แผ่นเสียง คือวัสดุที่ก่อให้เกิดเสียง ทำจากวัสดุหลายชนิดและขนาด แผ่นเสียงที่เห็นน้อยมากคือ แผ่นเสียงกระดาษ

ตัวอย่างแผ่นเสียง LP 12 นิ้ว

ประวัติ แก้

แผ่นเสียง/จานเสียงครั่ง แก้

แรกสุดเป็นกระบอกอัดเสียงเคลือบขี้ผึ้งแบบเอดิสัน ซึ่งในเมืองไทย (สยาม) ใช้บันทึกเพลงไทยเดิม ตั้งแต่ราวปลายรัชกาลที่ 4 ต่อมาเริ่มมีการบันทึกเสียงลง แผ่นครั่ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนใหญ่เป็นเพลงเรื่องบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ที่กำลังได้รับความนิยมในสมัยนั้น [1] ซึ่งมักไม่จบในหน้าเดียว จึงต้องบันทึกต่อกันเป็นชุดๆละหลายแผ่น

โดยทั่วไปมีขนาด 10-12 นิ้ว สปีด 78 รอบ/นาที บันทึกและเล่นกลับได้หน้าละไม่เกิน 3-5 นาที เนื่องจากมีลักษณะค่อนข้างหนาและหนัก ตกแตกง่ายอย่างจานกระเบื้อง บางทีจึงเรียกว่า จานเสียง คุณภาพเสียงออกทางแหลมแตกพร่ารวมทั้งเสียงรบกวนจากหัวเข็มโลหะที่ต้องคอยเปลี่ยนบ่อย

แผ่นครั่งในเมืองไทย ได้แก่ ปาเต๊ะ, อาร์ซีเอ วิคเตอร์ (ที่เรียกติดปากว่า ตราหมาหน้าเขียว,แดง,เหลือง ฯลฯ), พาร์โลโฟน, โคลัมเบีย, เดคก้า, บรันซวิค, แคปิตอล, ฟิลิปส์, เอ็มจีเอ็ม, เทพดุริยางค์, โอเดียน (ช้างคู่), ศรีกรุง (พระปรางค์วัดอรุณ), กระต่าย, อัศวิน, สุนทราภรณ์, มงกุฏ, เทพนคร, นางกวัก, วัวกระทิง, ค้างคาว, ลิง, หมี, นาคราช, หงษ์ (คู่ ), บางกอก, กามเทพ, เพชรสุพรรณ, กรมศิลปากร แผ่นที่ใช้เฉพาะในสถานี เช่น กรมโฆษณาการ (แผ่นดิบ) หรือจำหน่ายบางโอกาส เช่น เนรมิตภาพยนตร์ ฯลฯ

การผลิตจำหน่าย มีทั้งทำแผ่นเองในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งส่งมาสเตอร์ไปทำแผ่นที่เมืองนอก โดยเฉพาะที่เมืองดัม ดัม ประเทศอินเดีย (Dum Dum India) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั้งในยุโรปและสหรัฐว่ามีมาตรฐานสูง คุณภาพเนื้อแผ่นดีที่สุด (และผู้ผลิตในเมืองไทยยังคงนิยมสั่งทำแผ่นจากที่นี่จนถึงยุคแผ่นลองเพลย์กับซิงเกิลในช่วงแรก) แต่จานเสียงครั่งที่สั่งทำจากต่างประเทศดังกล่าว บางชุดมาไม่ถึงเมืองไทยเนื่องจากประสบอุบัติเหตุในการขนส่งขณะเดินทางจมน้ำเสียหายหมด

แผ่นเสียงไวนิล แก้

อัลบั้มลองเพลย์ แก้

ช่วงปี พ.ศ. 2491 บริษัทแผ่นเสียงโคลัมเบียในสหรัฐ พัฒนาแผ่นบันทึกเสียงชนิดใหม่ได้สำเร็จ เรียกว่า แผ่นเสียง/อัลบั้มลองเพลย์ (Long played record /album) บางทีเรียก แผ่นเสียงไวนิล (Vinyl) [2] ตามชื่อพลาสติก[3] คุณภาพดีที่ได้จากคาร์ไบด์ (Carbide)[4] แผ่นชนิดนี้ มีขนาดบาง เบา ตกไม่แตก คุณภาพเสียงทุ่มนุ่มนวลลุ่มลึกมากขึ้น สามารถลดเสียงรบกวนจากหัวเข็มลงเหลือเพียงเล็กน้อย และบรรจุเพลงเพิ่มขึ้นด้วยขนาด 12 นิ้ว สปีด 33 รอบเศษ/นาที ปกติบันทึกได้หน้าละ 20 นาทีเศษ (ราว 6-7 เพลง/หน้า)

