โรคหำหด[1] หรือ โรคจู๋ (อังกฤษ: Koro, penis panic) [2][3]เป็นกลุ่มอาการป่วยทางวัฒนธรรมที่ได้รับการรับรองใน Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สี่ เป็นภาวะที่ปัจเจกชนถูกครอบงำโดยความเชื่อที่ว่าอวัยวะเพศของบุคคลนั้นกำลังหดหรือมีขนาดเล็กลง ด้วยความกลัวว่าอวัยวะนั้นจะหายไปในที่สุด

โรคจู๋
Koro
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
MeSHD016911

ถึงแม้ว่าโรคนี้จะมีที่มาจากในประเทศจีนและพบมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีที่หายากของโรคจู๋อาจพบในบุคคลที่ไม่มีเชื้อชาติจีนทั่วโลก การลุกลามของโรคเคยขึ้นในบางประเทศ ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อุปาทานหมู่ที่เชื่อว่าอวัยวะเพศของตนกำลังหดเล็กลงนั้นมีการรายงานในทวีปแอฟริกาด้วยเช่นกัน

การจำแนก แก้

ใน Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders โรคจู๋ถูกจัดเป็นหนึ่งในโรคในอภิธานกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในภาคผนวก I คู่มือดังกล่าวได้จำกัดความโรคจู๋ไว้ว่า "คำดังกล่าว [Koro] ซึ่งอาจมีที่มาจากภาษามลายู หมายความถึง ความวิตกกังวลฉับพลันและแรงกล้าที่ว่าองคชาต (หรือ ในผู้หญิง โยนีหรือหัวนม) กำลังหดเข้าสู่ร่างกายและอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้"[2]

นักประพันธ์หลายคนพยายามจำแนกระหว่างโรคจู๋ที่สมบูรณ์กับไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและไม่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม[4] รูปแบบวัฒนธรรมถูกกล่าวว่าเกี่ยวข้องกับความเชื่อวัฒนธรรมหรือเทพนิยาย มีบทบาทในการก่อให้เกิดโรค และการแพร่กระจายของโรคในชุมชน และถูกจัดให้เป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ โดยเป็นไปตามเกณฑ์ของกลุ่มอาการทั้งหมด[5][4]

อาการและอาการแสดง แก้

ผู้ป่วยส่วนใหญ่บ่นเกี่ยวกับการหดตัวของอวัยวะเพศหรืออวัยวะเพศมีขนาดเล็กลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในบางครั้ง เกิดขึ้นทั้งสองอย่าง[6] อาการนี้มักจะเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายชั่วโมง ถึงแม้ว่าระยะเวลาสามารถเกิดขึ้นได้นานถึงสองวัน[7] ยังมีกรณีที่อาการของโรคจู๋เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายปีซึ่งอาจเป็นอาการเรื้อรังและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง[5] นอกจากการหดตัวแล้ว อาการแสดงอื่นยังรวมไปถึงความเข้าใจว่าองคชาตของตนเปลี่ยนแปลงรูปร่างไป การสูญเสียการแข็งตัวของกล้ามเนื้อองคชาต และในบางกรณี ที่ผู้ป่วยไม่เข้าใจว่าตนมีอวัยวะเพศหดเล็กลง แต่กล่าวว่ามีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยนทางเพศหรือมีความเสื่อมถอยทางเพศด้วย[8]

