หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย

(เปลี่ยนทางจาก เฮาส์ เอ็ม.ดี.)

หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย (อังกฤษ: House หรือ House M.D.) เป็นละครแพทย์ (medical drama) ทางโทรทัศน์สัญชาติอเมริกันซึ่งเดิมฉายทางเครือข่ายฟ็อกซ์จำนวน 8 ฤดูกาล ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 ถึง 21 พฤษภาคม 2555 ตัวละครหลักของเรื่อง คือ นพ. เกรกอรี เฮาส์ (ฮิว ลอรี) เป็นอัจฉริยะการแพทย์ที่ติดยาแก้ปวด นอกคอกและเกลียดมนุษย์ผู้นำทีมผู้เชี่ยวชาญการวินิจฉัยโรค ณ โรงพยาบาลสอนพรินซ์ตัน–เพลนส์โบโร (Princeton–Plainsboro Teaching Hospital (PPTH)) ซึ่งไม่มีอยู่จริงในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ข้อตั้งของละครกำเนิดกับพอล แอตตานาซิโอ (Paul Attanasio) ฝ่ายเดวิด ชอร์ ซึ่งได้รับความชอบเป็นผู้สร้าง รับผิดชอบแนวคิดของตัวละครอันเป็นชื่อเรื่องเป็นหลัก ผู้ผลิตบริหารของละครมีชอร์, แอตตานาซิโอ, แคที เจคอบส์ (Katie Jacobs) หุ้นส่วนธุรกิจของแอตตานาซิโอ, และผู้กำกับภาพยนตร์ ไบรอัน ซิงเกอร์ ส่วนใหญ่ถ่ายทำในเซนชูรีซิตี

หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย
เป็นที่รู้จักกันในชื่อHouse, M.D.
ประเภท
  • ละครแพทย์
  • ละครตลกเสียดสี
สร้างโดยเดวิด ชอร์
แสดงนำ
ดนตรีแก่นเรื่องเปิด"เทียร์ดรอป" โดยแมสซีฟแอตแทก
ผู้ประพันธ์เพลง
  • เจสัน เดอร์ลัตคา
  • จอน เอร์ลิช
ประเทศแหล่งกำเนิดสหรัฐ
ภาษาต้นฉบับอังกฤษ
จำนวนฤดูกาล8
จำนวนตอน177 (รายชื่อตอน)
การผลิต
ผู้อำนวยการผลิต
  • พอล แอตทานาซีโอ
  • เคที เจคอบส์
  • เดวิด ชอร์
  • ไบรอัน ซิงเกอร์
  • ทอมัส แอล. มอแรน
  • รัสเซล เฟรนด์
  • แกร์เร็ต เลอร์เนอร์
  • เกร็ก ไยตาเนส
  • ฮิว ลอรี
ความยาวตอน42 นาที
บริษัทผู้ผลิต
ออกอากาศ
เครือข่ายฟ็อกซ์
ออกอากาศ16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 (2004-11-16) –
21 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 (2012-05-21)
การแสดงที่เกี่ยวข้อง
เนิส เจ็ฟฟรี

เฮาส์มักขัดแย้งกับแพทย์ด้วยกัน ซึ่งรวมทีมวินิจฉัยของเขาเองด้วย เพราะทฤษฎีของเขาจำนวนมากเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของผู้ป่วยอาศัยวิจารณญาณที่ละเอียดมากหรือซึ่งเป็นข้อโต้เถียง การดูหมิ่นกฎและกระบวนการโรงพยาบาลของเขาทำให้เขาขัดแย้งกับเจ้านายของเขา คือ ผู้บริหารโรงพยาบาลและคณบดีคณะแพทยศาสตร์ พญ. ลีซา คัดดี (ลีซา เอเดลสตีน) บ่อยครั้ง มิตรแท้คนเดียวของเฮาส์ คือ นพ. เจมส์ วิลสัน (โรเบิร์ต ฌอน เลียวนาร์ด) หัวหน้าภาควิชาวิทยามะเร็ง ระหว่างสามฤดูกาลแรก ทีมวินิจฉัยของเฮาส์ประกอบด้วย นพ. โรเบิร์ต เชส (เจสซี สเปนเซอร์), พญ. แอลลิสัน แคเมอรอน (เจนนิเฟอร์ มอร์ริสสัน) และ นพ. เอริก ฟอร์แมน (โอมาร์ เอพส์) ในตอนท้ายฤดูกาลที่สาม ทีมนี้สลายตัว เฮาส์ค่อย ๆ เลือกสมาชิกทีมใหม่สามคน คือ พญ. เรมี "เธอร์ทีน" แฮดลีย์ (โอลิเวีย ไวลด์), นพ. คริส เทาบ์ (ปีเตอร์ จาคอบสัน) และ นพ. ลอเรนซ์ คัตเนอร์ (คาล เพนน์) โดยมีฟอร์แมนกลับเข้าร่วมด้วย คัตเนอร์ปรากฏตัวในตอนท้ายฤดูกาลที่ 5 แล้วมาปรากฏอีกครั้งในฤดูกาลที่ 8 ตอนที่ 22 เชสและแคเมอรอนยังปรากฏในบทบาทต่าง ๆ ในโรงพยาบาลจนต้นฤดูกาลที่ 6 จากนั้น แคเมอรอนออกจากโรงพยาบาล และเชสกลับเข้าทีมวินิจฉัย เธอร์ทีนลาหยุดเป็นส่วนใหญ่ของฤดูกาลที่ 7 และตำแหน่งของเธอถูกแทนด้วยนักศึกษาแพทย์ มาร์ธา เอ็ม. มาสเตอส์ (แอมเบอร์ แทมบลิน) คัดดีและมาสเตอส์ออกก่อนฤดูกาลที่ 8 ฟอร์แมนเป็นคณบดีแพทยศาสตร์คนใหม่ พญ. เจสสิกา แอดัมส์ (โอเด็ด แอนนาเบิล) และ พญ. ชี พาร์ก (ชาร์ลิน ยี) เข้าร่วมทีมของเฮาส์

หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย ติดหนึ่งในสิบรายการเรตติงสูงสุดในสหรัฐตั้งแต่ฤดูกาลที่ 2 จนฤดูกาลที่ 4 หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย เป็นรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลกในปี 2551[1] รายการได้รับรางวัลมากมาย ซึ่งรวมรางวัลเอมมีไพรม์ไทม์ 5 รางวัล ลูกโลกทองคำ 2 รางวัล รางวัลพีบอดี และรางวัลพีเพิลส์ชอยส์ 9 รางวัล วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 ฟ็อกซ์ประกาศว่าฤดูกาลที่ 8 ซึ่งกำลังฉายอยู่ในขณะนั้น จะเป็นฤดูกาลสุดท้าย[2] ตอนสุดท้ายออกอากาศเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 หลังการย้อนหลังนานหนึ่งชั่วโมง

การผลิต แก้

แนวคิด แก้

ในปี 2547 เดวิด ชอร์และพอล แอตตานาซีโอ ร่วมกับหุ้นส่วนธุรกิจของแอตตานาซีโอ เคที เจคอบส์ ส่งซีรีส์ (ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีชื่อ) แก่ฟ็อกซ์โดยเป็นรายการสืบสวนแพทย์แบบซีเอสไอ[3] นวนิยายสอบสวนซึ่งมีท้องเรื่องเป็นโรงพยาบาลโดยมีหมอสืบสวนอาการและสาเหตุ[4] แอตตานาซีโอได้รับบันดาลใจจากละครกระบวนวืธีแพทย์โดยคอลัมน์เดอะนิวยอร์กไทมส์แม็กกาซีน "การวินิจฉัย" เขียนโดยแพทย์ ลีซา แซนเดอส์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเยล-นิวเฮเวน (YNHH) และโรงพยาบาลสอนพรินซ์ตัน-เพลนส์โบโร (PPTH) ได้รูปแบบมาจากสถาบันฝึกสอนแห่งนี้[5] ฟ็อกซ์ซื้อซีรีส์ ผ่านประธานของเครือข่ายขณะนั้น เกล เบอร์แมน บอกกับทีมสร้างสรรค์ว่า "ผมอยากได้รายการแพทย์ แต่ผมไม่อยากเห็นเสื้อกาวน์เดินไปตามโถง"[6] เจคอบส์กล่าวว่า ข้อกำหนดนี้เป็นหนึ่งในหลายเหตุจูงใจที่นำสู่รูปแบบสุดท้ายของรายการ[6]

เรารู้ว่าเครือข่ายกำลังมองหากระบวนวิธี และพอล [แอตตานาซีโอ] มีความคิดแพทย์นี้ขึ้นมาซึ่งเหมือนกับกระบวนวิธีตำรวจ ผู้ต้องสงสัยเป็นเชื้อโรค แต่ผมเริ่มตระหนักอย่างรวดเร็วว่าเราต้องการส่วนตัวละครนั้นด้วย ผมหมายถึง เชื้อโรคไม่มีแรงจูงใจ

—เดวิด ชอร์ให้สัมภาษณ์นิตยสาร ไรเตอส์กิลด์[7]

หลังฟ็อกซ์หยิบรายการขึ้นมา ก็ได้ชื่อลำลองว่า เชสซิงซีบราส์, เซอร์คลิงเดอะเดรน[8] ("ซีบรา" เป็นสแลงแพทย์ หมายถึง การวินิจฉัยไม่ปกติหรือเคลือบคลุม ส่วน "เซอร์คลิงเดอะเดรน" (circling the drain) หมายถึง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่เสื่อมลงอย่างแก้ไขไม่ได้)[9] ข้อเสนอดั้งเดิมของรายการคือ ทีมหมอทำงานร่วมกันเพื่อพยายาม "วินิจฉัยสิ่งที่วินิจฉัยไม่ได้"[10] ชอร์รู้สึกว่าการมีตัวละครกลางที่น่าสนใจเป็นสิ่งสำคัญ คน ๆ หนึ่งผู้สามารถตรวจสอบลักษณะส่วนบุคคลของผู้ป่วยและวินิจฉัยความเจ็บป่วยของพวกเขาได้จากการค้นหาความลับและคำลวง[10] เมื่อชอร์และทีมสร้างสรรค์ที่เหลือวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของตัวละครแล้ว แนวคิดของรายการก็ได้ลดขั้นตอนลงและมุ่งสนใจบทบาทนำมากขึ้น[11] ตัวละครนั้นได้ชื่อว่า "เฮาส์" ซึ่งรับมาเป็นชื่อรายการเช่นเดียวกัน[8] ชอร์พัฒนาตัวละครอีกและเขียนบทสำหรับตอนนำร่อง[3] ไบรอัน ซิงเกอร์ ผู้กำกับตอนแรกและมีบทบาทสำคัญในการแคสบทหลัก กล่าวว่า "ชื่อตอนแรกคือ "ทุกคนโกหก" และนั่นเป็นข้อตั้งของรายการ"[11] ชอร์กล่าวว่า เส้นเรื่องสำคัญสำหรับตอนต้น ๆ อิงมาจากงานของเบอร์ตัน รูเช นักเขียนประจำของ เดอะนิวยอร์กเกอร์ ระหว่างปี 2487 ถึง 2537 ซึ่งเชี่ยวชาญพิเศษเรื่องลักษณะเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ผิดปกติ[4]

ชอร์ร่างแนวคิดตัวละครที่ใช้ชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง ไปถึงประสบการณ์ครั้งเป็นผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลฝึกสอนแห่งหนึ่ง[12] ชอร์เล่าให้ฟังว่า "ผมรู้ ทันทีที่ผมออกจากห้อง พวกเขาต่างเยาะเย้ยผมอย่างไม่หยุดหย่อน [เพราะความไม่รู้เดียงสาของผม] และผมคิดว่าคงน่าสนใจที่จะเห็นตัวละครที่ทำอย่างนั้นจริง ๆ ก่อนพวกเขาออกจากห้อง"[13] จุดเริ่มต้นสำคัญ คือ ตัวละครหลักจะไร้ความสามารถในทางใดทางหนึ่ง[14] ความคิดเดิมคือให้เฮาส์ใช้วีลแชร์ แต่ฟ็อกซ์ปฏิเสธความคิดนี้ ภายหลังเจคอบส์แสดงความขอบคุณที่สถานียืนกรานว่าให้คิดตัวละครใหม่ การทำให้เขายืนได้นั้นเพิ่มมิติทางกายภาพที่สำคัญ[11] สุดท้ายผู้เขียนเลือกให้เฮาส์ได้รับบาดเจ็บที่ขาอันเกิดจากคำวินิจฉัยที่ผิดพลาด ซึ่งทำให้เขาต้องใช้ไม้เท้าและทำให้มีความเจ็บปวดจนนำไปสู่การติดยาเสพติด[14]

การอ้างอิงเชอร์ล็อก โฮมส์ แก้

 
เชอร์ล็อก โฮมส์เป็นแรงบันดาลใจของซีรีส์

การอ้างอิงข้อเท็จจริงที่ว่าเกรกอรี เฮาส์ยึดนักสืบบันเทิงคดีที่มีชื่อเสียง เชอร์ล็อก โฮมส์ ที่สร้างโดย เซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ ปรากฏตลอดซีรีส์[15][16] ชอร์อธิบายว่าเขาเป็นแฟนของโฮมส์เสมอมาและพบว่าการไม่รู้สึกยินดียินร้ายต่อลูกค้าของเขาเป็นเอกลักษณ์[13] ข้อเหมือนนี้ชัดเจนในการอาศัยการให้เหตุผลแบบนิรนัย[15] และจิตวิทยาของเฮาส์ แม้อาจดูเหมือนไม่สามารถใช้ได้อย่างชัดเจน และความไม่เต็มใจรับผู้ป่วยที่เขาเห็นว่าไม่น่าสนใจ[17] วิธีการสืบสวนของเขาคือการขจัดคำวินิจฉัยด้วยตรรกะเมื่อได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นไปไม่ได้ ซึ่งโฮมส์ก็ใช้วิธีการคล้ายกัน[8] ตัวละครทั้งสองเล่นเครื่องดนตรี (เฮาส์เล่นเปียโน กีตาร์ และฮาร์โมนิกา ส่วนโฮมส์เล่นไวโอลิน) และติดยาเสพติด (เฮาส์ติดไวโคดิน โฮมส์ใช้โคเคนเพื่อนันทนาการ)[15] ความสัมพันธ์ของเฮาส์กับ นพ. เจมส์ วิลสันสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างโฮมส์กับเพื่อนคู่ใจของเขา นพ. จอห์น วอตสัน[8] โรเบิร์ต ฌอน ลีโอนาร์ดผู้รับบทวิลสัน กล่าวว่าเฮาส์และตัวละครของเขา ซึ่งมีชื่อคล้ายกับวัตสัน ว่าเดิมตั้งใจให้ทำงานร่วมกันแบบโฮมส์กับวัตสัน ในทัศนะของเขา ทีมวินิจฉัยของเฮาส์รับแง่มุมของบทบาทวัตสัน[18] วิลสันยังมีน้องชายสิ้นเนื้อประดาตัวที่อาจเสียชีวิตไปแล้ว คล้ายกับน้องชายติดเหล้าของวัตสัน (ฤดูกาลที่ 1 ตอนที่ 10) ชอร์กล่าวว่าชื่อของโฮมส์เองตั้งใจให้เป็น "การคารวะเป็นนัย" ต่อโฮมส์[8][19] ที่อยู่ของเฮาส์ คือ 221บี ถนนเบเกอร์ ซึ่งเป็นการอ้างอิงโดยตรงถึงที่อยู่ของโฮมส์[9] ส่วนที่อยู่ของวิลสันก็เป็น 221บีเช่นกัน[20]

แต่ละตอนของซีรีส์ก็มีการอ้างอิงถึงนิยายเชอร์ล็อก โฮมส์เพิ่ม ผู้ป่วยหลักในตอนแรกชื่อรีเบกกา แอดเลอร์ ตามไอรีน แอดเลอร์ ตัวละครในเรื่องสั้นโฮมส์เรื่องแรก "อะสแกนดัลอินโบฮีเมีย"[21] ในตอนสุดท้ายของฤดูกาลที่ 2 โฮมส์ถูกมือปืนเสียสติยิงโดยมีชื่อว่า "มอริอาตี" ซึ่งเป็นชื่อของศัตรูฉกาจของโฮมส์[22] ในตอน "อิตส์อะวันเดอร์ฟูลไลฟ์" ในฤดูกาลที่ 4 โฮมส์ได้รับ "โคนัน ดอยล์ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง" เป็นของขวัญคริสต์มาส[23] ในตอน "ดิอิตช์" ในฤดูกาลที่ 5 มีฉากโฮมส์เก็บกุญแจและไวโคดินจากบนหนังสือ เชอร์ล็อก โฮมส์ ชุด จดหมายเหตุ ของโคนัน ดอยล์[24] ในตอน "จอยทูเดอะเวิลด์" ในฤดูกาลที่ 5 เช่นกัน เฮาส์ใช้หนังสือของโจเซฟ เบล แรงบันดาลใจสำหรับเชอร์ล็อก โฮมส์ของโคนัน ดอยล์ เพื่อพยายามหลอกทีมของเขา[8] หนังสือเล่มนี้ ผู้ให้คือวิลสันที่ให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาสที่แล้ว ซึ่งมีสารว่า "เกรก ทำให้ฉันคิดถึงคุณ" ก่อนยอมรับว่าเขามอบหนังสือให้เฮาส์ วิลสันบอกสมาชิกทีมเขาสองคนว่ามาจากคนไข้ที่ชื่อ ไอรีน แอดเลอร์[25] ตอนสุดท้ายของซีรีส์แสดงความคารวะต่อการจัดฉากเสียชีวิตของโฮมส์ใน "ปัญหาสุดท้าย" นิยายปี 2436 ซึ่งโคนัน ดอยล์เดิมตั้งใจปิดฉากบันทึกเหตุการณ์โฮมส์[26]

ทีมผลิต แก้

 
ไบรอัน ซิงเกอร์กำกับตอนนำร่องและตอน "อ็อกคัมส์เรเซอร์" ในฤดูกาลที่ 3[27]

หมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายเป็นผลงานผลิตร่วมกันของฮีลแอนด์โทฟิมส์ ชอร์ซีโพรดักชันส์ และแบดแฮตแฮร์รีโพรดักชันส์โดยความร่วมมือกับยูนิเวอร์แซลมีเดียสตูดิโอส์ของเครือข่ายฟ็อกซ์[28] พอล แอตตานาซิโอและเคที เจคอบส์ ประธานของฮีลแอนด์โทฟิลมส์; เดวิด ชอร์ ประธานชอร์ซีโพรดักชันส์ และไบรอัน ซิงเกอร์ ประธานแบดแฮตโพรดักชันส์ เป็นผู้ผลิตบริหารในทุกตอนของรายการ[12] ลอว์เรนซ์ แคพโลว์, ปีเตอร์ เบลกและทอมัส แอล. มอแรนร่วมเป็นผู้เขียนเมื่อเริ่มฤดูกาลที่ 1 หลังผลิตตอนแรก ผู้เขียน ดอริส อีแกน, ซารา เฮส, รัสเซล เฟรนด์และแกร์เร็ต เลอร์เนอร์เข้าร่วมทีมเมื่อเริ่มฤดูกาลที่ 2 เฟรนด์และเลอร์เนอร์ผู้เป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ได้รับเสนอตำแหน่งเมื่อเปิดซีรีส์ แต่เมื่อรายการประสบความสำเร็จก็ปฏิเสธไป ทั้งสองตอบรับเมื่อเจคอบส์เสนองานแก่พวกเขาอีกในปีถัดมา[29] ผู้เขียน เอลี แอตไทและฌอน ไวต์เซลเข้าร่วมรายการเมื่อเริ่มฤดูกาลที่ 4 นับแต่เริ่มฤดูกาลที่ 4 มอแรน เฟรนด์และเลอร์เนอร์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสร้างของซีรีส์ ร่วมกับแอตตานาซิโอ เจคอบส์ ชอร์และซิงเกอร์[28] ฮิว ลอรีได้รับตำแหน่งเป็นผู้ผลิตบริหารสำหรับตอนที่สอง[30]และสาม[31] ของฤดูกาลที่ 5

ชอร์เป็นโชว์รันเนอร์ของหมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย[32] เมื่อจบฤดูกาลที่ 6 ก็มีผู้เขียนกว่าสองโหลมีส่วนร่วมในรายการ ผู้เขียนที่มีชื่อเสียงที่สุด ได้แก่ แคปโลว์ (18 ตอน) เบลก (17) ชอร์ (16) เลอร์เนอร์ (16) มอแรน (14) และอีแกน (13) ผู้กำกับที่มีชื่อเสียงที่สุดของรายการในหกฤดูกาลแรก คือ ดีแรน ซาราเฟียน (22 ตอน) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องในฤดูกาลที่ 6 และเกรก ไยเทเนส (17) จากผู้กำกับอีกกว่าสามโหลที่ทำงานในรายการ มีเพียงเดวิด สเตรตันที่ได้กำกับมากถึง 10 ตอนจนถึงฤดูกาลที่ 6 ฮิว ลอรีกำกับตอนที่ 17 ของฤดูกาลที่ 6 "ล็อกดาวน์"[33] อีแลน ซอลส์เป็นผู้ควบคุมดูแลวิชวลเอฟเฟ็กส์ตั้งแต่เริ่มรายการ[34] ลีซา แซนเดอส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกแพทยศาสตร์ ณ วิทยาลัยแพทยศาสตร์เยล เป็นที่ปรึกษาเทคนิคของรายการ เธอเขียนคอลัมน์ "ไดแอกโนซิส" (การวินิจฉัย) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจแก่ข้อตั้งของหมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย[35] ชอร์กล่าวว่า "หมอสามคน... ตรวจสอบทุกอย่างที่เราทำ"[36] บ็อบบิน เบิร์กสตอร์ม พยาบาลวิชาชีพ เป็นที่ปรึกษาการแพทย์ในระหว่างการถ่ายทำ[36]

การคัดนักแสดง แก้

 
ฮิว ลอรีทำเทปออดิชันระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศนามิเบีย

ทีแรกผู้ผลิตกำลังมองหา "บุคคลอเมริกันตามแบบ" เพื่อรับบทเฮาส์[37] โดยเฉพาะอย่างยิ่งไบรอัน ซิงเกอร์รู้สึกว่าไม่มีทางที่เขาจะว่าจ้างนักแสดงสัญชาติอื่นมารับบทนี้[10] ในเวลาช่วงคัดเลือกนักแสดง ฮิว ลอรีกำลังอยู่ในประเทศนามิเบียถ่ายทำภาพยนตร์ ไฟลต์ออฟเดอะฟีนิกซ์ เขารวบรวมเทปออดิชันในห้องน้ำโรงแรมซึ่งเป็นที่เดียวที่มีแสงเพียงพอ[37] และขอโทษเรื่องภาพที่เห็นในวิดีทัศน์[38] (ซึ่งซิงเกอร์เปรียบกับ"วิดีทัศน์บิน ลาดิน")[39] ลอรีด้นสดการแสดง โดยใช้ร่มแทนไม้เท้า ซิงเกอร์รู้สึกประทับใจมากกับการแสดงของเขาและออกความเห็นว่า "นักแสดงอเมริกัน" คนนี้สามารถเข้าถึงตัวละครได้ดีเพียงใด[10][40] ซิงเกอร์ไม่ทราบว่าลอรีเป็นชาวอังกฤษเนื่องจากสำเนียงอเมริกันที่น่าเชื่อของเขา ลอรียกว่าสำเนียงของเขามาจาก "วัยเยาว์ที่ใช้เวลาดูทีวีและภาพยนตร์มากเกินไป"[37] แม้นักแสดงชาวอเมริกันที่เป็นที่รู้จักอย่างเดนิส เลียรี, เดวิด ครอส, ร็อบ มอร์โรว์และแพทริก เด็มป์เซย์ที่ได้รับพิจารณาบท แต่ชอร์ เจคอบส์และแอตตานาซีโอรวมถึงซิงเกอร์ รู้สึกประทับใจเช่นเดียวกับซิงเกอร์ ให้ลอรีรับบทเฮาส์[41]

มันไม่เป็นการตัดสินใจใหญ่นักเมื่อผมพิจารณา [เล่น หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย] ทีแรก สิ่งที่เกิดตามปกติคือคุณเล่นตอนนำร่อง และในบรรดาน้อยเรื่องที่หยิบขึ้นมา มีเพียงประมาณหนึ่งในสี่ที่ไปต่อปีที่สอง ฉะนั้นผมคิดว่าผมจะมีสัปดาห์สนุกสามสัปดาห์ ผมไม่เคยฝันว่าจะอยู่ที่นี่อีกสามปีครึ่งต่อมา

ฮิว ลอรี[42]

ภายหลังลอรีเปิดเผยว่าเดิมเขาคิดว่าตัวละครศูนย์กลางของรายการคือ นพ. เจมส์ วิลสัน เขาสันนิษฐานว่าเฮาส์เป็นแค่บทรอง เนื่องจากสภาพของตัวละคร จนกระทั่งเขาได้รับบทเต็มของตอนนำร่อง[43] ลอรี บุตรของแพทย์ แรน ลอรี กล่าวว่าเขารู้สึกผิดที่ "ได้ค่าจ้างมากกว่าเพื่อเป็นฉบับปลอมของบิดา[เขา]เอง"[37] ตั้งแต่เริ่มฤดูกาลที่ 3 เขาได้ค่าจ้าง 275,000–300,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตอน ซึ่งเป็นสามเท่าของรายได้ที่เขาเคยได้ในซีรีส์ก่อนหน้านี้[44][45] เมื่อถึงฤดูกาลที่ 5 ลอรีได้เงินประมาณ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตอน ทำให้เขาเป็นนักแสดงที่ได้ค่าจ้างสูงสุดคนหนึ่งในแวดวงโทรทัศน์[46]

โรเบิร์ต ฌอน เลียวนาร์ดได้รับบทละครในรายการ นัมเบอส์ ทางซีบีเอส เช่นเดียวกับบทละครเรื่อง หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย[47] เลียวนาร์ดเชื่อว่าบท นัมเบอส์ "ค่อนข้างเจ๋ง" และวางแผนออดิชันรายการ[47] ทว่า เขาตัดสินใจว่าตัวละครที่เขาจะไปคัดตัว ชาร์ลี เอพส์ ปรากฏในหลายฉากมากเกินไป ต่อมาเขาสังเกตว่า "ยิ่งฉันทำงานน้อยเท่าใด ฉันยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น"[47] เขาเชื่อว่าออดิชันหมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย ไม่ได้ดีมากนัก แต่มิตรภาพยาวนานของเขากับซิงเกอร์ช่วยให้เขาได้รับบท นพ. วิลสัน[47] ซิงเกอร์ชอบการแสดงเป็นโสเภณีของลีซา เอเดลสตีนจากเรื่อง เดอะเวสต์วิง และส่งสำเนาบทตอนนำร่องให้เธอ[48] เอเดลสตีนได้รับดึงดูดจากคุณภาพของงานเขียน และ "บทสนทนาคล่องแคล่ว" ของตัวละครเธอกับเฮาส์ และได้รับคัดเลือกให้แสดงเป็น พญ. ลีซา คัดดี[48]

ตัวแทนของเจสซี สเปนเซอร์ นักแสดงชาวออสเตรเลีย เสนอให้เขาออดิชันบท นพ. โรเบิร์ต เชส สเปนเซอร์เชื่อว่ารายการจะมีลีลาคล้ายกับ เจเนอรัลฮอสปิทัล แต่เปลี่ยนใจหลังเขาได้อ่านบท[49] หลังเขาได้รับคัดตัว เขาชักจูงผู้ผลิตให้เปลี่ยนตัวละครให้เป็นชาวออสเตรเลีย[50] แพทริก เดมป์เซย์ก็ออดิชันในบทเชสเช่นกัน ต่อมาเขาได้ชื่อในการแสดงเป็น นพ. เดเร็ก เชพเพิร์ตในเรื่อง แพทย์มือใหม่ หัวใจเกินร้อย (Grey's Anatomy)[51] โอมาร์ เอพส์ ซึ่งรับบท นพ. อีริก ฟอร์แมน ได้รับแรงบันดาลใจจากการแสดงในบทก่อนหน้านี้ กับบทแพทย์จบใหม่ที่ตกอยู่ในปัญหา ในละครแพทย์ช่องเอ็นบีซี อีอาร์[52] เจนนิเฟอร์ มอร์ริสสันรู้สึกว่าออดิชันของเธอในบท พญ. แอลิสัน แคมเมอรอนพังพินาศโดยสิ้นเชิง[53] ทว่า ก่อนเธอออดิชัน ซิงเกอร์ดูการแสดงของเธอมาบ้างแล้ว รวมทั้ง ดอว์สันส์ครีก และต้องการคัดตัวเธอรับบท[53] มอร์ริสสันออกจากรายการเมื่อตัวละครเธอถูกตัดออกกลางฤดูกาลที่ 6[54]

เมื่อจบฤดูกาลที่ 3 เฮาส์ปลดเชส ส่วนฟอร์แมนและแคเมอรอนลาออก[55] หลังตอนที่เขา "ยืม" ภารโรงซึ่งเขาเรียก "นพ. บัฟเฟอร์" เพื่อช่วยวินิจฉัย จากนั้นเขาต้องรับสมัครทีมวินิจฉัยใหม่ ซึ่งเขาระบุตัวผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเจ็ดคน ผู้ผลิตเดิมวางแผนนักแสดงเต็มเวลาใหม่สองคน โดยมีฟอร์แมนซึ่งกลับมาในตอนที่ 5 ของฤดูกาลที่ 4 ทำให้ทีมกลับมามีสมาชิกสามคนอีกครั้ง สุดท้ายมีการตัดสินใจเพิ่มสมาชิกนักแสดงประจำใหม่สามคน[56] (เช่นเดียวกับเอพส์ นักแสดงมอร์ริสสันและสเปนเซอร์ยังอยู่ในชื่อนักแสดง เพราะตัวละครเปลี่ยนไปอยู่ในตำแหน่งใหม่) ระหว่างการผลิต ผู้เขียนของรายการปลดผู้สมัครคนหนึ่งต่อตอน ผลคือ เจคอบส์ว่า ไม่มีผู้ใดทั้งผู้ผลิตและนักแสดงทราบว่าใครจะได้รับจ้างจนนาทีสุดท้าย[57] ในตอนที่ 9 ของฤดูกาลนั้น มีการเปิดเผยทีมใหม่ของเฮาส์ แพทย์ลอว์เรนซ์ คัตเนอร์ (คัล เพนน์)[58] คริสต์ เทาบ์ (ปีเตอร์ จาคอบสัน)[59] และเรมี "เธอร์ทีน" แฮดลีย์ (โอลิเวีย ไวลด์)[60] เข้าร่วมฟอร์แมน ผู้สมัครที่เฮาส์ปฏิเสธไม่ได้กลับมารายการอีก โดยยกเว้นผู้ถูกคัดออกคนสุดท้าย แอมเบอร์ โวลาคิส (แอน ดูเด็ก) ซึ่งปรากฏในส่วนที่เหลือของฤดูกาลที่ 4 เป็นแฟนสาวของวิลสัน[61] และในฤดูกาลที่ 5 และ 8 โดยเป็นภาพหลอนของเฮาส์[62] แม้เพนน์และไวลด์มีประวัติงานที่ดีกว่านักแสดงที่รับบทผู้เข้ารอบสุดท้ายคนอื่น เจคอบส์กล่าวว่าพวกเขาผ่านกระบวนการออดิชันเดียวกันและยังอยู่ในรายการโดยยึดตามความสนใจของผู้เขียนในตัวละครของพวกเขา[57] คัตเนอร์ถูกตัดออกจากซีรีส์ในตอนที่ 20 ของฤดูกาลที่ 5 หลังเพนน์รับตำแหน่งในสำนักงานประชาสัมพันธ์และกิจการระหว่างรัฐบาลของทำเนียบขาวสมัยโอบามา[63]

สัญญาของเอเดลไสตน์ เอพพ์และเลียวนาร์ดหมดอายุเมื่อสิ้นฤดูกาลที่ 7 นักแสดงทั้งสามได้รับคำขอให้ยอมรับค่าจ้างลดลงเพื่อเป็นมาตรการตัดราคา เอพส์และเลียวนาร์ดตกลงกับผู้ผลิตได้ แต่เอเดลสตีนตกลงไม่ได้ และในเดือนพฤษภาคม 2554 มีประกาศว่าเอเดลสตีนจะไม่กลับมาในฤดูลที่ 8 ของรายการ[64]

ลีลาและสถานที่ถ่ายทำ แก้

 
ศูนย์วิทยาเขตฟริสต์เป็นที่มาของมุมมองทางอากาศของ PPTH

หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย มักถ่ายทำโดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพยนตร์ "เดินคุย"[6][17] ซึ่งได้รับความนิยมทางโทรทัศน์จากเรื่อง เซนต์เอลส์แวร์, อีอาร์, สปอตส์ไนต์, และเดอะเวสต์วิง[65] เทคนิคดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้ภาพถ่ายติดตาม แสดงตัวละครตั้งแต่สองตัวขึ้นไปเดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งขณะพูดไปด้วย[65] ผู้ผลิตบริหาร เคที เจคอบส์กล่าวว่าบ่อยครั้งรายการใช้เทคนิคนี้เพราะ "เมื่อคุณนำฉากให้เคลื่อนที่ มันเป็น ... การสร้างความเร่งด่วนและความเข้มข้นอย่างหนึ่ง"[6] เธอยังสังเกตความสำคัญของ "ข้อเท็จจริงว่าฮิว ลอรีสูง 6 ฟุต 2 นิ้ว และสูงกว่าคนอื่นทุกคนเพราะมันทำให้การเดินคุยเหล่านี้เป็นที่นิยมแน่นอน"[6] แนนซี แฟรงกลินจากเดอะนิวยอร์กเกอร์ อธิบาย "เอ็ฟเฟ็กซ์พิเศษของอวัยวะภายในผู้ป่วยเหมือนแฟนแทสติกวอยัจ ที่เจ๋ง" ของรายการ "ฉันพนันว่าคุณไม่รู้ว่าเมื่อไตคุณหยุดทำงาน เสียงจะเหมือนกับหีบห่อฟองแตก"[66] นักวิจารณ์อีกคนหนึ่งสังเกตว่า "กล้องและเอ็ฟเฟ็กต์พิเศษไม่เพียงเดินทางลงคอเท่านั้น แต่ยังขึ้นจมูกและเข้าไปในสมองและขาด้วย"[67] แทนที่จะยึดภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์เป็นหลัก แต่ภาพถ่ายร่างกายภายในมักเกี่ยวข้องกับผลจุลจิตรกรรม (miniature effect) และภาพถ่ายการควบคุมการเคลื่อนที่[34] ฉากจำนวนมากตกแต่งโดยอุปกรณ์ประกอบแบบไม่มีในบทซึ่งให้ลอรีสามารถด้นสดได้ ซึ่งเปิดเผยแง่มุมของตัวละครเขาและเรื่องราวด้วย[6]

ตอนนำร่องถ่ายทำในแวนคูเวอร์ การถ่ายทำส่วนใหญ่ในตอนต่อ ๆ มา ทุกตอน ถ่ายทำในพื้นที่ของฟ็อกซ์ในเซ็นจูรีซิตี ลอสแอนเจลิส[36] ไบรอัน ซิงเกอร์เลือกโรงพยาบาลใกล้เมืองเกิดของเขา เวสต์วินเซอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ เป็นฉากท้องเรื่องแต่งของรายการ[12] ศูนย์วิทยาเขตฟริสต์ของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเป็นที่มาของมุมมองทางอากาศของโรงพยาบาลสอนพรินซ์ตัน–เพลนส์โบโรที่เห็นในซีรีส์[68] การถ่ายทำบางส่วนเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย อย่างตอน "ฮาล์ฟวิต" ในฤดูกาลที่ 3 ซึ่งมีเดฟ แม็ตธิวส์และเคิร์ตวูด สมิธเป็นนักแสดงรับเชิญ[69] ฤดูกาลที่ 6 ของหมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายบางส่วนถ่ายทำ ณ โรงพยาบาลจิตเวชเกรย์สโตนพาร์ก ในพาร์ซิปพานี-ทรอยฮิลส์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ เป็นโรงพยาบาลจิตเวชเมย์ฟีลด์ซึ่งไม่มีอยู่จริง[70]

