แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์

แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ (13 สิงหาคม พ.ศ. 249416 เมษายน พ.ศ. 2552) อดีตนักมวยแชมป์โลกชาวไทย รุ่นซูเปอร์ไลท์เวท (140 ปอนด์) ของสภามวยโลก (WBC) เป็นชาวตำบลสะเดียง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ แสนศักดิ์ เป็นนักมวยที่มีช่วงแขนยาวกว่าปกติ และมีหมัดซ้ายหนักโดยธรรมชาติ นับเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนที่ 5 และเป็นนักมวยแชมป์โลกรุ่นใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา นอกจากนี้แสนศักดิ์ยังเป็นเจ้าของสถิติโลก ที่ชกมวยสากลเพียง 3 ครั้งก็ได้ครองตำแหน่งแชมป์โลกอีกด้วย

แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์
(Saensak Muangsurin)
ชื่อจริงแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์
ฉายาซ้ายสีชมพู
ซ้ายทะลายโลก
รุ่นซูเปอร์ไลท์เวท
เวลเตอร์เวท
เกิด13 สิงหาคม พ.ศ. 2494
อำเภอเมืองเพชรบูรณ์
จังหวัดเพชรบูรณ์
เสียชีวิต16 เมษายน พ.ศ. 2552 (57 ปี)
กรุงเทพมหานคร
(โรงพยาบาลราชวิถี) [1]
ชกทั้งหมด20
ชนะ14
ชนะน็อก11
แพ้6 (แพ้น็อก 2 )
ผู้จัดการสนอง รักวานิช
สถิติเหรียญโอลิมปิก
มวยสากลสมัครเล่น
ซีเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ สิงคโปร์ 1973 เวลเตอร์เวท

นักมวยไทยชื่อดัง แก้

ก่อนจะมาชกมวยสากล เคยชกมวยไทยครั้งแรก ๆ ใช้ชื่อว่า "แสนแสบ เพชรเจริญ" หรือ "แสบทรวง เพชรเจริญ" เมื่อเข้ามาในกรุงเทพมหานครได้อยู่กับค่าย "เมืองสุรินทร์" ของ "จอมตบ" สนอง รักวานิช และต่อมาเป็นนักมวยไทยชื่อดังในขณะนั้น เคยปะทะฝีมือกับยอดมวยไทยร่วมสมัยหลายคน เช่น ศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์, วิชาญน้อย พรทวี, พุฒ ล้อเหล็ก, คงเดช ลูกบางปลาสร้อย, ขุนพล สาครพิทักษ์, วิสันต์ ไกรเกรียงยุค, ผุดผาดน้อย วรวุฒิ เป็นต้น และเคยเป็นแชมป์มวยไทยรุ่นซูเปอร์ไลท์เวท (140 ปอนด์) ของสนามมวยเวทีลุมพินี ด้วยการเอาชนะน็อก สรศักดิ์ ส.ลูกบุคคโล หลานชายของ สุข ปราสาทหินพิมาย เพียงแค่ยกแรก

แสนศักดิ์ เคยชกมวยสากลสมัครเล่นในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 7 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยชนะน็อกรวดทุกครั้ง จนได้ครองเหรียญทอง

ชก 3 ครั้งเป็นแชมป์โลก แก้

และจากการที่ชกสากลชนะน็อกรวดอย่างนี้ ทำให้ "พญาอินทรี" เทียมบุญ อินทรบุตร วางแผนร่วมกับสนอง รักวานิช ให้แสนศักดิ์ชกเพียง 3 ครั้งได้เป็นแชมป์โลก เพราะมั่นใจในพลังหมัด เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหมัดซ้าย ที่เรียกกันว่า "บันได 3 ขั้น" ซึ่งสถิติการชกเพียงระยะสั้นแค่นี้ กลายเป็นสถิติโลกมาจนปัจจุบัน[2](ต่อมา วาซิล โลมาเชนโก นักมวยชาวยูเครนก็ทำสถิติชกเพียง 3 ครั้งได้แชมป์โลกเช่นกันเมื่อปี พ.ศ. 2557 ขององค์กรมวยโลก (WBO) รุ่นเฟเธอร์เวท (126 ปอนด์)[3]) แสนศักดิ์ได้แชมป์โลกสภามวยโลก (WBC) ในรุ่นไลท์เวลเตอร์เวท ในการชกครั้งที่ 3 โดยชนะทีเคโอ (ยอมแพ้) ยก 8 เปริโก เฟร์นันเดซ นักมวยชาวสเปน ในปี พ.ศ. 2518 แต่แสนศักดิ์ป้องกันตำแหน่งแชมป์ไว้ได้เพียงครั้งเดียว โดยการเอาชนะน็อก เท็ตสึโอะ 'ไลออน' ฟูรูยามะ นักมวยชาวญี่ปุ่นเท่านั้น จากนั้นได้ไปป้องกันตำแหน่งกับ มิเกล เบลัซเกซ นักมวยชาวสเปน ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน แสนศักดิ์ถูกจับแพ้โดยการตัดสิทธิ์การชก หรือ Disqualification (DQ) ในยกที่ 4 เนื่องจากไปชกเบลัซเกซล้มลงในช่วงระฆังตีบอกยกหมดเวลา เสียแชมป์โลกทันที ฝ่ายไทยพยายามประท้วงแต่ก็ไม่เป็นผล