โรคประสาทกังวลนี้ยังประกอบด้วยความคิดกลัวว่าตนอาจเสียชีวิตในไม่ช้า การสลายตัวขององคชาตและการสูญเสียพลังทางเพศ[5] ความเข้าใจว่าตนอาจเสียชีวิตได้เนื่องจากการหดตัวของอวัยวะเพศและรับรู้ว่ามีการหลั่งน้ำอสุจิออกมามากผิดปกตินี้มีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับความเชื่อจีนโบราณอย่างแรงกล้า ดังที่ได้แสดงโดยข้อเท็จจริงที่ว่าโดยทั่วไปแล้ว ชาวเอเชียที่เชื่อว่าอวัยวะเพศของตนหดเล็กลงนั้นเชื่อว่าสภาวะดังกล่าวเป็นเรื่องถึงชีวิต ไม่เหมือนกับชาวตะวันตกส่วนใหญ่[5][9] แนวคิดอื่น ๆ ได้แก่ การหดตัวของอวัยวะในช่องท้อง การเปลี่ยนเพศเป็นหญิงหรือขันที การเกิดอันตรายทางกายโดยไม่เฉพาะเจาะจง การอุดตันของทางเดินปัสสาวะ การเป็นหมัน การทำให้เกิดอาการบ้า อาการผีเข้า และความรู้สึกว่าตนถูกมนต์สะกด[5]

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวลอย่างมากและสมาชิกครอบครัวอาจหันไปพึ่งวิธีการทางกายภาพเพื่อป้องกันการหดตัวขององคชาตที่เชื่อกันนั้น ชายอาจใช้การดึงองคชาตด้วยตนเองหรือใช้เครื่องจักร โดยใช้วงเชือกหรือเครื่องหนีบบางประเภท[10] ในลักษณะคล้ายกัน หญิงอาจคลำหน้าอกของตน ดึงหัวนม หรือแม้กระทั่งเสียบหมุดเหล็กเข้าไปในหัวนม[9] ความเจ็บปวดทางกายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสามารถถูกพิจารณาได้ว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของอาการดังกล่าว[5]

สาเหตุ แก้

ความขัดแย้งจิตใจ-เพศ ปัจจัยส่วนบุคคล และความเชื่อทางวัฒนธรรมได้รับการพิจารณาว่ามีส่วนสำคัญที่เป็นสาเหตุของโรคจู๋[4] ประวัติการปรับตัวทางเพศของผู้ป่วยที่ไม่ใช่ชาวจีนมักจะมีความโดดเด่นอยู่บ่อยครั้ง อย่างเช่น ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศก่อนเกิดโรค พฤติกรรมสำส่อนทางเพศ ความรู้สึกผิดเกี่ยวกับการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองและภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ[11]

ความเชื่อทางวัฒนธรรม แก้

ปัจจัยด้านความเชื่อที่ก่อให้เกิดโรคจู๋นี้เป็นแนวคิดเกี่ยวกับสรีรศาสตร์เพศในการแพทย์จีนโบราณ ซึ่งมีการเชื่อมโยงความตายเข้ากับการหดตัวของอวัยวะเพศ[10]

ในตำราแพทย์จีนโบราณ จงจ้างจิง (จีนตัวย่อ: 中藏经; จีนตัวเต็ม: 中藏經) การหดตัวขององคชาตและการบวมของท้องอาจได้รับการอธิบายว่าเป็นชีวสัญญาณที่แน่ชัดของความตาย[10] ทฤษฎีหยินและหยางให้แนวคิดที่ว่าการสูญเสียหยางทำให้เกิดความไม่สมดุลและก่อให้เกิดการหดตัวของอวัยวะเพศ[7]

มุมมองที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์นี้ถือกำเนิดขึ้นในลัทธิเต๋า ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อคติด้านการแพทย์ของจีน เสนอว่า การหลั่งอสุจิบ่อยครั้งทำให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ เนื่องจากน้ำอสุจิถูกมองว่าเป็นพลังงานที่สำคัญของเพศชาย ด้วยเหตุนี้ การหมดไปของน้ำอสุจิจะทำให้เสียชีวิตได้ แนวคิดที่ว่าความตายเกิดขึ้นจากการหมดไปของน้ำอสุจิคล้ายคลึงกับแนวคิดที่ว่าความตายเกิดขึ้นจากการหดเล็กลงของอวัยวะเพศ ถึงแม้ว่าความเชื่อมโยงระหว่างโรคจู๋และลัทธิเต๋าจะยังคงเป็นเพียงทฤษฎีก็ตาม[9]