ลำดับเปิด แก้

ลำดับเปิดเริ่มด้วยภาพเอ็มอาร์ไอศีรษะและภาพพยัญชนะ "เอช" (H) ในกล่องสี่เหลี่ยมจากตราสัญลักษณ์ของเรื่อง (สัญลักษณ์ระหว่างประเทศสำหรับโรงพยาบาล) ในพื้นหน้า จากนั้นภาพดังกล่าวซ้อนทับด้วยภาพหน้าของ นพ. เฮาส์ที่ถ่ายจากตอนนำร่องพร้อมกับชื่อเรื่องเต็มของรายการปรากฏบนหน้าเขา จากนั้นศีรษะของเฮาส์จางไปและมีการขีดเส้นใต้ชื่อเรื่องของรายการและมี "เอ็ม.ดี." ปรากฏถัดจากนั้น เกิดเป็นตราสัญลักษณ์ทั้งหมดของรายการ นี่เป็นขอบเขตทั้งหมดของลำดับเรื่องในตอนนำร่อง[71] ตอนถัดมาทั้งหมดมีลำดับนานกว่านั้นซึ่งรวมชื่อของสมาชิกนักแสดงคัดสรรหกคนและผู้สร้าง เดวิด ชอร์ ชื่อลอรีปรากฏเป็นลำดับแรก ตามด้วยชื่อของสมาชิกนักแสดงคัดสรรอีกห้าคนตามลำดับพยัญชนะ (เอเดลสตีน เอพส์ เลียวนาร์ด มอร์ริสสันและสเปนเซอร์) แล้วจึงเป็นชอร์[72]

หลังชื่อเรื่องของรายการจางไป มุมมองทางอากาศของ PPTH (ซึ่งที่จริงเป็นบรรดาอาคารต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และศูนย์วิทยาเขตฟริสต์เป็นหลัก)[68] ตามด้วยชุดภาพที่มีชื่อสมาชิกแต่ละคน ซึ่งส่วนใหญ่แสดงถัดจากหรือซ้อนทับภาพกายวิภาคของมนุษย์ ชื่อของลอรีปรากฏถัดจากแบบจำลองศีรษะมนุษย์ที่เปิดให้เห็นสมอง ชื่อของเอเดลสตีนปรากฏถัดจากกราฟิกส์ที่ผลิตจากวิชวลเอ็ฟเฟ็กต์ของภาพรังสีหลอดเลือดของหัวใจ ชื่อของเอพส์ซ้อนทับบนภาพถ่ายรังสีเอ็กซ์ของกรงซี่โครง ชื่อของเลียวนาร์ดปรากฏบนภาพวดสมองสองซีก[72] ผู้ผลิตเดิมต้องการใส่ภาพไม้ท้าและภาพขวดไวโคดิน แต่ฟ็อกซ์คัดค้าน การ์ดชื่อเรื่องของมอร์ริสสันจึงไม่มีภาพดังกล่าว สุดท้ายตกลงกันได้ว่าจะใช้ภาพถ่ายของนักพายเรือ ณ ทะเลสาบคาร์เนกีของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันประกอบชื่อเธอ[73] ชื่อของสเปนเซอร์ปรากฏถัดจากภาพกายวิภาคสมัยเก่าของกระดูกสันหลัง ระหว่างการเสนอชื่อสเปนเซอร์และชอร์เป็นฉากเฮาส์และสมาชิกทีมดั้งเดิมสามคนของเขาเดินตามโถงของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง[72] เจคอบส์กล่าวว่าพื้นหลังส่วนใหญ่ไม่มีความหมายพิเศษ อย่างไรก็ตาม ภาพสุดท้ายซึ่งเป็นข้อความ "สร้างโดย เดวิด ชอร์" ซ้อนทับบนคอมนุษย์ ส่อความว่าชอร์เป็น "มันสมองของรายการ"[73] ลำดับดังกล่าวได้รับเสนอชื่อรับรางวัลเอ็มมีไพรม์ไทม์สำหรับการออกแบบชื่อเรื่องหลักในปี 2548[74] ลำดับเรื่องยังให้ความชอบแก่สเปนเซอร์และมอร์ริสสันแม้ตัวละครของทั้งสองถูกลดลงเป็นบทพื้นหลังระหว่างฤดูกาลที่ 4 และ 5 และแม้กระทั่งตัวละครของมอร์ริสสันถูกตัดออกไปแล้ว มีการใช้ลำดับเปิดใหม่ในฤดูกาลที่ 7 เพื่อปรับให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนตัวนัดแสดง โดยถอดชื่อมอร์ริสสันและใส่ชื่อจาคอบสันและไวลด์ มีการปรับในฤดูกาลที่ 8 เพื่อถอดชื่อเอเดลสตีนและใส่ชื่อแอนนาเบิลและยี[75][76]

ดนตรีเปิดเดิมของซีรีส์ดังที่เปิดในสหรัฐ ประกอบด้วยส่วนไม่มีคำร้องของ "เทียร์ดรอป" โดยแมสซีฟแอตแทก[77] เหตุผลบางส่วนที่ใช้เพลงนี้เพราะจังหวะเฉพาะตัวซึ่งคล้ายเสียงหัวใจมนุษย์เต้น[78] ฉบับอะคูสติกของ "เทียร์ดรอป" ที่โฮเซ กอนซาเลสให้เสียงร้องและเล่นกีตาร์ ได้ยินเป็นดนตรีพื้นหลังระหว่างตอนสุดท้ายของฤดูกาลที่ 4[79]

ภาพรวมของเรื่อง แก้

ทุกครั้งที่คุณพยายามสรุปรายการหนึ่งในคำคำเดียว คุณฟังดูเหมือนคนโง่ มันเกี่ยวกับความจริง

—เดวิด ชอร์[80]

เกรกอรี เฮาส์ พ.บ. ผู้ซึ่งมักได้รับบอกเล่าว่าเป็นอัจฉริยะการแพทย์ผู้ชังมนุษย์ หัวหน้าทีมแพทย์ผู้วินิจฉัยที่โรงพยาบาลสอนพรินซ์ตัน-เพลนส์โบโรในรัฐนิวเจอร์ซีย์[71] ตอนส่วนใหญ่มุ่งไปการวินิจฉัยผู้ป่วยหลักและการเริ่มฉากก่อนเครดิต (precredits scene) ซึ่งมีฉากท้องเรื่องนอกโรงพยาบาล แสดงเหตุการณ์ซึ่งจบด้วยการเริ่มต้นอาการของผู้ป่วย[17] ตอนหนึ่ง ๆ ติดตามทีมในความพยายามวินิจฉัยการรักษาการเจ็บป่วยของผู้ป่วย[77][81] ซึ่งมักล้มเหลวจนผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤต[77] พวกเขามักรักษาเฉพาะผู้ป่วยที่แพทย์คนอื่นยังไม่วินิจฉัยอย่างแม่นยำ[68] และเฮาส์จะปฏิเสธผู้ป่วยที่เขาไม่เห็นว่าน่าสนใจเป็นประจำ[17] เค้าโครงมีแนวโน้มมุ่งสนใจทฤษฎีการแพทย์และเวชปฏิบัติที่ไม่ธรรมดาของเขา และปฏิกิริยาของตัวละครอื่นต่อความคิดของเฮาส์ มากกว่ารายละเอียดการรักษา[3]

ทีมใช้วิธีการวินิจฉัยแยกโรค[81] โดยแสดงรายการสมุฏฐาน (สาเหตุ) ที่เป็นไปได้บนกระดาน แล้วตัดสมุฏฐานส่วนใหญ่ออก ซึ่งโดยปกติเป็นเพราะสมาชิกคนหนึ่งของทีม (เป็นเฮาส์มากที่สุด) ให้เหตุผลเชิงตรรกะในการตัดสมุฏฐานนั้น[82] ผู้ป่วยมักได้รับวินิจฉัยผิดอย่างน้อยหนึ่งครั้งและได้รับการรักษาตามนั้นซึ่งอย่างดีก็ไม่มีประโยชน์[81] แต่โดยปกติทำให้มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยธรรมชาติของภาวะแทรกซ้อนมักให้หลักฐานใหม่อันทรงคุณค่า สุดท้ายภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ช่วยให้ทีมวินิจฉัยผู้ป่วยได้ถูกต้อง[17] เฮาส์มักวินิจฉัยผู้ป่วยได้ถูกต้องเมื่อโดยมิได้คาดหมาย ซึ่งมักได้บันดาลใจจากข้อคิดเห็นที่ผ่านมาของตัวละครอื่น[81] การวินิจฉัยมีตั้งแต่โรคที่ค่อนข้างทั่วไปจนถึงโรคหายากมาก[83]

ทีมประสบความยากลำบากในการวินิจฉัยมากมายตั้งแต่การปกปิดอาการของผู้ป่วย พฤติการณ์ หรือประวัติส่วนบุคคล ฉะนั้นเฮาส์จึงมักประกาศระหว่างการใคร่ครวญของทีมว่า "ผู้ป่วยกำลังโกหก" หรือพึมพำว่า "ทุกคนโกหก" สมมุติฐานดังกล่าวชี้นำการตัดสินใจและการวินิจฉัยของเฮาส์[9] และตอบโต้ด้วยการเข้าไปในบ้านของผู้ป่วยจนเป็นกิจวัตร เนื่องจากข้อสันนิษฐานของเขาอยู่บนการนึก (epiphany) หรือวิจารณญาณที่เป็นข้อโต้เถียง ทำให้เขามักมีปัญหาในการได้คำอนุญาตสำหรับหัตถการทางการแพทย์ที่เขาถือว่าจำเป็นจากผู้บังคับบัญชาของเขา ซึ่งในทุกฤดูกาลยกเว้นฤดูกาลสุดท้าย คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พญ. ลีซา คัดดี[84] โดยเฉพะกรณีที่หัตถการที่เสนอนั้นมีความเสี่ยงสูงหรือมีความไม่แน่นอนทางจริยธรรม เกิดความไม่ลงรอยบ่อยครั้งระหว่างเฮาส์และทีมของเขา[85] โดยเฉพาะ พญ. แอลลิสัน แคเมอรอน ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมการแพทย์ของเธอเป็นแบบอนุรักษนิยมมากกว่ามาตรฐานของตัวละครอื่น[77]

เช่นเดียวกับแพทย์ทุกคนของโรงพยาบาล เฮาส์ต้องรักษาผู้ป่วยในคลินิกแบบเดินเข้าของโรงพยาบาลด้วย[71][86] การปฏิบัติหน้าที่นี้อย่างเสียไม่ได้หรือวิธีอันสร้างสรรค์ในการเลี่ยงหน้าที่นี้เป็นโครงเรื่องย่อยซ้ำ ซึ่งมักเป็นบทตลกคลายเครียดของละครชุดนี้[77][87] ระหว่างหน้าที่คลินิก เฮาส์ทำให้ผู้ป่วยสับสนด้วยการสังเกตชีวิตส่วนตัวของพวกเขาอย่างไม่ต้อนรับ การสั่งยาที่แปลกประหลาดและการรักษาที่นอกคอก[71] ทว่า หลังดูไม่สนใจอาการของพวกเขาแล้ว ปกติเขาทำให้ผู้ป่วยประทับใจด้วยการวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำ[15] แนวเทียบกับผู้ป่วยง่าย ๆ บางคนในคลินิกบางครั้งจุดประกายวิจารณญาณซึ่งช่วยไขปัญหาผู้ป่วยของทีม[17][88]

มันไม่ใช่รายการเกี่ยวกับการติด แต่คุณไม่สามารถโยนทุกอย่างแบบนี้เข้าไปผสมกันแล้วไม่คาดว่าจะเป็นที่สังเกตและออกความเห็น มีการพาดพิงถึงปริมาณการบริโภคของเขาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มันเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์น้อยลงทุกทีสำหรับจัดการความปวดของเขา และมันเป็นบางอย่างที่เรายังต้องจัดการต่อ สำรวจต่อ

—ชอร์ต่อการติดไวโคดินของเฮาส์[89]

ส่วนโครงเรื่องที่สำคัญหนึ่ง คือ การใช้ไวโคดินของเฮาส์เพื่อจัดการความปวดอันเกิดจากเนื้อตายเหตุขาดเลือดในกล้ามเนื้อควอดริเซ็บของเขาห้าปีก่อนฤดูกาลแรกของเรื่อง ซึ่งบังคับให้เขาต้องใช้ไม้เท้า[90] ในฤดูกาลแรก ตอนที่ 11 "ดีทอกซ์" เฮาส์ยอมรับว่าเขาติดไวโคดิน แต่ว่าเขาไม่มีปัญหาเพราะยา "ทำให้ฉันทำงานของฉันได้ และพวกมันทำให้ฉันไม่ปวด" การติดของเขาทำให้เพื่อนร่วมงานของเขา คัดดีและนพ. เจมส์ วิลสัน กระตุ้นให้เขาไปฟื้นสมรรถภาพยาหลายครั้ง[91] เมื่อเขาหาไวโคดินไม่ได้หรือประสบความปวดรุนแรงผิดปกติ บางครั้งเขาให้ยาแก้ปวดเสพติดอื่นแกตัวเอง เช่น มอร์ฟีน[92] ออกซิโคโดน[93] และเมทาโดน[94] เฮาส์ยังดื่มสุราบ่อยครั้งเมื่อเขาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่แพทย์ และถือว่าตน "คอทองแดง"[95] ใกล้ปลายฤดูกาลที่ 5 เฮาส์เริ่มประสาทหลอน หลังกำจัดการวินิจฉัยอื่นที่เป็นไปได้แล้ว วิลสันและเขาตัดสินว่าการติดไวโคดินของเขาน่าจะเป็นสาเหตุมากที่สุด[96] เฮาส์ปฏิเสธเรื่องนี้ช่วงสั้น ๆ แต่เมื่อใกล้ตอนสุดท้ายของฤดูกาล เขาผูกมัดตนต่อโรงพยาบาลจิตเวชเมย์ฟีลด์[97] ในตอนเปิดของฤดูกาลถัดมา เฮาส์ออกจากเมย์ฟีลด์โดยควบคุมการติดของเขาได้[98] ทว่า ประมาณหนึ่งปีครึ่งต่อมา ในตอนที่ 15 ของฤดูกาลที่ 7 "บอมบ์เชลส์" เฮาส์สนองต่อข่าวที่ว่าคัดดีอาจมีมะเร็งไตโดยการกินไวโคดิน[99] และการติดของเขากลับเป็นซ้ำ[100]

ตัวละคร แก้

ชื่อ แสดงโดย งานอาชีพ ฤดูกาล
1 2 3 4 5 6 7 8
นพ. เกรกอรี เฮาส์ ฮิว ลอรี แพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ, นักวักกวิทยา, หัวหน้าแผนกเวชศาสตร์วินิจฉัย หลัก
พญ. ลีซา คัดดี ลีซา เอเดลสตีน นักวิทยาต่อมไร้ท่อ, คณบดีคณะแพทยศาสตร์ หลัก
นพ. เจมส์ วิลสัน โรเบิร์ต ฌอน เลียวนาร์ด หัวหน้าแผนกวิทยามะเร็ง หลัก
นพ. อีริก ฟอร์แมน โอมาร์ เอพส์ ประสาทแพทย์, แพทย์เวชศาสตร์วินิจฉัย, คณบดีคณะแพทยศาสตร์ หลัก
นพ. โรเบิร์ต เชส เจสซี สเปนเซอร์ ศัลยแพทย์, แพทย์เวชบำบัดวิกฤต, หทัยแพทย์, หัวหน้าแผนกเวชศาสตร์วินิจฉัย หลัก
พญ. แอลลิสัน แคเมอรอน เจนนิเฟอร์ มอร์ริสสัน นักวิทยาภูมิคุ้มกัน, แพทย์เวชศาสตร์วินิจฉัย หลัก รับเชิญ
นพ. คริส เทาบ์ ปีเตอร์ จาคอบสัน ศัลยแพทย์พลาสติก,[101] แพทย์เวชศาสตร์วินิจฉัย ร่วมแสดง หลัก
นพ. ลอเรนซ์ คัตเนอร์ คาล เพนน์ แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การกีฬา,[102] แพทย์เวชศาสตร์วินิจฉัย ร่วมแสดง รับเชิญ
พญ. เรมี "เธอร์ทีน" แฮดลีย์ โอลิเวีย ไวลด์ อายุรแพทย์,[102] แพทย์เวชศาสตร์วินิจฉัย ร่วมแสดง หลัก ร่วมแสดง
มาร์ธา มาสเตอส์ แอมเบอร์ แทมบลิน ดุษฎีบัณฑิตสองใบด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์และประวัติศาสตร์ศิลปะ,[103] นักศึกษาแพทย์ หลัก รับเชิญ
พญ. เจสสิกา แอดัมส์ โอเด็ด แอนนาเบิล แพทย์คลินิกเรือนจำ,[104] แพทย์เวชศาสตร์วินิจฉัย หลัก
พญ. ชี พาร์ก ชาร์ลิน ยี ประสาทแพทย์, แพทย์เวชศาสตร์วินิจฉัย หลัก

