แพระไดส์ลอสต์ (อังกฤษ: Paradise Lost แปลว่า สวรรค์ลา หรือ สวรรค์ล่ม) เป็นบทกวีมหากาพย์ประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยกวีชาวอังกฤษ จอห์น มิลตัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1667 เป็นหนังสือชุดมี 10 บรรพ ตีพิมพ์ครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1674 โดยจัดแบ่งเนื้อหาใหม่เป็น 12 บรรพ (ตามแบบอย่างการจัดแบ่งเนื้อหาใน มหากาพย์อีนีอิด ของเวอร์จิล) เนื้อหาของบทกวีเกี่ยวกับเรื่องราวในตำนานความเชื่อทางคริสต์ศาสนา ว่าด้วยเรื่องการล่มสลายของมนุษย์ กล่าวคือ การที่มนุษย์คู่แรกของโลก อาดัม กับ อีฟ ถูกล่อลวงโดยซาตานให้กระทำความผิด ละเมิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ทำให้ต้องถูกเนรเทศออกจากสวนสวรรค์อีเดน วัตถุประสงค์ในการประพันธ์ของมิลตันมีระบุไว้ในหนังสือเล่ม 1 กล่าวว่า "เพื่อแสดงให้เห็นวิธีการที่พระเจ้าทำต่อมนุษย์" และอธิบายให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างการมองเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าของพระผู้เป็นเจ้า กับการทำตามเจตจำนงเสรี เป็นวรรณกรรมที่มีแนวคิดแบบยุคบาโรก

แพระไดส์ลอสต์  
ภาพปก "แพระไดส์ลอสต์" ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
ผู้ประพันธ์จอห์น มิลตัน
ชื่อเรื่องต้นฉบับParadise Lost
ประเทศอังกฤษ
ภาษาอังกฤษ
ประเภทบทกวีมหากาพย์
สำนักพิมพ์Samuel Simmons
วันที่พิมพ์ค.ศ. 1667

ศิลปินยุคจินตนิยมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เริ่มมองภาพของซาตานว่าเป็นตัวละครสำคัญในงานมหากาพย์ มิลตันใช้ซาตานเป็นสื่อถึงความทะเยอทะยาน ความโลภและหยิ่งจองหอง ผู้ซึ่งต่อต้านพระผู้สร้าง และผู้ประกาศสงครามกับสรวงสวรรค์ แต่สุดท้ายก็โดนปราบและโค่นลง วิลเลียม เบลก ศิลปินนักวาดภาพประกอบมหากาพย์ผู้นิยมยกย่องมิลตันอย่างมาก ได้กล่าวถึงมิลตันว่า "เขาเป็นกวีที่แท้จริง และเป็นฝ่ายเดียวกับปีศาจแม้จะไม่รู้ตัว"[1] นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งเห็นว่าลักษณะตัวละครแบบซาตานเป็นต้นกำเนิดของวีรบุรุษในแบบของไบรอน[2]

มิลตันนำเรื่องราวทั้งส่วนของคริสต์ศาสนา เทพเจ้านอกศาสนา รวมถึงตำนานกรีกดั้งเดิมมาใช้ในเนื้อเรื่อง บทกวีต้องพยายามสื่อถึงประเด็นทางปรัชญาอันลึกซึ้ง รวมถึงเรื่องของชะตากรรม ชะตาลิขิต และเรื่องของตรีเอกานุภาพ ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนและยากยิ่ง

โครงเรื่อง แก้

หลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรก เนื้อเรื่องก็ถูกจัดใหม่ให้เป็น 12 บรรพ บรรพละบท ตามแบบอย่างมหากาพย์อีนีอิดของเวอร์จิล ความยาวของหนังสือแต่ละบรรพไม่เท่ากัน บรรพที่ยาวที่สุดคือเล่ม 9 มีความยาว 1189 บรรทัด บรรพที่สั้นที่สุดคือบรรพ 6 มีความยาว 640 บรรทัด ในฉบับปรับปรุงครั้งที่สอง เนื้อหาแต่ละเล่มจะขึ้นต้นด้วยการสรุปความ ภายใต้หัวข้อว่า "The Argument" รูปแบบการประพันธ์บทกวีเป็นแบบมหากาพย์ซึ่งมักขึ้นต้นด้วย in medias res (คำภาษาละติน หมายถึง "ท่ามกลางเรื่องราวที่เกิดขึ้น") สำหรับภูมิหลังของเรื่องปรากฏอยู่ในเล่ม 5-6

