แคลส์ โอลเดนเบิร์ก

แคลส์ โอลเดนเบิร์ก (อังกฤษ: Claes Oldenburg, 28 มกราคม พ.ศ. 2472 – 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2565) เป็นประติมากรชาวอเมริกัน–สวีเดน เขาเป็นศิลปินในกลุ่มศิลปะประชานิยม (Pop Art) ผู้ซึ่งมีแนวทางในการสร้างสรรค์งานแตกต่างไปจากศิลปินคนอื่น ๆ โดยจะมีการสอดแทรกความสนุกสนาน น่าขบขันลงไปในผลงาน ในขณะเดียวกันก็ยังมีความสวยงามและความลงตัวซ่อนอยู่ภายในชิ้นงานด้วย ซึ่งผลงานที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ ประติมากรรมขนาดใหญ่ยักษ์ หรือ Large–Scale Sculptures เป็นงานที่สร้างขึ้นโดยใช้สิ่งของที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น ไม้หนีบผ้า กรรไกร ลูกขนไก่ มาทำให้มีขนาดใหญ่ แล้วนำไปติดตั้งในที่ชุมชนทำให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมามีโอกาสได้เสพงานศิลปะมากขึ้น ทำให้งานศิลปะไม่ถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แต่เพียงใน Gallery อีกต่อไป อีกทั้งยังเป็นการเล่นกับปฏิกิริยาของคนดูที่มีต่องานศิลปะอีกด้วย นับว่าเป็นศิลปินที่สร้างกระแสศิลปะในรูปแบบใหม่ได้เป็นอย่างดี

แคลส์ โอลเดนเบิร์ก
แคลส์ โอลเดนเบิร์กในปี ค.ศ. 2012
เกิด28 มกราคม ค.ศ. 1929(1929-01-28)
สต็อกโฮล์ม สวีเดน
เสียชีวิต18 กรกฎาคม ค.ศ. 2022(2022-07-18) (93 ปี)
นครนิวยอร์ก สหรัฐ
สัญชาติสวีเดน
อเมริกัน (ตั้งแต่ค.ศ. 1953)
การศึกษา
ขบวนการศิลปะประชานิยม, กลุ่มล้ำยุค

ลำดับเหตุการณ์และประวัติโดยย่อ แก้

  • พ.ศ. 2472 - โอลเดนเบิร์ก เกิดที่เมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดน (Sweden) และได้เจริญเติบโตขึ้นในเมืองชิคาโก (Chicago)
  • พ.ศ. 2489–2493 - เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) และทำงานเป็นนักข่าวหลังจากที่จบการศึกษาแล้ว
  • พ.ศ. 2495 - เรียนต่อที่สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก (Art Institution of Chicago) ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองที่เขาเริ่มวาดภาพเพื่อใช้ในการประกอบบทความให้กับนิตยสารหลายเล่ม
  • พ.ศ. 2499 - ย้ายไปอยู่ที่นครนิวยอร์ก (New York City)
  • หลายปีต่อมา - โอลเดนเบิร์กได้สร้างสรรค์ชุดผลงานการแสดงและการจัดแสดงผลงาน ตัวอย่างเช่น “The Street (พ.ศ. 2503)” และ “The Store (พ.ศ. 2504)” ซึ่งทำให้เขาได้กลายไปเป็นดังผู้นำของการเคลื่อนไหวในวงการป๊อปอาร์ต
  • พ.ศ. 2516 - สร้างสรรค์ผลงานชุดต่อมา คือ “The Home”
  • พ.ศ. 2519 - ติดตั้งงานประติมากรรมรูปไม้หนีบผ้า (Clothespin) ที่มีความสูง 14 เมตร ในเมืองฟิลาเดเฟีย ต่อมาก็ได้ทำงานร่วมกับ Coosje Van Bruggen ในการบูรณะและย้ายที่ประติมากรรมรูปเกรียง (Trowel I) ซึ่งมีความสูง 12 เมตร จากที่ Sonsbeek 71 ไปยังพิพิธภัณฑ์ Kröller-Müller ที่เมือง Otterlo
  • พ.ศ. 2520 - โอลเดนเบิร์กได้สมรสกับ Van Bruggen และร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างยาวนานถึง 30 ปี และได้รับรางวัลต่าง ๆ จากหลายสาขามากมาย [1]

