โรเบิร์ต วิลเลียม แกรี มัวร์ (อังกฤษ: Robert William Gary Moore, 4 เมษายน ค.ศ. 1952 – 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011) [1] หรือ แกรี มัวร์ ​เป็นนักกีตาร์, นักร้องและนักแต่งเพลง ชาวไอร์แลนด์เหนือ มีผลงานทางดนตรีส่วนใหญ่ในแนวเพลงบลูส์ร็อก, เฮฟวีเมทัล, แจ๊สฟิวชัน​ โดยได้รับการยกย่องจากวงการเพลงให้เป็นหนึ่งในมือกีตาร์ที่มีฝีมือระดับอัจฉริยะคนหนึ่งของโลก[2][3][4][5]

แกรี มัวร์
แกรี มัวร์ ในการแสดงสดที่ประเทศสวีเดน​ ปี ค.ศ. 2008
แกรี มัวร์ ในการแสดงสดที่ประเทศสวีเดน​ ปี ค.ศ. 2008
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดRobert William Gary Moore
เกิด4 เมษายน ค.ศ. 1952(1952-04-04)
ที่เกิดกรุงเบลฟาสต์, ไอร์แลนด์เหนือ​, สหราชอาณาจักร
เสียชีวิต6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011(2011-02-06) (58 ปี)
เมืองเอสเตโปนา จังหวัดมาลากา
แคว้นอันดาลูซิอา, ประเทศสเปน
แนวเพลงบลูส์ร็อก, ฮาร์ดร็อก, เฮฟวีเมทัล, บลูส์, แจ๊สฟิวชัน
อาชีพนักดนตรี, นักแต่งเพลง​, โปรดิวเซอร์เพลง
เครื่องดนตรีร้องนำ, กีตาร์, เบส, ฮาร์โมนิกา, คีย์บอร์ด
ช่วงปี1969 – 2011
เว็บไซต์Official website

มัวร์เกิดและเติบโตที่กรุงเบลฟาสต์ประเทศไอร์แลนด์เหนือ​ และได้เข้าร่วมวงดนตรีในกรุงเบลฟาสต์หลายวงในช่วงวัยรุ่น ก่อนจะย้ายไปใช้ชีวิตที่กรุงดับลินสาธารณรัฐไอร์แลนด์​ จากนั้นเขาได้มาเป็นสมาชิกใหม่ของวงสกิดโรว์ ซึ่งเป็นวงดนตรีแนวบลูส์ร็อกชื่อดังของไอร์แลนด์ แทนที่ฟิล ลินอตต์ นักร้องนำคนเก่าที่แยกออกไปก่อตั้งวงทินลิซซี​ ต่อมาเขาได้ออกจากวงสกิดโรว์และได้มาเข้าร่วมวงทินลิซซีของฟิล ลินอตต์ ก่อนที่จะร่วมวงโคลอสเซียมทู วงดนตรีแนวโพรเกรสซิฟแจ๊สร็อก​ หลังจากนั้นเขาได้ออกอัลบั้มเดี่ยวของตนเองหลายชุดโดยมีบทเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักรเช่นเพลง เอาท์ อินเดอะ ฟีลด์ ที่ขึ้นถึงอันดับ 5 (ค.ศ. 1975)​ และเพลง ปารีเซียง วอล์คเวย์ ที่ขึ้นถึงอันดับ 8 (ค.ศ. 1979)​ โดยอัลบั้มที่ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดของเขาคืออัลบั้ม สทิล ก็อท เดอะ บลูส์ ที่ได้รับการรับรองระดับทองคำจากสมาคมผู้ประกอบกิจการเพลงของสหรัฐอเมริกา​ และเพลงสทิล ก็อท เดอะ บลูส์ ในอัลบั้มชุดนี้เป็นซิงเกิลที่สามารถขึ้นถึงอันดับ 97 ในบิลบอร์ดฮอต 100​ของสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1991[6]

นอกจากนี้แกรี มัวร์ ยังเป็นมือกีตาร์ที่ได้ร่วมแสดงสดบนเวทีคอนเสิร์ตร่วมกับศิลปินชื่อดังระดับโลกมากมายเช่น บี.บี. คิง, จอร์จ แฮร์ริสัน​ หรือ อัลเบิร์ต คอลลินส์

