โกนิงส์ดัค หรือ วันพระราชา (ดัตช์: Koningsdag; เสียงอ่าน: [ˈkoːnɪŋsˌdɑx]  ( ฟังเสียง)) คือวันหยุดนักขัตฤกษ์ในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเฉลิมฉลองกันในวันที่ 27 เมษายน (หากตรงกับวันอาทิตย์จะเลื่อนไปเป็นวันที่ 26 เมษายน) ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์[1]

โกนิงส์ดัค
ประชาชนร่วมสวมเสื้อผ้าสีส้มและรวมตัวกันตามคูคลองของกรุงอัมสเตอร์ดัม พ.ศ. 2553
จัดขึ้นโดยราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
(เนเธอร์แลนด์, อารูบา, กือราเซา และซินต์มาร์เติน)
ประเภทวันหยุดนักขัตฤกษ์
ความสำคัญวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์
การเฉลิมฉลองงานเลี้ยงสังสรรค์พร้อมกับสวมเสื้อผ้าสีส้ม งานตลาดนัดขายของเก่า งานแสดงดนตรี และงานชุมนุมตามประเพณีท้องถิ่น
วันที่27 เมษายน (หากตรงกับวันอาทิตย์ จะเลื่อนเป็นวันที่ 26 เมษายน)

แต่เดิมในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2492 ถึง พ.ศ. 2556 เป็นที่รู้จักกันในชื่อ โกนิงงินเนอดัค หรือ วันพระราชินีนาถ (ดัตช์: Koninginnedag; เสียงอ่าน: [koːnɪˈŋɪnəˌdɑx]  ( ฟังเสียง)) ซึ่งตรงกับวันที่ 30 เมษายนของทุกปี และเป็นวันที่เฉลิมฉลองในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนา (เสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2491)

ก่อนหน้านั้น วันหยุดนักขัตฤกษ์นี้จัดขึ้นครั้งแรกวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2428 ในชื่อว่า ปรินเซสเซอดัค หรือ วันเจ้าหญิง (Prinsessedag) ซึ่งในครั้งนั้นจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติปีที่ห้าของเจ้าหญิงวิลเฮลมินา รัชทายาทแห่งเนเธอร์แลนด์ ต่อมาในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2441 (ทรงบรรลุนิติภาวะในวันที่ 31 สิงหาคมปีเดียวกัน) ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถ วันหยุดนักขัตฤกษ์ดังกล่าวจึงถูกเปลี่ยนมาเป็น โกนิงงินเนอดัค ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งนี้เนื่องจากวันที่ 31 สิงหาคม ตรงกับวันสุดท้ายของการปิดภาคเรียนในฤดูร้อน วันดังกล่าวจึงได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่เยาวชน จากนั้นในปี พ.ศ. 2491 เมื่อเจ้าหญิงยูเลียนา พระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนา เสด็จขึ้นครองราชย์ วันหยุดดังกล่าวจึงถูกย้ายไปเป็นวันที่ 30 เมษายนของทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระราชินีนาถพระองค์ใหม่แทน

เมื่อเจ้าหญิงเบียทริกซ์ พระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนา เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2523 วันโกนิงงินเนอดัคก็ยังคงจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายนเช่นเดิม แม้ว่าวันพระราชสมภพของพระองค์จะตรงกับวันที่ 31 มกราคมก็ตาม[2] ทั้งนี้พระราชินีนาถเบียทริกซ์ทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีการต้อนรับขบวนพาเหรดดอกไม้ ณ พระราชวังซุสต์ไดก์ ไปเป็นการเสด็จฯ เยือนเมืองต่าง ๆ ในแต่ละปี พร้อมกับเข้าร่วมงานเทศกาลกับพระราชโอรส-ธิดา ในปี พ.ศ. 2552 ขณะที่พระราชินีนาถเบียทริกซ์ทรงเข้าร่วมงานวันพระราชินีนาถ ณ เมืองอาเพลโดร์น เกิดเหตุชายคนหนึ่งพยายามโจมตีพระองค์ด้วยการขับรถยนต์ของตนเองพุ่งชนรถโดยสารพระที่นั่งของพระราชวงศ์ แต่รถยนต์กลับพุ่งเข้าชนประชาชนผู้เฝ้าชมขบวนเสด็จฯ และชนเข้ากับอนุสาวรีย์ในบริเวณใกล้เคียงแทน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 7 ราย ซึ่งรวมถึงรวมผู้ก่อเหตุด้วย

ต่อมาในวันพระราชินีนาถ พ.ศ. 2556 สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์สละราชสมบัติแก่พระราชโอรส เจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ (พระราชาธิบดีพระองค์แรกนับตั้งแต่มีการเฉลิมฉลองวันดังกล่าว) ส่งผลให้วันพระราชินีนาถเปลี่ยนมาเป็น โกนิงส์ดัค หรือ วันพระราชา ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา และจัดการเฉลิมฉลองเร็วขึ้น 3 วันเป็นวันที่ 27 เมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระราชาธิบดี

