ในวิทยาภูมิคุ้มกัน แอนติเจน หรือ สารก่อภูมิต้านทาน คือสารใด ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบปรับตัว (adaptive immune response) แอนติเจนมักเป็นสารที่แปลกปลอมหรือเป็นพิษต่อร่างกาย (เช่น แบคทีเรีย) ซึ่งเมื่อเข้ามาในร่างกายแล้วจะถูกจับโดยแอนติบอดีที่มีความจำเพาะ แอนติบอดีแต่ละชนิดถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองกับแอนติเจนชนิดหนึ่ง ๆ เนื่องจากมีความแตกต่างอย่างจำเพาะในส่วนจับคอมพลีเมนท์ (complementary determining region) ของแอนติบอดีนั้น ๆ (มักเปรียบเทียบว่าเหมือนการจับคู่กันได้พอดีของลูกกุญแจกับแม่กุญแจ) ผู้เสนอให้ใช้คำว่าแอนติเจนคือ ลาสโล เดเทอร์ (László Detre) ซึ่งใช้ครั้งแรกในบทความวิชาการที่เขียนร่วมกับอีลี เมตช์นิคอฟ (Élie Metchnikoff) ในปี ค.ศ. 1903[1][2]

แอนติเจนอาจเป็นสารที่ถูกสร้างโดยร่างกายเองหรือรับมาจากภายนอกก็ได้ โดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันจะไม่มีปฏิกิริยาต่อแอนติเจนของร่างกายเอง และควรจะต้องสามารถระบุและทำลาย "ผู้รุกราน" ที่ไม่ใช่ตัวร่างกายเองได้ รวมไปถึงสารที่เกิดมีขึ้นในร่างกายในภาวะที่ไม่ปกติ

อ้างอิง แก้

  1. "Origins of the Terms 'Antibody' and 'Antigen'", Scand. J. Immunol., 19, 281-285, 1984 p. 281
  2. Eichmann, Klaus. The Network Collective: Rise and Fall of a Scientific Paradigm, Springer Press, 2008, p. 221.