสเตอร์ ได้ตั้งโรงเรียนประถมศึกษาชื่อ โรงเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็อดเดิร์ด ขึ้นในปี ค.ศ. 1992

ห้องสมุดโรเบิร์ต เอช. ก็อดเดิร์ด ที่มหาวิทยาลัยคลาร์ก ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการและของสะสมของก็อดเดิร์ด ด้านนอกห้องสมุดมีสิ่งก่อสร้างแสดงถึงทิศทางการบินของจรวดเชื้อเพลิงเหลวลำแรกของก็อดเดิร์ด

ภาควิชาวิศวกรรมเคมีที่สถาบันโพลีเทคนิควอร์เชสเตอร์ ตั้งอยู่ที่อาคารก็อดเดิร์ดฮอลล์ ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

ปี ค.ศ. 1967 โรงเรียนมัธยมศึกษา โรเบิร์ต เอช. ก็อดเดิร์ด ตั้งขึ้นที่เมืองรอสเวลล์ สัญลักษณ์ประจำโรงเรียนคือ "จรวด" นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนประถมศึกษาตอนปลาย โรเบิร์ต เอช. ก็อดเดิร์ด ที่เมืองเกลนโดรา แคลิฟอร์เนีย เมืองลิทเติลตัน โคโลราโด และเมืองปรินซ์จอร์จเคาน์ตี้ แมรีแลนด์

สำหรับพื้นที่ที่ก็อดเดิร์ดทดสอบการยิงจรวดเชื้อเพลิงเหลวเป็นครั้งแรก ปัจจุบันเป็นสนามกอล์ฟ Pakachoag ที่เมืองออเบิร์น แมสซาชูเสตต์ ได้ติดตั้งรูปปั้นพร้อมป้ายอนุสรณ์ของก็อดเดิร์ดเป็นที่ระลึก

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Jeffrey Kluger (29 มีนาคม 1999). "TIME 100: Robert Goddard" เก็บถาวร 2009-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. นิตยสารไทมส์. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-28.
  2. "Part I: Chemical Propulsion and the Dawn of Rocket Science" เก็บถาวร 2012-07-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Past and Future of Rocket Engine Propulsion. Regents of the University of Michigan (2002). เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-28.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้