ตัวละครหลัก แก้

ตลอดระยะเวลาการฉายหมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย นักแสดงหลักหกคนได้รับเครดิตแสดง (star billing) ทั้งหมดแสดงเป็นแพทย์ผู้ทำงานที่โรงพยาบาลสอนพรินซ์ตัน–เพลนส์โบโร (Princeton-Plainsboro Teaching Hospital) ที่แต่งขึ้นในรัฐนิวเจอร์ซีย์[71] นพ. เกรกอรี เฮาส์ (ฮิว ลอรี) ตัวละครชื่อเรื่อง เป็นหัวหน้าแผนกเวชศาสตร์วินิจฉัย[105] เฮาส์อธิบายตนเองว่า "ผู้เชี่ยวชาญการวินิจฉัยโรคที่มีใบวุฒิบัตรของการเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาในสาขาเฉพาะทางสองสาขาโรคติดเชื้อและวักกวิทยา" นพ. เจมส์ วิลสัน (โรเบิร์ต ฌอน เลียวนาร์ด) เพื่อนแท้หนึ่งเดียวของเฮาส์ เป็นหัวหน้าแผนกวิทยามะเร็ง พญ. ลีซา คัดดี (ลีซา เอเดลสตีน) เป็นนักวิทยาต่อมไร้ท่อ[106] เป็นหัวหน้าของเฮาส์ โดยเป็นคณบดีแพทยศาสตร์และผู้บริหารหลักของโรงพยาบาล[107] เฮาส์มีความสัมพันธ์ซับซ้อนกับคัดดี โดยอันตรกิริยาระหว่างทั้งสองมักมีคำหมิ่นประมาทและความเครียดทางเพศระดับสูง[108] ในตอนที่ 6 ของฤดูกาลที่ 5 "จอย" ทั้งสองจุมพิตกันครั้งแรก[109] ความสัมพันธ์ทางกายของทั้งสองไม่คืบหน้าอีกระหว่างฤดูกาลที่ 5 ในตอนสดท้ายเฮาส์เชื่อว่าเขาและคัดดีร่วมเพศกัน แต่เป็นประสาทหลอนที่เกิดจากการติดไวโคดินของเฮาส์[97] ในตอนสุดท้ายของฤดูกาลที่ 6 คัดดีบอกเฮาส์ว่ารักเขา ทั้งสองจุมพิตและตกลงลองเป็นคู่รักกัน[110] ตลอดฤดูกาลที่ 7 เฮาส์และคัดดีพยายามประคองความสัมพันธ์ของพวกตน

ทีมผู้เชี่ยวชาญการวินิจฉัยโรคดั้งเดิมของเฮาส์ประกอบด้วย นพ. เอริก ฟอร์แมน (โอมาร์ เอพส์) ประสาทแพทย์, นพ. โรเบิร์ต เชส (เจสซี สเปนเซอร์) แพทย์เวชบำบัดวิกฤต และ พญ. แอลลิสัน แคเมอรอน (เจนนิเฟอร์ มอร์ริสสัน) นักวิทยาภูมิคุ้มกัน[107] ในตอน "แฟมิลี" ในฤดูกาลที่ 3 ฟอร์แมนประกาศลาออก โดยบอกเฮาส์ว่า "ผมไม่อยากกลายเป็นคุณ" ระหว่างตอนสุดท้ายของฤดูกาล เฮาส์บอกเชสว่าเขาเรียนรู้ทุกอย่างที่สามารถแล้ว หรือไม่เรียนรู้เลย และปลดเขาออกจากทีม แคเมอรอนซึ่งชอบพอกับเชสลาออกจากนั้นไม่นาน[55] ทำให้เฮาส์ไม่เหลือทีมในตอนแรกของฤดูกาลที่ 4[111]

ภายใต้คำสั่งจากคัดดีให้สรรหาทีมใหม่ เฮาส์พิจารณาแพทย์ 40 คน[95] ตอนต้น ๆ ของฤดูกาลที่ 4 เน้นกระบวนการคัดเลือกของเขา ซึ่งมีโครงสร้างเป็นการประกวดคัดออกแบบเรียลลิตีทีวี[95] (เจคอบส์เรียกว่าเป็น "ฉบับหนึ่งของเซอร์ไวเวอร์")[112] เฮาส์กำหนดหมายเลขแก่ผู้สมัครระหว่าง 1 ถึง 40 แล้วคัดออกจนเหลือ 7 คนสุดท้าย[113] เขาประเมินสมรรถนะของพวกเขาในผู้ป่วยวินิจฉัย โดยมีฟอร์แมนช่วย ซึ่งกลับสู่แผนกหลังเขาถูกปลดจากโรงพยาบาลอื่นเนื่องจากพฤติกรรมคล้ายเฮาส์[113][114][115] แม้การกลับคืนของฟอร์แมนหมายความว่ามีที่ว่างอยู่เพียงสองที่ แต่เฮาส์หลอกคัดดีให้อนุญาตให้เขาจ้างผู้ช่วยใหม่สามคน[116] สุดท้ายเขาเลือก นพ. คริส เทาบ์ (ปีเตอร์ จาคอบสัน) อดีตศัลยแพทย์พลาสติก นพ. ลอว์เรนซ์ คัตเนอร์ (คาล เพนน์) ผู้ชำนัญพิเศษเวชศาสตร์การกีฬา และ พญ. เรมี "เธอร์ทีน" แฮดลีย์ (โอลิเวีย ไวลด์) อายุรแพทย์ซึ่งได้ชื่อเล่นตามหมายเลขในการประกวดคัดออก[116][117] ในตอนสุดท้ายของฤดูกาล เธอร์ทีนพบว่าเธอผู้ป่วยเป็นโรคฮันติงตันซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากมารดาอย่างที่เธอกลัวมานาน เป็นโรคที่รักษาไม่ได้[79]

ในตอนที่ 11 ของฤดูกาลที่ 5 "จอยทูเดอะเวิลด์" ฟอร์แมนกับเธอร์ทีนจุมพิตกันอย่างดูดดื่ม[25] ทีแรกเธอร์ทีนไม่เต็มใจเริ่มความสัมพันธ์กับฟอร์แมน แต่สุดท้ายทั้งสองเริ่มเดตและยังคบหากันเมื่อจบฤดูกาล[97] ทั้งสองบอกเลิกในต้นฤดูกาลที่ 6 ในตอนที่ 20 ของฤดูกาลที่ 5 "ซิมเพิลเอ็กซ์เพลเนชัน" คัตเนอร์ถูกพบว่าเสียชีวิตในอพาร์ตเมนต์ของเขาโดยมีแผลถูกกระสุนปืนที่ศีรษะ เนื่องจากคัตเนอร์ไม่ทิ้งจดหมายใดไว้ เฮาส์จึงสงสัยการถูกฆ่า แต่ตัวละครอื่นยอมรับว่าเป็นการฆ่าตัวตาย[118]

ในตอนที่ 7 ของฤดูกาลที่ 2 "ฮันติง" แคเมอรอนและเชสร่วมเพศแบบไม่ผูกมัด[119] กลางฤดูกาลที่ 3 ทั้งสองเริ่มความสัมพันธ์ทางเพศซึ่งแคเมอรอนยืนยันว่าไม่จริงจัง[106] เมื่อเชสประกาศว่าเขา "ต้องการอีก" แคเมอรอนจึงบอกเลิกเรื่องชู้สาวนั้น[120] ทว่า เมื่อจบฤดูกาล แคเมอรอนตระหนักว่าตนมีความรู้สึกโรแมนติกต่อเชสและทั้งสองเริ่มความสัมพันธ์แบบจริงจัง[55] ก่อนออกจากทีมวินิจฉัย ทั้งสองมีบทบาทต่างกันที่โรงพยาบาลสอนพรินซ์ตัน–เพลนส์โบโร แคเมอรอนเป็นแพทย์ประจำอาวุโสในห้องฉุกเฉิน และเชสเป็นศัลยแพทย์[95] ทั้งสองหมั้นในตอน "เซเวียส์" ในฤดูกาลที่ 5[62] และสมรสกันในตอนสุดท้ายของฤดูกาล[121] เมื่อเชสเข้าร่วมทีมของเฮาส์อีกในฤดูกาลที่ 6 แคเมอรอนละสามีของเธอและโรงพยาบาลในตอน "ทีมเวิร์ก" ตอนที่ 8 ของฤดูกาลนั้น[122] เธอกลับมาเป็นตัวละครรับเชิญในตอน "ล็อกดาวน์" อีกเก้าตอนต่อมา[123]

ต้นฤดูกาลที่ 7 เธอร์ทีนขาดงานโดยไม่อธิบาย คัดดีสั่งให้เฮาส์หาหญิงอื่นมาแทน[124] แต่สุดท้ายเป็นคนเลือกให้เขาเอง คือ มาร์ธา เอ็ม. มาสเตอส์ (แอมเบอร์ แทมบลิน) ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกในตอนที่ 6 ของฤดูกาล[125] เธอร์ทีนกลับมาใน "เดอะดิก" ตอนที่ 18 ของฤดูกาล ซึ่งเปิดเผยสาเหตุการขาดงานของเธอ คือ เธออยู่ในเรือนจำหกเดือนฐานช่วยการุณยฆาตน้องชายของเธอ ซึ่งป่วยโรคฮันติงตันระยะลุกลาม[126] แม้จาคอบสัน เพนน์และไวลด์รับบทตัวละครสำคัญ แต่ไม่ได้รับเครดิตแสดงจนฤดูกาลที่ 7 กลับได้รับเครดิตเป็น "นักแสดงรับเชิญ" และชื่อของพวกเขาปรากฏหลังลำดับเปิด[127] ในฤดูกาลที่ 7 จาคอบสันและไวลด์ได้รับเครดิตแสดง แต่สมาชิกนักแสดงประจำคนใหม่ แอมเบอร์ แทมบลินไม่ได้รับ[128]

ตัวละครสมทบ แก้

หกฤดูกาลแรกของเฮาส์มีตัวละครเด่นสมทบตั้งแต่หนึ่งตัว ซึ่งปรากฏในอาร์กเรื่องหลายตอน[129] ในฤดูกาลที่ 1 เอ็ดเวิร์ด โวกเลอร์ (ชิ แม็กไบรด์) เศรษฐีพันล้านเจ้าของบริษัทยา ปรากฏในห้าตอน[130] เขาบริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ PPTH แลกกับเป็นประธานคณะกรรมการ[131] โวกเลอร์เป็นสัญลักษณ์ความพยายามนำเสนอตัวโกง ซึ่งฟ็อกซ์สนับสนุน เมื่อตอนของโวกเลอร์เริ่มออกอากาศ รายการเริ่มฮิตและตัวละครถูกยกเลิกไป[130] ชอร์กล่าวว่า มโนทัศน์เจ้านายตัวโกงนั้นใช้ไม่ได้กับซีรีส์ "มันชื่อเฮาส์ ผู้ชมรู้ว่าเขาไม่มีวันถูกไล่ออก"[9]

สเตซี วาร์เนอร์ (เซลา วาร์ด) อดีตแฟนของเฮาส์[132] ปรากฏในสองตอนสุดท้ายของฤดูกาลแรก และเจ็ดตอนของฤดูกาลที่ 2[9] เธอต้องการให้เฮาส์รักษาสามีของเธอ มาร์ก วาร์เนอร์ (เคอร์รี แกรม) ซึ่งเฮาส์วินิจฉัยว่าเป็นพอร์ไฟเรีย (porphyria) เป็น ๆ หาย ๆ เฉียบพลันในตอนสุดท้ายของฤดูกาลที่ 1[132] สเตซีและเฮาส์กลับมาใกล้ชิดกับอีก แต่สุดท้ายเฮาส์บอกสเตซีให้กลับไปมามาร์ก ซึ่งทำร้ายจิตใจเธอมาก[133]

ไมเคิล ทริตเตอร์ (เดวิด มอร์ส) นักสืบตำรวจ ปรากฏในหลายตอนของฤดูกาลที่ 3 เขาพยายามให้เฮาส์ขอโทษ ซึ่งทิ้งทริตเตอร์ในห้องตรวจโดยคาเทอร์โมมิเตอร์ไว้ในทวารเขา[134] หลังเฮาส์ปฏิเสธที่จะขอโทษ ทริตเตอร์กล่าวหาเฮาส์ว่าครอบครองยาเสพติดโดยไม่มีใบสั่งยา และบังคับให้เขาเข้าฟื้นฟูสภาพ เมื่อคดีถึงศาล คัดดีเบิกความเท็จสนับสนุนเฮาส์ และศาลจำหน่ายคดี ผู้พิพากษาตำหนิโทษทริตเตอร์ว่าไล่ล่าเฮาส์เกินควร และบอกเฮาส์ว่าเธฮคิดว่าเขา "มีเพื่อนดีกว่าที่เขาสมควร" หมายถึงคำให้การ 11 ชั่วโมงของคัดดีในนามของเขา เฮาส์ถูกพิพากษาลงโทษจำคุกหนึ่งคืนฐานดูหมิ่นศาลและเสร็จสิ้นการฟื้นฟูสภาพของเขาภายใต้อิทธิพลของไวโคดิน[91]

ผู้สมัครทีมวินิจฉัยของเฮาส์เป็นตัวละครสมทบหลักของฤดูกาลที่ 4[135] นอกเหนือจากสามคนที่ได้รับเลือก อีกสี่คนสุดท้ายได้แก่ เจ็ฟฟรี โคล (อีดี กาเธอิ); ราวิส เบรนนัน (แอนดี โคโม) นักวิทยาการระบาด;[135] เฮนรี ด็อบสัน (คาร์เมน อาร์เจนเซียโน) อดีตเจ้าหน้ารับบุคคลเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์;[95] และแอมเบอร์ โวลาคิส (แอน ดูเด็ก) นักรังสีร่วมรักษา[117] ทั้งสี่คนออกจากรายการหลังถูคัดออก ยกเว้นโวลาคิสซึ่งปรากฏตัวตลอดฤดูกาล โดยเริ่มความสัมพันธ์กับวิลสัน[136][137] ในตอนสุดท้ายของฤดูกาลซึ่งมีสองส่วน โวลาคิสพยายามพาเฮาส์ที่เมากลับบ้านเมื่อวิลสันไม่อยู่ ทั้งสองประสบอุบัติเหตุรสโดยสารประจำทางถูกชน ซึ่งทำให้เธอเสียชีวิต[79][138] เธอปรากฏตัวต่อมาในฤดูกาลที่ 5 โดยเป็นอาการประสาทหลอนของเฮาส์[62]

นักสืบเอกชน ลูคัส ดักลาส (ไมเคิล เวสตัน) ตัวละครซึ่งบางส่วนได้แรงบันดาลใจจากความรักเดอะร็อกฟอร์ดไฟลส์ของชอร์ ปรากฏตัวในสามตอนของฤดูกาลที่ 5[139][140] ทีแรกเฮาส์จ้างดักลาสให้สอดแนมวิลสัน ซึ่งยุติมิตรภาพกับเขาหลังโวลาคิสเสียชีวิต ต่อมาเฮาส์จ่ายเงินให้ดักลาสดูชีวิตส่วนตัวของสมาชิกทีมของเขาและคัดดี[141] หากผู้ชมยอมรับตัวละครนี้ มีแผนจะให้เขาเป็นตัวละครนำในรายการแยกออกไป[142][143] ในเดือนกันยายน 2551 ชอร์ให้สัมภาษณ์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์วีกลี เกี่ยวกับวิสัยทัศน์สำหรับตัวละครนี้ว่า "ผมไม่อยากสร้างรายการแพทย์อีกรายการหนึ่ง สิ่งที่ทำให้ผมตื่นเต้นในการเขียนคือตัวเลือกที่ประชาชนสร้างและสภาพของความถูกและผิด... และนักสืบเอกชนสามารถเข้าถึงปัญหานั้นได้พร้อมกว่าหมอ"[144] ไม่มีรายการที่มีดักลาสปรากฏในกำหนดการโทรทัศน์เครือข่ายในฤดูใบไม้ร่วงปี 2552[145] เขากลับสู่เฮาส์ในฤดูกาลที่ 6 เป็นแฟนของคัดดี[146] ทั้งสองหมั้นกันช่วงสั้น ๆ ก่อนคัดดีบอกเลิก โดยตระหนักว่าเธอตกหลุมรักเฮาส์[147]

ตอน แก้

ปีจำนวนตอนวันที่ออกอากาศผู้ชมในสหรัฐ
(ล้านคน)
อันดับ
วันแรกวันสุดท้าย
12216 พฤศจิกายน 254724 พฤษภาคม 254813.324[148]
22413 กันยายน 254823 พฤษภาคม 254917.310[149]
3245 กันยายน 254929 พฤษภาคม 255019.47[150]
41625 กันยายน 255019 พฤษภาคม 255117.67[151]
52416 กันยายน 255111 พฤษภาคม 255213.516[152]
62221 กันยายน 255217 พฤษภาคม 255312.822[153]
72320 กันยายน 255323 พฤษภาคม 255410.342[154]
8223 ตุลาคม 255421 พฤษภาคม 25558.758[155]

การตอบรับ แก้

การตอบรับเชิงวิจารณ์ แก้

หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย ได้รับบทปริทัศน์เชิงบวกเป็นส่วนใหญ่เมื่อเปิดเรื่อง[156] ซีรีส์ดังกล่าวถือเป็นจุดสว่างท่ามกลางตารางเวลาของฟ็อกซ์ ซึ่งในขณะนั้นมีเรียลลิตีโชว์เสียมาก[157] ซีซัน 1 ได้คะแนนเมตาคริติก 75 เต็ม 100 คะแนน โดยยึดบทปริทัศน์ 30 บท ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นบทปริทัศน์ "ส่วนใหญ่เห็นชอบ"[158] แมตต์ รูชแห่งทีวีไกด์ กล่าวว่ารายการนี้เป็น "ทางเยียวยาไม่ธรรมดาแก่ละครแพทย์ธรรมดา"[159] นักวิจารณ์ นิวยอร์กเดลีนิวส์ เดวิด บิอังคูลี (David Bianculli) ปรบมือให้กับ "ความสามารถการแสดงที่ดีและบท"[67] ด้าน "เอ.วี. คลับ" ของดิอันยัน อธิบายรายการอย่างเห็นชอบว่าเป็นละครตลกร้ายที่ "ลามกที่สุด" ่ของฟ็อกซ์ นับตั้งแต่เรื่อง พรอฟิต ที่ออกฉายสั้น ๆ ในปี 2539[160] จอห์น เลโอนาร์ดจากนิวยอร์ก เรียกซีรีส์ดังกล่าวว่า "ทีวีแพทย์ที่น่าพึงพอใจและเรียบง่ายที่สุด"[161] ขณะที่แมทธิว กิลเบิร์ตจากเดอะบอสตันโกลบชื่นชมว่ารายการนี้ไม่ได้พยายามปกปิดข้อบกพร่องของตัวละครเพื่อระงับความกลัวเกี่ยวกับ "โรงงานเอชเอ็มโอ" ของผู้ชม[162] ด้านไบรอัน ลอรีจากวาไรตี รู้สึกประทับใจน้อยกว่า เขียนว่ารายการนี้ยึด "การเล่านิยายแบบตามธรรมเนียม แม้อยู่ในหีบห่อมันวาว"[163] ทีม กูดแมนแห่งซานฟรานซิสโกโครนิเคิล อธิบายว่ามัน "พื้น ๆ" และไม่แปลกใหม่[164]