เนื้อเรื่องของมิลตันประกอบด้วยสองส่วนใหญ่ ๆ ส่วนหนึ่งคือเรื่องของซาตาน (ลูซิเฟอร์) อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของอาดัมกับอีฟ เรื่องของซาตานเป็นโครงหลักของมหากาพย์ คือภาพของสงครามทั้งหมด เริ่มต้นเมื่อซาตานกับบรรดาทูตสวรรค์ที่คิดกบฏทั้งหลายถูกพระเป็นเจ้าปราบและขับไล่ลงไปอยู่ในนรก หรือที่ในบทกวีเรียกว่า ทาร์ทะรัส เมืองหลวงในดินแดนนั้นชื่อ Pandæmonium ซาตานใช้ความสามารถทางโวหารของตนเกลี้ยกล่อมบรรดาผู้ติดตามของเขา โดยมีผู้ช่วยคือ แมมมอน และ บีลเซบับ บทกวียังกล่าวถึง เบเลียล และ โมลอค ด้วย ในตอนท้ายของการโต้ตอบครั้งนี้ ซาตานอาสาตนเองมาวางยาพิษดินแดนที่เพิ่งสร้างใหม่ คือ โลก เขาฝ่าผจญอันตรายในห้วงเหวเพียงลำพัง ในลักษณะคล้ายคลึงกับการผจญภัยของโอดิซูสหรืออีเนียส

สำหรับเรื่องของอาดัมกับอีฟที่โดนล่อลวงและตกสู่ความผิดบาปนั้นแตกต่างจากตำนานดั้งเดิมอย่างมาก นับเป็นครั้งแรกในวรรณกรรมคริสต์ศาสนาที่อาดัมกับอีฟมีความสัมพันธ์ต่อกันตั้งแต่ยังไม่มีความผิดบาปเกิดขึ้น พวกเขามีความปรารถนา มีบุคลิกภาพ และมีเพศสัมพันธ์ ซาตานสามารถล่อลวงอีฟสำเร็จโดยอาศัยกิเลสของเธอและวาจาอันเย้ายวน ขณะที่อาดัม ผู้ทราบว่าอีฟได้ทำผิดบาปแล้ว เขายอมรับความบาปเดียวกันนั้นโดยร่วมรับประทานผลไม้ด้วย จากเหตุการณ์นี้มิลตันได้สร้างบทบาทวีรบุรุษให้แก่อาดัม ขณะเดียวกันเขาก็มีความบาปที่ลึกล้ำกว่าอีฟ หลังจากรับประทานผลไม้แล้ว ทั้งสองมีเพศสัมพันธ์ต่อกันด้วยตัณหา ซึ่งเป็นทั้งประสบการณ์ใหม่และความรู้สึกที่ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความรู้สึกสำนึกผิดและความละอาย ต่างฝ่ายต่างซัดโทษความผิดให้กัน อย่างไรก็ดีคำแก้ต่างของอีฟก็ช่วยให้ทั้งสองคืนดีกันดังเดิม ส่วนที่สำคัญกว่านั้นคือความกล้าหาญของเธอที่ทำให้ทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระเป็นเจ้า และ "น้อมคำนับและคุกเข่าขอรับโทษ" ด้วยหวังจะได้รับความกรุณาจากพระองค์ อาดัมได้เดินทางผ่านนิมิตไปกับทูตสวรรค์องค์หนึ่งและมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความผิดบาปของมนุษย์ รวมทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ เขารู้สึกเศร้าเสียใจต่อความผิดบาปที่พวกเขาสร้างขึ้นเนื่องจากการรับประทานผลไม้ อย่างไรก็ดี เขาก็ยังมีความหวัง จากการไถ่บาปโดยพระเยซูคริสต์ที่เขาเห็นในนิมิต หลังจากนั้นคนทั้งสองก็ถูกขับไล่จากสวนอีเดน ไมเคิล หัวหน้าทูตสวรรค์ได้กล่าวแก่อาดัมว่า เขาจะได้พบ "สวนสวรรค์ในตัวเจ้าที่เปี่ยมสุขยิ่งกว่า" ("A paradise within thee, happier far.") บัดนี้คนทั้งสองจึงอยู่ห่างไกลจากพระเป็นเจ้า แม้พระองค์จะดำรงอยู่ในทุกสิ่ง แต่ก็ไม่อาจมองเห็น (ไม่เหมือนกับพระบิดาผู้สามารถสัมผัสได้ในสวนอีเดน)

ตัวละคร แก้

ซาตาน แก้

อาดัม แก้

อีฟ แก้

พระบุตร แก้

พระบิดา แก้

พระจิต แก้

แนวคิดหลักของเรื่อง แก้

ประวัติการตีพิมพ์ แก้

ผลตอบรับและคำวิจารณ์ แก้

อิทธิพลต่องานแขนงอื่น แก้

อ้างอิง แก้

  1. วิลเลียม เบลก. (1793), The Marriage of Heaven and Hell, ลอนดอน
  2. ที. เอส. อีเลียต (1932), "Dante", Selected Essays, นิวยอร์ก: เฟเบอร์แอนด์เฟเบอร์, OCLC 70714546.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้