โชตากง (อักษรโรมัน: shotacon; ญี่ปุ่น: ショタコンโรมาจิshotakon) หรือมักย่อว่า โชตะ (ショタ) เป็นคำตลาดในภาษาญี่ปุ่น ย่อจากคำประสมว่า "โชตาโรคอมเพลกซ์" (shōtarō complex; 正太郎コンプレックス) แปลว่า ปมโชตาโร มีที่มาจากตัวละครชื่อ โชตาโร (正太郎) ในอนิเมะเรื่อง เทตสึจิน หุ่นเหล็กหมายเลข 28 (Tetsujin 28-go)[1]

ภาพประกอบของตัวละครหญิงที่มีอายุมากกว่าที่ดึงดูดโชตะ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโชะตะคอน

โชตากง หมายความว่า ความหลงใหลใน "หนุ่มน้อย" หรือบุคคลที่มีความหลงใหลเช่นนั้น ตรงกันข้ามกับโลลิคอน (lolicon) ซึ่งว่าด้วย "สาวน้อย" อนึ่ง คำโชตากงนี้ ภายนอกประเทศญี่ปุ่นยังใช้เรียกมังงะหรืออนิเมะซึ่งแสดงภาพตัวละครผู้ชายในวัยหนุ่มหรือก่อนเป็นหนุ่มไปในอิริยาบถเร้ากำหนัดหรือเชิงสังวาส ทั้งยังใช้หมายถึงตัวละครชายที่พ้นวัยหนุ่มแล้วแต่ยังมีรูปโฉมเยาว์วัยเหมือนหนุ่มอยู่ด้วย[2] ในหมู่ผู้นิยมวัฒนธรรมญี่ปุ่น ทั้งที่เป็นชาวญี่ปุ่นเองและชาวประเทศอื่นนั้น งานประเภทโชตากงมีทั้งที่เร้ากำหนัดเพียงเล็กน้อย ที่ชวนรักใคร่ ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางเพศโดยสิ้นเชิง ไปจนถึงที่แสดงความลามกอนาจารอย่างแจ้งชัด

เช่นเดียวกับโลลิคอน โชตากงนั้นสัมพันธ์กับทัศนคติเรื่องคาวาอี (kawaii, ความน่ารัก) และโมเอะ (moe, บุคลิกลักษณะน่ารัก อ่อนหวาน อ่อนวัย และชวนปกป้องดูแล) องค์ประกอบโชตากง เช่น ยาโออิ (yaoi, ชายรักร่วมเพศ) นั้น ค่อนข้างดาษดื่นในมังงะประเภทโชโจะ (shōjo, มังงะที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นหญิงสาววัยรุ่น) เช่น เรื่อง เลิฟเลส (Loveless) ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงสังวาสระหว่างเด็กชายอายุสิบสองปีกับผู้ชายอายุยี่สิบปี ส่วนมังงะประเภทเซเน็ง (seinen, มังงะที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชายหนุ่ม) โดยเฉพาะที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นโอตากุ (otaku, ผู้นิยมมังงะ อนิเมะ หรือวิดีโอเกมเป็นพิเศษ) นั้น บางคราวก็แสดงตัวละครชายวัยรุ่นไปในเชิงเร้ากามารมณ์แต่ไม่ลามกอนาจาร เช่น เรื่อง ยูบิซากิมิลก์ที (Yubisaki Milk Tea) ที่มีตัวเอกเป็นเด็กชายลักเพศอายุสิบหกปี

นักวิพากษ์วิจารณ์บางคนเห็นว่า งานประเภทโชตากงนั้นส่งผลให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กขึ้นจริง ๆ[3] ขณะที่นักวิจารณ์กลุ่มอื่น ๆ แย้งว่า ข้ออ้างดังกล่าวไม่มีพยานหลักฐานรองรับ[3] และถึงมี ก็เป็นพยานหลักฐานที่บ่งชี้ไปในทางอื่นเสียมากกว่า[4]

อ้างอิง แก้

  1. Saitō Tamaki (2007) "Otaku Sexuality" in Christopher Bolton, Istvan Csicsery-Ronay Jr., and Takayuki Tatsumi ed., page 236 Robot Ghosts and Wired Dreams เก็บถาวร 2011-06-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน University of Minnesota Press ISBN 978-0-8166-4974-7
  2. Thompson, Jason (2007). Manga: The Complete Guide. Del Rey. p. 501. ISBN 0-345-48590-4.
  3. 3.0 3.1 Tony McNicol (2004-04-27). "Does comic relief hurt kids?". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ 2008-01-18.
  4. Milton Diamond and Ayako Uchiyama (1999). "Pornography, Rape and Sex Crimes in Japan". International Journal of Law and Psychiatry. 22 (1): 1–22. doi:10.1016/S0160-2527(98)00035-1. PMID 10086287. สืบค้นเมื่อ 2008-01-06.