โกนิงส์ดัค เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปถึงการจัดงาน ไฟรมากต์ (vrijmarkt; ตลาดเสรี) ทั่วประเทศ ที่ซึ่งประชาชนชาวดัตช์ร่วมกันออกร้านขายของมือสอง นอกจากนี้ยังเป็นวันที่ประชาชนร่วมกันสวมเสื้อผ้าสีส้มซึ่งเป็นสีประจำชาติหรือ โอรันเยอแค็กเตอ (oranjegekte; ความบ้าคลั่งสีส้ม) อีกด้วย

ประวัติศาสตร์ แก้

สมัยวิลเฮลมินา แก้

โกนิงงินเนอดัค วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1880 ระบอบราชาธิปไตยเสื่อมความนิยมลง นักเสรีนิยมในคณะรัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงพยายามหาแนวทางกระตุ้นความสามัคคีของคนในชาติ[3] และแม้ว่าประชาชนจะไม่ชื่นชอบสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิมที่ 3 แต่ไม่ใช่กับเจ้าหญิงวิลเฮลมินา พระราชธิดาวัย 4 ชันษาของพระองค์[4] ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีวันหยุดนักขัตฤกษ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชาธิบดีเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษามาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เย. เว. แอร์. แคร์ลัค บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Utrechts Provinciaal en Stedelijk Dagblad จึงเสนอว่าวันคล้ายวันประสูติของเจ้าหญิงถือเป็นโอกาสอันเหมาะสมในการเฉลิมฉลองสำหรับผู้รักชาติและการปรองดองแห่งชาติ[5] จึงได้มีการจัด ปรินเซสเซอดัค หรือ วันเจ้าหญิง ขึ้นครั้งแรกในเนเธอร์แลนด์ ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2428 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันประสูติปีที่ห้าของเจ้าหญิงวิลเฮลมินา เจ้าหญิงพระองค์น้อยได้เสด็จไปกับขบวนเฉลิมฉลองตามท้องถนนสายต่าง ๆ พร้อมกับโบกพระหัตถ์ทักทายฝูงชน[4] แม้ในปีนั้นจะมีการเฉลิมฉลองเพียงแค่ในเมืองยูเทรกต์ แต่ไม่นานเมืองต่าง ๆ ก็ได้ร่วมการเฉลิมฉลองและจัดกิจกรรมสำหรับเหล่าเด็ก ๆ ในท้องถิ่นของตน[5] ในปีถัด ๆ มาจึงได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองและขบวนแห่ในรูปแบบที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม และเมื่อเจ้าหญิงเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2433 ปรินเซสเซอดัค จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น โกนิงงินเนอดัค หรือ วันพระราชินีนาถ[4] ในขณะนั้นเองแทบทุกเมืองในเนเธอร์แลนด์ต่างก็ร่วมเฉลิมฉลองในวันดังกล่าวด้วยกันหมดทั้งสิ้น[5]

การเฉลิมฉลองได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก และเมื่อพระราชินีนาถทรงบรรลุนิติภาวะในปี พ.ศ. 2441 ก็ได้มีการเลื่อนพระราชพิธีราชาภิเษกออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ เพื่อไม่ให้คาบเกี่ยวกับงานเฉลิมฉลองในวันโกนิงงินเนอดัค[6] ซึ่งวันหยุดนี้ตรงกับวันสุดท้ายของการปิดภาคเรียนในฤดูร้อน จึงทำให้ได้รับความนิยมจากเด็กนักเรียน[4] ไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่าพระราชินีนาถวิลเฮลมินาทรงเพลิดเพลินไปกับงานเทศกาลนี้มากเพียงใด นักเขียน ไมก์ เปก เขียนบทความนิตยสารเกี่ยวกับโกนิงงินเนอดัคว่าพระองค์สนพระทัยอย่างมาก[4] แต่ถึงอย่างไรเสียก็มีเรื่องกล่าวอ้างที่ว่าหลังจากที่เสด็จฯ กลับจากขบวนแห่วันคล้ายวันพระราชสมภพ พระราชินีนาถทรงรู้สึกเมื่อยล้าและทรงเล่นตุ๊กตาของพระองค์ให้โค้งคำนับจนกระทั่งผมของตุ๊กตาตัวนั้นมีสภาพยุ่งเหยิง พร้อมกับตรัสกับตุ๊กตาว่า "เธอน่าจะลองนั่งบนรถม้าและโค้งคำนับจนกระทั่งปวดหลังดูบ้างนะ แล้วลองดูสิว่าเธอจะชอบการเป็นราชินีมากแค่ไหนกัน!"[7]

วันโกนิงงินเนอดัคประจำปี พ.ศ. 2445 ไม่ได้เฉลิมฉลองงานเฉลิมพระชนมพรรษาดังเช่นทุกปี แต่กลับเฉลิมฉลองในวาระที่พระราชินีนาถทรงหายจากพระอาการประชวรรุนแรง[3] ถัดมาเมื่อทรงเจริญพระชันษามากขึ้น พระราชินีนาถก็เสด็จฯ เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองน้อยลง[8] และในปี พ.ศ. 2466 ทรงเข้าร่วมพิธีรัชดาภิเษกในวโรกาสปีที่ 25 ของการครองราชสมบัติ ซึ่งมีการจัดงานเทศกาลรื่นเริงขนาดมหึมาในกรุงอัมสเตอร์ดัมและกรุงเฮก แม้ว่าจะทรงเรียกร้องให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากก็ตาม แต่เพื่อให้แน่ใจได้ว่าทุกส่วนของเมืองรวมถึงย่านคนจนจะไม่ถูกทอดทิ้ง จึงได้มีการจัดการแสดงดนตรีพร้อมกัน 28 จุดทั่วกรุงเฮก[9] พระราชินีนาถวิลเฮลมินายังทรงอนุญาตให้มีการจัดงานแบบดังกล่าวขึ้นอีกครั้งเป็นการพิเศษในปี พ.ศ. 2473 เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่ห้าสิบของพระองค์[8] ทั้งนี้ระหว่างที่นาซีเยอรมันยึดครองเนเธอร์แลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การเฉลิมฉลองวันโกนิงงินเนอดัคถูกห้ามปรามและยกเลิก คณะกรรมการออเรนจ์ (Oranjecomité) ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่จัดงานในแต่ละปีจึงได้ทำลายระเบียนบันทึกของตน เนื่องจากเกรงกลัวการตอบโต้จากเยอรมนี[6]