แนวความคิดในการสร้างสรรค์งาน แก้

แคลส์ โอลเดนเบิร์ก มีแนวความคิดในการสร้างสรรค์งานของเขาว่างานศิลปะจะต้องมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยเขาได้นำวัตถุต่าง ๆ ที่เห็นได้จริงในชีวิตประจำวันมาใช้ โดยทำให้บริบทของสิ่งเหล่านั้นหายไป เช่น ทำให้วัตถุชิ้นนั้นดูนุ่มนิ่ม ทั้งที่ในความเป็นจริงวัตถุชิ้นนั้นแข็ง หรือทำให้วัตถุมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าที่มันเป็น ซึ่งถือเป็นการผสมผสานระหว่างอัตลักษณ์ของสิ่งนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี

โอลเดนเบิร์ก ได้กล่าวถึงแนวความคิดของเขาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2507 ว่า "บางครั้ง ถ้าทำให้ของบางอย่างใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงกว่าที่มันควรจะเป็น มันเป็นเรื่องสนุก บางครั้งเมื่อคุณทำให้บางสิ่งบางอย่างนุ่ม ทั้งที่มันควรจะแข็ง มันก็เป็นเรื่องสนุก เมื่อคุณทำให้ความคาดหวังเปลี่ยนไป... มีหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในงานศิลปะของผมที่ผู้ชมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนุกมาก ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ได้เริ่มมาจากความสนุก ก็กลายเป็นเรื่องที่สนุกไปได้ มันเป็นเพราะผมไม่ได้เล่นกับธรรมชาติ และธรรมชาติก็จะมีเรื่องสนุกในตัวของมันเองอยู่แล้ว... อารมณ์ขันเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ และผมเองจะไม่ควบคุมบทบาทในการสร้างสรรค์หรือมองงานศิลปะด้วย" ซึ่งแนวความคิดนี้จะมีความสอดคล้องกับการสร้างสรรค์ของกลุ่มศิลปินในช่วงร่วมสมัยอย่างกลุ่มกระแสนิยม หรือ ศิลปินกลุ่มป๊อปอาร์ต (Pop Art)

ตัวอย่างผลงานที่สำคัญ แก้

ประติมากรรมนุ่มนิ่ม (Soft Sculpture) แก้

โอลเดนเบิร์กได้ค้นพบวิธีการที่จะเข้าไปแทรกแซงสิ่งที่รับรู้ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น ใช้วัสดุที่แข็งอย่างปูนปลาสเตอร์ ลวด หรืออื่น ๆ เพื่อล้อเลียนภาพลักษณ์ของสิ่งที่นุ่มนิ่ม เช่น ขนมปัง เนื้อ ไอศกรีม จากนั้นก็ทำกระบวนการย้อนกลับโดยเปลี่ยนสิ่งที่แข็งให้ดุนุ่มนิ่มแทน ตัวอย่างงานที่น่าสนใจ เช่น Soft Toilet (2509), French Fries and Ketchup (2506), Soft Fur Good Humors (2506), Giant BLT (Bacon, Lettuce, and Tomato Sandwich) (2506) และอื่น ๆ อีกมากมาย

ประติมากรรมขนาดใหญ่ยักษ์ (Large-Scale Sculpture) แก้

งานประติมากรรมขนาดใหญ่ยักษ์ของโอลเดนเบิร์กแลดูคล้ายกับงานของศิลปินในกลุ่มดาดา (Dadaism) และลัทธิเหนือจริง (Surrealism) คือหาเอามาจากสถานที่ทั่วไป แล้วนำมาตกแต่งและสร้างมันขึ้นมาให้เป็นงานศิลปะ แต่เขาก็ได้แสดงให้เห็นว่าทัศนคติในการสร้างสรรค์ของเขาแตกต่างกับศิลปินดาดาอย่างชัดเจน เขาไม่ได้ลดคุณค่าการเป็นวัตถุโดยตัดทอนลักษณะที่มีการใช้สอยและตัดชื่อของมันออกไปเหมือนกับที่มาร์แซล ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) ทำ ตรงกันข้ามเขาแสดงตัวตนของมันออกมาอย่างสมบูรณ์ที่สุด เขาได้ทำให้อนุสาวรีย์กลายมาเป็นสิ่งที่ดูเปราะบาง น่าหลงใหล เต็มไปด้วยอารมณ์ และมีบุคลิกเฉพาะตัว

