โรคสะเก็ดเงิน หรือ เรื้อนกวาง (อังกฤษ: Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการหนาตัวของชั้นหนังกำพร้า มีลักษณะเป็นตุ่มหรือปื้นแดง ที่มีขุยหรือสะเก็ดขาวติดอยู่ รอยโรคมักเกิดกับผิวหนังบริเวณที่ถูกเสียดสีบ่อยๆ รวมทั้งที่ศีรษะและเล็บด้วย ร้อยละ 30 ของผู้ป่วยจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย

สาเหตุ แก้

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม และยังพบว่ายังเกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่นๆ เช่น ความผิดปกติใน metabolism ของ Arachidonic acid และความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง บริเวณรอยโรคของ Psoriasis เซลล์ผิวหนังในชั้น epidermis มีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติหลายเท่า และเคลื่อนตัวมาที่ผิวนอกภายในเวลา 4วัน (ปกติใช้เวลา 28วัน) ทำให้ผิวหนังหนาเป็นปื้น แต่เซลล์ผิวหนังขาดแรงยึดเหนี่ยวกันตามปกติ ทำให้ keratin หลุดลอกออกเป็นแผ่นๆได้ง่าย มักพบมีอาการกำเริบเวลามีภาวะเครียดทางกาย และจิตใจที่มากเกินไป การติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บ การขูดข่วนผิวหนัง การแพ้แดด การแพ้ยา (เช่น Chloroquin, Beta-Blocker, Contraceptive, NSAIDs)

อาการสะเก็ดเงิน แก้

อาการเริ่มต้นของสะเก็ดเงิน ส่วนมากจะเริ่มต้นจากอาการมีขุยบนหนังศีรษะ ซึ่งแตกต่างจากรังแคโดยทั่วไปที่ผิวหนังตอนเริ่มกำเริบใหม่ๆจะเป็นตุ่มแดงขอบเขตชัดเจน และมีขุยสีขาว (สีเงิน) อยู่ที่ผิว ต่อมาตุ่มจะค่อยๆขยายออกจนกลายเป็นปื้นใหญ่และหนาตัวขึ้นเป็นสะเก็ดสีเงิน(ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านเลยเรียกว่า โรคสะเก็ดเงิน)สะเก็ดนี้จะร่วงเวลาถอดเสื้อหรือเดินไปไหนมาไหน หรือร่วงอยู่ตามเก้าอี้ ที่นอน ถ้าขูดเอาสะเก็ดออกจะมีรอยเลือดซิบๆ รอยโรคของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะปื้นหนาซึ่งเป็นเรื้อรัง ขึ้นๆ ยุบๆอยู่ตลอดเวลา ไม่หายขาด จึงเรียกลักษณะโรคที่เป็นเช่นนี้ว่า Chronic Plaque type psoriasis แต่ยังอาจพบลักษณะโรคในแบบอื่นได้บ้าง ได้แก่

  1. Guttate psoriasis มีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ มักเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งตัว และมักเกิดตามหลังการติดเชื้อ Streptococci ในทางเดินหายใจ
  2. Flexural psoriasis เป็นตามบริเวณเนื้ออ่อน ซึ่งได้แก่ ผิวหนังตามข้อพับของร่างกาย มีลักษณะเป็นปื้นแดงค่อนข้างแฉะ แยกยากจากโรคติดเชื้อรา โดยเฉพาะ Penile psoriasis จะแยกยากจากสาเหตุอื่นของ Balanitis
  3. Palmoplanter psoriasis เป็นผื่นแห้งหนามีขุยมาก แยกยากจากโรค Eczema เรื้อรัง

ความผิดปกติดังกล่าว อาจเกิดได้ที่ผิวหนังของทุกส่วนแต่มักจะพบที่หนังศีรษะ และผิวหนังส่วนที่เป็นปุ่มนูนของกระดูก เช่น ข้อศอก ข้อเข่า ก้นกบ หน้าแข้ง เป็นต้น โรคนี้ยังชอบขึ้นที่เล็บ ทำให้เกิดอาการได้หลายลักษณะเช่น เล็บเป็นหลุม ตัวเล็บขรุขระ เล็บแยกตัวออกจากผิวหนัง(Onycholysis) ผิวใต้เล็บหนา(Subungual keratosis) มักเกิดร่วมกับข้ออักเสบและเนื้อเยื่อขอบเล็บอักเสบ(Paronychia) บางครั้งอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราร่วมด้วย และอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคเชื้อกลากที่เล็บ, โรคเชื้อราแคนดิด้าที่เล็บ ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยจะมีการอักเสบของข้อ(Psoriatic arthropathy) ร่วมด้วย มักพบที่ข้อนิ้วมือและนิ้วเท้า ผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบร่วมด้วยมักมีอาการทางผิวหนังรุนแรงกว่าปกติ.

  1. Plaque type
  2. Pustular psoriasis
  3. Scalp psoriasis
  4. Psoriasis erythroderma
  5. psoriasis nails
  6. Seboproriasis

การวินิจฉัยโรค แก้

อาศัยลักษณะทางคลินิกเป็นสำคัญ ในรายที่สงสัยควรตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา และตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น ต่อการวินิจฉัยแยกโรคอย่างอื่นเช่น การตรวจ KOH เพื่อแยกโรคเชื้อรา และการทำ Patch Test เพื่อแยกโรค Contact dermatitis เป็นต้น