 
การรับบทคัดดีของลีซา เอเดลสตีนได้รับเสียงตอบรับดีจากนักวิจารณ์

การตอบรับเชิงวิจารณ์โดยรวมต่อตัวละครเกรกอรี เฮาส์นั้นเป็นทางบวกเป็นพิเศษ[156][165] ทอม เชลส์แห่งเดอะวอชิงตันโพสต์ เรียกเขาว่าเป็น "ตัวละครหลักใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นที่สุดที่เข้าสู่โทรทัศน์ในรอบหลายปี"[166] ร็อบ โอเวนจาก พิตต์สเบิร์กโพสต์-กาเซต พบว่าเขา "ไร้ความเห็นใจอย่างน่าทึ่ง"[167] นักวิจารณ์เปรียบเทียบเฮาส์กับนักสืบในนิยาย เนโร วูลฟ์,[168] เฮอร์คิว ปอยรอต และเอเดรียน มังก์[169] และยังเปรียบเทียบกับตัวละคร เพอร์รี ค็อกซ์ แพทย์เจ้าอารมณ์ในรายการโทรทัศน์ สครับส์[157][167] มีการศึกษาซีรีส์เรื่องนี้ในหนังสือฉบับเต็มเล่ม พบความเกี่ยวดองอย่างมาก ระหว่างเฮาส์กับแพทย์ในละครที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง คือ ฮ็อกอาย เพียร์ซจากเรื่อง M*A*S*H การแสดงของลอรีในบทดังกล่าวได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวาง[77][168][170] กูดแมนจาก ซานฟรานซิสโกโครนิเคิล เรียกเขาว่า "ยอดเยี่ยม" และ "น่าจะเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ดู หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย"[164] เกเบรียล ดอนเนลลีจากเดลีเมลกล่าวว่าเป็นเพราะบุคลิกภาพซับซ้อนของลอรี เขาเป็น "นักแสดงที่ยอดเยี่ยม" สมควรตั้งเป็นชื่อเรื่อง[45]

นักวิจารณ์ยังมีปฏิกิริยาเชิงบวกต่อนักแสดงสนับสนุนชุดแรกของรายการ ซึ่งเชลส์จากเดอะโพสต์ เรียกว่าเป็น "กลุ่มชั้นหนึ่ง"[166] นักวิจารณ์ถือว่าการแสดงเป็น นพ. วิลสันของเลโอนาร์ดคู่ควรต่อรางวัลเอ็มมีที่วิจารณ์โดยทีวีไกด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์วีกลี และยูเอสเอทูเดย์[171][172] บิอังคูลีจากเดลีนิวส์ มีความสุขที่เห็นเอเดลสตีน "สุดท้ายได้รับบทบาทแสดงนำร่วมสมเนื้อคู่ควร"[67] นักวิจารณ์อิสระ แดเนียล ไฟน์เบิร์กรู้สึกผิดหวังที่เลโอนาร์ดและเอเดลสตีนไม่เป็นที่รู้จักจากการแสดงของพวกเขามากกว่านี้[173]

ปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในฤดูกาลที่ 4 นั้นผสมกันทั้งบวกและลบ ท็อดด์ ดักลาส จูเนียร์จากดีวีดีทอล์ก เขียนว่า "เมื่อมีนักแสดงใหม่เข้ามา หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย รับเอาความรู้สึกกระปรี้ประเปร่ามากขึ้นเล็กน้อย และการปูเนื้อหาสำหรับฤดูกาลที่ห้าค่อนข้างปราดเปรื่อง"[174] แอลัน เซพินวอลล์จากเดอะสตาร์เลดเจอร์ เขียนว่า "การคัดเลือกงานที่ขยายและมีขนาดใหญ่ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสทำให้รายการกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งและยอมรับอัจฉริยะด้านความตลกของลอรีอย่างสมบูรณ์"[129] ในทางกลับกัน แมรี แม็กนามาราแห่งลอสแอนเจลิสไทมส์ ถือประเด็นจากพัฒนาการนี้ว่า "นักแสดงยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื้อเรื่องมีความกระจายมากขึ้นและไม่สม่ำเสมอ จนเมื่อมีกลุ่มนักแสดงที่ยอดเยี่ยมคอยปกป้องไปพร้อมกับลอรีที่แบกรับซีรีส์นี้ไปได้แม้จะพบกับความยากลำบาก"[175] รอเบิร์ต เบียงโกจากยูเอสเอทูเดย์ ชอบตอนสุดท้ายของฤดูกาลมาก "พูดถึงการเก็บส่วนที่ดีที่สุดไว้หลังสุด ด้วยสองชั่วโมงที่เหลือเชื่อและทำให้ใจสลาย ... นักเขียนกู้ฤดูกาลที่ดูเหมือนเจือจาง มีคนมากเกินและบางทีอาจทะเยอทะยานเกินไปจนเป็นผลเสีย"[172]

ฤดูกาลที่ 5 ของหมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย ได้รับการตอบรับเชิงบวกมากกว่าฤดูกาลก่อน ๆ โดยได้คะแนนเมตาคริติก 77 เต็ม 100 คะแนน ซึ่งมาจากบทปริทัศน์สิบบท หมายความว่าเป็น "บทปริทัศน์เห็นชอบโดยทั่วไป"[176] นอกจากนี้ยังได้อัตราเห็นชอบ 100% จากคะแนนสะสมจากเว็บไซต์ปริทัศน์ ร็อตเทนโทเมโทส์ โดยมีคะแนนเฉลี่ย 8.1 คะแนนโดยยึดตามบทปริทัศน์ที่รวบรวมมาเก้าบท[177] ยูเอสเอทูเดย์ ยกย่องการแสดงของลอรีและผลสะท้อนจากตอนจบของฤดูกาลที่ 4 โดยว่า "เป็นการสานต่อจากตอนจบที่ปราดเปรื่องของฤดูกาลที่แล้ว เฮาส์อยู่ในแถวหน้าอย่างเหนียวแน่น และเมื่อคุณมีนักแสดงในระดับ ความลึกและบารมีอย่างฮิว ลอรี การวางเขาไว้กลางเวทีนั้นสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณเขียนนิยายให้ค้นหาตัวละครและความสัมพันธ์หลักในทางที่ดูเหมือนเป็นส่วนสำคัญของซีรีส์"[178] นิวยอร์กเดลีนิวส์ หมายเหตุว่า "รายการให้ความสนใจมากขึ้นกับความสัมพันธ์ที่เราใส่ใจ บอกใบ้ความสัมพันธ์ใหม่ที่ชอบด้วยเหตุผลจำนวนหนึ่งที่รายการให้สัญญา ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาศัยปริศนาการแพทย์ที่คลุมเครือให้แบกภาระละครทั้งหมด" และหมายเหตุว่า "พยากรณ์โรคในฤดูกาลนี้อาจดีกว่าที่ฤดูกาลก่อน"[179] แมรี แม็กนามาราแห่งลอสแอนเจลิสไทมส์ เน้นย้ำการแสดงของนักแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไมเคิล เวสตันที่รับบทนักสืบลูคัส ดักลาส โดยเรียกเขาว่าเป็น "การเพิ่มเติมที่น่ายินดี" เธอสรุปว่า "รอบปฐมทัศน์แตกต่างมากที่เฮาส์ผู้เฉลียวฉลาดและผู้ชม (ฟ็อกซ์) อาจคาดหมายการเปิดเผยว่าทั้งหมดเป็นเพียงฝันเพ้อไข้ แต่นี่ดูไม่เหมือนอย่างนั้น และบุคคลสันนิษฐานว่าลอรีและนักเขียนอาจนำตัวละครที่ปัจจุบันเป็นตัวละครที่โดดเด่น กลับมาในฉบับที่ต่าง กลับมายังพรินซ์ตัน แน่นอนว่าไม่ได้ต่างจากเดิมมากเกินไป แต่ก็แตกต่างพอ"[175] ในทางกลับกัน เมารีน ไรอันจากชิคาโกทริบูน ไม่ชอบตัวละครของเวสตัน โดยเรียกว่า "เป็นสิ่งรบกวนที่ไม่น่าต้อนรับ ... คนเล็กคนน้อยที่น่ารำคาญ"[180] เธอยังกล่าวต่อไปว่า "หมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายเคยเป็นรายการยอดเยี่ยมรายการหนึ่งทางทีวี แต่มันตกรางอย่างจริงจังแล้ว" เดอะซันเดย์ไทมส์รู้สึกว่ารายการ "ทำอารมณ์ขันหาย"[181] การเน้นเธอร์ทีนและความสัมพันธ์กับฟอร์แมนในที่สุดก็ตกเป็นข้อวิจารณ์เป็นพิเศษด้วย[129][182]

เมื่อรายการจบ สตีเวน ทองจากเอ็นเตอร์เทนเมนต์วีกลี เขียนว่า "ในฤดูกาลท้าย ๆ หมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายกลายเป็นรายการค่อนข้างเร้าอารมณ์"[183] ในบล็อก "วัลเชอร์" ของนิวยอร์กแม็กกาซีน มาร์กาเร็ต ลีออนส์เขียนว่า "มากกว่าเป็นละครโรงพยาบาลหรือตัวละครหรือสิ่งอื่นใด เฮาส์เป็นการไตร่ตรองเรื่องความทุกข์ที่ซับซ้อน" แต่ลีออนส์ยังว่าต่อไปว่า มีเส้นแบ่งระหว่าง "คติหยามโลกทรงปัญญา" (enlightened cynicism) และ "ความทุกข์-ความขาดระเบียบแบบแผน" (misery-entropy) และ "เมื่อรายการดำเนินไป ไฟนาฏกรรมของมันหรี่ลงส่วนไฟความเจ็บปวดรวดร้าวของมันลุกไหม้สว่างยิ่งขึ้น"[184] แอลัน เซพินวอลเขียนว่า "ฤดูกาลตรงกลางที่ซ้ำ ๆ และโสมม สุดท้ายทำลายความเชื่อมโยงทางอารมณ์ใด ๆ ที่ผมได้มีปัญหากับเฮาส์มาก่อน"[26]

รายการดังกล่าวอยู่ในอันดับที่ 62 ของรายการ "คลาสสิกทีวีใหม่" ของเอ็นเตอร์เทนเมนต์วีกลี[185] ไอเอ็มดีบีดอตคอมโปรประกาศให้รายการเป็นรายการคะแนนสูงสุดอันดับสองในสิบปีแรกของเว็บไซต์ (2545–2555)[186]

รายการสิบอันดับแรกของนักวิจารณ์ แก้

หลังห้าฤดูกาลแรก เฮาส์ อยู่ในรายการสิบอันดับแรกของนักวิจารณ์หลายแห่ง ซึ่งแสดงรายการด้านล่างนี้เรียงตามอันดับ

เรตติงโทรทัศน์สหรัฐ แก้

ในฤดูกาลแรก หมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายอยู่ในอันดับที่ 24 ในหมู่ซีรีส์โทรทัศน์ และรายการไพรม์ไทม์ยอดนิยมอันดับที่ 9 ในหมู่สตรี[192] ส่วนหนึ่งมีการโฆษณาสั้นในรายการ อเมริกันไอดอล ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง[193] อีกสามฤดูกาลต่อมาล้วนติดหนึ่งในสิบยอดผู้ชมสูงสุด เฮาส์มีเรตติงเนลสันสูงสุดในฤดูกาลที่ 3 โดยมีผู้ชมเฉลี่ย 19.4 ล้านคนต่อตอน[194] จาคอบส์ว่า ทีมผู้ผลิตรู้สึกประหลาดใจที่รายการมีผู้ชมถึงเพียงนั้น[195] ในฤดูกาลที่ 5 รายการมีผู้ชม 12.0 ล้านคนต่อตอนและหล่นไปอยู่อันดับรวมที่ 19 รายการยังคงเป็นรายการยอดนิยมของฟ็อกซ์นอกจากอเมริกันไอดอล[196]

ตอนที่มีผู้ชมมากที่สุดของหมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย คือ ตอน "โฟรเซน" ในฤดูกาลที่ 4[197] ซึ่งออกอากาศหลังซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 42[198][199] โดยมีผู้ชมกว่า 29 ล้านคน[200] หมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายอยู่ในอันดับสามของสัปดาห์นั้น โดยมีเรตติงเท่ากับอเมริกันไอดอล และเป็นรองเพียงซูเปอร์โบว์ลและรายการหลังการแข่งขันเท่านั้น[201] ต่อไปนี้เป็นตารางอันดับตามฤดูกาลของหมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย ในตลาดโทรทัศน์สหรัฐ โดยยึดตามผู้ชมรวมเฉลี่ยต่อตอน ฤดูกาลโทรทัศน์เครือข่ายโทรทัศน์เริ่มในเดือนกันยายนและสิ้นสุดในปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งบรรจบกับการสิ้นสุดสวีป (sweep) เดือนพฤษภาคม

อันดับแต่ละฤดูกาลของ หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย ในตลาดโทรทัศน์สหรัฐ
ฤดูกาล ตอน ช่องเวลา (ET) วันเริ่มฤดูกาล วันจบฤดูกาล ฤดูกาลโทรทัศน์ อันดับที่ ผู้ชม
(ล้านคน)
1 22 วันอังคาร 9/8c 16 พฤศจิกายน 2547 24 พฤษภาคม 2548 2547–48 #24 13.34[202]
2 24 วันอังคาร 9/8c 13 กันยายน 2548 23 พฤษภาคม 2549 2548–49 #10 17.35[203]
3 24 วันอังคาร 8/7c (2549)
วันอังคาร 9/8c (2549–50)
5 กันยายน 2549 29 พฤษภาคม 2550 2549–50 #5 19.95[204]
4 16 วันอังคาร 9/8c (2550–51)
วันจันทร์ 9/8c (2551)
25 กันยายน 2550 19 พฤษภาคม 2551 2550–51 #7 17.64[205]
5 24 วันอังคาร 8/7c (2551)
วันจันทร์ 8/7c (2552)
16 กันยายน 2008 11 พฤษภาคม 2009 2551–52 #16 13.62[206]
6 22 วันจันทร์ 8/7c 21 กันยายน 2552 17 พฤษภาคม 2553 2552–53 #22 12.76[207]
7 23 วันจันทร์ 8/7c 20 กันยายน 2553 23 พฤษภาคม 2554 2553–54 #42 10.32[208]
8 22 วันจันทร์ 9/8c (2554)
วันจันทร์ 8/7c (มกราคม–มีนาคม 2555)
วันจันทร์ 9/8c (เมษายน–พฤษภาคม 2555)[209]
3 ตุลาคม 2554 21 พฤษภาคม 2555 2554–55 #58 8.69[210]

รางวัลและเกียรติยศ แก้

หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย นิยามรายการโทรทัศน์แพทย์ใหม่ ไม่มีอีกแล้วโลกที่แพทย์ในอุดมคติมีคำตอบทุกอย่างหรือโรงพยาบาลที่เตียงเคลื่อนที่วิ่งแข่งตามโถง ความสนใจของหมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายอยู่ที่ความต้องการทางเภสัชกรรม และปัญญาของการเป็นแพทย์ การลองผิดลองถูกของแพทยศาสตร์ใหม่ขยายรายการเกินรูปแบบกระบวนวิธีคลาสสิกอย่างมีทักษะ และ ณ หัวใจของรายการ แพทย์ที่ปราดเปรื่องแต่มีข้อเสียกำลังออกใบสั่งยา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมสำหรับแพทยศาสตร์สมัยใหม่

—กรรมการของสถาบันภาพยนตร์อเมริกาครั้งรายการคว้ารางวัลประจำปี 2548[211]

หมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายได้รับรางวัลและการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลหลายรายการ ในปี 2548–2554 เว้นปี 2549 ลอรีได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมีสาขานักแสดงนำโดดเด่นในซีรีส์ละคร[212] คณะกรรมการเอ็มมียังเสนอชื่อหมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายเป็นซีรีส์ละครโดดเด่นในปี 2549–2552 แต่รายการไม่เคยชนะรางวัล[213] สำหรับตอน "ธรีสตอรี" ในฤดูกาลแรก เดวิด ชอร์ชนะรางวัลเอ็มมีสาขาเขียนบทในปี 2548[74][214] และรางวัลฮิวแมนิตาส์ในปี 2549[215] ผู้กำกับ เกร็ด ไยตาเนสคว้ารางวัลเอ็มมีไพรม์ไทม์สำหรับการกำกับซีรีส์ละครโดดเด่นประจำปี 2551 สำหรับกำกับ "เฮาส์เฮด" ซึ่งเป็นส่วนแรกของตอนสุดท้ายยาวสองตอนในฤดูกาลที่ 4[216]

รายการได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำหกครั้ง และชนะสองครั้ง ฮิว ลอรีได้รับเสนอชื่อรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม – ละครชุดโทรทัศน์ เขาคว้ารางวัลดังกล่าวในปี 2549[217][218] และ 2550[219][220] ในปี 2551 ซีรีส์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงครั้งแรกในรางวัลลูกโลกทองคำสาขาซีรีส์โทรทัศน์ยอดเยี่ยม – นาฏกรรม[221] เฮาส์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงซีรีส์นาฏกรรมยอดเยี่ยมอีกครั้งในปีถัดมา แต่ไม่ได้รับรางวัล[222] ็ รายกาคว้ารางวัลพีบอดีประจำปี 2548 สำหรับสิ่งที่คณะกรรมการพีบอดีเรียรกว่า "ตัวละครนำที่ไม่ธรรมดา เป็นนักวินิจฉัยที่เกลียดมนุษย์" และสำหรับ "คดีที่เหมาะสมกับเชอร์ล็อก โฮทมส์ที่เป็นแพทย์" ซึ่งช่วยให้ หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย เป็น "ละครแพทย์ใหม่ที่โดดเด่นที่สุดในรอบทศวรรษ"[223] สถาบันภาพยนตร์อเมริการวมหมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายอยู่ในรายการโทรทัศน์แห่งปี 10 รายการประจำปี 2548[211]