สมัยยูเลียนา แก้

 
ขบวนเฉลิมฉลองของกองทัพในอาร์เนม วันโกนิงงินเนอดัค พ.ศ. 2501

นอกจากวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินาแแล้ว ระหว่างช่วงฤดูร้อนในเนเธอร์แลนด์ ก็ยังมีงานเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระราชินีเอ็มมา พระราชชนนีอีกด้วย ซึ่งหลังจากที่พระราชินีนาถวิลเฮลมินาเจริญพระชันษาแล้ว พระราชินีเอ็มมาก็มักจะทรงเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ในวันที่ 2 สิงหาคม ณ พระราชวังซุสต์ไดก์ในเมืองบาร์น โดยจะทรงรับมอบขบวนพาเหรดดอกไม้หรือ บลุเมอกอร์โซ (Bloemencorso) จากประชาชนชาวเมืองอยู่เป็นประจำทุกปี จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2477 ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 เจ้าหญิงยูเลียนา พระราชปนัดดาและรัชทายาทแห่งเนเธอร์แลนด์ ได้แปรพระราชฐานมาพำนัก ณ พระราชวังซุสต์ไดก์ หลังการอภิเษกสมรสของพระองค์ ในโอกาสนี้เองชาวเมืองจึงได้ร่วมกันจัดขบวนพาเหรดดอกไม้เช่นเดียวกับที่เคยจัดให้แก่พระราชินีเอ็มมา แต่ในครั้งนี้เปล่ยนมาจัดในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของเจ้าหญิงยูเลียนาแทน[8] และเมื่อเจ้าหญิงยูเลียนาขึ้นครองราชสมบัติในเดือนกันยายน พ.ศ. 2491 วันโกนิงงินเนอดัคก็ถูกเลื่อนมาจัดในวันเฉลิมพระชนมพรรษของพระองค์แทน[10] ซึ่งการเปลี่ยนแปลงวันโกนิงงินเนอดัคในครั้งนี้ ได้รับความเห็นชอบจากเยาวชนชาวดัตช์ด้วยในทันทีเนื่องจากเป็นการขยายวันหยุดออกไปอีก การจัดงานครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงประกอบไปด้วยกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การแสดงคณะละครสัตว์ชุดใหญ่ ณ สนามกีฬาโอลิมปิกอัมสเตอร์ดัม ซึ่งพระราชวงศ์มิได้ทรงเข้าร่วมเนื่องจากประทับอยู่ ณ พระราชวังซุสต์ไดก์[11] ทั้งนี้พระราชินีนาถยูเลียนายังทรงคงไว้ซึ่งประเพณีการรับมอบดอกไม้ และประทับอยู่ ณ พระราชวังซุสต์ไดก์เพื่อประเพณีดังกล่าวทุกปี ต่อมาประเพณีดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และวันโกนิงงินเนอดัคก็ได้กลายมาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ประจำชาติที่บรรดาแรงงานทุกคนได้รับสิทธิ์ให้หยุดงานในวันนี้[4]

ในช่วงต้น พ.ศ. 2509 เจ้าหญิงเบียทริกซ์ พระราชธิดาองค์โตในพระราชินีนาถยูเลียนา อภิเษกสมรสกับเคลาส์-เกออร์ก ฟอน อัมสแบร์ก ซึ่งการอภิเษกสมรสดังกล่าวตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมดัตช์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าชายเคลาส์พระองค์ใหม่นี้เป็นชาวเยอรมันและเคยเข้ารับราชการทหารในกองทัพเยอรมันช่วงสงครามอีกด้วย กลุ่มต่อต้านเยอรมนีจึงได้รวมตัวกันก่อเหตุจลาจลในกรุงอัมสเตอร์ดัมใกล้ ๆ กับวันอภิเษกสมรสและวันโกนิงงินเนอดัค ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้รัฐบาลเกรงว่าเหตุประท้วงจะขยายวงออกไป จึงได้ใช้พื้นที่บริเวณใจกลางกรุงอัมสเตอร์ดัมจัดงาน ไฟรมากต์ หรือ ตลาดเสรี ซึ่งมักจะมีการจัดงานดังกล่าวในวันโกนิงงินเนอดัคตามเขตชานเมือง (โดยหลักแล้วเป็นงานที่จัดขึ้นสำหรับเด็ก ๆ) เพื่อเป็นการกันพื้นที่ที่กลุ่มผู้ประท้วงอาจใช้ก่อเหตุวุ่นวาย งานไฟรมากต์จึงได้สืบทอดเป็นประเพณีนับแต่นั้นเป็นต้นมา[4]

