โจว เสวียน (จีน: 周璇, 1 สิงหาคม ค.ศ. 1918 — 22 กันยายน ค.ศ. 1957) เป็นนักร้องและดารานักแสดงหญิงชาวจีนที่ได้รับความนิยม จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1940 เธอได้กลายมาเป็นหนึ่งใน "เจ็ดดาวจรัสแสงเซี่ยงไฮ้" [1] (great singing star) ของจีน[2] เป็นไปได้ว่าเธอจะเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในบรรดาทั้งเจ็ดคน เพราะเธอยังมีอาชีพดารานักแสดงพร้อมกับนักร้องกระทั่ง ค.ศ. 1953

โจว เสวียน
เกิดซู ผู (蘇璞)
1 สิงหาคม ค.ศ. 1918
ฉางโจว มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐจีน
เสียชีวิต22 กันยายน ค.ศ. 1957 (อายุ 39 ปี)
เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
สัญชาติจีน
ชื่ออื่นเสียงทอง (銀嗓子)
อาชีพนักร้อง, นักแสดง
ปีปฏิบัติงานค.ศ. 1935-1953

ประวัติ แก้

โจวมีชื่อเมื่อเกิดว่า ซู ผู (จีนตัวย่อ: 苏璞; จีนตัวเต็ม: 蘇璞; พินอิน: Sū Pú) ตั้งแต่ยังเด็กถูกแยกจากบิดามารดาบังเกิดเกล้าและเลี้ยงดูขึ้นโดยบิดามารดาเลี้ยง เธอใช้เวลาทั้งชีวิตหาบิดามารดาบังเกิดเกล้าของตน แต่วงศ์ตระกูลของเธอไม่เคยปรากฏขึ้นกระทั่งหลังเธอเสียชีวิต[3]

ตามการวิจัยครอบครัวในภายหลัง ญาติของเธอซึ่งติดฝิ่นนำเธอไปยังเมืองอื่นขณะมีอายุได้ 3 ขวบ และขายให้กับครอบครัวหวัง และตั้งชื่อเธอว่า หวัง เสี่ยวหง ต่อมาถูกเลี้ยงดูขึ้นโดยครอบครัวโจว และเปลี่ยนชื่อเธอเป็น โจว เสี่ยวหง[4]

เมื่ออายุได้ 13 ปี เธอใช้ชื่อโจว เสวียนเป็นชื่อแสดงของเธอ "เสวียน" (璇) ในภาษาจีนหมายถึง หยกงาม

การงาน แก้

ในปี 1932 โจวเริ่มงานแสดงโดยเป็นสมาชิกของคณะนักเต้นหมิงเยว่เกออู่ถวน (อังกฤษ: Bright Moon Song and Dance Troupe จีน: 明月歌舞团) ของหลีจิ่นฮุย เมื่ออายุได้ 14 ปี เธอได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดร้องเพลงในเซี่ยงไฮ้ และได้รับฉายา เสียงทอง (金嗓子) จากความสามารถในการร้องเสียงสูงที่เป็นธรรมชาติ

โจวเริ่มงานในวงการภาพยนตร์ในปี 1935 และเริ่มประสบความสำเร็จในปี 1937 เมื่อผู้กำกับหยวนมู่จือเลือกเธอให้แสดงบทนำเป็นนักร้องหญิงในภาพยนตร์เรื่องหม่าลู่เทียนสื่อ (อังกฤษ: Street Angel จีน: 馬路天使) โจวกลายเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากตลาดเพลงในยุคเครื่องเล่นแผ่นเสียงกระทั่งเสียชีวิต โดยร้องเพลงส่วนใหญ่ที่มาจากภาพยนตร์ที่เธอนำแสดงเอง