ในปี 2554 เฮาส์คว้ารางวัลพีเพิลส์ชอยส์: ละครทีวียอดนิยม นักแสดงชายและหญิงนาฏกรรมยอดนิยมแก่ลอรีและเอเดลสตีน และแพทย์ทีวียอดนิยม[224]

ลอรีคว้ารางวัลสมาคมนักแสดงจอเงินสำหรับการแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชายในซีรีส์ละครทั้งในปี 2550 และ 2552[225] นักเขียน ลอเรนซ์ แคปโลว์คว้ารางวัลสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกาในปี 2549 สำหรับตอน "ออท็อปซี" ในฤดูกาลที่ 2[226] และในปี 2550 รายการคว้ารางวัลเอ็มมีศิลปะสร้างสรรค์สำหรับเมกอัพกายอุปกรณ์[227]

ในปี 2548 ลอรีปรากฏบนปกทีวีไกด์ เป็น "ชายเซ็กซี่ที่สุดบนทีวี"[192] ในปี 2551 เกรกอรี เฮาส์ได้รับออกเสียงเป็นแพทย์โทรทัศน์เซ็กซี่ที่สุดอันดับสองตลอดกาล รองจากดัก รอสจากเรื่อง อีอาร์ (จอร์จ คลูนีย์)[45][228]

การจัดจำหน่าย แก้

ในปี 2551 หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย มีการจัดจำหน่ายในทั้งหมด 66 ประเทศ โดยมีผู้ชนมกว่า 81.8 ล้านคนทั่วโลก ทำให้เคยเป็นรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลกและมีจำนวนผู้ชมมากกว่าละครทีวีแถวหน้าสองปีก่อน (ซีเอสไอและซีเอสไอ: ไมแอมี)[229][230] ปีต่อมา รายการอยู่อันดับสองรองจากซีเอสไอ[231]

ตอนของเฮาส์ที่ฉายรอบปฐมฤกษ์ทางฟ็อกซ์ในสหรัฐและโกลบัลในแคนาดามีกำหนดการเดียวกัน[232] รายการติดอันดับยอดนิยมอันดับสามในโทรทัศน์แคนาดาในปี 2551[233] ในปีเดียวกัน หมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายเป็นรายการโทรทัศน์อันดับสูงสุดในเยอรมนี[234] อันดับ 2 ในอิตาลี[235] และอันดับ 3 ในสาธารณรัฐเช็ก[236] รายการนี้ยังได้รับความนิยมมากในฝรั่งเศส[237] สเปน[238] สวีเดนและเนเธอร์แลนด์[239] ในสหราชอาณาจักร สี่ฤดูกาลแรกมีการแพร่สัญญาณทางช่องไฟฟ์ สกาย1 ได้สิทธิฉายครั้งแรกเริ่มตั้งแต่ฤดูกาลที่ 5[240] รายการฉบับภาษาอังกฤษดั้งเดิมมีการแพร่สัญญาณในออสเตรเลียทางช่องเน็ตเวิร์กเท็น[241] ในนิวซีแลนด์ทางช่องทีวี3[242] และในไอร์แลนด์ทาง 3อี ช่องเคเบิลของทีวี3[243]

ตอนของรายการยังมีให้ดาวน์โหลดออนไลน์ ได้แก่ แอมะซอนวิดีโอออนดีมานด์, ไอทูนส์สโตร์และซูนมาร์เก็ตเพลสมีเสนอขายทุกตอนตั้งแต่ฤดูกาลที่ 1 ถึง 8 ในปี 2550 เอ็นบีซียูนิเวอร์แซล (ผู้จัดจำหน่ายของรายการ) และบริษัทแอปเปิล (เจ้าของไอทูนส์) มีความเห็นไม่ตรงันซึ่งทำให้ฤดูกาลที่ 4 ถูกปลดออกจากไอทูนส์ชั่วคราว[244] ในถ้อยแถลงต่อสื่อ แอปเปิลอ้างว่าเอ็นบีซียูนิเวอร์แซลต้องการเพิ่มราคาต่อตอนเป็น 4.99 ดอลลาร์สหรัฐ[245] ในเดือนกันยายน 2551 มีรายงานว่าปัญหาระหว่างแอปเปิลและเอ็นบีซีระงับแล้ว[246] ปัจจุบันสามารถซื้อทุกตอนแบบเอชดีทางไอทูนส์ได้ในราคา 2.99 ดอลลาร์สหรัฐ[247] ตอนล่าสุดมีวิดีทัศน์สตรีมทางโฮมเพจหมอเฮาส์ นักบุญปากร้ายอย่างเป็นทางการของฟ็อกซ์[248] และทั้ง 8 ฤดูกาลมีอยู่ทางเน็ตฟลิกซ์จนถึงเดือนเมษายน 2560[249]

มีการวางจำหน่ายฤดูกาลของตอนและเซ็ตกล่องทางดีวีดีซึ่งเข้ารหัสสำหรับภูมิภาค 1, 2 และ 4[250] ส่วนจะมีคุณลักษณะพิเศษอย่างจอกว้างภาพเพี้ยน (การวางจำหน่ายดั้งเดิมเป็นแบบกล่องจดหมาย) หรือไม่ขึ้นอยู่กับภูมิภาค[251][252][253]

สินค้า แก้

มีการวางขายเสื้อยืดคอกลมที่มีข้อความ "ทุกคนโกหก" (Everybody Lies) เพื่อประมูลการกุศลในช่วงเวลาจำกัดเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2550 ทางเฮาส์แชริตีทีส์ดอตคอม (Housecharitytees.com) หลังจากการขายเสื้อเหล่านี้แล้ว ยังมีเสื้อยืดที่มีวลี "ความปกติถูกประเมินสูงเกินจริง" (Normal's Overrated) ให้กับพันธมิตรความเจ็บป่วยทางจิตแห่งชาติ (NAMI)[254][255] นักแสดงและทีมงาน หมอเฮาส์ นักบุญปากร้าย ยังเข้าร่วมงานระดมทุนแก่ NAMI อยู่เสมอและแสดงโฆษณาสำหรับองค์การซึ่งปรากฏในนิตยสาร เซเว็นทีน และโรลลิงสโตน ความพยายามของรายการระดมเงินหลายแสนดอลลาร์สหรัฐแก่การกุศล เจคอบส์กล่าวว่าผ่านความร่วมมือกับ NAMI พวกเขาหวังว่าจะยก "มลทินบางส่วนออกจากความเจ็บป่วยนั้น"[256]

เน็ตตเวิร์กวางจำหน่ายอัลบั้มเฮาส์ เอ็ม.ดี. ออริจินัลเทเลวิชันซาวน์แทร็ก ในวันที่ 18 กันยายน 2550[257] ซาวน์แทร็กนั้นมีฉบับความยาวเต็มของเพลงที่ใช้ในเฮาส์และเพลงที่ไม่มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้ซึ่งเจาะจงบันทึกไว้สำหรับซีรีส์[258] ในปี 2551 บริษัทเกมสเปน เอ็กเซลไวส์ ออกแบบเกมมือถือสำหรับรายการ ซึ่งวางจำหน่ายทั้งในภาษาสเปนและอังกฤษ[259]

ในเดือนมิถุนายน 2552 เลกาซีอินเตอร์แอ็กทีฟประกาศความตกลงใบอนุญาตกับยูนิเวอร์แซลพิกเจอส์ดิจิทัลแพลตฟอร์มกรุ๊ป (UPDPG) เพื่อพัฒนาวิดีโอเกมที่ยึดตามซีรีส์ ซึ่งผู้เล่นรับบทบาททีมวินิจฉัยของเฮาส์เพื่อรับมือผู้ป่วยไม่ธรรมดาห้าคน[260] เกมดังกล่าวซึ่งวางจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม 2553 รวมมินิเกมซึ่งให้ผู้เล่น "นำทางเขาวงกตลีลาแผ่นรองจานร้านอาหาร ซึ่งแซนวิชขนาดยักษ์ต้องหลบแพทย์ที่กำลังหิวระหว่างทางไปสำนักงานของ นพ. เฮาส์" ดิเอวีคลับ ให้เกมได้ "เอฟ"[261] ทว่า เลกาซีปรับเกมในเดือนสิงหาคม 2553[261]

