โทรเลขจากเมืองเอมส์ (อังกฤษ: Ems Telegram, Ems Dispatch; ฝรั่งเศส: Dépêche d'Ems; เยอรมัน: Emser Depesche) เป็นโทรเลขที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศปรัสเซียส่งถึงออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismark) อัครมหาเสนาบดีปรัสเซีย เพื่อรายงานเหตุการณ์ที่เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 (ต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็นไกเซอร์วิลเลียมที่ 1 จักพรรดิองค์แรกแห่งจักรวรรดิเยอรมัน) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2413 เพื่อให้พระองค์ยืนยันในฐานะองค์ประมุขของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern) ว่าจะไม่สนับสนุนให้สมาชิกในราชวงศ์ขึ้นครองราชบัลลังก์สเปนที่ว่างลงจากการปฏิวัติ พ.ศ. 2411 แต่เนื้อความในโทรเลขดังกล่าวถูกบิสมาร์คดัดแปลงตัดต่อก่อนส่งไปลงหนังสือพิมพ์เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างปรัสเซียกับฝรั่งเศส

โทรเลขจากเมืองเอมส์

โทรเลขจากเมืองเอมส์จึงกลายเป็นประเด็นของความขัดแย้งทางการทูตของทั้งสองประเทศ และเป็นชนวนเหตุสงครามฝรั่งเศส - ปรัสเซีย (Franco - Prussian War) ในปี พ.ศ. 2413 - 2414 ซึ่งเป็นไปตามแผนการของบิสมาร์คที่จะใช้สงครามกับฝรั่งเศสเพื่อกระตุ้นกระแสชาตินิยมเพื่อรวมชาติเยอรมนี

ข้อความในโทรเลข แก้

ข้อความในโทรเลขฉบับจริง แก้

นายเบเนเดตี ได้เข้ามาดักฉันที่ทางเดิน เพื่อเรียกร้องให้ได้ว่าฉันจะต้องอนุญาตโดยทันทีให้เขาส่งโทรเลขไปยังกรุงปารีสเพื่อแจ้งว่าฉันยอมให้คำมั่นสัญญาว่าในกาลข้างหน้าหากมีการรื้อฟื้น ฉันจะต้องไม่ให้ความเห็นชอบแก่ผู้ที่อยู่ในข่ายรับเลือกที่มาจากราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นอีก ฉันปฏิเสธที่จะตกลงตามข้อเรียกร้องนี้ และพูดตัดบทอย่างมีโทสะว่า ไม่มีใครที่จะอาจหาญหรือสามารถที่จะยึดมั่นเงื่อนไขนั้นไปได้ตลอกกาลนาน โดยความเป็นจริงฉันแจ้งให้เขาทราบว่าฉันยังไม่ได้รับข่าวอะไร และเนื่องจากเขาได้รับแจ้งข่าวก่อนหน้าฉันทั้งจากกรุงปารีสและกรุงมาดริด เขาควรจะเข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลของฉันจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกต่อไป

— พระเจ้าวิลเลียมที่ 1

ข้อความในโทรเลขฉบับดัดแปลงและตัดต่อใหม่ แก้

หลังจากที่รัฐบาลของราชอาณาจักรสเปนได้ส่งรายงานการสละสิทธิของเจ้าชายแห่งราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นแก่รัฐบาลของจักรพรรดิฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการแล้วเอกอัคราชทูตฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่เมืองเอมส์ เรียกร้องให้พระองค์อนุญาตให้เขาส่งโทรเลขไปยังกรุงปารีสว่าพระเจ้าอยู่หัวจะยินยอมให้คำมั่นสัญญาว่าหากในกาลข้างหน้าหากมีการรื้อฟื้น พระองค์จะไม่ให้ความเห็นชอบแก่ผู้ที่อยู่ในข่ายรับเลือกที่มาจากราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นอีก อาศัยเหตุผลดังกล่าวนี้ พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงปฏิเสธที่จะให้เอกอัคราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าอีก และทรงแจ้งให้เอกอัคราชทูตฝรั่งเศสทราบโดยฝ่ายนายทหารคนสนิทว่าพระองค์จะไม่มีอะไรที่จะตรัสกับเอกอัคราชทูตฝรั่งเศสอีก

อ้างอิง แก้

  • อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. สารานุกรมประวัติศาสตร์ยุโรปฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ E-F. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], [ม.ป.ป.].