แผ้ว สนิทวงศ์เสนี

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี (สกุลเดิม สุทธิบูรณ์; 25 ธันวาคม พ.ศ. 2446 – 24 กันยายน พ.ศ. 2543) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย ทั้งยังเป็นผู้คิดค้นท่ารำใหม่โดยยึดระเบียบแบบแผนตามประเพณีโบราณ และมีความสามารถในการประพันธ์บทโขนละคร[3] เคยเป็นหม่อมในสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ถือเป็นหญิงสามัญชนที่ไม่ใช่ลูกหลานขุนนางคนแรกที่ได้เป็นสะใภ้หลวง[1]


แผ้ว สนิทวงศ์เสนี

ท่านผู้หญิงแผ้วในวัย 17 ปี
เกิดแผ้ว สุทธิบูรณ์
25 ธันวาคม พ.ศ. 2446
จังหวัดฉะเชิงเทรา อาณาจักรสยาม
เสียชีวิต24 กันยายน พ.ศ. 2543 (96 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ชื่ออื่นหม่อมแผ้ว นครราชสีมา[1][2]
คู่สมรสสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ. 2459–2467)
หม่อมสนิทวงศ์เสนี (หม่อมราชวงศ์ตัน สนิทวงศ์)
บุตรหม่อมหลวงแต้ว สนิทวงศ์
ท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์
หม่อมหลวงเติม สนิทวงศ์
หม่อมหลวงตวง สนิทวงศ์
รางวัลพ.ศ. 2528 – ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์)

หลังพระสวามีทิวงคตท่านได้สมรสใหม่กับหม่อมสนิทวงศ์เสนี (หม่อมราชวงศ์ตัน สนิทวงศ์)[2]

ท่านผู้หญิงแผ้วถูกประกาศเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) เมื่อ พ.ศ. 2528[2][4][5] และได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาศิลปะ ด้านนาฏศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2529

ประวัติ แก้

ชีวิตช่วงต้น แก้

ท่านผู้หญิงแผ้วเกิดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนที่สองจากทั้งหมดสามคนของเฮงและสุทธิ สุทธิบูรณ์ มีพี่สาวชื่อทับทิม คลี่สุวรรณ และน้องชายชื่อสหัส สุทธิบูรณ์ ส่วนย่าเคยมีตำแหน่งเป็นพนักงานฝ่ายในในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเธอเคยอยู่ในพระบรมมหาราชวังกับย่า แต่หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตจึงกลับบ้านเดิมที่จังหวัดฉะเชิงเทรา[6]

ขณะอายุได้แปดปี บิดามารดาหมายจะให้เธอไปเรียนหนังสือกับเอ็ดนา ซาราห์ โคล หรือแหม่มโคล เพราะในยุคสมัยนั้นผู้หญิงไม่ใคร่มีโอกาสได้ร่ำเรียนดั่งบุรุษเพศ ต่อมามีคนจากวังสวนกุหลาบมาบอกกล่าว ว่าสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาทรงก่อตั้งคณะละครเด็กเล็กในวัง โดยให้เรียนหนังสือและเรียนรำละครด้วย ด้วยเหตุนี้ท่านผู้หญิงแผ้วจึงถวายตัวเข้าพระตำหนักวังสวนกุหลาบ โดยมีท้าวนารีวรคณารักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์) เป็นผู้ปกครอง[6] เมื่ออยู่ที่นั่นเธอได้เล่าเรียนจนอ่านออกเขียนได้ ทั้งยังแตกฉานสามารถแต่งกลอนได้ดี[7] กอปรกับเป็นหญิงที่มีดวงหน้าสะสวย เพรียบพร้อมด้วยจรรยามารยาท จึงได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเต็มที่[6]

หลังการถวายตัวเข้าวัง ท่านผู้หญิงแผ้วได้รับการฝึกฝนนาฏศิลป์จากท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4) เจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 หม่อมแย้มในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หม่อมอึ่งในสมเด็จพระบัณฑูรฯ และหม่อมแก้วในเจ้าพระยาสุรวงษ์ฯ ซึ่งล้วนเป็นนางละครผู้มีชื่อ[6][8] นอกจากวังสวนกุหลาบแล้ว เธอยังมีโอกาสไปฝึกฝนการแสดงที่วังแพร่งนราของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สามารถรับบทเป็นตัวเอกทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เช่นแสดงเป็น อิเหนาและดรสาจากเรื่อง อิเหนา หรือ สีดา พระพิราพ และทศกัณฐ์ จากเรื่อง รามเกียรติ์[2][6] จนทำให้เธอกลายเป็นนางละครที่มีชื่อเสียงยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] โดยเธอเคยออกแสดงถวายหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแล้วหลายครั้ง[6][7]

ท่านผู้หญิงแผ้วสำเร็จการศึกษาวิชาสามัญจากโรงเรียนในวังสวนกุหลาบ และสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ. 3) จากโรงเรียนประชาพิทยากร[4] นอกจากนี้เธอยังมีความรู้ด้านภาษาฝรั่งเศสจากภคินีที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ และศึกษาภาษาอังกฤษจากคุณหญิงดอรีส ราชานุประพันธ์ ทั้งมีความรู้ด้านมารยาททางสังคมและการปฏิบัติตน[7]

