แอนนา ลีโอโนเวนส์

แอนนา ลีโอโนเวนส์ (อังกฤษ: Anna Leonowens) หรือ แหม่มแอนนา มีชื่อจริงว่า แอนนา แฮร์เรียต เอ็มมา เอ็ดเวิดส์[1] (อังกฤษ: Anna Harriet Emma Edwards; 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2374 - 19 มกราคม พ.ศ. 2458)

แอนนา ลีโอโนเวนส์
Anna Leonowens
เกิดแอนนา แฮร์เรียต เอ็มมา เอ็ดเวิดส์
26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2374
อะห์มัดนาการ์, อินเดีย
เสียชีวิต19 มกราคม พ.ศ. 2458 (83 ปี)
มอนทรีออล, รัฐควิเบก, แคนาดา
สัญชาติสหราชอาณาจักร
มีชื่อเสียงจากพระอาจารย์ฝรั่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คู่สมรสโทมัส ลีออน โอเวนส์
บุตรเอวิส ฟิช
หลุยส์ ลีโอโนเวนส์
บุพการีโทมัส เอ็ดเวิดส์
แมรี แอนน์ กลาสคอตต์

แหม่มแอนนาเป็นที่รู้จักในฐานะเป็น "พระอาจารย์ฝรั่ง" ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่สำหรับชาวต่างชาติทั่วไปแหม่มแอนนาคือตัวละครเอกของนวนิยายและละครบรอดเวย์ชื่อดัง เรื่อง เดอะคิงแอนด์ไอ รวมทั้งภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง แอนนาแอนด์เดอะคิง ซึ่งสวมบทบาทโดยนักแสดงชั้นนำ คือโจดี ฟอสเตอร์

ประวัติ แก้

แอนนาเป็นเด็กกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เป็นลูกครึ่งแองโกล-อินเดีย[2] เกิดในประเทศอินเดีย เป็นบุตรของโทมัส เอ็ดเวิดส์ กับแมรี แอนน์ กลาสคอตต์

ตาของเธอชื่อ วิลเลียม วอเดรย์ กลาสคอตต์ (อังกฤษ: William Vawdrey (Vaudrey) Glascott) เป็นทหารสัญญาบัตรชาวอังกฤษประจำกองพลทหารราบที่ 4 ในค่ายทหารเมืองบอมเบย์ เขาอพยพเข้ามาสู่อินเดียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1810[3] และสมรสในปี ค.ศ. 1815 กับสตรีไม่ปรากฏนาม[4] หากอ้างอิงตามงานเขียนของซูเซิน มอร์แกน ก็เป็นคำอธิบายที่ขาดความสมบูรณ์ ภรรยาของกลาสคอตต์ ตามบันทึกของทางการอังกฤษระบุว่านาง "ไม่ใช่ชาวยุโรป"[5] และมอร์แกนแสดงความเห็นว่า "มีแนวโน้มเป็นอย่างมากที่จะเป็น...แองโกล-อินเดีย (ลูกผสมจากหลายเชื้อชาติ) ที่เกิดในอินเดีย" (ในภายหลังได้ปกปิดตัวตนและเปลี่ยนนามสกุลเป็นโครวฟอร์ด (Crawford) และอ้างว่าตนเองมีเชื้อสายมาจากเวลส์ ในสหราชอาณาจักร และอ้างว่าบิดามียศเป็นร้อยเอก เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แอนนาและลูก ๆ ของเธอได้รับการปฏิบัติอย่างชนผิวขาว)

พอมีอายุได้ 18 ปีแอนนาแต่งงานกับเจ้าหน้าที่เสมียนชาวอังกฤษ นามว่าโธมัส ลีออน โอเวนส์ (ภายหลังแอนนาได้รวบชื่อกลางและนามสกุลของสามีเข้าด้วยกัน กลายเป็น "ลีโอโนเวนส์") ทั้งคู่มีบุตรธิดารวม 4 คน สองคนแรกเสียชีวิตตั้งแต่เล็ก คนที่ 3 เป็นหญิงชื่อเอวิส และคนสุดท้องเป็นชายชื่อ หลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ (ซึ่งต่อมาได้ตั้งบริษัท หลุยส์ ลีโอโนเวนส์ ในเมืองไทย)

แอนนาได้รับการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาได้ย้ายตามสามีไปอยู่ที่เกาะปีนังในมาเลเซีย ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษเช่นกัน