สมัยเบียทริกซ์ แก้

 
สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ขณะตรัสกับนายวิม เดตมัน นายกเทศมนตรีกรุงเฮก ณ เมืองสเคเฟอนิงเงิน วันโกนิงงินเนอดัค พ.ศ. 2548

หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาสละราชสมบัติและสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชมารดาในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2523 พระราชินีนาถพระองค์ใหม่ดัดสินพระทัยว่าจะยังคงวันโกนิงงินเนอดัคไว้ ณ วันที่ 30 เมษายนเช่นเดิม เพื่อถวายเป็นพระเกียรติแก่พระราชมารดา[2][3] (หากวันที่ 30 เมษายนตรงกับวันอาทิตย์ วันโกนิงงินเนอดัคก็จะเลื่อนไปจัดในวันก่อนหน้า ซึ่งกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2549)[12] รวมทั้งยังมีเหตุผลในทางปฏิบัติมาสนับสนุนอีกด้วย เนื่องจากวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระราชินีนาถเบียทริกซ์ตรงกับวันที่ 31 มกราคม และตรงกับช่วงฤดูหนาวในเนเธอร์แลนด์ สภาพอากาศในช่วงนั้นจึงไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมนอกสถานที่มากนัก[10] ในสมัยเบียทริกซ์นี้ แบบแผนในการจัดงานแบบเดิม ๆ ก็ยังได้รับการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน จากเดิมที่พระราชินีนาถจะประทับอยู่ ณ พระราชวัง และให้ประชาชนชาวดัตช์เป็นฝ่ายรวมตัวกันมาเข้าเฝ้าพระองค์ พระราชินีนาถเบียทริกซ์ทรงเลือกที่จะเสด็จฯ ไปเยือนเมืองต่าง ๆ ในการเฉลิมฉลองวันโกนิงงินเนอดัคนี้แทน[3] โดยในงานจะมีการจัดแสดงผลงานฝีมือและประเพณีของท้องถิ่นให้พระราชวงศ์ดัตช์ได้ทรงเยี่ยมชม[13][14]

ในบางครั้ง การเฉลิมฉลองวันโกนิงงินเนอดัคนี้ก็ยังถูกรบกวนหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อื่นอีกด้วย เช่นในปี พ.ศ. 2531 นายทหารชาวอังกฤษสามนายผู้ประจำการอยู่ในเยอรมนีเดินทางเข้ามาร่วมงานเฉลิมฉลองวันโกนิงงินเนอดัคในเนเธอร์แลนด์ ถูกสังหารจากการโจมตีของกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์[15] หรือในปี พ.ศ. 2539 ในงานเฉลิมฉลอง ณ เมืองรอตเทอร์ดาม ซึ่งถูกประกาศห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด สืบเนื่องมาจากเหตุจลาจลในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากที่สโมสรฟุตบอลไฟเยอโนร์ดสามารถคว้าตำแหน่งผู้ชนะในการแข่งขันฟุตบอลเอเรอดีวีซีได้สำเร็จ[16] นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2544 ยังมีการเลื่อนกำหนดการณ์เสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองโฮเคอเฟนและเมืองแม็ปเปิลของพระราชินีนาถเบียทริกซ์ออกไปหนึ่งปี เนื่องมาจากการการแพร่ระบาดของโรคปากเท้าเปื่อย (foot-and-mouth disease) ในพื้นที่[17]

ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551 ขณะที่พระราชินีนาถเบียทริกซ์และพระราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ เสด็จฯ เยือนเมืองอาเพลโดร์น เกิดเหตุชายอายุ 38 ปี ชื่อว่ากาสต์ ตาเติส ขับรถยนต์รุ่นซูซูกิ-สวิฟท์ของเขาเข้าใส่ฝูงชน ซึ่งเฉียดรถโดยสารพระที่นั่งสองชั้นแบบเปิดประทุนของบรรดาพระราชวงศ์ไปเพียงเล็กน้อย[4][18] ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 คน และยกเลิกการจัดงานเฉลิมฉลองที่เหลือลง[18] กาสต์เสียชีวิตจากการบาดเจ็บในเวลาต่อมา โดยเหตุจูงในการโจมตีครั้งนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แม้จะปรากฏให้เห็นได้ว่าเขาพุ่งเป้าโจมตีไปที่ขบวนรถของพระราชวงศ์[4] เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่าพระราชวงศ์ดัตช์ควรจะยังคงเสด็จฯ เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองในวันโกนิงงินเนอดัคต่อไปอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตามพระราชินีนาถเบียทริกซ์ยังคงแสดงให้เห็นว่าเหตุดังกล่าวจะไม่สามารถหยุดยั้งพระองค์จากการพบปะกับพสกนิกรของพระองค์ได้[13] ถัดมาในปี พ.ศ. 2553 พระราชินีนาถเบียทริกซ์และพระราชวงศ์เสด็จฯ เยือนหมู่บ้านเวเมิลดิงเงอและเมืองมิดเดิลบืร์คในจังหวัดเซลันด์โดยปราศจากเหตุการณ์ใด ๆ ซึ่งพระราชินีนาถเบียทริกซ์ขอบพระทัยจังหวัดเซลันด์ที่มอบวันโกนิงงินเนอดัคคืนแก่พระราชวงศ์และประเทศของพระองค์[4]