แชมป์โลกสมัยที่ 2 แก้

อีก 4 เดือนต่อมา แสนศักดิ์จึงได้โอกาสแก้มือที่ประเทศสเปนอีกครั้ง คราวนี้ แสนศักดิ์เป็นฝ่ายชนะทีเคโอไปเพียงแค่ยกที่ 2 ได้กลับมาเป็นแชมป์โลกในสมัยที่ 2 จากนั้น แสนศักดิ์ได้ป้องกันตำแหน่งไว้ได้หลายต่อหลายครั้ง และบางครั้งเป็นไฟต์แห่งความทรงจำที่ยังคงตรึงใจแฟนมวยอยู่จนทุกวันนี้ เช่น ชนะทีเคโอ มอนโร บรูกส์ นักมวยชาวอเมริกันไปอย่างสุดมัน ในยกที่ 15 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ชนะคะแนน ซาอูล แมมบี นักมวยชาวอเมริกันอีกคนที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

แต่การที่ชนะแมมบีได้นั้น แสนศักดิ์ก็บอบช้ำเป็นอย่างมากจากน้ำหนักหมัดของแมมบี้ โดยสื่อมวลชนบางรายเชื่อว่า การชกครั้งนี้ได้มีการกำหนดผลไว้ล่วงหน้าแล้วจากเทียมบุญ อินทรบุตร โปรโมเตอร์ผู้จัดการแข่งขัน กับ โลเป ซาเรียล โปรโมเตอร์ร่วมชาวฟิลิปปินส์ และเชื่อว่าสภาพดวงตาของแสนศักดิ์ที่มีปัญหาก็เกิดมาจากการชกไฟต์นี้เอง[4]

แสนศักดิ์ เสียแชมป์โลกในการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 8 ของสมัยที่ 2 กับ คิม ซาง ฮุน นักมวยชาวเกาหลีใต้ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2521 ถึงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ถิ่นของผู้ท้าชิงเอง โดยแพ้ทีเคโอไปในยกที่ 13 เนื่องจากสภาพร่างกายของแสนศักดิ์ไม่แข็งแกร่งเหมือนเก่า และสายตาก็เริ่มมีปัญหา จากนั้นแสนศักดิ์ได้ไปชกนอกรอบที่ประเทศฟิลิปปินส์ก็แพ้นักมวยเจ้าถิ่นอีก และอีก 3 เดือนต่อมา ก็บินไปชกที่สหรัฐอเมริกากับ โธมัส เฮิร์นส์ ซึ่งเป็นดาวรุ่งในขณะนั้น ซึ่งแสนศักดิ์ไม่อาจสู้อะไรเฮิร์นส์ได้เลย เป็นฝ่ายแพ้น็อกไปในยกที่ 3 แสนศักดิ์ชกมวยครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2524 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเป็นโปรโมเตอร์จัดการแข่งขันเอง โดยเป็นการชิงแชมป์ภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF) กับนักมวยชาวเกาหลีใต้ แต่ก็แพ้คะแนนขาดลอยอีก จึงต้องแขวนนวมไปในที่สุด

รุ่งเรือง แก้

แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ มีชื่อที่แฟนมวยรู้จักว่า "ไอ้แสบ" และมีฉายาว่า "ซ้ายสีชมพู" ซึ่งเป็นการตั้งโดย เทียมบุญ อินทรบุตร โปรโมเตอร์ประจำของแสนศักดิ์[5] (เดิมมีฉายาว่า ซ้ายทะลายโลก) แสนศักดิ์ เป็นคนมีบุคคลิกเฮฮา มีสีสัน ช่วงที่แสนศักดิ์เป็นแชมป์โลก นับได้ว่าเป็นซุปเปอร์สตาร์ชื่อดังคนหนึ่งไม่ต่างอะไรกับพระเอกภาพยนตร์เลยทีเดียว เช่น ไม่ว่าจะทำอะไรหรือไปป้องกันตำแหน่งที่ไหน นักข่าวโดยเฉพาะ หนังสือพิมพ์ต้องตามไปทำข่าวถึงที่นั่น เล่ากันว่าถึงขนาดจับเครื่องบินกลับกรุงเทพ ฯ ส่งต้นฉบับแทบไม่ทันเลยทีเดียว เรื่องนี้เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักข่าวร่วมสมัย และถึงขนาดที่ เพลิน พรหมแดน นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังเคยทำเพลงพูดล้อเลียนเกี่ยวกับแสนศักดิ์ชื่อว่า "ศึกไอ้แสบ"