เมื่อสามีของนางเสียชีวิตแอนนาจึงเดินทางต่อไปที่สิงคโปร์ และได้มาเปิดโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่สิงคโปร์ ประกอบอาชีพเป็นครูสอนหนังสือ รับสอนพวกลูกหลานนายทหาร

รัชกาลที่ 4 กำลังทรงเสาะหาครูสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชโอรส และ ธิดา มร.อดัมซัน ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวที่สิงคโปร์ ได้แจ้งให้ทรงทราบว่า มีแหม่มสอนภาษาอังกฤษที่มีความสามารถเหมาะสม จึงได้ทรงทาบทามให้เข้ามาสอน ตัวนางกับหลุยส์ ลูกชายวัย 7 ขวบ ตัดสินใจเดินทางมายังประเทศสยาม เพื่อถวายการสอนหนังสือแก่พระราชโอรสธิดาและเจ้าจอมหม่อม

ข้อตกลงในการว่าจ้าง มีดังนี้

  • แอนนา จะต้องสอนภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์เบื้องต้น วรรณคดีอังกฤษ ขนบธรรมเนียมอังกฤษ แต่ไม่ต้องสอนศาสนาคริสต์
  • พระราชทานบ้าน สร้างด้วยอิฐแบบฝรั่งให้แอนนาอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง
  • พระราชทานเงินเดือนให้ เดือนละ 100 เหรียญสิงคโปร์
  • การสอน แบ่งเป็น 2 ผลัด ผลัดเช้า สอนพระราชโอรสและพระราชธิดา ผลัดบ่าย สอนเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมที่ยังสาว

แหม่มแอนนา รับราชการอยู่ 4 ปี 6 เดือน ก็กลับถวายบังคมลาออกจากหน้าที่เนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม ได้เขียนหนังสือ 2 เล่ม คือ The English Governess at the Siamese Court และ The Romance of the Harem ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นหนังสือขายดีและสร้างชื่อเสียงให้กับนางเป็นอย่างมาก จนเป็นที่มาของนวนิยายและละครเพลงชื่อดังในที่สุด

สู่ตะวันตก แก้

ปี พ.ศ. 2410 แอนนาในวัย 36 ปีได้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปสหรัฐอเมริกา โดยระหว่างทางแวะพักที่อังกฤษและไอร์แลนด์ แอนนาใช้ชีวิตอยู่ที่รัฐนิวยอร์กรวมเป็นเวลา 11 ปี ซึ่งที่นี่เองนางได้เริ่มต้นชีวิตของการเป็นนักเขียนด้วยการส่งต้นฉบับไปลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสารชื่อ Atlantic Monthly จนผลสุดท้ายได้รับการตีพิมพ์ กลายเป็นหนังสือรวมเล่มเกี่ยวกับชีวิตแอนนาในพระราชสำนักสยาม

เมื่อมีอายุได้ 47 ปี แอนนาย้ายถิ่นฐานจากสหรัฐอเมริกา ตามลูกสาวคือเอวิสและลูกเขย โธมัส ฟิช ไปยังเมืองแฮลิแฟกซ์ ประเทศแคนาดา ซึ่งในเวลาต่อมานางมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสถาบันการศึกษา Victoria School of Art and Design (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Nova Scotia College of Art and Design) เพื่อเฉลิมฉลองพระราชวโรกาสเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ 50 ปีของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ นอกจากนี้นางยังมีบทบาทด้านสตรีภายในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

ช่วงเวลานั้นเองแอนนามีโอกาสได้เดินทางไปยังประเทศรัสเซีย เพื่อบันทึกเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นบนแผ่นดินของพระเจ้าซาร์ ในฐานะนักเขียนบทความสารคดีให้กับนิตยสาร Youth"s Companion หลังจากนั้นนางยังเดินทางต่อไปที่ยุโรปและพำนักอาศัยอยู่ประเทศเยอรมนีเป็นเวลาช่วงหนึ่งด้วย

ในวัย 53 ปี แอนนาเขียนหนังสือเล่มที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของตนเอง โดยเฉพาะชีวิตในวัยเด็ก ชื่อว่า Life and Travel in India ก่อนจะเขียนเล่มที่ 4 ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายในอีก 5 ปีต่อมา เรื่อง Our Asiatic Cousins ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชาวจีนที่อพยพไปอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ดี หนังสือ 2 เล่มสุดท้ายดังกล่าวนี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก หากเทียบกับผลงานเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม

เข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 อีกครั้ง แก้

 
แอนนา ในช่วงปั้นปลายชีวิต

ในปี พ.ศ. 2427 แอนนามีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์หรือพระนามเดิมว่า "พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร" พระราชโอรสองค์ที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และทรงเคยเรียนหนังสือกับแอนนาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์

แอนนามีความปลาบปลื้มใจที่ได้มีโอกาสพบกับกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์อีกครั้ง ซึ่งนอกจากพระองค์จะเคยเป็นศิษย์แล้ว ดูเหมือนว่าแอนนาจะสนิทสนมกับเจ้าจอมมารดากลิ่น พระมารดาของกรมพระนเรศร์ฯ มากเป็นพิเศษอีกด้วย

ต่อมา พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสยุโรป แอนนาซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 66 ปี ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินจากกรุงสยาม ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ นับเป็นระยะเวลา 30 ปีพอดี หลังจากที่นางได้เดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร

แอนนาเสียชีวิตที่เมืองมอนทรีออล ในรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา เมื่อปี พ.ศ. 2458 รวมมีอายุ 84 ปี

ผลงานการประพันธ์ แก้

  • The English Governess at the Siamese Court
  • The Romance of the Harem (ฉบับแปลไทยว่า นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน)
  • Life and Travel in India
  • Our Asiatic Cousins

แอนนา ในบทประพันธ์และภาพยนตร์ แก้

 
จากภาพยนตร์เรื่อง เดอะคิงแอนด์ไอ ปี พ.ศ. 2499 ได้รับรางวัลออสการ์ 5 สาขา

ปี พ.ศ. 2487 มากาเร็ต แลนดอนได้ประพันธ์ บทประพันธ์เรื่อง แอนนาและพระเจ้าแห่งกรุงสยาม (Anna and the King of Siam) โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือที่แอนนาแต่ง และได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2489 กำกับโดย จอห์น ครอมเวลล์ นำแสดงโดย เร็กซ์ แฮร์ริสัน[6]

ต่อจากนั้นได้มีละครเพลง เดอะคิง แอนด์ ไอ หรือ พระเจ้าแผ่นดินกับตัวฉัน ที่สร้างโดย ริชาร์ด ร็อดเจอร์ และ ออสการ์ แฮมเมอร์สไตน์ที่ 2 เปิดแสดงเป็นครั้งแรกในโรงละครเซนท์ เจมส์ ในปี พ.ศ. 2494 ที่โดยมี ยูล เบรียนเนอร์ รับบทบาทเป็นพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) และเกอทรูด ลอว์เรนซ์ แสดงเป็นแอนนา ต่อมาภาพยนตร์เรื่อง เดอะคิงแอนด์ไอ ออกฉายในปี พ.ศ. 2499 โดยยึดมาจากละครบรอดเวย์ของ ริชาร์ด ร็อดเจอร์ กำกับโดย วอลเตอร์ แลง ได้รับรางวัลออสการ์ 5 สาขา

ในปี พ.ศ. 2515 ได้ถูกสร้างเป็นละครชุดทางโทรทัศน์ โดยซามานธา เอ็ดการ์รับบทเป็นแอนนา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 บริษัทฟอกซ์ คอร์ปอเรชันได้สร้างภาพยนตร์ขึ้นมาใช้ชื่อเรื่องว่า แอนนาแอนด์เดอะคิง แสดงนำโดย โจดี ฟอสเตอร์ และโจว เหวินฟะ แต่ก็ถูกห้ามฉายในประเทศไทยหลังเป็นข้อถกเถียงกันอย่างหนักกรณีเนื้อหาของเรื่องบิดเบือนประวัติศาสตร์

การถูกวิพากษ์วิจารณ์ แก้

จากละครและภาพยนตร์นั้น ทำให้แหม่มแอนนาถูกโจมตี ผู้ที่โจมตี แอนนาในเรื่องนี้อย่างชัดเจนที่สุดคือ W.S. Bristowe ในหนังสือเรื่อง ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์ (แปลจาก Louis and the King of Siam) รวมถึงมัลคอล์ม สมิธ (Malcolm Smith) และ เอ.บี. กริสโวลด์ (A.B. Griswold)

บทบาทในราชสำนัก แก้

ภาพลักษณ์ของแอนนาในฐานะ "ครูฝรั่งวังหลวง" มีหน้าที่ในการถวายพระอักษรภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรส พระราชธิดา และเจ้าจอมหม่อมห้าม ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมาย แต่ยังมีงานรองอีกอย่างหนึ่งคือเป็นเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[7]