ในต่างประเทศ ยังคงมีผลิตบ้างจำนวนจำกัดเฉพาะกลุ่มที่ชอบฟังเสียงจากแผ่นไวนิล ทำให้แต่ละอัลบั้มมีราคาสูง ส่วนประเทศไทยซึ่งเลิกผลิตแบบอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เมื่อแถบบันทึกเสียงตลับ (Cassette Tape) เป็นที่นิยมมากขึ้นก่อนถึงยุคแผ่นซีดีเข้ามาแทนที่ตามลำดับ ปัจจุบันกำลังมีกระแสการกลับมานิยมแผ่นรูปแบบนี้อีกครั้ง ตั้งแต่ราวต้นทศวรรษ 2550 บริษัทค่ายเพลงต่างๆ ในเมืองไทยสั่งทำแผ่นจำนวนจำกัดจากโรงงานที่ญี่ปุ่น สหรัฐ และเยอรมนี อัลบัมเก่ามักใช้ภาพปกต้นฉบับเดิมสำหรับนักสะสม มีราคาจำหน่ายจากหลักร้อยในอดีตเป็นหลักพันบาทขึ้นไป พร้อมๆกับตลาดแผ่นเสียงไวนิลมือสองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในศูนย์การค้าจนถึงตามสื่ออินเทอร์เน็ต

แผ่นซิงเกิล แก้

ปี พ.ศ. 2492 บริษัท อาร์ซีเอ วิคเตอร์ ทำแผ่นไวนิลขนาดเล็ก 7 นิ้ว สปีด 45 รอบ/นาที คุณภาพเสียงด้อยกว่าแผ่นใหญ่เล็กน้อย บันทึกได้หน้าละไม่เกิน 2 เพลง เรียกกันว่า แผ่นซิงเกิล (Single) มักใช้กับเพลงเด่นๆ ที่ตัดจากแผ่นลองเพลย์ เพื่อเผยแพร่ตามสถานีวิทยุ ก่อนวางจำหน่ายอัลบั้มเต็ม

แผ่นไวนิลทุกขนาดมีการผลิตต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี ก่อนเข้าสู่ยุคใหม่ของการบันทึกเสียงด้วยระบบดิจิตอลบนแผ่นซีดี

แผ่นไวนิลในเมืองไทย ได้แก่ อาร์ซีเอ, โคลัมเบีย, เดคก้า, แคปิตอล, ฟิลิปส์, เอ็มจีเอ็ม, ศรีกรุง, กระต่าย, อัศวิน, สุนทราภรณ์, มงกุฏ, เคเอส (กมลสุโกศล), นางฟ้า (เมโทรแผ่นเสียง), สุพรรณหงษ์ (กรุงไทย), นิธิทัศน์, อีเอ็มไอ, จีเอ็มเอ็ม (แกรมมี่), อาร์เอส, อโซน่าร์ ฯลฯ รวมถึงแผ่นที่ใช้เฉพาะในสถานี วิทยุ อส. หรือจำหน่ายบางโอกาส เช่น กรมศิลปากร, ละโว้ภาพยนตร์ และ ทีวี 4 (ไทยทีวีช่อง 4) เป็นต้น

แผ่นเสียงเพลงไทยส่วนใหญ่นิยมทำเป็นอัลบั้มไวนิลขนาด 12 นิ้ว ส่วนแผ่นครั่งขนาด 10 นิ้ว ซึ่งมีเสียงรบกวนและดูแลรักษายาก ไม่เป็นที่นิยมทั่วโลกนานแล้ว

อ้างอิง แก้

  1. ประวัติแผ่นเสียงในประเทศไทย, เว็บไซด์ วปถ.3, จ.นครราชสีมา
  2. Gramophone Record ,Wikipedia-The Free Encyclopedia
  3. Cambridge's Learner Dictionary ,Cambridge University Press ,P.707
  4. สอ เสถบุตร ,Modern Thai English Dictionary ,ไทยวัฒนาพานิช หน้า 60

หนังสืออ่านเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้