เชิงอรรถ แก้

  1. Eurodata TV Worldwide, Agence France Presse (June 12, 2009). "'House' is the world′s most popular TV show". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-01. สืบค้นเมื่อ March 21, 2012.
  2. Seidman, Robert (February 8, 2012). "Current Season to Be The Last for 'House'". TV by the Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-10. สืบค้นเมื่อ February 8, 2012.
  3. 3.0 3.1 3.2 Frum, Linda (March 14, 2006). "Q&A with 'House' creator David Shore". Maclean's. Rogers Communications. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 10, 2007. สืบค้นเมื่อ January 2, 2007.
  4. 4.0 4.1 Gibson, Stacey (มีนาคม 2008). "The House That Dave Built". University of Toronto Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มิถุนายน 1, 2009. สืบค้นเมื่อ เมษายน 5, 2008.
  5. Challen, p. 96.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 MacIntyre, April (November 17, 2008). "'House M.D.' interview: Katie Jacobs talks Cuddy, Cameron and House triangle". Monsters and Critics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 11, 2009. สืบค้นเมื่อ January 6, 2009.
  7. Challen, p. 41.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 "House ... and Holmes". Radio Times. BBC Magazines Ltd. January 2006. p. 57. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 9, 2009.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Jensen, Jeff (เมษายน 6, 2007). "Full 'House'". Entertainment Weekly. pp. 44–47. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 8, 2014. สืบค้นเมื่อ เมษายน 10, 2009.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Jacobs, Katie; Laurie, Hugh; Shore, David; Singer, Bryan (2005). House Season One, The Concept (DVD). Universal Studios.
  11. 11.0 11.1 11.2 Werts, Diane (January 29, 2009). "Fox's medical marvel stays on top". Variety. สืบค้นเมื่อ April 5, 2009.
  12. 12.0 12.1 12.2 Jensen, Jeff (เมษายน 8, 2005). "Dr. Feelbad". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ธันวาคม 11, 2013. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 7, 2008.
  13. 13.0 13.1 Shore, David (2006). "Developing The Concept". Hulu.com. The Paley Center for Media. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 13, 2008. สืบค้นเมื่อ September 16, 2008.
  14. 14.0 14.1 Shore, David; Jacobs, Katie (2006). "House's Disability". Hulu.com. The Paley Center for Media. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 13, 2008. สืบค้นเมื่อ September 16, 2008.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 "House and Holmes: A Guide to Deductive and Inductive Reasoning" (PDF). FactCheck. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ August 7, 2008. สืบค้นเมื่อ June 25, 2009.
  16. Slate, Libby (April 17, 2006). "House Calls, An Evening with House". Academy of Television Arts and Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 9, 2009. สืบค้นเมื่อ December 23, 2008.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 Wild, Diane Kristine (September 2, 2005). "Review: House, M.D. Season 1 DVD". Blogcritics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 5, 2011. สืบค้นเมื่อ May 27, 2008.
  18. Ryan, Maureen (May 1, 2006). "'House'-a-palooza, part 2: Robert Sean Leonard". Chicago Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 10, 2006. สืบค้นเมื่อ October 12, 2007.
  19. Wittler, Wendell (เมษายน 15, 2005). "Living in a 'House' built for one". msnbc.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ สิงหาคม 14, 2018. สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 14, 2018.
  20. "Hunting". House, M.D. November 22, 2005. Fox Broadcasting Company.
  21. Murray, Scott (April 26, 2007). "Is there a Dr Watson in the House?". The Age. p. 21. In the pilot, the patient is Rebecca Adler, named, no doubt, after Irene Adler. 'To Sherlock Holmes, she was always the woman,' as Dr. Watson so tenderly described her.
  22. Wild, Diane Kristine (May 24, 2006). "TV Review: House Season Finale – "No Reason"". Blogcritics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 11, 2008. สืบค้นเมื่อ September 26, 2008.
  23. Writer: Davis, Pam. Director: Shakman, Matt (January 29, 2008). "It's a Wonderful Lie". House. ฤดูกาล 4. ตอน 10. Fox.
  24. Writer: Blake, Peter. Director: Yaitanes, Greg (November 11, 2008). "The Itch (House)". House. ฤดูกาล 5. ตอน 7. Fox.
  25. 25.0 25.1 Writer: Blake, Peter. Director: Straiton, David (December 9, 2008). "Joy to the World". House. ฤดูกาล 5. ตอน 11. Fox.
  26. 26.0 26.1 Sepinwall, Alan (พฤษภาคม 22, 2012). "Series Finale Review: 'House'—'Everybody Dies': Keep Me in Your Heart for a While". HitFix. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 23, 2014. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 6, 2012.
  27. "Bryan Singer from House". Film.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 8, 2009. สืบค้นเมื่อ June 10, 2009.
  28. 28.0 28.1 "House Announces Casting News". The Futon Critic. July 18, 2007. สืบค้นเมื่อ December 13, 2008.
  29. Barnett, Barbara (May 18, 2008). "House, MD Season Finale: A Conversation with Writers Garrett Lerner and Russel Friend". Blogcritics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 16, 2008. สืบค้นเมื่อ December 13, 2008.
  30. ""Not Cancer" from Season 5 of House". Film.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 18, 2010. สืบค้นเมื่อ June 10, 2009. Barnett, Barbara (September 24, 2008). "TV Review: House, MD – "Not Cancer"". Blogcritics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 4, 2009. สืบค้นเมื่อ June 10, 2009.
  31. ""Adverse Events" from Season 5 of House". Film.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 16, 2009. สืบค้นเมื่อ June 10, 2009.
  32. Andreeva, Nellie (March 30, 2006). "Shore lands 2-yr. deal with NBC Uni". The Hollywood Reporter. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 18, 2010. สืบค้นเมื่อ July 11, 2008.
  33. "House TV Show". Film.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 19, 2010. สืบค้นเมื่อ June 9, 2010.
  34. 34.0 34.1 Bennett, Tara (พฤษภาคม 19, 2008). "The VFX Doctor in the House". VFX World. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 3, 2008. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 17, 2009.
  35. Max, Jill (May 2008). "A doctor's passion for medical storytelling". Yale Medicine Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 28, 2008. สืบค้นเมื่อ October 3, 2008.
  36. 36.0 36.1 36.2 Staff (January 29, 2006). "Behind The Scenes At "House"". Entertainment Tonight. CBS Studios Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 10, 2008. สืบค้นเมื่อ May 25, 2008.
  37. 37.0 37.1 37.2 37.3 Keveney, Bill (พฤศจิกายน 16, 2004). "Hugh Laurie gets into 'House'". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กันยายน 27, 2011. สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 26, 2008.
  38. Laurie, Hugh (2004). House Season One, Casting Session with Hugh Laurie (DVD). Universal Studios.
  39. Brioux, Bill (November 14, 2004). "Compelling 'House' Doctor". Toronto Sun. p. TV2.
  40. DeLeon, Kris (June 24, 2008). "How Hugh Laurie Got into 'House'". BuddyTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 19, 2012. สืบค้นเมื่อ December 11, 2008.
  41. Challen, p. 39.
  42. Clune, Richard (October 28, 2007). "Man about the House". The Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 1, 2009. สืบค้นเมื่อ December 19, 2008.
  43. "Hugh Laurie Interview". Inside the Actor's Studio. ฤดูกาล 12. ตอน 189. July 31, 2006. BRAVO Network.Cina, Mark (October 30, 2007). "House's Hugh Laurie Battling "Mild Depression"". Us Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 14, 2008. สืบค้นเมื่อ December 19, 2008.
  44. "Raise Prescribed for 'House' Star". Zap2it. February 23, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 31, 2008. สืบค้นเมื่อ December 5, 2008.
  45. 45.0 45.1 45.2 Donnelly, Gabrielle (สิงหาคม 9, 2008). "Is Hugh Laurie the new George Clooney? The House actor on how he's set pulses racing as TV's moodiest medic". Daily Mail. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มกราคม 18, 2014. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 24, 2008.
  46. Fox, Erin (กันยายน 12, 2008). "House's Hugh Laurie Gets Huge Raise". TV Guide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ สิงหาคม 6, 2014. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 9, 2009."New £5 million contract is sweet medicine for House's Hugh Laurie". HelloMagazine.com. กันยายน 13, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 29, 2013. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 10, 2009.
  47. 47.0 47.1 47.2 47.3 Wolk, Josh (กรกฎาคม 3, 2007). "A Summer Away from the 'House'". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ธันวาคม 11, 2013. สืบค้นเมื่อ กันยายน 18, 2008.
  48. 48.0 48.1 Challen, p. 65.
  49. Staff (September 17, 2007). "Doctor in the house". The Star. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 29, 2012. สืบค้นเมื่อ September 28, 2008.
  50. Le Marquand, Sarrah (October 3, 2006). "Young doctor". The Courier-Mail. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 9, 2008. สืบค้นเมื่อ September 27, 2008.
  51. Elfman, Doug (April 20, 2006). "Actress makes 'House' call". Buffalo Grove Countryside.
  52. Bennett, Geoff (October 11, 2007). "Omar Epps Is Back in the 'House'!". AOL. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 19, 2007. สืบค้นเมื่อ September 28, 2008.
  53. 53.0 53.1 Challen, p. 83.
  54. Martin, Denise (September 24, 2009). "Actress Jennifer Morrison to exit 'House'". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 26, 2009. สืบค้นเมื่อ September 26, 2009.
  55. 55.0 55.1 55.2 Writers: Kaplow, Lawrence; Moran, Thomas L. Director: Jacobs, Katie (May 29, 2007). "Human Error". House. ฤดูกาล 3. ตอน 24. Fox.
  56. Hendrickson, Paula (มกราคม 29, 2009). "Growing cast increases show's depth". Variety. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ สิงหาคม 29, 2015. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 18, 2009.
  57. 57.0 57.1 Ausiello, Michael (พฤศจิกายน 28, 2007). "Exclusive: Why House Fired "Cutthroat Bitch"". TV Guide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มิถุนายน 7, 2009. สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 1, 2008.
  58. Rice, Lynette (ตุลาคม 3, 2007). "Kal Penn joins 'House' as series regular". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ เมษายน 14, 2016. สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 30, 2008.
  59. del Castillo; Valerie Anne (October 15, 2008). "Penn and Jacobson Talk About Their Journey on 'House'". BuddyTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 31, 2014. สืบค้นเมื่อ October 15, 2008.
  60. Rizzo, Monica (December 11, 2007). "The Hot New Star of House, Olivia Wilde". People.Johnson, Peter (ตุลาคม 22, 2007). "'House' story line keeps the actors on edge". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 10, 2009. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 19, 2008.Hendrickson, Paula (May 9, 2008). "Guest spots can lead to full-time roles". Variety. สืบค้นเมื่อ November 1, 2008.
  61. Horowitz, Lisa (June 13, 2008). "Playing House in Hollywood". TelevisionWeek. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 24, 2008. สืบค้นเมื่อ January 2, 2009.
  62. 62.0 62.1 62.2 Writers: Attie, Eli; Moran, Thomas L. Director: Penn, Matthew (April 13, 2009). "Saviors". House. ฤดูกาล 5. ตอน 21. Fox.
  63. Ausiello, Michael (เมษายน 7, 2009). "'House' exclusive: The shocking story behind last night's big death". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 15, 2015. สืบค้นเมื่อ เมษายน 10, 2009.
  64. Ng, Philiana (พฤษภาคม 17, 2011). "Lisa Edelstein Isn't Returning to 'House' Next Season". The Hollywood Reporter. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤศจิกายน 14, 2012. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 17, 2011.
  65. 65.0 65.1 Bordwell, David; Thompson, Kristin (February 9, 2007). "Walk the talk". David Bordwell's site on cinema. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 21, 2007. สืบค้นเมื่อ January 6, 2009.
  66. Franklin, Nancy (พฤศจิกายน 29, 2004). "Playing Doctor". The New Yorker. p. 168. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤศจิกายน 11, 2013. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 24, 2008.
  67. 67.0 67.1 67.2 Bianculli, David (November 16, 2004). "'House' Gets Fine Treatment". New York Daily News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 2, 2010. สืบค้นเมื่อ June 3, 2009.
  68. 68.0 68.1 68.2 Holtz, Andrew (2006). The Medical Science of House, M.D. Oncology Times. Vol. 28. Berkley Trade. pp. 50–52. doi:10.1097/01.COT.0000295295.97642.ae. ISBN 978-0-425-21230-1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤศจิกายน 11, 2013. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 19, 2009.
  69. "Television". University of Southern California. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 2, 2008. สืบค้นเมื่อ January 7, 2009.
  70. Ragonese, Lawrence (เมษายน 14, 2009). "TV show 'House' to film at Greystone Park Psychiatric Hospital". The Star-Ledger. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มีนาคม 31, 2014. สืบค้นเมื่อ เมษายน 25, 2009.
  71. 71.0 71.1 71.2 71.3 71.4 Writer: Shore, David. Director: Singer, Bryan (November 16, 2004). "Pilot". House. ฤดูกาล 1. ตอน 1. Fox.
  72. 72.0 72.1 72.2 Writer: Kaplow, Lawrence. Director: O'Fallon, Peter (November 23, 2004). "Paternity". House. ฤดูกาล 1. ตอน 2. Fox.
  73. 73.0 73.1 Lyford, Kathy (December 18, 2008). "House Q&A: 'You live alongside your characters'". Variety. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 22, 2008. สืบค้นเมื่อ December 20, 2008.
  74. 74.0 74.1 "The 57th Primetime Emmy Awards and Creative Arts Emmys Nominations" (PDF). Academy of Television Arts & Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 16, 2008. สืบค้นเมื่อ May 4, 2008.
  75. Ausiello, Michael (สิงหาคม 3, 2010). "'House' boss on Huddy: 'I don't think we have a Sam and Diane problem'". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ เมษายน 13, 2016. สืบค้นเมื่อ กันยายน 8, 2010.
  76. Ausiello, Michael (สิงหาคม 4, 2010). "Ask Ausiello: Spoilers on 'Grey's,' 'House,' 'Bones,' 'NCIS,' 'The Office,' and more!". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤศจิกายน 26, 2015. สืบค้นเมื่อ กันยายน 8, 2010.
  77. 77.0 77.1 77.2 77.3 77.4 77.5 Holland, Roger (October 4, 2005). "House, Deserving". PopMatters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 4, 2010. สืบค้นเมื่อ December 23, 2008.
  78. Finley, Adam (พฤษภาคม 5, 2006). "Teardrops fall on House and Prison Break". TV Squad. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 5, 2006. สืบค้นเมื่อ กันยายน 26, 2008.
  79. 79.0 79.1 79.2 Writers: Blake, Peter; Foster, David; Friend, Russel; Lerner, Garrett. Director: Jacobs, Katie (May 19, 2008). "Wilson's Heart". House. ฤดูกาล 4. ตอน 16. Fox.
  80. Godwin, Jennifer (พฤษภาคม 21, 2008). "House Boss David Shore: Everybody Lies, Everybody Dies, Everybody ..." E! Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 10, 2009. สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 21, 2008.
  81. 81.0 81.1 81.2 81.3 Challen, p. 42.
  82. Holtz, p. 3.
  83. Albiniak, Paige (May 7, 2006). "How "House" Finds all Those Strange Diseases". New York Post.
  84. Duffy, Mike (November 15, 2004). "House calls: TV doctor's bedside manner is atrocious, but if you're sick, he's the one you want". Detroit Free Press.
  85. Barnett, Barbara (August 1, 2008). "Doing the Right Thing: The Ethics of Dr. Gregory House, Part I". Blogcritics. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-20. สืบค้นเมื่อ September 27, 2008.
  86. Wilson, p. 78.
  87. Challen, pp. 103, 114; Wilson, pp. 78, 214–215.
  88. Challen, p. 103.
  89. Holston, Noel (กุมภาพันธ์ 22, 2006). "Doctors find little humor in TV's handling of painkillers". The Seattle Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มกราคม 14, 2009. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 18, 2008.
  90. Writer: Shore, David. Director: Barclay, Paris (May 17, 2005). "Three Stories". House. ฤดูกาล 1. ตอน 21. Fox.
  91. 91.0 91.1 Writer: Dick, Leonard. Director: Sackheim, Daniel (January 9, 2007). "Words and Deeds". House. ฤดูกาล 3. ตอน 11. Fox.
  92. Writers: Friend, Russel; Lerner, Garrett; Shore, David. Director: Hayman, James (February 20, 2006). "Skin Deep". House. ฤดูกาล 2. ตอน 13. Fox.
  93. Writer: Friedman, Liz. Director: To, Tony (December 12, 2006). "Merry Little Christmas". House. ฤดูกาล 3. ตอน 10. Fox.
  94. Writer: Friedman, Liz. Director: Sarafian, Deran (February 23, 2009). "The Softer Side". House. ฤดูกาล 5. ตอน 16. Fox.
  95. 95.0 95.1 95.2 95.3 95.4 Writers: Dick, Leonard; Egan, Doris. Director: Sarafian, Deran (October 2, 2007). "The Right Stuff". House. ฤดูกาล 4. ตอน 2. Fox.
  96. Writers: Davis, Pam; Kaplow, Lawrence. Director: Straiton, David (May 4, 2009). "Under My Skin". House. ฤดูกาล 5. ตอน 23. Fox.
  97. 97.0 97.1 97.2 Writer: Egan, Doris. Director: Yaitanes, Greg (May 11, 2009). "Both Sides Now". House. ฤดูกาล 5. ตอน 24. Fox.
  98. Writers: Lerner, Garrett; Friend, Russel; Shore, David; Foster, David. Director: Yaitanes, Greg (September 21, 2009). "Broken". House. ฤดูกาล 6. ตอน 1. Fox.
  99. Writers: Freidman, Liz; Hess, Sara. Director: Yaitanes, Greg (March 7, 2011). "Bombshells". House. ฤดูกาล 7. ตอน 15. Fox.
  100. Writers: Kaplow, Lawrence; Moran, Thomas L. Director: Bookstaver, Sanford (March 14, 2011). "Out of the Chute". House. ฤดูกาล 7. ตอน 16. Fox.
  101. "Dr. Chris Taub (character)". IMDb.bom. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-07. สืบค้นเมื่อ 2012-11-01.
  102. 102.0 102.1 "House M.D. (2004–2012) – Did You Know?". IMDb.com. สืบค้นเมื่อ 2012-11-01.
  103. "Season 7: Office Politics". FOX. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-01. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22.
  104. "FOX Broadcasting Company". M.fox.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-10. สืบค้นเมื่อ 2012-11-01.
  105. Jauhar, Sandeep (กรกฎาคม 19, 2005). "Magical Medicine on TV". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มิถุนายน 10, 2011. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 22, 2009.
  106. 106.0 106.1 Writer: Lewis, Matthew V. Director: Sarafian, Deran (February 13, 2007). "Insensitive". House. ฤดูกาล 3. ตอน 14. Fox.
  107. 107.0 107.1 "House – Show Information". Fox.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 5, 2009. สืบค้นเมื่อ June 22, 2009.
  108. Barnett, Barbara (December 15, 2008). "House in Love, Part 2: Cuddy – The Thin Line Between Love and Hate". Blogcritics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 4, 2009. สืบค้นเมื่อ June 12, 2009.
  109. Ausiello, Michael (กันยายน 21, 2008). "Lisa Edelstein on House-Cuddy Kiss: 'It Was a Big Moment'". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ตุลาคม 12, 2015. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 12, 2009.
  110. Barnett, Barbara (May 19, 2010). "Huddy, House, and 'Help Me': An Interview With the Season Finale's Writers". Blogcritics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 10, 2010. สืบค้นเมื่อ June 9, 2010.
  111. Writers: Blake, Peter; Shore, David. Director: Sarafian, Deran (September 25, 2007). "Alone". House. ฤดูกาล 4. ตอน 1. Fox.
  112. "Note to 'House' fans: 'Things will never be the same' on the Fox medical drama". USA Today. July 24, 2007.
  113. 113.0 113.1 Writers: Friend, Russel; Lerner, Garrett. Director: Platt, David (October 9, 2007). "97 Seconds". House. ฤดูกาล 4. ตอน 3. Fox.
  114. Writer: Hoselton, David. Director: Sarafian, Deran (October 23, 2007). "Guardian Angels". House. ฤดูกาล 4. ตอน 4. Fox.
  115. Writer: Foster, David. Director: Platt, David (October 30, 2007). "Mirror Mirror". House. ฤดูกาล 4. ตอน 5. Fox.
  116. 116.0 116.1 Writer: Attie, Eli. Director: Sarafian, Deran (November 27, 2007). "Games". House. ฤดูกาล 4. ตอน 9. Fox.
  117. 117.0 117.1 Catlin, Roger (November 21, 2007). "'House' Finalists". Hartford Courant. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 2, 2013. สืบค้นเมื่อ June 17, 2009.
  118. Writer: Dick, Leonard. Director: Yaitanes, Greg (April 6, 2009). "Simple Explanation". House. ฤดูกาล 5. ตอน 20. Fox.Ausiello, Michael (เมษายน 7, 2009). "'House' exclusive: The shocking story behind last night's big death". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 15, 2015. สืบค้นเมื่อ เมษายน 10, 2009.
  119. Writer: Friedman, Liz. Director: Muzio, Gloria (November 22, 2005). "Hunting". House. ฤดูกาล 2. ตอน 7. Fox.
  120. Writer: Hoselton, David. Director: Keene, Elodie (April 10, 2007). "Airborne". House. ฤดูกาล 3. ตอน 18. Fox.
  121. Mittovich, Matt (May 11, 2009). "House Episode Recap: "Both Sides Now"". TV Guide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 6, 2009. สืบค้นเมื่อ June 12, 2009.
  122. Writer: Attie, Eli. Director: Straiton, David (November 16, 2009). "Teamwork". House. ฤดูกาล 6. ตอน 8. Fox.
  123. Writers: Attie, Eli; Blake, Peter; Friend, Russel; Lerner, Garret. Director: Laurie, Hugh (April 12, 2010). "Lockdown". House. ฤดูกาล 6. ตอน 17. Fox.
  124. Keck, William (พฤศจิกายน 8, 2010). "Amber Tamblyn Is in the House". TV Guide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ สิงหาคม 13, 2014. สืบค้นเมื่อ เมษายน 17, 2011.
  125. Writer: Hoffman, Seth. Director: Bookstaver, Sanford (November 8, 2010). "Office Politics". House. ฤดูกาล 7. ตอน 6. Fox.
  126. Writers: Hess, Sara; Hoselton, David. Director: Shakman, Matt (April 11, 2011). "The Dig". House. ฤดูกาล 7. ตอน 18. Fox.
  127. Keller, Richard (กันยายน 25, 2008). "How About Some New Opening Credits for House Already?". TV Squad. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กันยายน 26, 2008. สืบค้นเมื่อ เมษายน 10, 2009.
  128. "Episode Info: The Dig". MSN TV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤศจิกายน 3, 2011. สืบค้นเมื่อ เมษายน 17, 2011.
  129. 129.0 129.1 129.2 Sepinwall, Alan (กันยายน 16, 2008). "Sepinwall on TV: 'House' season five review". The Star-Ledger. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 23, 2014. สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 22, 2008.
  130. 130.0 130.1 Carter, Bill (มกราคม 30, 2007). "House, Already Strong, Gets a Boost". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มิถุนายน 5, 2015. สืบค้นเมื่อ เมษายน 19, 2009.
  131. Writer: Kaplow, Lawrence. Director: Zisk, Randy (March 15, 2005). "Control". House. ฤดูกาล 1. ตอน 14. Fox.
  132. 132.0 132.1 Writers: Kaplow, Lawrence; Mankiewicz, John. Director: Keller, Frederick King (May 24, 2005). "Honeymoon". House. ฤดูกาล 1. ตอน 22. Fox.
  133. Writer: Davis, Pam. Director: Semel, David (February 7, 2006). "Need to Know". House. ฤดูกาล 2. ตอน 11. Fox.
  134. Writer: Blake, Peter. Director: Platt, David (October 31, 2006). "Fools for Love". House. ฤดูกาล 3. ตอน 5. Fox.
  135. 135.0 135.1 Johnson, Peter (ตุลาคม 21, 2007). "Examine the doctors who are in the running on 'House'". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 10, 2009. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 19, 2008.
  136. Ryan, Maureen (March 21, 2008). "The 'House' of love". Chicago Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 24, 2008. สืบค้นเมื่อ December 19, 2008.
  137. Writer: Friedman, Liz. Director: Straiton, David (February 3, 2008). "Frozen". House. ฤดูกาล 4. ตอน 11. Fox.
  138. Writers: Blake, Peter; Egan, Doris; Foster, David; Friend, Russel; Lerner, Garrett. Director: Yaitanes, Greg (May 12, 2008). "House's Head". House. ฤดูกาล 4. ตอน 15. Fox.