หลักการรักษา แก้

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อย และยังเป็นโรคที่รักษาแล้วไม่หายขาด แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการบำบัดที่ถูกต้อง ก็สามารถควบคุมให้รอยโรคหายไปได้หรือปรากฏได้น้อยที่สุด ในผู้ป่วยรายที่อาการไม่รุนแรงนัก รอยโรคอาจหายไปได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี การให้ความรู้เรื่องโรคแก่ผู้ป่วยและญาติเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำไปพร้อมๆกับการบำบัดทางยาเนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มีปมด้อยมากและต้องการการยอมรับจากคนอื่นที่อยู่รอบข้าง เพราะความเครียดทางจิตใจที่เป็นสาเหตุ ที่ทำให้โรคกำเริบได้ การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยจะช่วยระงับความวุ่นวายใจ ไม่ต้องคอยเปลี่ยนสถานที่รักษาบ่อยๆ อันเป็นปัญหาที่พบเป็นประจำ

การรักษาโรคสะเก็ดเงินในปัจจุบันมีวิธีการรักษา 3 ประเภท ได้แก่

การรักษาด้วยยาทา แก้

มีความสำคัญในเวชปฏิบัติทั่วไปมากที่สุด เพราะเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูงวิธีนี้จะเหมาะกับรอยโรคที่เป็นไม่มากนักประมาณ ร้อยละ25 ของพื้นที่ผิวกาย ยาที่ใช้ได้แก่

  • Topical steroid ควรใช้ชนิดที่ความแรงปานกลาง เช่น Betamethasone ,Triamcinolone เป็นต้น ทาเฉพาะรอยโรควันละ 2 ครั้ง เมื่อผื่นยุบก็หยุดยาได้ สำหรับบริเวณผิวอ่อน เช่น ข้อพับ ใบหน้า ต้องใช้ steroid อย่างอ่อน เช่น Prednisolone หรือ Hydrocortisone cream สำหรับผื่นที่มีความหนามากควรใช้ steroid ที่มีความแรงสูง ได้แก่ Clobetasol ข้อดีของยากลุ่มนี้คือสะดวกทำให้รอยโรคหยุดได้เร็ว ข้อเสียคือ มีผลข้างเคียงเฉพาะที่มากหลังหยุดยารอยโรคมักจะเห่อขึ้นมาใหม่ได้เร็ว สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ทา steroid ความแรงสูงเป็นบริเวณกว้างอยู่นาน สามารถทำให้เกิด Cushing syndrome ได้
  • Coal tar ชนิด 1-5% ทาที่รอยโรควันละ 1-2 ครั้ง ช่วยให้รอยโรคยุบได้ เพราะมีฤทธิ์ Antimitotic แต่ยาประเภทนี้ไม่มีในท้องตลาดต้องให้สัชกรผสมยา
  • Anthralin มีฤทธิ์ทำให้รอยโรคที่เป็นปื้นหนาลดลงปัจจุบันใช้ทาในระยะสั้น 10-30 นาทีแล้วล้างออก ในทางปฏิบัติควรเริ่มด้วยความเข้มข้นต่ำๆ เช่น 0.1% แล้วค่อยๆเพิ่มความเข้มข้นขึ้นไป 3-5 วัน เป็น 0.25% จนถึง 1% ตามลำดับ ยานี้ห้ามใช้กับใบหน้าและผิวอ่อน
  • Calcipotriol ointment เป็น vitamin D3 analogue มีฤทธิ์ลดการแบ่งตัวของเซลล์ในชั้น epidermis และลด Chemotaxis ของ Neutrophill ทำให้รอยโรคยุบลงได้ ข้อดีคือ ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง ข้อเสีย มีฤทธิ์ระคายเคืองค่อนข้างสูงและราคาแพง

การรักษาด้วยยากินและยาฉีด แก้

การรักษาด้วยยากินและยาฉีดมักจะมีผลข้างเคียงมาก หรือต้องใช้เครื่องมือพิเศษจึงสงวนไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีรอยโรคมาก เกินร้อยละ 20 ของพื้นผิวร่างกายซึ่งดื้อต่อการรักษาด้วยยาทา หรือผู้ป่วยที่มีชนิดของโรคที่รุนแรง เช่น Pustular Psoriasis โดยการรักษานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ซึ่งมีความชำนาญเฉพาะ

การรักษาด้วยแสง แก้

แสงแดดช่วยให้รอยโรค Psoriasis ดีขึ้นได้ แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยตากแดดบ้างโดยค่อยๆเพิ่มปริมาณแสงแดดขึ้นจนถึงระดับที่เหมาะสม คือรอยโรคดีขึ้นโดยไม่มีการไหม้เกรียมของผิวหนัง แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยากเนื่องจากแสงแดดในแต่ละเวลาไม่เท่ากัน การรักษาด้วยแสง (Light therapy) ทำได้เฉพาะโรงพยาบาลที่มีเครื่องฉายแสงอัลตราไวโอเล็ต ซึ่งแพทย์อาจใช้แสง UVB (ความยาวคลื่น 290-320 nm) เรียกว่า UVB phototherapy หรือใช้ UVA (320-400 nm) ร่วมกับการกินยา psoralen ที่เรียกว่า PUVA therapy ผู้ป่วยต้องมารับการฉายแสงที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละประมาณ 3 ครั้ง ในผู้ป่วยส่วนใหญ่รอยโรคจะดีขึ้นในเวลา 1-2 เดือน

อ้างอิง แก้

  • Roger C. Cornell, M.D.,Richard B. Stoughton, M.D. Topical Corticosteroid. 1985 Hoechst Aktiengesellscsast. West Germany. Page 17,28-31
  • อภิชาติ ศิวยาธร. กรกฎาคม 2547. Psoriasis. คลินิกโรคผิวหนังต้องรู้. ครั้งที่ 4. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน กรุงเทพฯ 10400. พิมพ์ดี กรุงเทพฯ. หน้า 102-108
  • นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. สิงหาคม 2544 . Psoriasis. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. ครั้งที่ 3. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน กรุงเทพฯ 10400. พิมพ์ดี กรุงเทพฯ. หน้า 664-666