โดยมีข้อสงสัยในหมู่นักวิชาการว่า แอนนามีบทบาทอย่างไรในราชสำนักสยาม แอนนาผลักดันหรือชี้แนะอะไรบ้าง และทำจริงตามที่เขียนไว้ในหนังสือหรือไม่ เมื่อมีการสอบสวนเรื่องนี้โดยนักวิชาการ ก็ได้บทสรุปที่เชื่อกันว่าแอนนาแท้จริงแล้วไม่ได้มีบทบาทอะไรมากไปกว่าครูสอนภาษาอังกฤษ[7]

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นเกี่ยวกับหนังสือ 2 เล่มนี้ว่า

แหม่มแอนนาอาจมีความจำเป็นต้องหาเงินมาเลี้ยงลูก จึงปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นให้มีรสชาติพอที่จะขายสำนักพิมพ์ได้ ตอนที่นางสอนหนังสืออยู่ในราชสำนักก็มิได้มีอิทธิพลมากมายถึงขนาดที่พระเจ้าอยู่หัวจะต้องไปใส่พระทัยรับฟัง เป็นไปได้ว่าสิ่งที่นางเขียนออกมานั้น ก็คือเรื่องที่ต้องการถวายความเห็นเป็นการย้อนหลัง เพราะจริง ๆ แล้วไม่เคยมีโอกาสได้พูดออกมาเลย

[8]

เรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ แก้

แอนนาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าโป้ปดมดเท็จ บิดเบือนเรื่องที่เขียนในหนังสือทั้ง 2 เล่ม นักวิชาการหลายท่านได้ตรวจสอบความจริงหลักฐาน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงหนังสือ 2 เล่มเท่านั้น ยังลุกลามไปถึงสิ่งที่แอนนาไม่ได้เขียน จากนิยายที่มาร์กาเร็ตแต่งขึ้นเพิ่มเติมภายหลัง ทำให้แหม่มแอนนาถูกโจมตีอย่างหนักว่าปั้นแต่งเรื่องราวโกหกเกี่ยวกับราชสำนักสยาม หมิ่นพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย รวมทั้งสร้างประวัติเท็จให้ตนเองทั้งทางด้าน สถานที่เกิด สีผิว และอื่น ๆ

ชีวประวัติของแหม่มแอนนาที่ W.S. Bristowe กล่าวหาว่าโป้ปดขึ้นนั้น ปรากฏอยู่ในนวนิยายเรื่อง The King and I ซึ่งเป็น "นิยาย" ที่มาร์กาเร็ตแต่งขึ้นเพิ่มเติมภายหลัง ดังที่ Bristowe เขียนไว้ว่า "ประวัติแหม่มแอนนาที่เล่ามา ล้วนได้จากบันทึกของเธอเอง ซึ่งมาร์กาเร็ต แลนดอน นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่" มิได้มีอยู่ในหนังสือทั้ง 2 เล่มของแหม่มแอนนาแต่อย่างใด ในหนังสือของแหม่มแอนนาเองแทบจะไม่มีข้อความที่กล่าวถึงชีวประวัติของตนเองเลย [9]

หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ซึ่งแอนนาเขียนเป็นบทความลงในนิตยสาร The Atlantic Montly ตั้งแต่ปี 2411 ก็จะพบว่าสิ่งที่แอนนารู้เห็นในราชสำนักสยามนั้นอยู่ในระดับ "หลักฐานทางประวัติศาสตร์" ได้[7]

อ้างอิง แก้

  1. Susan Morgan, Bombay Anna: The Real Story and Remarkable Adventures of The King and I Governess, Berkeley, University of California Press, p29
  2. Morgan, Bombay Anna, pp23-25, 240-242.
  3. Morgan, Bombay Anna, pp20, 241.
  4. Morgan, Bombay Anna, pp23-24, 28.
  5. Morgan, Bombay Anna, p23.
  6. แอนนากับพระเจ้าแผ่นดินของไทย ราชบัณฑิตยสถาน
  7. 7.0 7.1 7.2 ศิลปวัฒนธรรม: แอนนา เลียวโนเวนส์ ใครว่าหล่อนตอแหล?
  8. จีระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. ประพันธ์สาส์น, 2542.
  9. ศิลปวัฒนธรรม: ปอกเปลือกชีวิต แอนนา เลียวโนเวนส์ ใครว่าหล่อนตอแหล

บรรณานุกรม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้