ความเป็นที่นิยมของนิทานพื้นบ้านของจีนเองก็เข้ามามีบทบาทด้วยเช่นกัน นวนิยายเกี่ยวกับเรื่องผี เรื่องแปลกในห้องเหลียวไจ๋ อธิบายถึงวิญญาณสุนัขจิ้งจอกที่สามารถทำให้ผู้คนมีร่างกายและเพศอ่อนแอ และทำให้เนื้อเยื่อของพวกเขามีขนาดหดเล็กลง ความเชื่อที่ว่าโรคจู๋เกิดจากวิญญาณสุนัขจิ้งจอกนี้ได้รับรายงานในแถบตอนใต้ของจีน[9]

การวินิจฉัย แก้

การวินิจฉัยโรคจู๋มีเกณฑ์อยู่หลายประการ: การหดตัวขององคชาติ (หรือหัวนม) ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการหดตัวนั้น ความกลัวเสียชีวิตอันเป็นผลมาจากการหดตัวนั้น และการใช้เครื่องจักรเพื่อป้องกันการหดตัวอย่างสมบูรณ์ของอวัยวะ[12] กรณีที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ทั้งหมดมักจะถูกจัดเป็นกลุ่มอาการคล้ายโรคจู๋ หรือวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มอาการโรคจู๋บางส่วน[12] แต่ได้มีการโต้แย้งว่าเกณฑ์การวินิจฉัยนี้เพียงพอแต่ไม่จำเป็นในการวินิจฉัยโรคจู๋[5]

อ้างอิง แก้

  1. ศิลปวัฒนธรรม. กลุ่มอาการโรคจิตเชิงวัฒนธรรม (อีกครั้ง) ว่าด้วยพฤติกรรม “แล่นทุ่ง” ถึง “โรคหำหด” จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_5127
  2. 2.0 2.1 American Psychiatric Association (2000). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 4th ed., text revision. American Psychiatric Pub. pp. 898–901. ISBN 9780890420256.
  3. Simons, Ronald C.; Hughes, Charles C. (1985). The Culture-bound syndromes: Folk Illnesses of Psychiatric and Anthropological Interest. Dordrecht, Holland: D. Reidel Publishing Company. pp. 485–6. ISBN 90-277-1858-X.
  4. 4.0 4.1 4.2 Adeniran, R. A.; Jones, J. R. (April 1994), "Koro: Culture-Bound Disorder or Universal Symptom?", British Journal of Psychiatry, 164 (4): 559–61, ISSN 0007-1250
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 Chowdhury, Arabinda N. (March 1996), "The definition and classification of Koro", Culture, Medicine & Psychiatry, 20 (1): 41–65, ISSN 0165-005X
  6. Ngui, P. W. (1969), "The Koro Epidemic in Singapore", Australian and New Zealand Journal of Psychiatry, 3 (3a (special issue on studies of anxiety)): 263–6, ISSN 0004-8674
  7. 7.0 7.1 Yap, Pow-Meng (1965), "Koro — A Culture-Bound Depersonalization Syndrome", British Journal of Psychiatry, 3: 45–50, ISSN 0007-1250
  8. Chowdhury, Arabinda N. (1992), "Clinical Analysis of 101 Koro Cases", Indian Journal of Social Psychiatry, 8: 67–70
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 Cheng, Sheung-Tak (March 1996), "A Critical Review of Chinese Koro", Culture, Medicine & Psychiatry, 20 (1): 41–65, ISSN 0165-005X
  10. 10.0 10.1 10.2 Gwee, Ah Leng (1963), "Koro — A Cultural Disease", Singapore Medical Journal, 4: 119–22
  11. Berrios, G. E.; Morley, S. (September 1984), "Koro-like Symptoms in Non-Chinese Subjects", British Journal of Psychiatry, 145 (3): 331–4, ISSN 0007-1250
  12. 12.0 12.1 Dzokkoto, Vivian Afi; Adams, Glenn (2005), "Understanding genital-shrinking epidemics in West Africa : koro, juju or mass psychogenic illness?", Culture, Medicine and Psychiatry, 29 (3): 53–78, ISSN 0165-005X