ประวัติ แก้

มัวร์เริ่มอาชีพการแสดงดนตรีตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1960 เมื่ออายุเพียง 17 ปี เคยแสดงดนตรีร่วมกับนักดนตรีในระดับตำนานเช่น บี. บี. คิง, อัลเบิร์ต คิง, จอร์จ แฮร์ริสัน มาร์ก นอฟเลอร์ เดวิด กิลมอร์ เขามีผลงานทดลองในแนวทางต่างๆ มากมาย ทั้งดนตรีร็อก แจ๊ส บลูส์ คันทรี อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดร็อก และเฮฟวีเมทัล [7]

ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา คืออัลบัมและซิงเกิล Still Got the Blues ในปี 1990 ผลงานชิ้นนี้ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนท่อนโซโลกีตาร์มาจากผลงานเพลงในปี 1974 ชื่อ Nordrach ของวงดนตรีเยอรมันชื่อ Jud's Gallery [8] มัวร์ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ว่าเขาไม่รู้จักเพลงดังกล่าว ศาลเยอรมันมีคำตัดสินเมื่อปี 2008 ว่ามัวร์อาจไม่ได้จงใจ [9] แต่เนื่องจากทำนองเพลงทั้งสองใกล้เคียงกันมากจึงถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และมัวร์ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับเจอร์เกน วินเทอร์ หัวหน้าวง Jud's Gallery เป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้ระบุ [9]

แกรี มัวร์เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยวัยเพียง 58 ปี ขณะเดินทางไปพักผ่อนในประเทศสเปนกับแฟนสาว สันนิษฐานว่าเนื่องจากอาการหัวใจล้มเหลวจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ [10]

ในประเทศไทย แก้

ในประเทศไทยบทเพลง ปารีเซียง วอล์คเวย์ ได้ถูกวง วีไอพี วงดนตรีแนวฮาร์ดร็อกของประเทศไทย ​นำมาบรรเลงในอัลบั้มบันทึกการแสดงสด​ V.I.P Europa Live 1982 ซึ่งเป็นการแสดงสดที่ประเทศสวีเดน โดยในอัลบั้มบันทึกการแสดงสดดังกล่าว เพลงนี้ถูกใช้ชื่อว่า Night in Bangkok

นอกจากนี้เพลง Empty Rooms ของแกรี มัวร์ ยังเคยถูกแหลม มอริสัน​ นำมาคัฟเวอร์ในอัลบั้ม แหลม มอริสัน On The Rock ซึ่งเป็นอัลบั้มบรรเลงเพลงของศิลปินต่างประเทศ และวงไมโครได้นำเพลงนี้มาบรรเลงและขับร้องฉบับภาษาไทยในชื่อเพลง จำฝังใจ ในอัลบั้มร็อค เล็ก เล็ก ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกของวง โดยเนื้อร้องภาษาไทยแต่งโดยนิติพงษ์ ห่อนาค

อ้างอิง แก้

  1. "R.I.P. Gary Moore (Thin Lizzy) (1952 – 2011)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-11. สืบค้นเมื่อ 2011-02-08.
  2. "Gary Moore, Thin Lizzy guitarist, dies aged 58". BBC News. 6 February 2011. สืบค้นเมื่อ 13 August 2019.
  3. Perrone, Pierre (8 February 2011). "Gary Moore: Virtuoso guitarist who had his biggest hits with Phil Lynott and Thin Lizzy". The Independent. สืบค้นเมื่อ 13 August 2019.
  4. McIlwaine, Eddie (8 February 2011). "Gary Moore: Thin Lizzy guitar virtuoso who blazed a unique trail through rock and roll". Belfast Telegraph. สืบค้นเมื่อ 13 August 2019.
  5. Buskin, Richard. "Gary Moore 'Parisienne Walkways'". Sound on Sound. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-27. สืบค้นเมื่อ 13 August 2019.
  6. "Gary Moore - Chart History". Crapfromthepast.com. สืบค้นเมื่อ 2013-07-26.
  7. Gary-moore.com
  8. http://www.spiegel.de/kultur/musik/0,1518,594279,00.html
  9. 9.0 9.1 Dave Graham. "Ex-Thin Lizzy guitarist loses German plagiarism case". Berlin. Reuters.
  10. Thin Lizzy star Gary Moore died of natural causes. Retrieved 7 Feb 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้