 
สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์และเจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ เจ้าชายแห่งออร์เรนจ์ พระราชโอรส (กำลังโบกพระหัตถ์) ขณะเสด็จฯ เยือนเมืองเวาดรีเคิม พ.ศ. 2550

สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองต่าง ๆ เนื่องในวันโกนิงงินเนอดัคดังต่อไปนี้

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556 พระราชินีนาถเบียทริกซ์ทรงประกาศว่าจะสละราชสมบัติในวันที่ 30 เมษายนของปีเดียวกัน โดยให้เจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ เจ้าชายแห่งออร์เรนจ์ พระราชโอรสองค์โตสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์[20] และเนื่องจากวันดังกล่าวตรงกับวัน โกนิงงินเนอดัค ดังนั้นกำหนดการณ์เสด็จฯ เยือนเมืองเดอไรป์และเมืองอัมสเติลเฟนจึงถูกยกเลิกไป อย่างไรก็ตามการเฉลิมฉลองในวันโกนิงงินเนอดัคประจำปี พ.ศ. 2556 ยังคงดำเนินต่อไปทั่วประเทศ

สมัยวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ แก้

 
พระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์, พระราชีนีแม็กซิมา และเจ้าหญิงเบียทริกซ์ ขณะเสด็จฯ เยือนงานเฉลิมฉลองวัน โกนิงส์ดัค ประจำปี พ.ศ. 2557 ณ เมืองเดอไรป์

ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นวันพระราชินีนาถ เจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชมารดา และเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในฐานะพระราชาธิบดีแห่งเนเธอร์แลนด์พระองค์แรกในรอบ 123 ปี ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมาวันพระราชินีนาถจึงเปลี่ยนมาเป็นวันพระราชา ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมวันที่ 30 เมษายนของทุกปี มาเป็นวันที่ 27 เมษายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์[1] โดยวันพระราชาวันแรกได้จัดขึ้นในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557 (เลื่อนขึ้นมาหนึ่งวันเนื่องจากวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557 ตรงกับวันอาทิตย์) พระราชาธิบดีเสด็จฯ เยือนเมืองเดอไรป์และเมืองอัมสเติลเฟนตามหมายกำหนดการเดิมของพระราชินีนาถเบียทริกซ์ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากพระราชินีนาถเบียทริกซ์สละราชสมบัติในปีนั้น[21]

พระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ เสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองต่าง ๆ ในวัน โกนิงส์ดัค ดังนี้

กิจกรรม แก้

กิจกรรมและเทศกาลที่จัดขึ้นในวัน โกนิงส์ดัค มักถูกจัดโดยคณะกรรมการออเรนจ์ซึ่งเป็นสมาคมระดับท้องถิ่น[30] ที่คอยจัดหาทุนสนับสนุนและเงินบริจาคสำหรับจัดกิจกรรม อย่างไรก็ดีในช่วงไม่กี่ปีมานี้คณะกรรมการเผชิญกับความยากลำบากในการสรรหาสมาชิกชาวดัตช์รุ่นใหม่เข้ามาสานภารกิจต่อ[31]

ตลาดนัดขายของเก่า แก้

 
ไฟรมากต์ ในกรุงเฮก วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2548
 
ไฟรมากต์ ในงานวัน โกนิงงินเนอดัค พ.ศ. 2554 ณ เมืองเดเวนเตอร์

ไฟรมากต์ (แปลตรงตัวว่าตลาดเสรี) คือตลาดนัดขายของเก่าที่จัดขึ้นทั่วประเทศ ที่ซึ่งผู้คนมากมายต่างร่วมกันนำเอาข้าวของที่ใช้แล้วมาวางจำหน่าย โดยวัน โกนิงส์ดัค นี้เองที่รัฐบาลดัตช์อนุญาตให้มีการขายของตามท้องถนนโดยไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้[32] ในปี พ.ศ. 2554 ธนาคารไอเอ็นจีพบว่าผู้อยู่อาศัยชายดัตช์จำนวนหนึ่งในห้าวางแผนที่จะออกร้านขายของในเทศกาล ไฟรมากต์ และคาดการณ์ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะขายของได้เป็นเงินเฉลี่ยคนละ 100 ยูโร จากยอดขายคาดการณ์รวมทั้งประเทศ 290 ล้านยูโร ทางด้านผู้ซื้อ ธนาคารไอเอ็นจีพบว่าชาวดัตช์มากกว่าครึ่งหนึ่งจะซื้อข้าวของที่ ไฟรมากต์ และคาดการณ์ว่าแต่ละคนจะใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 28 ยูโร ในงานเทศกาลประจำปี พ.ศ. 2554 ดังกล่าว[33] โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าพระราชินีนาถเบียทริกซ์ทรงเลือกซื้อข้าวของจาก ไฟรมากต์ ด้วยเช่นกัน ซึ่งในปี พ.ศ. 2538 พระองค์ทรงเลือกซื้อโคมไฟตั้งพื้นกลับไป[34] ธนาคารไอเอ็นจียังคาดการณ์อีกว่าปริมาณการขายที่ต่ำสุดของเทศกาล ไฟรมากต์ ปี พ.ศ. 2554 จะอยู่ที่จังหวัดลิมบูร์ก ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระราชินีนาถเบียทริกซ์เสด็จฯ ไปเยือน[33]

