แมงป่อง (ภาษาไทยถิ่นอีสาน: แมงงอด; ภาษาไทยถิ่นเหนือ : แมงเวา) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกสัตว์ขาปล้อง เป็นสัตว์มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของแมงป่องที่มีอายุถึง 440 ล้านปี ตั้งแต่ยุคซิลลูเรียน เช่น Archaeobuthus estephani หรือ Protoischnurus axelrodorum [1] ซึ่งแมงป่องในยุคโบราณที่มีความยาวที่สุดยาวเกือบ 90 เซนติเมตร

แมงป่อง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 435–0Ma ยุคไซลูเรียนตอนต้นปัจจุบัน
Hottentotta tamulus, แมงป่องแดงอินเดีย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์ขาปล้อง
ไฟลัมย่อย: เชลิเซอราตา
ชั้น: แมง
อันดับ: Scorpiones
C. L. Koch, 1837
วงศ์

ดู อนุกรมวิธาน

การกระจายพันธุ์ของแมงป่องทั่วโลก

ลักษณะและพฤติกรรม แก้

แมงป่องเป็นสัตว์มีพิษ มีรูปร่างคล้ายปู ส่วนหัวติดกับอกเป็นส่วนเดียวกัน รูปร่างค่อนไปทางสี่เหลี่ยมยาว ลำตัวยาวเป็นปล้อง ๆ ประมาณ 2–10 เซนติเมตร มีก้ามคล้ายก้ามปู 1 คู่ และลำตัวติดกัน มีขาเป็นปล้อง ๆ 4 คู่ติดอยู่ ท้องยาวออกไปป็นหาง มี 5 ปล้อง ที่ปลายหางมีอวัยวะสำหรับต่อย ความยาวโดยเฉลี่ย 3–9 เซนติเมตร โดยแมงป่องที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกพบในถ้ำมีความยาวเพียง 9 มิลลิเมตรเท่านั้น

แมงป่องเป็นสัตว์ที่โดยปกติจะสงบเงียบ แต่ถ้าหากถูกรบกวน จะยกหางชูงอ ๆ ที่ด้านหลัง เพื่อขู่ และจะต่อยเพื่อป้องกันตัวหรือออกล่าเหยื่อ

แมงป่องเป็นสัตว์ไม่ชอบแสงสว่าง มักจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามสถานที่มืดและชื้น เช่น ใต้ก้อนหิน ใต้กองไม้ ใต้ใบไม้ หรือขุดโพรงหรือรูอยู่ตามป่าละเมาะ และออกหากินในเวลากลางคืน ทั่วโลกมีแมงป่องประมาณ 1,200 ชนิด[1] อยู่ทั้งในเขตทะเลทราย เขตร้อนชื้น หรือแม้แต่แถบชายฝั่งทะเล พบชนิดที่มีพิษร้ายแรง 50 ชนิด [1]บางชนิดมีพิษรุนแรงมาก เช่น แมงป่องในสกุล Centruroides ที่รัฐแอริโซนาของสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล และทะเลทรายสะฮารา สำหรับลักษณะของหางนั้นจะแตกต่างไปตามชนิด ซึ่งจะมีความไวในการจู่โจมแตกต่างกันออกไปด้วย โดยแมงป่องชนิด เดทสโตกเกอร์ (Leiurus quinquestriatus) ที่มีขนาด 4.3 นิ้ว พบแพร่กระจายพันธุ์ในทะเลทรายทางตอนเหนือของแอฟริกาและตะวันออกกลาง เป็นชนิดที่มีความไวในการจู่โจมสูงสุด เมื่อตวัดหางขึ้นเหนือหัวจะมีความเร็วถึง 130 เซนติเมตร/ชั่วโมง และมีพิษร้ายแรงที่มีผลต่อระบบประสาท ทำให้ผู้ที่โดนต่อยเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ และชนิดแบล็คสปิตติง (Parabuthus transvaalicus) ที่พบในภูมิภาคแอฟริกาใต้ เช่น ทะเลทรายนามิบ เป็นชนิดที่สามารถพ่นพิษออกจากปลายหางได้[2]

นอกจากนี้แล้ว แมงป่องยังมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสัตว์ขาปล้องจำพวกอื่น ๆ คือ มีสารซึ่งเมื่อต้องกับแสงแบล็คไลท์แล้ว จะเห็นเป็นตัวแมงป่องเรืองแสง ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากสารชนิดหนึ่งซึ่งยังไม่ทราบแน่นอน ซึ่งฝังตัวอยู่เป็นชั้นบาง ๆ ในเปลือกของแมงป่อง ถึงแม้แมงป่องตายไปแล้วเป็นเวลานาน คุณสมบัติเรืองแสงนี้ก็ยังคงอยู่ จากซากแมงป่องอายุหลายร้อยปีพบว่า แม้ว่าเปลือกจะไม่คงรูปร่างแล้ว แต่สารเรืองแสงยังคงฝังตัวติดกับหินซากดึกดำบรรพ์ นอกจากนี้ตัวอย่างแมงป่องที่ดอง หรือแม้แต่แมงป่องที่ถูกทอดเพื่อเป็นอาหาร ก็ยังคงสารตัวนี้อยู่[3]

 
แมงป่องภายใต้แสงแบล็คไลท์

ในประเทศไทย มี 11 ชนิด[4] ที่พบบ่อยมากที่สุด คือ แมงป่องในวงศ์ Scorpionidae สกุล Heterometrus หรือแมงป่องช้าง ได้แก่ H. longimanus และ H. laoticus พบ H. laoticus มากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย[1]