  139. Sepinwall, Alan; Fienberg, Daniel (สิงหาคม 5, 2008). "More With House Creator David Shore". The Star-Ledger. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ เมษายน 12, 2009. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 24, 2008.
  140. Ryan, Maureen (September 16, 2008). "'House' overcrowded with characters". Chicago Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 26, 2011. สืบค้นเมื่อ June 20, 2009.
  141. Writers: Green, Carol; Paddock, Dustin. Director: Bernstein, Andrew (September 30, 2008). "Adverse Events". House. ฤดูกาล 5. ตอน 3. Fox.
  142. Ocasio, Anthony (มกราคม 27, 2010). "Is Fox Looking For A 'House' Spin-off?". ScreenRant. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มกราคม 12, 2018. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 18, 2017.
  143. Goldman, Eric (พฤษภาคม 7, 2008). "Spinoff for House?". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 9, 2009. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 24, 2008.
  144. Wheat, Alynda (กันยายน 10, 2008). "House: Is Romance the Best Rx?". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 23, 2014. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 24, 2008.
  145. "Fall TV Schedule for Start of 2009–2010 Season". TV Guide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ สิงหาคม 24, 2009. สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 24, 2009.
  146. Writers: Egan, Doris; Lewis, Matthew, V. Director: Yaitanes, Greg (November 9, 2009). "Known Unknowns". House. ฤดูกาล 6. ตอน 7. Fox.
  147. Writers: Blake, Peter; Friend, Russel; Lerner, Garrett. Director: Yaitanes, Greg (May 17, 2010). "Help Me". House. ฤดูกาล 6. ตอน 22. Fox.
  148. "Season 1 Ratings". The Hollywood Reporter. Nielsen Business Media. 2005-05-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-22. สืบค้นเมื่อ 2008-07-04.
  149. "Season 2 ratings". The Hollywood Reporter. Nielsen Business Media. 2006-05-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-22. สืบค้นเมื่อ 2008-07-04.
  150. "Season 3 ratings". ABC Medet. 2007-05-25. สืบค้นเมื่อ 2009-06-15.
  151. "Season 4 ratings". ABC Meditnet. สืบค้นเมื่อ 2009-06-15.
  152. "Season 5 ratings". ABC Meditnet. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-23. สืบค้นเมื่อ 2009-06-15.
  153. Gorman, Bill (June 16, 2010). "2009-10 Season Broadcast Primetime Show Average Viewership". TV by the Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 20, 2011. สืบค้นเมื่อ March 11, 2015.
  154. Gorman, Bill (June 1, 2011). "2010-11 Season Broadcast Primetime Show Viewership Averages". TV by the Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 20, 2011. สืบค้นเมื่อ June 1, 2011.
  155. Gormam, Bill (May 25, 2012). "Complete List Of 2011-12 Season TV Show Viewership: 'Sunday Night Football' Tops, Followed By 'American Idol,' 'NCIS' & 'Dancing With The Stars'". TV by the Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-30. สืบค้นเมื่อ May 25, 2012.
  156. 156.0 156.1 Davies, Hugh (พฤศจิกายน 20, 2004). "Dr Laurie has viewers of US TV in stitches". The Daily Telegraph. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มิถุนายน 4, 2010. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 17, 2009.
  157. 157.0 157.1 Stanley, Alessandra (พฤศจิกายน 16, 2004). "With Terminal Witticism, Even Cancer Can Be Fun". The New York Times. p. E5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 28, 2015. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 19, 2017.
  158. "House – Season 1 Reviews". CBS Interactive Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ เมษายน 27, 2014. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 8, 2014.
  159. Roush, Matt (November 8, 2004). "Roush Review, Doctor Feel bad; Don't ask this grouch to make house calls". TV Guide. p. 1.
  160. Gillette, Amelie; Murray, Noel; Phipps, Keith (November 22, 2004). "A Guide for the Compulsive TV Fan". The A.V. Club. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 21, 2008. สืบค้นเมื่อ November 23, 2008.
  161. Leonard, John (พฤศจิกายน 15, 2004). "Scrub Par". New York. p. 1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ธันวาคม 12, 2013. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 30, 2006.
  162. Gilbert, Matt (November 16, 2004). "Strong Prognosis for medical show". The Boston Globe. p. D1.
  163. Lowry, Brian (November 15, 2004). "House Review". Variety. สืบค้นเมื่อ December 23, 2008.
  164. 164.0 164.1 Goodman, Tim (พฤศจิกายน 15, 2004). "Network meddling by Fox execs starts the deathwatch for 'House'". San Francisco Chronicle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 10, 2009. สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 24, 2008.
  165. Fuchs, Cynthia (November 22, 2004). "House, Humanity Is Overrated". PopMatters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 5, 2011. สืบค้นเมื่อ December 23, 2008.
  166. 166.0 166.1 Shales, Tom (พฤศจิกายน 16, 2004). "'House': Watching Is the Best Medicine". The Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤศจิกายน 6, 2012. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 30, 2006.
  167. 167.0 167.1 Owen, Rob (November 14, 2004). "TV Review: Hugh Laurie makes 'House' worth a visit". Pittsburgh Post-Gazette. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 8, 2008. สืบค้นเมื่อ December 20, 2008.
  168. 168.0 168.1 Bianco, Robert (พฤศจิกายน 16, 2004). "There's a doctor worth watching in 'House'". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 10, 2009. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 23, 2008.
  169. McFarland, Melanie (November 16, 2004). "Fox's medical drama 'House' is a welcome transfusion of quality programming". Seattle Post-Intelligencer. สืบค้นเมื่อ December 20, 2008.
  170. Flynn, Gillian (ธันวาคม 3, 2004). "House (2004)". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 17, 2014. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 23, 2008.
  171. Fretts, Bruce (September 17, 2008). "Cheers: A House Divided". TV Guide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 22, 2008. สืบค้นเมื่อ October 3, 2008.Ausiello, Michael (มิถุนายน 15, 2008). "Spoilery Video: 'House' Cast on Thirteen's Bisexuality, Wilson's Grief and More!". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 28, 2013. สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 16, 2008.
  172. 172.0 172.1 Bianco, Robert (มกราคม 7, 2008). "The finale word on the TV season". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ตุลาคม 26, 2008. สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 17, 2008.
  173. Fienberg, Daniel (กันยายน 24, 2007). "TV Review: 'House' Fourth Season Premiere". Baltimore Sun. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ตุลาคม 22, 2012. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 3, 2009.
  174. Douglass Jr., Todd (สิงหาคม 19, 2008). "House, M.D. – Season Four". DVD Talk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ตุลาคม 4, 2013. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 17, 2009.
  175. 175.0 175.1 McNamara, Mary (ตุลาคม 7, 2008). "'Grey's,' 'Private Practice,' 'House' get healthy". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 26, 2013. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 17, 2009.
  176. "House – Season 5 Reviews". CBS Interactive Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ เมษายน 27, 2014. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 8, 2014.
  177. "House – Season 5 Reviews". Flixster. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 25, 2014. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 8, 2014.
  178. Robert Bianco. "House moves squarely into the limelight in season opener". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ตุลาคม 14, 2013. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 8, 2014.
  179. David Hinckley. "Repairs seem to have fixed 'House'". New York Daily News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 23, 2014. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 8, 2014.
  180. Ryan, Maureen (ธันวาคม 11, 2008). "Thirteen + 'House' = wrong number". Chicago Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 22, 2014. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 29, 2009.
  181. Gill, A. A. (June 7, 2009). "Hugh Laurie must hate House". The Sunday Times. London. สืบค้นเมื่อ June 17, 2009.
  182. "Breaking up is hard to do, even with TV shows". Ottawa Citizen. Canwest News Service. April 4, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 21, 2014. สืบค้นเมื่อ May 29, 2009.
  183. Tucker, Ken (พฤษภาคม 21, 2012). "'House' series finale review: All's well that ends musically". Ken Tucker's TV. Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 25, 2012. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 3, 2012.
  184. Lyons, Margaret (พฤษภาคม 21, 2012). "House Series Finale: The Show Was a Meditation on Misery". Vulture blog. New York Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 21, 2014. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 3, 2012.
  185. "The New Classics: TV". Entertainment Weekly. มิถุนายน 18, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 16, 2014. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 5, 2012.
  186. Schillaci, Sophie A. (2012-01-25). "Johnny Depp, 'The Dark Knight,' 'Lost' Named to IMDb's Top 10 of the Last Decade". The Hollywood Reporter. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-22. สืบค้นเมื่อ 2012-02-10.
  187. "Best of 2005". Metacritic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 18, 2009. สืบค้นเมื่อ December 14, 2008.
  188. "Best of 2006". Metacritic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 22, 2010. สืบค้นเมื่อ December 14, 2008.
  189. "Best of 2007". Metacritic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 22, 2010. สืบค้นเมื่อ December 14, 2008.
  190. "Best of 2008". Metacritic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 22, 2010. สืบค้นเมื่อ January 3, 2009.
  191. "Best of 2009". Metacritic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 14, 2010. สืบค้นเมื่อ April 17, 2010.
  192. 192.0 192.1 Winters, Rebecca (กันยายน 4, 2005). "Doctor Is in ... a Bad Mood". Time. ISSN 0040-781X. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ตุลาคม 18, 2007. สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 9, 2007.
  193. Challen, pp. 43–44.
  194. "2006–07 primetime wrap". The Hollywood Reporter. Nielsen Business Media. May 25, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 25, 2007. สืบค้นเมื่อ June 19, 2009.
  195. Challen, p. 44.
  196. Gorman, Bill (May 27, 2009). "American Idol, Dancing With The Stars Top Average Viewership For 2008–9 Season". TV by the Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 1, 2009. สืบค้นเมื่อ May 28, 2009.
  197. Ryan, Maureen (กุมภาพันธ์ 5, 2008). "House post-Super Bowl episode to air again, plus Bones news". Chicago Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 20, 2014. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 24, 2008.
  198. Kubicek, John (October 9, 2007). "Exclusive Interview: 'House' Star Robert Sean Leonard". BuddyTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 5, 2012. สืบค้นเมื่อ September 8, 2008.
  199. Kubicek, John (February 4, 2008). "House: Post-Super Bowl Episode "Frozen" Recap". BuddyTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 29, 2012. สืบค้นเมื่อ October 18, 2008.
  200. Gorman, Bill (February 5, 2008). "Top Fox Primetime Shows, Jan 28 – Feb 3". TV by the Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 13, 2009. สืบค้นเมื่อ December 24, 2008.
  201. Gorman, Bill (February 24, 2008). "Top Time-Shifted Broadcast Shows, January 28 – February 3". TV by the Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 21, 2009. สืบค้นเมื่อ December 24, 2008.
  202. "ABC Television Network 2004–2005 Primetime Ranking Report". ABC Medianet. June 1, 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 21, 2012. สืบค้นเมื่อ November 6, 2007.
  203. "ABC Television Network 2005–2006 Primetime Ranking Report". ABC Medianet. May 31, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 6, 2011. สืบค้นเมื่อ November 6, 2007.
  204. "ABC Television Network 2006–2007 Primetime Ranking Report". ABC Medianet. May 30, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 23, 2012. สืบค้นเมื่อ May 31, 2011.
  205. "ABC Television Network 2007–2008 Primetime Ranking Report". ABC Medianet. May 28, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 13, 2010. สืบค้นเมื่อ July 3, 2009.
  206. "ABC Television Network 2008–2009 Primetime Ranking Report". ABC Medianet. June 2, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 7, 2009. สืบค้นเมื่อ May 31, 2011.
  207. "Final 2009–10 Broadcast Primetime Show Average Viewership". TV by the Numbers. June 16, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 19, 2010. สืบค้นเมื่อ July 29, 2010.
  208. Gorman, Bill (June 1, 2011). "2010–11 Season Broadcast Primetime Show Viewership Averages". TV by the Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 4, 2011. สืบค้นเมื่อ June 1, 2011.
  209. "House on Fox". The Futon Critic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กันยายน 12, 2012. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 23, 2012.
  210. Gorman, Bill (พฤษภาคม 24, 2012). "Complete List Of 2011–12 Season TV Show Viewership: 'Sunday Night Football' Tops, Followed By 'American Idol,' 'NCIS' & 'Dancing With The Stars'". TVbytheNumbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 28, 2012. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 24, 2012.
  211. 211.0 211.1 "AFI TV Programs of the Year-Official Selections". American Film Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 1, 2008. สืบค้นเมื่อ September 26, 2008.
  212. "First Set Of Presenters Announced for the 60th Primetime Emmy Awards Airing Sunday, September 21, on ABC". Academy of Television Arts & Sciences. August 21, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 25, 2008. สืบค้นเมื่อ September 26, 2008.
  213. "58th Primetime Emmy Awards Nominees and Winners". Academy of Television Arts & Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มิถุนายน 6, 2016. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 21, 2016. "59th Emmy Awards Nominees and Winners". Academy of Television Arts & Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 14, 2016. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 21, 2016. "60th Emmy Awards Nominees and Winners". Academy of Television Arts & Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 12, 2016. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 21, 2016. "61st Emmy Awards Nominees and Winners". Academy of Television Arts & Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 14, 2016. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 21, 2016.
  214. "Full list of Emmy winners". The Sydney Morning Herald. Associated Press. กันยายน 19, 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มีนาคม 7, 2014. สืบค้นเมื่อ มกราคม 25, 2009.
  215. "32nd Humanitas prize winners announced" (PDF). Humanitas Prize. June 28, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ April 6, 2008. สืบค้นเมื่อ January 26, 2009.
  216. "Academy of Television Arts and Sciences 60th Primetime Emmy Awards" (PDF) (Press release). Academy of Television Arts & Sciences. September 21, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 19, 2009. สืบค้นเมื่อ October 18, 2008.
  217. "Golden Globe Nominations and Winners (2006)". Hollywood Foreign Press Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 9, 2008. สืบค้นเมื่อ September 26, 2008.
  218. "Golden Globe Winners". New York Times. Associated Press. มกราคม 16, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 20, 2013. สืบค้นเมื่อ เมษายน 2, 2012.
  219. "Golden Globe Awards: Hugh Laurie". Hollywood Foreign Press Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 5, 2016. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 10, 2016.
  220. "Winners of the 64th Annual Golden Globe Awards". Fox News Channel. Associated Press. January 16, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-24. สืบค้นเมื่อ April 2, 2012.
  221. "HFPA – Nominations and Winners". Hollywood Foreign Press Association. Hollywood Foreign Press Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 3, 2009. สืบค้นเมื่อ July 4, 2008.
  222. Williams, Don (December 11, 2008). "Golden Globes: 'True Blood','Mad Men' Among Nominees". BuddyTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 14, 2009. สืบค้นเมื่อ December 11, 2008.
  223. 65th Annual Peabody Awards เก็บถาวร 2015-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, May 2006.
  224. Nordyke, Kimberly (มกราคม 6, 2011). "'Twilight,' 'House' Top People's Choice Awards". Hollywood Reporter. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤศจิกายน 2, 2012. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 6, 2011.
  225. "15th Annual Screen Actors Guild Awards Nominee's and Recipients". Screen Actors Guild Award. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 18, 2010. สืบค้นเมื่อ May 10, 2009.Woo, Kelly (มกราคม 28, 2007). "And the Actor Goes to ... SAG Award Winners". TV Squad. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มิถุนายน 1, 2007. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 10, 2009.
  226. "2006 Awards winners". Writers Guild of America Awards. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-03. สืบค้นเมื่อ September 23, 2008.
  227. "2006–2007 Creative Arts Primetime Emmys" (PDF) (Press release). Academy of Television Arts & Sciences. September 8, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 26, 2009. สืบค้นเมื่อ May 29, 2009.
  228. Diaz, Glen L. (August 11, 2008). "Move over Clooney, 'House' is Here". BuddyTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 3, 2014. สืบค้นเมื่อ October 4, 2008.
  229. "'House' Is World's Most Popular TV Show: Ratings". AFP. June 12, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 18, 2009. สืบค้นเมื่อ June 13, 2009.
  230. "'House' Becomes World's Most Popular TV Show". Huffington Post. มิถุนายน 12, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 12, 2014. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 8, 2009.
  231. Porter, Rick (June 11, 2010). "'CSI': The world's most-watched show". Zap2it. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 15, 2010. สืบค้นเมื่อ June 6, 2011.
  232. "House". Global Television Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 21, 2009. สืบค้นเมื่อ May 9, 2009.
  233. McLean, Thomas (October 3, 2008). "Canada: U.S. imports hold sway, but a two-way street emerges". Variety. สืบค้นเมื่อ June 11, 2009.
  234. Meza, Ed (October 3, 2008). "Germany: Channels duke it out with mostly U.S. fare". Variety. สืบค้นเมื่อ June 11, 2009.
  235. Vivarelli, Nick (October 3, 2008). "Italy: Industry marches to global drummers". Variety. สืบค้นเมื่อ June 11, 2009.
  236. Nadler, John (October 3, 2008). "Czech Republic: Opening the digital floodgates". Variety. สืบค้นเมื่อ June 11, 2009.
  237. Davies, Lizzy (เมษายน 12, 2009). "France falls in love with Hugh Laurie, 'the greatest seducer in the world'". Observer. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กันยายน 6, 2013. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 10, 2009.
  238. Wilson, Douglas (October 3, 2008). "Spain: The good, the bad, and the digital". Variety. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 15, 2012. สืบค้นเมื่อ June 11, 2009.
  239. Levine, Stuart (January 29, 2009). "'House' connects across the globe". Variety. สืบค้นเมื่อ June 18, 2009.
  240. Holmwood, Leigh (เมษายน 20, 2009). "Sky1 to Air Hugh Laurie Drama House". The Guardian. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤศจิกายน 11, 2013. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 9, 2009.
  241. "TV Shows: House, M.D". Network Ten. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 15, 2009. สืบค้นเมื่อ May 9, 2009.
  242. "House, M.D". TV3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 10, 2008. สืบค้นเมื่อ May 9, 2009.
  243. "House". TV3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 23, 2009. สืบค้นเมื่อ May 9, 2009.
  244. Sassone, Bob (ตุลาคม 2, 2007). "New Episodes of Fox's House Won't Be on iTunes". TV Squad. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กรกฎาคม 3, 2009. สืบค้นเมื่อ พฤษภาคม 9, 2009.Weprin, Alex (January 10, 2007). "New Episodes of Fox's House Won't Be on iTunes". Broadcasting & Cable. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2013. สืบค้นเมื่อ May 9, 2009.
  245. Claustro, Lisa (October 12, 2007). "House to Cease Being Carried on iTunes". BuddyTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 9, 2014. สืบค้นเมื่อ May 9, 2009.
  246. "NBC shows return to iTunes". The Hollywood Reporter. September 9, 2008. สืบค้นเมื่อ June 15, 2009.
  247. Love, Brett (กันยายน 10, 2009). "NBC returns to iTunes, in HD". TV Squad. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ธันวาคม 29, 2008. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 15, 2009.
  248. "House \ Mondays 8/7c (Episodes Online 8 Days After Broadcast)". Fox. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 12, 2009. สืบค้นเมื่อ May 9, 2009.
  249. "Will House M.D Return to Netflix?". What's on Netflix?. 2017-04-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-27. สืบค้นเมื่อ 2018-03-27.
  250. ASIN B0024FAD8I, House, M.D.: Season Five
  251. Lambert, David (January 26, 2009). "House New "Repackaged" Season 1 Set Coming in Two Weeks Brings Anamorphic Video". TVShowsOnDVD.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 22, 2014. สืบค้นเมื่อ May 9, 2009.
  252. ASIN B000E0RFY0, House – Season 1 (Hugh Laurie) [DVD]
  253. "House, M.D. – Season 1 (6 Disc Set)". EzyDVD.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 13, 2009. สืบค้นเมื่อ May 9, 2009.
  254. ""House" Items for Sale and Charity Auction". TV Fodder. เมษายน 23, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ มิถุนายน 20, 2013. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 18, 2009.
  255. "NBCUniversal Store – House Charity Tees". NBCUniversal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 30, 2011. สืบค้นเมื่อ June 18, 2009.
  256. Weisman, Jon (January 29, 2009). "NAMI benefits from 'House' support". Variety. สืบค้นเมื่อ April 6, 2009.
  257. Claustro, Lisa (September 4, 2007). "Get Ready for Some 'House' Music". BuddyTV. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 19, 2012. สืบค้นเมื่อ November 8, 2008.
  258. Staff (August 14, 2007). "House Gets A Soundtrack". IGN Music. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 26, 2009. สืบค้นเมื่อ November 8, 2008.
  259. "House, the mobile game based on the TV series" (ภาษาสเปน). Exelweiss. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ สิงหาคม 7, 2014. สืบค้นเมื่อ สิงหาคม 21, 2008.
  260. "Companies Announce House M.D. for the PC and Nintendo DS and Murder, She Wrote for the PC". Legacy Interactive. June 2, 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 2, 2010. สืบค้นเมื่อ June 5, 2009.
  261. 261.0 261.1 Wolinsky, David (พฤษภาคม 17, 2010). "House M.D". The A.V. Club. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤศจิกายน 4, 2012. สืบค้นเมื่อ พฤศจิกายน 15, 2012.

อ้างอิง แก้

อ่านเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้