สำหรับ ไฟรมากต์ ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศคือตลาดในเขตยอร์ดานของกรุงอัมสเตอร์ดัม ในขณะที่ตลาดในเขตอาโปลโลลานหน้าโรงแรมฮิลตันซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงอัมสเตอร์ดัมและมีพื้นที่กว้างกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้เหล่าเด็ก ๆ อายุน้อยยังนิยมขายของเล่นที่ไม่ใช้แล้วและผ้าแพรของตนที่ตลาดในเขตโฟนเดิลปาร์กซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของกรุงอัมสเตอร์ดัมเช่นกัน ทั้งนี้ผู้คนที่ผ่านไปมามักไม่ได้จริงจังกับการซื้อหาของจากเด็ก ๆ อายุน้อยเหล่านี้มากนัก พวกเขาแค่ต้องการจะให้เงินแก่เด็ก ๆ มากกว่าการซื้อของที่ตนต้องการ เพื่อที่จะสร้างบรรยากาศอันสนุกสนานสำหรับเทศกาลนั่นเอง[35]

ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2539 เทศกาล ไฟรมากต์ จะจัดขึ้นในเย็นของวันก่อนหน้าเรื่อยไปจนถึงวันงาน โกนิงส์ดัค เป็นเวลา 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีประเพณีได้ถูกยกเลิกไปเพื่อให้มีช่วงเวลาหยุดพักสำหรับการเตรียมงานเฉลิมฉลองวัน โกนิงส์ดัค ในช่วงกลางวัน[4] มีเพียงเมืองยูเทรกต์เท่านั้นที่ยังคงไว้ซึ่ง ไฟรมากต์ ในช่วงกลางคืนตามประเพณีแบบดั้งเดิม[19]

งานเทศกาล แก้

 
งานแสดงดนตรีโดยวงดนตรีดัตช์ ลีฟ ในกรุงเฮก ช่วงการเฉลิมฉลอง โกนิงงินเนอนัคต์ พ.ศ. 2551
 
ผู้คนต่างพากันเฉลิมฉลองด้วยเครื่องแต่งกายสีส้มในกรุงอัมสเตอร์ดัม วัน โกนิงงินเนอดัค พ.ศ. 2550

ปัจจุบันการจัดงานเฉลิมฉลองวัน โกนิงส์ดัค เป็นไปด้วยการเฉลิมฉลองขนานใหญ่อันประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ งานแสดงดนตรี กิจกรรมพิเศษตามสถานที่สาธารณะโดยเฉพาะในกรุงอัมสเตอร์ดัม งานแสดงดนตรีกลางแจ้งบริเวณมือเซอึมไปลน์ (Museumplein) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 800,000 คน ทั้งนี้งานเทศกาลและกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ จำเป็นต้องยุติลงภายในเวลา 20.00 น. เพื่อให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านได้ทันขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้าย อย่างไรก็ดีงานแสดงดนตรีกลางแจ้งที่มือเซอึมไปลน์มักจะยุติลงในเวลา 21.00 น.[19] ในวันดักล่าว บริเวณใจกลางเมืองจะถูกปิดการจราจรไม่ให้รถยนต์ผ่าน บริการรถรางสาธารณะจะหยุดให้บริการชั่วคราว และประชาชนผู้สัญจรจะได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงสถานีรถไฟอัมสเตอร์ดัมแซ็นตราล (Amsterdam Centraal) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟหลักของเมือง ให้หันไปใช้สถานีรถไฟอื่นที่สามารถเดินทางไปยังจุดหมายได้แทน ขบวนรถไฟระหว่างประเทศเองก็ถูกเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปหยุดอยู่แค่สถานีรถไฟในเขตชานเมืองเท่านั้น[36]

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา งานสังสรรค์รื่นเริงและงานแสดงดนตรีถูกจัดขึ้นในเย็นของวันก่อนหน้าวัน โกนิงส์ดัค ซึ่งก่อนปี พ.ศ. 2556 สถานบันเทิงกลางคืนทั่วทั้งเนเธอร์แลนด์จะร่วมกันจัดงานพิเศษที่ชื่อว่า โกนิงงินเนอนัคต์ หรือ ค่ำคืนของพระราชินีนาถ (Koninginnenacht)[37] ผู้คนหนุ่มสาวจำนวนมากจะร่วมเฉลิมฉลองกันตามท้องถนนและจัตุรัสของเมือง (รวมถึงตามคูคลองของกรุงอัมสเตอร์ดัม) ตลอดกันทั้งคืน และหลังจากการเฉลิมฉลองในช่วงกลางคืนสิ้นสุดลง ผู้คนก็จะพากันเข้าร่วมงาน ไฟรมากต์ ในช่วงกลางวันต่อเนื่องกันไป[13]