ระหว่างปี 1946-1950 โจวมักจะเดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่ฮ่องกงบ่อยครั้ง เช่น จั่งเซี่ยงซือ (อังกฤษ: All-Consuming Love จีน: 長相思), ฮวาไว่หลิวอิง (จีน: 花外流鶯), ชิงกงมี่สื่อ (จีน: 清宮秘史) และไฉ่หงฉวี่ (อังกฤษ: Rainbow Song จีน: 彩虹曲) หลังจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเย่ซั่งไห่ (อังกฤษ: Shanghai Nights จีน: 夜上海) ในปี 1949 แล้ว โจวกลับมายังเซี่ยงไฮ้ อีกสองสามปีถัดมาเธอเข้าออกสถาบันทางจิตจากความเจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ (nervous breakdown) ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตลอดเวลาที่ผ่านมา โจวนำชีวิตอันยุ่งยากซับซ้อนและไม่มีความสุข ซึ่งเกิดจากการสมรสที่ล้มเหลว บุตรนอกกฎหมายและความพยายามอัตวินิบาตกรรม[4]

ในบรรดาภาพยนตร์ทั้งหมด 43 เรื่องที่โจวแสดงนั้น เรื่องที่เธอชื่นชอบที่สุดคือเรื่องหม่าลู่เทียนสื่อ ซึ่งมีเพลงประกอบภาพยนตร์สองเพลง ได้แก่ ซื่อจี้เกอ (อังกฤษ: Four Seasons Song จีน: 四季歌) และเทียนหยาเกอหฺนวี่ (อังกฤษ: The Wandering Songstress จีน: 天涯歌女) โดยทั้งสองเพลงได้รับความนิยมต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนเพลงอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงของโจว เช่น เหอยรื่อจวินไจ้ไหล (อังกฤษ: When Will You Return? จีน: 何日君再來), เย่ซั่งไห่ (เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน), หวงเย่อู่ชิวเฟิง (อังกฤษ: Yellow Leaves Dancing in Autumn Wind จีน: 黃葉舞秋風), หยงเหฺยวี่ยนเตอเหวย์เซี่ยว (อังกฤษ: Forever Smile จีน: 永遠的微笑), ไป่ฮวาเกอ (อังกฤษ: Hundred Flower Song จีน: 百花歌), ติงหนิง (อังกฤษ: Advice จีน: 叮嚀), จืออินเหอชู่สวิน (อังกฤษ: Where Can the Soul Mate be Found จีน: 知音何處尋) และไฉ่ปินหลัง (อังกฤษ: Picking Betal Nuts จีน: 採檳榔)

เสียชีวิต แก้

ใน ค.ศ. 1957 เธอเสียชีวิตในเซี่ยงไฮ้ในสถานพยาบาลจิตเวช (mental asylum) ขณะมีอายุได้ 39 ปี ระหว่างความเคลื่อนไหวต่อต้านฝ่ายขวา (Anti-Rightist Movement)[5] สาเหตุการเสียชีวิตที่เป็นไปได้อาจเป็นภาวะสมองอักเสบ (encephalitis) ที่เกิดหลังความเจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ

โจว เสวียนมีบุตรชายสองคน ชื่อ โจว เหวินกับโจว เว่ย โดยเกิดกับบิดาคนละคนกัน ตามชีวประวัติของโจว เหวิน บุตรชายคนเล็ก โจว เว่ย เป็นบุตรของถังตี้ (唐棣) แต่ไม่ทราบบิดาของโจว เหวิน

อ้างอิง แก้

  1. [http://www.oknation.net/blog/chailasalle/2010/07/29/entry-4 ตำนานเพลงจีนตอน...เจ็ดดาวจรัสแสงเซี่ยงไฮ้ ]
  2. Baidu. "Baidu เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน." Bai Guang. Retrieved on 2007-04-28.
  3. 周璇身世越发离奇 原名苏璞竟是苏轼后人
  4. 4.0 4.1 "Golden Voice" Zhou Xuan เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, CRI, 2004-3-31, page 1.
  5. Atkins, Taylor. Jazz Planet. University Press of Mississippi, 2003. ISBN 1-57806-609-3

แหล่งข้อมูลอื่น แก้