สะใภ้หลวง แก้

 
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ทรงฉายคู่กับหม่อมแผ้ว

ขณะท่านผู้หญิงแผ้วมีอายุได้ 13 ปี ได้เข้าไปเรียนนาฏศิลป์กับเจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5 และทำการแสดงที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงคู่กับคุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ โดยเธอได้แสดงเป็นเมขลา ส่วนคุณหญิงนัฏกานุรักษ์แสดงเป็นรามสูร ต่อมาได้แสดงเรื่อง อิเหนา รับบทเป็น ดรสา ที่กระโดดกองไฟตายตามระตู เป็นที่ต้องพระหฤทัยของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และทรงขอเธอเข้าเป็นหม่อมห้าม[6] มีนามว่า หม่อมแผ้ว นครราชสีมา[1][2][6] แม้จะเป็นการเสกสมรสกับหญิงสามัญชนแต่ก็ไม่มีผู้ใดขัดพระทัย ส่วนหนึ่งก็เพราะเจ้านายพระองค์นี้เป็นที่ห่วงใยของพระราชชนกชนนีเพราะมีพระพลานามัยไม่สู้สมบูรณ์มานาน[9] เธอเปี่ยมสุขยิ่งในฐานะหม่อมในสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งแห่งกรุงสยาม[6] หลังการทิวงคตของสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเมื่อ พ.ศ. 2463[10] ต่อมาได้ทรงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับหม่อมแผ้วเข้าเป็นสะใภ้หลวง ถือเป็นหญิงสามัญชนที่ไม่ใช่ลูกหลานขุนนางคนแรกที่ได้เป็นสะใภ้หลวง[1] และได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นทุติยจุลจอมเกล้าเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466[11]

ทว่าชีวิตสะใภ้หลวงได้สิ้นสุดลง เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาประชวรด้วยพระโรคพระวักกะอักเสบ ก่อนทิวงคต ณ พระตำหนักวังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 (ปฏิทินแบบปัจจุบัน พ.ศ. 2468) สิริพระชนมายุได้ 36 พรรษา ยังความทุกข์เข้าสู่จิตใจของหม่อมแผ้วยิ่งนัก โดยเธอเคยกล่าวเกี่ยวกับความรู้สึกของตนหลังการทิวงคตของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมาไว้ว่า "...ตอนนั้นพระองค์ท่านมีพระชนมายุได้ 36 ปี ฉันอายุได้ 25 ปี ฉันรู้สึกว้าเหว่และเศร้าโศกถึงกับเป็นลมพับไป และรู้สึกว่าโลกนี้ช่างไม่มีอะไรแน่นอนทั้งสิ้น..."[6]

ในปี พ.ศ. 2470 หม่อมแผ้ว ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งหม่อมห้ามสะใภ้หลวง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาต และได้ถวายคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า ที่ได้รับพระราชทานไว้[12]

สมรสหนที่สองและปัจฉิมวัย แก้

ท่านผู้หญิงแผ้วจึงสมรสใหม่กับ พลตรี หม่อมสนิทวงศ์เสนี (หม่อมราชวงศ์ตัน สนิทวงศ์) พระโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ กับหม่อมแจ่ม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หม่อมสนิทวงศ์เสนี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2467 เป็นทูตทหารประจำประเทศฝรั่งเศส ประเทศอังกฤษ และประเทศอิตาลี เป็นอัครราชทูตประจำประเทศโปรตุเกส และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (พ.ศ 2491 – 2492)[13] ท่านผู้หญิงแผ้วได้ติดตามสามีซึ่งรับราชการเป็นทูตประเทศต่าง ๆ ทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันจำนวน 4 คน คือ

  1. หม่อมหลวงแต้ว สนิทวงศ์
  2. ท่านผู้หญิงนวลผ่อง เสนาณรงค์ สมรสกับพลเอก แสวง เสนาณรงค์
  3. พ.ต.อ. (พิเศษ) หม่อมหลวงเติม สนิทวงศ์ สมรสกับโสภี โชติกพุกกณะ
  4. หม่อมหลวงตวง สนิทวงศ์ สมรสกับหม่อมเจ้ารังษีนภดล ยุคล

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนีถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2543 อายุ 96 ปี[13] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

การทำงาน แก้

ด้วยความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย นายธนิต อยู่โพธิ์ หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร ได้เรียนเชิญให้ท่านผู้หญิงช่วยปรับปรุงฟื้นฟู และวางรากฐานด้านการละคร การรำ ให้กับกรมศิลปากร ท่านเป็นผู้ออกแบบท่ารำ เป็นผู้ฝึกสอน และอำนวยการฝึกซ้อมการแสดงโขน ละคร ฟ้อนรำ ต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2528 และ บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาศิลปะ ด้านนาฏศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2529

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 วิภา จิรภาไพศาล (14 สิงหาคม 2561). "'สะใภ้เจ้า' กับภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคม". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 "109 ปี ท่านผู้หญิงแผ้ว นาฏศิลปิน "5 แผ่นดิน"". ไทยรัฐออนไลน์. 16 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ศิลปินแห่งชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-12. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 "ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี". กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-17. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "รำลึก 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติสาขานาฏศิลป์คนแรกของประเทศไทย". ไทยรัฐออนไลน์. 17 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 "ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี นาฏยาจารย์ 5 แผ่นดิน ผู้สืบสร้างทางรำไทย" (PDF). ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 8 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 "๑๐๙ ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี". ผู้จัดการออนไลน์. 24 ธันวาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "คำว่า หม่อม ใช้มาแต่เมื่อไหร่? หม่อมแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร??". ศิลปวัฒนธรรม. 31 กรกฎาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 74
  10. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 75
  11. "พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 40 (0ง): 2631. 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-07. สืบค้นเมื่อ 2015-03-27. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  12. ประกาศคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  13. 13.0 13.1 คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์ (1 สิงหาคม 2560). "พลตรีหม่อมสนิทวงศ์เสนีและท่านผู้หญิงแผ้ว". สยามรัฐ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-17. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
  15. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๐, ๑๘ เมษายน ๒๕๒๓
  16. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๖๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๐, ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๘