แม้ว่าการเฉลิมฉลองในวันพระราชาจะจัดขึ้นทั่วทั้งเนเธอร์แลนด์ แต่สถานที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือกรุงอัมสเตอร์ดัม ที่ซึ่งชาวเมืองกว่า 750,000 คน ต่างพากันออกมาเฉลิมฉลองร่วมกับผู้มาเยือนที่มากถึง 1 ล้านคน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางการเมืองอัมสเตอร์ดัมจึงออกมาตรการเพื่อจัดการและจำกัดการเดินทางสัญจรของผู้คน เนื่องจากตัวเมืองอัมสเตอร์ดัมไม่สามารถรองรับปริมาณคนจำนวนมากขนาดนี้ได้[38]

ทั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมการเฉลิมฉลองวันโกนิงส์ดัคมักจะย้อมผมของตนเป็นสีส้มและสวมใส่เสื้อผ้าสีส้ม เพื่อเป็นเกียรติแก่ราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซาซึ่งปกครองเนเธอร์แลนด์มาเป็นเวลานาน อีกทั้งเครื่องดื่มสีส้มเองก็ยังเป็นที่นิยมอย่างมากด้วยเช่นกัน[39] การแต่งตัวและประดับประดาไปด้วยสีส้มนี้บางครั้งก็ถูกขนานนามว่า โอรันเยอแค็กเตอ (oranjegekte) หรือ ความบ้าคลั่งสีส้ม[13] นอกจากนี้สมาชิกคณะกรรมการออเรนจ์ท้องถิ่นคนหนึ่งยังให้สัมภาษณ์ในงานวันโกนิงงินเนอดัคปี พ.ศ. 2554 อีกด้วยว่า

สำหรับฉัน วันพระราชินีนาถคือวันที่มิตรภาพและสายสัมพันธ์ของชุมชนจะเกิดขึ้นอีกครั้ง มันไม่ใช่เทศกาลที่ใช้ป่าวประกาศความรักชาติ และไม่ได้เกี่ยวข้องแม้แต่กับความนิยมของราชวงศ์เลย มันคือเทศกาลที่เกี่ยวกับจิตสำนึกของการมีส่วนร่วม ที่ซึ่งวันธรรมดาวันหนึ่งผู้คนทั่วทั้งฮอลแลนด์จะมีสภาพเหมือนกันไปหมด คือเต็มไปด้วยสีส้มและบ้าระห่ำ[6]

ส่วนเด็ก ๆ จะเฉลิมฉลองด้วยเกมต่าง ๆ เช่น กุกฮัปเปิน (koekhappen) ที่ผู้เล่นจะต้องใช้ปากกัดกินเค้กเครื่องเทศที่ห้อยอยู่บนเชือกให้ได้ หรือ สไปเกอร์ปุเปิน (spijker poepen) ที่ผู้เล่นจะต้องผูกเชือกรอบเอวและให้ปลายด้านหนึ่งผูกกับตะปูเอาไว้ จากนั้นใช้การย่อลำตัวพยายามหย่อนตะปูลงขวดแก้วให้ได้[40]

งานมอบรางวัล แก้

โกนิงส์ดัค เป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์ได้เชิดชูเกียรติแก่ประชาชนของพระองค์สำหรับคุณงามความดีที่ทำให้แก่ประเทศชาติ ในปี พ.ศ. 2554 พระราชินีนาถเบียทริกซ์ได้เชิดชูเกียรติแก่บุคคลกว่า 3,357 คน ซึ่งส่วนมากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออเรนจ์-นัสเซา ชั้นสมาชิก[41]

