แบล็กบัก หรือ แอนทิโลปอินเดีย (อังกฤษ: Blackbuck, Indian antelope[3]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Antilope cervicapra) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกีบคู่จำพวกแอนทิโลปชนิดหนึ่ง จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Antilope[2] จึงจัดเป็นแอนทิโลปแท้

แบล็กบัก
แบล็กบักตัวผู้
ตัวผู้และตัวเมีย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Bovidae
วงศ์ย่อย: Antilopinae
สกุล: Antilope
Pallas, 1766
สปีชีส์: A.  cervicapra
ชื่อทวินาม
Antilope cervicapra
(Linnaeus, 1758)
ชนิดย่อย
  • A. c. cervicapra (Linnaeus, 1758)
  • A. c. rajputanae Zukowsky, 1927
ชื่อพ้อง[2]

สกุล:

  • Antelope Forster, 1790
  • Cervicapra Sparrman, 1780

ชนิด:

  • Antilope bezoartica Gray, 1850

แบล็กบัก มีลักษณะคล้ายกับแอนทิโลปหรือกาเซลล์ที่พบในทวีปแอฟริกา แต่แบล็กบักเป็นสัตว์ที่พบได้ในทวีปเอเชีย แบล็กบักตัวผู้มีเขาคู่หนึ่งที่ยาว 35–75 เซนติเมตร เขามีความสวยงามตรงที่บิดเป็นเกลียวและปลายแหลม ดูน่าเกรงขาม ด้วยความยาวของเขานั้นแม้จะนอนหรือซ่อนอยู่ในพงหญ้าบางครั้งก็ยังเห็นโผล่มาชัดเจน มีความสูงประมาณ 74–84 เซนติเมตร ตัวผู้มีน้ำหนักระหว่าง 20–57 กิโลกรัม ตัวเมียมีน้ำหนักเฉลี่ย 27 กิโลกรัม เป็นสัตว์ที่วิ่งได้เร็วมาก สามารถวิ่งได้เร็วถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ชอบกินหญ้าโดยเฉพาะหญ้าสั้นเป็นอาหาร แต่บางครั้งก็อาจกินใบไม้ได้ด้วย มักอาศัยในป่าละเมาะที่ใกล้กับแหล่งน้ำ เพราะต้องใช้น้ำในการดื่มกิน ตัวผู้จะป้องกันอาณาเขตของฝูงตัวเองและแย่งชิงตัวเมีย คือ การใช้เขาทั้งสองข้างนั้นขวิดสู้กัน ซึ่งพฤติกรรมนี้พบได้ตลอดทั้งปี[3]

ด้วยความสวยงามของเขา จึงทำให้ถูกล่าเพื่อเอาเขา รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยถูกคุกคามด้วยจากการรุกรานเพื่อต้องการพื้นที่ทำการเกษตรและปศุสัตว์ ทำให้แบล็กบักที่เคยมีอยู่ทั่วไปในอินเดียสมัยก่อน และพบได้จนถึงอิสราเอลในตะวันออกกลาง ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ในป่าอนุรักษ์หรืออุทยานแห่งชาติของอินเดีย เช่น อุทยานแห่งชาติเวลาวาดาร์ ในรัฐคุชราต ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นทุ่งสะวันนากว้างโล่งเหมือนทวีปแอฟริกา เป็นต้น[3] และได้สูญพันธุ์ไปแล้วที่บังกลาเทศ [1]

แบล็กบักตัวผู้ในภาพย้อนแสง เห็นเขาคู่อย่างชัดเจน

แบล็กบัก ได้ถูกจัดให้มี 2 ชนิดย่อย คือ [4]

  • A. c. cervicapra (Linnaeus, 1758) : แบล็กบักตะวันออกเฉียงใต้ พบในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้, ภาคกลางและภาคใต้ของอินเดีย มีวงแหวนรอบดวงตาสีขาว และริ้วที่ขาทั้งสี่ข้างเห็นชัดเจน
  • A. c. rajputanae Zukowsky, 1927 : แบล็กบักตะวันตกเฉียงเหนือ พบในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เขาของตัวผู้จะเปลี่ยนเป็นสีเทาเข้มในฤดูผสมพันธุ์ วงแหวนสีขาวรอบดวงตากว้าง และริ้วลายที่ขายาวลงไปถึงแค่หน้าแข้ง

แบล็กบัก ถูกอ้างถึงในเทพปกรณัมฮินดู ศาสนาประจำชาติของอินเดีย ด้วยเป็นสัตว์พาหนะลากรถของพระกฤษณะ[5] (อวตารของพระวิษณุในมหากาพย์มหาภารตะยุทธ), พาหนะของพระพาย (เทพเจ้าแห่งลม) และพาหนะลากรถของพระจันทร์ (เทพแห่งดวงจันทร์) [6]ในรัฐทมิฬนาฑูเชื่อว่าเป็นสัตว์พาหนะของโคทราวี[7] เทพีผู้เป็นพระมารดาของพระขันทกุมาร และเป็นเทพีที่ได้รับการนับถือกันในรัฐทมิฬนาฑู ในรัฐราชสถาน เทพีการ์นีมาตา เชื่อว่าทรงคุ้มครองแบล็กบัก[7]

ปัจจุบัน แบล็กบักเป็นสัตว์สงวนของอินเดีย มีกฎหมายห้ามล่าอย่างเด็ดขาด[3]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 IUCN SSC Antelope Specialist Group (2016). "Antilope cervicapra". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T1681A50181949.
  2. 2.0 2.1 "Antilope". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 19 June 2016.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "อุทยานแห่งชาติเวลาวาดาร์ (17-6-59)". ช่องนาว. 18 June 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-19. สืบค้นเมื่อ 19 June 2016.
  4. Groves, C.; Grubb, P. (2011). Ungulate Taxonomy. Baltimore, Maryland (US): Johns Hopkins University Press. ISBN 1-4214-0093-6.
  5. Dinerstein, E. (2013). Discovering Big Cat Country: On the Trail of Tigers and Snow Leopards. Washington, US: Island Press. ISBN 9781610914796.
  6. Krishna, N. (2010). Sacred Animals of India. New Delhi, India: Penguin Books India. ISBN 9780143066194.
  7. 7.0 7.1 van der Geer, A. (2008). Animals in Stone : Indian Mammals Sculptured through Time. Leiden, South Holland (Netherlands): Brill. pp. 57–8. ISBN 9789004168190.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Antilope cervicapra ที่วิกิสปีชีส์