โมหินี (สันสกฤต: मोहिनी, Mohinī) เป็นอวตารของพระวิษณุที่เป็นเพศหญิง[1] โดยเป็นหญิงแพศยา (femme fatale) ที่ล่อลวงคนให้ลุ่มหลงก่อนนำไปสู่การลงโทษ โมหินีปรากฏใน มหาภารตะ ที่ระบุว่าพระวิษณุอวตารลงมาเป็นสตรีเพศมาล่อลวงเอาหม้อน้ำอมฤตจากอสูรซึ่งถูกขโมยมา ไปคืนแก่เทวดาเพื่อคงความอมตะ ส่วนใน วิษณุปุราณะ ระบุว่าโมหินีปราบภัสมาสูร หรืออสูรขี้เถ้าที่ก่อกวนเทวดาบนสวรรค์[2] เพราะก่อนหน้านี้ภัสมาสูรเคยขอพรกับพระศิวะ ว่าหากเอามือตนสัมผัสศีรษะของใคร ผู้นั้นก็จะกลายเป็นขี้เถ้า พระศิวะจึงขอให้พระวิษณุช่วย พระวิษณุจึงอวตารเป็นโมหินี ภัสมาสูรหลงไหลในตัวโมหินีมากและขอแต่งงานด้วย โมหินีจึงตอบตกลง แต่มีข้อแลกเปลี่ยนว่าภัสมาสูรจะต้องเต้นระบำเลียนแบบโมหินีด้วย แต่แล้วโมหินีเต้นในท่าที่ต้องจับศีรษะตัวเอง เมื่อภัสมาสูรหลงกลทำตามนาง ตัวก็กลายเป็นขี้เถ้าไป[3][4]

โมหินี
เทวีแห่งความลุ่มหลง
โมหินีขณะร่ายรำ
ชื่อในอักษรเทวนาครีमोहिनी
ชื่อในการทับศัพท์ภาษาสันสกฤตMohinī
ส่วนเกี่ยวข้องอวตารของพระวิษณุ, เทวี
อาวุธการยั่วยวน, สุทรรศนจักร
ข้อมูลส่วนบุคคล
คู่ครองพระศิวะ
บุตร - ธิดาอัยยัปปัน หรืออัยนาร์

พระศิวะลุ่มหลงโมหินีจนอสุจิธาตุเคลื่อน ทั้งสองมีบุตรด้วยกันองค์หนึ่งคือ อัยยัปปันในคติเกรละ หรืออัยนาร์ในคติทมิฬ

คติพราหมณ์ไทย แก้

ในคติพราหมณ์ไทย มีอวตารของพระวิษณุองค์หนึ่งเรียกว่า อัปสราวตาร[5] หรือ อัจฉราวตาร[6] มีเนื้อหาใกล้เคียงกับอวตารของโมหินี ในหนังสือ นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง ระบุว่า มีอสูรตนหนึ่งชื่อ อสุรนนทุกพรหม เป็นพนักงานตักน้ำล้างเท้าเทวดา มักถูกเทวดาอื่นกลั่นแกล้งด้วยการทุบโขกศีรษะและดึงเส้นผมจนหัวล้าน ด้วยเหตุนี้นนทุกจึงทูลขอนิ้วเพชรชี้ผู้ใดก็ตายจากพระอิศวร แล้วล้างแค้นด้วยการใช้นิ้วเพชรชี้เทวดาตายเป็นจำนวนมาก พระอิศวรมีเทวโองการให้พระนารายณ์ไปปราบนนทุก ด้วยการอวตารเป็นอัปสร ชื่อนางอัปสรกัญญา (บ้างว่า นางเทพอัปสร หรือสุวรรณอัปสร) นนทุกเห็นเป็นหญิงงามก็เกี้ยวพาราสี นางอัปสรกัญญากล่าวว่าหากรักจริงต้องรำตาม นนทุกจึงตอบตกลง ทั้งสองรำอยู่หลายเพลง จนถึงท่าให้ชี้ที่ขา นนทุกก็หลงกลทำตาม กระดูกขาจึงหายไปเพราะเดชของนิ้วเพชร นนทุกล้มลง พระนารายณ์คืนร่างแล้วก้าวพระบาทเหยียบบนอกของนนทุก พระนารายณ์ชี้แจงเหตุที่ลงทัณฑ์นนทุก แล้วสาปสรรไว้ว่า "ถึงมึงจะมีฤทธิ์เกิดเป็นวงศ์พรหม มีเศียรสิบเศียร ยี่สิบหัตถ์ ถอดดวงใจไว้จากกาย ก็คงจะฆ่ามึงให้ได้ มึงจะเกิดชาติใด กูก็จะตามไปล้างมึงทุกชาติ" แล้วสังหารนนทุก นนทุกไปจุติเป็นอุปปาติกะที่เชิงเขาไกรลาส หลังจากนั้นนนทุกบำเพ็ญเพียรด้วยการบรรเลงดนตรี ครั้นพระอิศวรได้สดับก็พอพระทัยในเสียงเพลง จึงประทานพรให้ว่า "ให้เกิดในวงศ์พรหม มีสิบเศียรยี่สิบหัตถา ถอดดวงชีวิตออกจากกายได้ ให้พรหมลิขิตกำหนดอายุพันหนึ่งเป็นกำหนด" หลังจากนั้นนนทุกไปเกิดเป็นอสูรบนเกาะลงกาชื่อทศกัณฑ์[7] หลังจากนั้นพระนารายณ์อวตารไปเป็นพระรามไปปราบทศกัณฑ์อีกตามพระราชนิพนธ์เรื่อง รามเกียรติ์[8]

อ้างอิง แก้

  1. Daniélou, Alain (1 December 1991). The myths and gods of India. Inner Traditions / Bear & Company. pp. 165, 186–87. ISBN 978-0-89281-354-4. mohini .
  2. Pattanaik, Devdutt (1 January 2006). Shiva to Shankara: decoding the phallic symbol. Indus Source. pp. 125, 129. ISBN 978-81-88569-04-5.
  3. Pattanaik (2001), pp. 66–67
  4. John Clifford Holt (1 January 2008). The Buddhist Visnu : 'Religious Transformation, Politics, and Culture. Motilal Banarsidass Publishers. pp. 146–48. ISBN 978-81-208-3269-5.
  5. "นารายณ์สิบปาง". นามานุกรมวรรณคดีไทย. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ. "อวตาร". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. นารายณ์สิบปางและพงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์. พระนคร : พระจันทร์, 2510, หน้า 64-65
  8. Pattanaik (2001), p. 67

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ โมหินี