โอลเดนเบิร์กได้นำงานประติมากรรมขนาดใหญ่ของเขาไปติดตั้งตามที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น งาน Clothespin หรือ ประติมากรรมรูปไม้หนีบผ้า ซึ่งติดตั้งบริเวณสี่แยกที่เมืองฟิลาเดเฟีย (Philadelphia) ในปี พ.ศ. 2519 ดูคล้ายเป็นอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ ถือเป็นศิลปินคนแรก ๆ ที่เริ่มติดตั้งงานไว้ในที่ชุมชนเลยก็ว่าได้ นอกจากงานเดี่ยวแล้วโอลเดนเบิร์กก็ยังได้ทำงานประติมากรรมขนาดใหญ่ขึ้นอีกมากมายกว่า 40 ชิ้นร่วมกับ Coosje Van Bruggen ภรรยาของเขา โดยจะนำไปจัดวางในเมืองทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา[2]

งานประติมากรรมขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของโอลเดนเบิร์กนอกจาก Clothespin แล้วยังมีอีกมากมาย เช่น

  • Knife Ship หรือ เรือใบมีด สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2501 มีรูปร่างและสีเหมือนกับมีดของทหารสวิสที่มีกรรเชียงเหมือนเรือสมัยโบราณ จัดแสดงริมแม่น้ำในเมืองเวนิส (Venice)[3]
  • Yale Lipstick หรือ เยลลิปสติก (ลิปสติกบนสายพานรถถัง) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งกำลังมีการต่อต้านสงครามเวียดนาม ด้วยรูปร่างคล้ายกับอาวุธสงคราม และชวนให้นึกถึงลักษณะกามวิสัย ทำให้เกิดการประท้วงและถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดประติมากรรมชิ้นนี้ก็ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งในมหาวิทยาลัยเยลได้เมื่อปี พ.ศ. 2517[4]
  • Spoonbridge and Cherry สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2530 – 2531 ตัวงานจัดตั้งอยู่ที่สวนประติมากรรมขนาด 11 เอเคอร์ ผลงานนี้โอลเดนเบิร์กได้แนวความคิดในขณะที่กำลังทานอาหารเย็นกับภรรยา โดยเห็นจากช้อนสำหรับทานขนมหวาน ส่วนลูกเชอร์รี่นั้นเป็นความคิดทีได้จากภรรยาของเขาซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงเรขาคณิตอีกทีหนึ่ง ลักษณะหนึ่งของงานชิ้นนี้ที่ดูโดดเด่นนอกจากรูปทรงที่ดูสวยงามแปลกตาแล้ว คือ การออกแบบให้มีน้ำพุไหลออกมาจากก้านของลูกเชอร์รี่ ทำให้เกิดแสงประกายระยิบระยับตลอดเวลา และเมื่อถึงฤดูหนาวน้ำที่พุ่งออกมาจะแข็งและกลายเป็นประติมากรรมที่สวยงามอีกชิ้นหนึ่ง[5]

เชิงอรรถ แก้

  1. Oldenburg, Claes, The European desktop (London: IvoryPress ; New York: PaceWildenstein, 2010), 125.
  2. Oldenburg, Claes, Sculpture by the way (Milano : Skira, 2006), 365.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-23. สืบค้นเมื่อ 2022-08-02.
  4. "Public art at Yale – Lipstick (Ascending) on Caterpillar Tracks" เก็บถาวร 2012-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-23. สืบค้นเมื่อ 2022-08-02.

บรรณานุกรม แก้

  • Oldenburg, Claes. The European desktop. London : IvoryPress ; New York : PaceWildenstein, 2010.
  • Shanes, Eric. Pop art. New York : Parkstone, 2009.
  • จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะ ศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552.
  • Oldenburg, Claes. Sculpture by the way. Milano : Skira, 2006.
  • www.bookrags.com/biography/claes-oldenburg/