แพทยศาสตรศึกษา (อังกฤษ: Medical Education) แขนงวิทยาการที่ว่าด้วยการศึกษาวิชาทางด้านแพทยศาสตร์ มีทั้งการศึกษาก่อนปริญญา (undergraduate medical eduation) และการศึกษาหลังปริญญา (postgraduate medical education)

แพทยศาสตรศึกษาจะเน้นที่การจัดกระบวนการเรียนรู้ทางด้านแพทยศาสตร์เพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ แพทย์เฉพาะทาง หรือแพทย์นักวิจัยเพื่อรับใช้สังคม กระบวนการนี้เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเข้ามาศึกษาในสถาบันผลิตแพทย์ การจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ การจัดหาและส่งเสริมกิจกรรมเสริมหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตร การสอบและประเมินผลเพื่อรับปริญญาบัตร (โดยสถาบันผลิตแพทย์ สถาบันร่วม หรือสถาบันสมทบ) การสอบและประเมินผลเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม (โดยศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือ ศ.ร.ว. และแพทยสภา) และการติดตามและประเมินผลบัณฑิตแพทย์และแพทย์เฉพาะทางที่สถาบันผลิต

แพทยศาสตรศึกษาในแต่ละสถาบันมีความแตกต่างกัน แต่หลักการและปรัชญาจะคล้ายกันคือ ผลิตบัณฑิตแพทย์รับใช้สังคมไทยที่ยังถือว่าขาดแคลนอยู่ กระบวนการผลิตบัณฑิตแพทย์ในแต่ละสถาบันจะถูกกำหนดแนวทางปฏิบัติไปในทางเดียวกันโดยแพทยสภา กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้บัณฑิตแพทย์ แนวทางดังกล่าวจะมีการทบทวนและพิจารณาใหม่ทุก ๆ 6-7 ปีในการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ (พศช.) ซึ่งจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 การประชุมครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 11) จัดที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวัน 27 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

กระบวนการและผลลัพธ์การผลิตบัณฑิตแพทย์จะมีการตรวจสอบคุณภาพภายในแต่ละสถาบันเอง และมีการตรวจสอบคุณภาพจากภายนอกด้วย ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการศึกษาของ สกอ สมศ และ กพร นอกจากนี้ กสพท ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งแห่งชาติได้ริเริ่มนำเอาการประกันคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA) มาใช้ในกระบวนการผลิตบัณฑิตแพทย์ระยะหนึ่งแล้ว โดยตั้งเป้าไว้ว่าทุกสถาบันผลิตแพทย์จะพัฒนาคุณภาพการผลิตบัณฑิตตามเกณฑ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้