และการที่เป็นคนเฮฮาแบบนี้ ทำให้แสนศักดิ์ ได้ภรรยาคนแรกในชีวิตคือ "ปริม ประภาพร" ดาราสาวดาวยั่วชื่อดังในสมัยนั้น และมีลูกชายที่เกิดกับภรรยาคนนี้คือ "เกรียงศักดิ์ มั่นศรี" ซึ่งแสนศักดิ์เป็นคนตั้งเอง โดยให้ตรงกับชื่อนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น (พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์) และมีชื่อเล่นว่า "คิง"

นอกจากนี้แล้ว ในระหว่างที่แสนศักดิ์มีชื่อเสียงอยู่นั้น กลุ่มผู้สนับสนุนแสนศักดิ์คือ เทียมบุญ อินทรบุตร ยังได้ผลักดันนักมวยอีกรายให้เดินตามรอยของแสนศักดิ์ โดยให้ชกในรุ่นเดียวกัน ไว้หนวดและทรงผมแบบเดียวกับแสนศักดิ์ คือ "ต้องตา เกียรติวายุภักษ์" แต่ไม่ประสบความสำเร็จเมื่อได้ชิงแชมป์โลกของสถาบันสมาคมมวยโลก (WBA) แต่เป็นฝ่ายแพ้น็อกอันโตนิโอ เซร์บันเตส นักมวยชาวโคลัมเบียไปในยกที่ 6 ที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี พ.ศ. 2521

ตกต่ำหลังแขวนนวม แก้

หลังแขวนนวมเพราะสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแกร่งเหมือนเดิมและมีปัญหาด้านสายตาอีก อันเนื่องจากบอบช้ำจากการชกมวย แสนศักดิ์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก เพราะนับจากเสียแชมป์โลกครั้งสุดท้ายไปแล้ว เงินทองที่เคยมีอยู่นับ 10 ล้านที่เคยเก็บหอมรอบริบจากการชกมวยก็ร่อยหรอ ผู้จัดการที่ปลุกปั้นมา คือ สนอง รักวานิช ก็เสียชีวิต กลุ่มผู้สนับสนุนก็ทยอย ๆ จากไป หนำซ้ำยังโดนหลอกจากเพื่อนฝูงและคนรู้จัก รวมถึงคนในวงการมวยด้วย การชกครั้งสุดท้ายของแสนศักดิ์ ซึ่งเป็นขึ้นชิงแชมป์ในรุ่นเวลเตอร์เวท (147 ปอนด์) ของสหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF) เจ้าตัวถึงขนาดลงทุนเป็นโปรโมเตอร์เอง แต่ก็ขาดทุนอีก อีกทั้งยังเป็นฝ่ายแพ้คะแนนอีกด้วย รวมทั้งเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคชาติไทย ที่เพชรบูรณ์ บ้านเกิด ก็ไม่ได้รับเลือก

จนในที่สุด สายตาข้างขวาที่มีปัญหาของแสนศักดิ์ก็บอดสนิท ส่วนตาข้างซ้ายได้รับการผ่าตัดจนมองเห็นได้ ต้องขอรับความช่วยเหลือจากการกีฬาแห่งประเทศไทยเดือนละ 7,500 บาท และจากสภามวยโลกอีกเดือนละ 9,000 บาท บั้นปลายชีวิตได้อาศัยอยู่กับนางสาวศศวรรณ ดาวัลย์ ภรรยาใหม่และมีลูกสาวบุญธรรมคือ นางสาวปานวาด มั่นศรี

เสียชีวิต แก้

แสนศักดิ์เสียชีวิตลงในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลา 15.00 น. ที่โรงพยาบาลราชวิถี ด้วยอาการลำไส้ฉีกขาด เนื่องจากเป็นหลายโรครุมเร้าด้วยกัน โดยแสนศักดิ์เข้ารักษาตัวตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ได้รับการผ่าตัดแล้วแต่อาการก็ไม่ดีขึ้นจนเสียชีวิตในที่สุด ด้วยวัย 57 ปี และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดตรีทศเทพวรวิหาร มี พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 เมษายน ปีเดียวกัน[6]

ผลงานอื่น แก้

ภาพยนตร์ แก้

  • 2549 ฅนไฟบิน รับบท ครูมวย / หมอบั้งไฟ (รับเชิญ)

เกียรติประวัติ แก้

อ้างอิง แก้

  1. รายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ออกอากาศวันที่ 16 เมษายน 2552
  2. หนังสือ 22 แชมป์โลกชาวไทย (พ.ศ. 2538) สำนักพิมพ์ดวงตา
  3. "2 นักชกไทย "ชลธาร-ขวัญพิชิต"ร่วมศึกใหญ่ของท็อปแรงค์ "ปาเกียว-อัลกีรี"". ผู้จัดการออนไลน์. 25 August 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 26 August 2014.
  4. เทพชัย หย่อง. บทสุดท้ายทีวีเสรี. กรุงเทพมหานคร : เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป, บมจ., 2544. 254 หน้า. หน้า 63-64. ISBN 9743924884
  5. "ปริม ประภาพร". สยามดารา. 22 April 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-09. สืบค้นเมื่อ 10 October 2014.
  6. "ข่าวการจากไปของแสนศักดิ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-17. สืบค้นเมื่อ 2009-04-16.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้