การเฉลิมฉลองนอกทวีปยุโรป แก้

งานเฉลิมฉลองวันโกนิงส์ดัคยังถูกจัดในอารูบา กือราเซา และซินต์มาร์เติน ซึ่งเป็นประเทศองค์ประกอบในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์อีกด้วย[13] แต่วันดังกล่าวกลับไม่ค่อยได้รับการเฉลิมฉลองมากนักในเกาะโบแนเรออันเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน เนื่องจากงานเฉลิมฉลองของท้องถิ่น ดียาดีริงโกน (Dia di Rincon) ซึ่งจัดในวันที่ 30 เมษายน ได้รับความนิยมมากกว่า[42]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 AZ (2013-04-30). "Besluit vaststelling en aanduiding zevenentwintigste april als Koningsdag" (ภาษาดัตช์). BWBR0032908. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  2. 2.0 2.1 AZ (1980-04-24). "Besluit aanduiding van de dertigste april als Koninginnedag" (ภาษาดัตช์). BWBR0031338. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "Koninginnedag past and present". The Royal Family. Rijksvoorlichtingsdienst (Netherlands government). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-06. สืบค้นเมื่อ 30 April 2012.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 Peek, Mike (April 2011). "Long live the Queen". Amsterdam Magazine: 29–33. สืบค้นเมื่อ 30 April 2011.
  5. 5.0 5.1 5.2 Deploige, Jeroen; Gita Deneckere (2006). Mystifying the Monarch: Studies on Discourse, Power, and History. Amsterdam: Amsterdam University Press. p. 187. ISBN 90-5356-767-4. สืบค้นเมื่อ 6 May 2011.
  6. 6.0 6.1 6.2 Chadwick, Nicola (27 April 2011). "Planning the perfect Queen's Day". Radio Netherlands Worldwide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-30. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  7. Bates, Winslow (October 1898). "The girl queen and her coronation". National Magazine: 12–18. สืบค้นเมื่อ 3 May 2011.
  8. 8.0 8.1 8.2 "Queen's Day history dates back to 1889". NIS News. 26 April 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-30. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  9. "Holland preparing for Queen's jubilee". The New York Times. 9 July 1923. p. 13. สืบค้นเมื่อ 3 May 2011.
  10. 10.0 10.1 "Queen's Day of Netherlands April 30, 2011". Manila Bulletin. 30 April 2011. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  11. Schorr, Danel L. (16 April 1949). "Dutch queen guides nations through crises, eyes first anniversary". The Christian Science Monitor. สืบค้นเมื่อ 3 May 2011.[ลิงก์เสีย]
  12. Romanko, J.R. (19 March 2006). "Datebook". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 Thompson, Nick (25 April 2011). "Queen's Day: Go Dutch for an alternative royal celebration". CNN. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  14. "Queen's Day". Expat Centre–Leiden. 13 April 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-23. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  15. Raines, Howell (2 May 1988). "3 British servicemen are killed In I.R.A. attacks in Netherlands". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 3 May 2011.
  16. Corder, Mike (1 May 1996). "Netherlands celebrates Queen Mother's birthday with national garage sale". AP via Lewiston Herald-Journal. สืบค้นเมื่อ 3 May 2011.
  17. 17.0 17.1 "Bijwoning viering Koninginnedag sinds 1981" (ภาษาดัตช์). Rijksvoorlichtingsdienst (Netherlands government). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-07. สืบค้นเมื่อ 30 April 2012. .
  18. 18.0 18.1 "Car crash into Dutch Queen parade". BBC. 30 April 2009. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  19. 19.0 19.1 19.2 "The Netherlands celebrates Queen's Day, royals in Limburg". dutchnews.nl. 30 April 2011. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  20. "Dutch Queen announces Abdication". Guardian. 28 January 2012. สืบค้นเมื่อ 28 January 2013.
  21. Anouk Eigenraam, Koninginnedag wordt Koningsdag en is voortaan op 27 april, NRC Handelsblad, 2013. Retrieved on 2013-01-29. (ดัตช์)
  22. "Koningsdag vanaf 2014 op 27 april" (ภาษาดัตช์). Rijksvoorlichtingsdienst. 28 January 2013. สืบค้นเมื่อ 26 April 2017.
  23. "Koningsdag 2015 in Dordrecht" (ภาษาดัตช์). Rijksvoorlichtingsdienst. 11 October 2014. สืบค้นเมื่อ 26 April 2017.
  24. "Koningsdag 2016 in Zwolle" (ภาษาดัตช์). Rijksvoorlichtingsdienst. 12 October 2015. สืบค้นเมื่อ 26 April 2017.
  25. "Koningsdag 2017 in Tilburg" (ภาษาดัตช์). Rijksvoorlichtingsdienst. 2 September 2016. สืบค้นเมื่อ 26 April 2017.
  26. "Koningsdag 2018 in Groningen" (ภาษาดัตช์). Rijksvoorlichtingsdienst. 14 September 2017. สืบค้นเมื่อ 27 April 2018.
  27. "Koningsdag 2019 in Amersfoort" (ภาษาดัตช์). Rijksvoorlichtingsdienst. 30 August 2018. สืบค้นเมื่อ 27 April 2019.
  28. "King's day 2022". www.visitmaastricht.com (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-09-24. สืบค้นเมื่อ 2022-03-14.
  29. "Koningsdag 2024 in Emmen" (ภาษาดัตช์). Rijksvoorlichtingsdienst. 7 July 2023. สืบค้นเมื่อ 7 July 2023.
  30. "The Queen's official birthday (Koninginnedag)". The Royal Family. Rijksvoorlichtingsdienst (Netherlands government). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-06. สืบค้นเมื่อ 30 April 2012.
  31. "Woerden: Oranjecomité zoekt sponsors" (ภาษาดัตช์). RPLFM Woerden. 29 April 2011. สืบค้นเมื่อ 5 May 2011..
  32. Chack, Erin (5 April 2011). "Queen's Day Amsterdam 2011 guide". TNT Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-21. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  33. 33.0 33.1 "Nederlanders rekenen op 290 miljoen op vrijmarkt" (ภาษาดัตช์). ING Group. 29 April 2011. สืบค้นเมื่อ 30 April 2012.
  34. "National yard sale honors Dutch queen". AP via The Southeast Missourian. 1 May 1997. สืบค้นเมื่อ 3 May 2011.
  35. "Free market on Queen's Day". amsterdam.info. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  36. "Transportation during the Queen's Day". amsterdam.info. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  37. "Queen's Day in Amsterdam". amsterdam.info. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  38. "Amsterdam says new approach to Queen's Day successful". dutchamsterdam.nl. สืบค้นเมื่อ 26 April 2013.
  39. "Tradition of Queen's Day in Holland". amsterdam.info. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  40. Thompson, Nick (25 April 2011). "Queen's Day: Go Dutch for an alternative royal celebration - CNN.com". CNN. สืบค้นเมื่อ 29 April 2015.
  41. "Dutch Queen's Day honours list". Radio Netherlands Worldwide. 29 April 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-16. สืบค้นเมื่อ 1 May 2011.
  42. "Dia di Rincon populairder dan Koninginnedag op Bonaire" (ภาษาดัตช์). Radio Netherlands Worldwide (Caribbean). 2 May 2011. สืบค้นเมื่อ 3 May 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้