ประสาทสัมผัส แก้

แมงป่องมีตาบนหัวหนึ่งคู่ และตาข้างอีก 3 คู่ แม้ว่าแมงป่องมีตาหลายคู่ แต่มีประสิทธิภาพการมองเห็นต่ำมาก และไม่ไวพอจะรับแสงกระพริบได้ เช่น แสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป และต้องใช้เวลานานในการปรับตาให้ตอบสนองต่อแสง สังเกตได้เมื่อแมงป่องถูกนำออกจากที่มืด ต้องใช้เวลานับนาทีจึงจะเริ่มเคลื่อนไหว

ข้อด้อยเรื่องสายตาได้ถูกทดแทนด้วยสิ่งอื่น ร่างกายแมงป่องปกคลุมด้วยเส้นขนจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณปล้องพิษ ขนเหล่านี้รับความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวของอากาศ ทำให้แมงป่องไวต่อเสียงมาก แมงป่องจึงชูหางขึ้นทันทีที่มีเสียง หรือมีการเคลื่อนไหวของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เมื่อมีเหยื่อหรือศัตรูเข้ามาใกล้ และสามารถฉีดพิษสู่เหยื่อได้อย่างแม่นยำ[3]

พิษ แก้

แมงป่องเป็นสัตว์ที่สามารถอดอาหารได้เป็นเดือน โดยปกติแล้วเมื่อล่าเหยื่อจะฉีดพิษเพื่อให้เหยื่อเป็นอัมพาตก่อนจะกินทั้งเป็น แมงป่องเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยจะล่าเหยื่อเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเล็ก ๆ เช่น แมง, แมลง ต่าง ๆ เป็นอาหาร พิษของแมงป่องเป็นสารประกอบโปรตีนมีลักษณะใสคล้ายน้ำส้มสายชู พิษของแมงป่องมีพิษต่อระบบประสาท ส่วนน้อยมีพิษต่อระบบโลหิต รอยแผลจะมีลักษณะคล้ายเข็มแทงรูเดียว บางครั้งอาจเป็นรอยไหม้ โดยทั่วไปแล้วจะไม่สามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตต่อมนุษย์ได้ แต่ก็อาจมีอันตรายสำหรับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้หรือร่างกายอ่อนแอ แมงป่องที่มีพิษร้ายแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ ส่วนมากจะพบในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก มีรายงานผู้ถูกแมงป่องต่อยสูงถึงปีละประมาณ 5,000 คน ชนิดที่มีพิษร้ายแรงสามารถต่อยทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลา 6–7 ชั่วโมง ส่วนแมงป่องที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดที่มีพิษไม่ร้ายแรง

โดยมากแล้ว แมงป่องชนิดที่มีพิษร้ายแรงมักเป็นแมงป่องที่มีขนาดเล็ก ก้ามเล็ก สีลำตัวไม่เข้ม สำหรับแมงป่องที่มีลำตัวใหญ่ ก้ามใหญ่ สีเข้ม แลดูน่าเกรงขาม มักเป็นแมงป่องชนิดที่พิษไม่ร้ายแรง

หากโดนแมงป่องต่อย การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ล้างด้วยสบู่ แล้วเอาแอลกอฮอล์เช็ดอีกรอบ อาจจะลดอาการปวดด้วยการใช้น้ำแข็งประคบ และกินยาแก้ปวดร่วมด้วย

การใช้ประโยชน์ แก้

ชาวจีนนำมาปิ้งหรือย่าง เชื่อว่ากินแล้วช่วยขับลม ช่วยขับพิษอื่น ๆ ทำให้เลือดลมดี และใช้แมงป่องอบแห้งรักษาโรคหลายชนิด เช่น บาดทะยัก เกาต์ หลอดเลือดแดงอักเสบ เป็นต้น ในประเทศไทยใช้ดองเหล้ากิน บรรเทาอาการอัมพาต อัมพฤกษ์

แมงป่องที่ตายไปแล้วยังสามารถนำมาจัดเก็บเพื่อการสะสมหรือการศึกษาแบบเดียวกับแมลงหรือแมงสตั๊ฟฟ์ทั่วไปได้อีกด้วย

นอกจากนี้ความยังถูกอ้างอิงถึงในสัญลักษณ์ประเภทต่าง ๆ เช่น ราศีพิจิก ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นราศีที่ 8 ก็มีสัญลักษณ์เป็นรูปแมงป่อง [5] รวมถึงกล่าวอ้างถึงในโคลง โลกนิติ โคลงสี่สุภาพที่แต่งขึ้นในต้นยุครัตนโกสินทร์ เป็นโคลงสุภาษิตสอนใจ ในส่วนที่กล่าวถึงแมงป่อง ไว้ว่า

พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่องชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี ฯ

อันหมายถึง ผู้ที่ชอบอวดดีทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรดีพอที่จะอวด เป็นต้น[6] หรือในละครเรื่อง เรือนเบญจพิษ ที่นำแมงป่องมาทำเป็นกู่รวมกับ งู ตะขาบ แมงมุม และ คางคก

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=103[ลิงก์เสีย]
  2. หน้า 7 โลกาภิวัฒน์ GLOBALIZATION, แมงป่องที่โจมตีเร็วและมีพิษร้ายที่สุดในโลก. "ทันโลก". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21631: วันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560 แรม 1 ค่ำ เดือน 5 ปีระกา
  3. 3.0 3.1 แมลงและแมงกินได้ที่พบมากในเดือนกุมภาพันธ์
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-14. สืบค้นเมื่อ 2008-05-10.
  5. ราศีพิจิก (Scorpio Zodiac)
  6. สุปาณี พัดทอง, "โคลงโลกนิติ" อมตะวรรณกรรมคำสอน, วารสารวรรณวิทัศน์ ปีที่ 2 ฉ.2, ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ย. 2545

แหล่งข้อมูลอื่น แก้