เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป

บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ย่อ M) ประกอบธุรกิจร้านอาหาร จดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจหลัก คือ ร้านอาหารประเภทสุกียากี้ ชื่อ เอ็มเค สุกี้ นอกจากนี้ยังดำเนินงานร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ, ฮากาตะ และ มิยาซากิ มีร้านอาหารไทย ณ สยาม และ เลอสยาม มีร้านร้านกาแฟ/เบเกอรี่ ที่ชื่อ เลอ เพอทิท[1] ร้านข้าวกล่องที่ชื่อ บิซซี่ บ็อกซ์ และร้านขนมหวานที่ชื่อ เอ็มเค ฮาร์เวสต์

บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชน
การซื้อขาย
M
ISINTH4577010002
อุตสาหกรรมอาหาร
ก่อตั้ง2 มีนาคม พ.ศ. 2529 (เอ็มเคสาขาแรก)
10 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 (จดทะเบียนบริษัท)
ผู้ก่อตั้งมาคอง คิงยี
สำนักงานใหญ่1200 ถนนเทพรัตน แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลัก
ฤทธิ์ ธีระโกเมน (ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร)
ผลิตภัณฑ์ร้านอาหาร
รายได้17,233.76 ล้านบาท (2561)
สินทรัพย์16,981.55 ล้านบาท (30 มิถุนายน 2562)
ส่วนของผู้ถือหุ้น14,376.80 ล้านบาท (30 มิถุนายน 2562)
เว็บไซต์เว็บไซต์หลักเอ็มเค

จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 มีร้านเอ็มเค สุกี้ ทั้งสิ้น 455 สาขา (รวมร้านเอ็มเค โกลด์ 5 สาขา และเอ็มเค ไลฟ์ 4 สาขา), ร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ 193 สาขา, ร้านอาหารแหลมเจริญ ซีฟู้ด 31 สาขา, ร้านอาหารญี่ปุ่น ฮากาตะ 2 สาขา, ร้านมิยาซากิ 15 สาขา, ร้านอาหารไทย เลอ สยาม 3 สาขา, ร้านอาหารไทย ณ สยาม 1 สาขา, ร้านบิซซี่ บ็อกซ์ 3 สาขา, ร้านเลอ เพอทิท 3 สาขา ยังมีแฟรนไชส์ร้านในประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารในสิงคโปร์[2]

ประวัติ แก้

จุดเริ่มต้นของภัตตาคารเอ็มเค เป็นร้านอาหารไทยคูหาเดียว ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าสยามสแควร์ ดำเนินกิจการโดย ทองคำ เมฆโต ซึ่งซื้อกิจการมาจาก มาคอง คิงยี (Markon Kingyee - MK) ชาวฮ่องกง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2505[3] โดยมีอาหารต่าง ๆ อาทิ ข้าวมันไก่ ผัดไทย ผัดขี้เมา เนื้อตุ๋น ปลาช่อนแป๊ะซะ เนื้อย่างด้วยเตาถ่านแบบเกาหลี และต่อมาขยายเป็นสองคูหา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2527 สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ อดีตประธานกรรมการบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ชักชวนให้ทองคำเปิดร้านอาหารไทย ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ด้วยชื่อร้านใหม่ว่า กรีน เอ็มเค [4]

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2529 ร้านกรีนเอ็มเคก็เปลี่ยนมาเป็น ร้านสุกี้เอ็มเคสาขาแรก ซึ่งในช่วงเดียวกันนี้ บุตรชาย-บุตรสาวและบุตรเขยของทองคำ ก็เข้ามาช่วยนำการตลาดสมัยใหม่ในการดำเนินกิจการ พร้อมทั้งขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2539 เอ็มเคฯ เริ่มทยอยเปลี่ยนหม้อต้มสุกียากี้ จากระบบแก๊สหุงต้มมาเป็นไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้นของลูกค้าและพนักงาน พร้อมทั้งปรับปรุงรูปแบบการตกแต่งร้านและผลิตภัณฑ์ภายในร้านขึ้นใหม่[4]

ภัตตาคารเอ็มเคฯ ยังเปิดให้บริการร้านสุกียากี้คุณภาพสูง ในชื่อเอ็มเคโกลด์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 และร้านสุกี้ยากี้เพื่อสุขภาพ ในชื่อเอ็มเคไลฟ์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560

ธุรกิจ แก้

ธุรกิจร้านสุกี้ แก้

 
อาหารประเภทสุกี้ในร้านเอ็มเค สุกี้
 
เอ็มเคไลฟ์ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์
 
เอ็มเค สุกี้ ในประเทศญี่ปุ่น

ร้านเอ็มเค สุกี้ มีอาหารหลักประเภทสุกี้ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ลูกชิ้น ผักสด กว่า 100 รายการ สำหรับลวกในหม้อสุกี้ ยังมีอาหารประเภทอื่น ได้แก่ ติ่มซำ ซาลาเปา ขนมจีบ ฮะเก๋า อาหารจานเดียว เช่น เป็ดย่าง หมูแดงอบน้ำผึ้ง ซี่โครงหมูนึ่งอบเต้าเจี้ยว เนื้อเปื่อยฮ่องกง บะหมี่หยก เกี๊ยวน้ำ รวมถึงผลไม้ ขนมหวาน ไอศกรีม เครื่องดื่มต่าง ๆ

ร้านเอ็มเค สุกี้ มีจำนวน 446 สาขาในประเทศไทย ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า โมเดิร์นเทรด และคอมมูนิตีมอลล์ ได้แก่ บิ๊กซี โลตัส โรบินสัน เดอะมอลล์ เป็นต้น มีกลุ่มเป้าหมายคือ ครอบครัว กลุ่มเพื่อน คนทำงานที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ร้านเอ็มเค โกลด์ มีกลุ่มเป้าหมายเดิมของร้านเอ็มเค สุกี้ ที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มี 5 สาขา ตั้งอยู่สยามพารากอน ศาลาแดง เอสพลานาด รัชดาภิเษก เอกมัย และจังซีลอน ส่วนร้านเอ็มเค ไลฟ์ มีกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มเจเนอเรชันวาย มีเมนูพิเศษ เช่น สุกี้นึ่ง และสุกียากี้สไตล์ญี่ปุ่นต้นตำรับ มี 4 สาขา ได้แก่ สาขาเอ็มควอเทียร์ เมกาบางนา ไอคอนสยาม และเซ็นทรัลเวิลด์[2]

ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น แก้

ร้านอาหารยาโยอิ ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ในการดำเนินกิจการจาก Plenus Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น สาขาแรกเปิดในปี พ.ศ. 2549 บริการอาหารญี่ปุ่นจานเดียวและอาหารเป็นชุด มีเมนูเช่น หมูชุบแป้งทอดราดซอสมิโสะ หมูย่าง กระทะร้อน ข้าวหน้าเนื้อประเภทต่างๆ ข้าวกล่องแบบญี่ปุ่น อุด้ง ราเมน ของทานเล่น เช่น เกี๊ยวซ่า พิซซ่าญี่ปุ่น และขนมหวาน เครื่องดื่ม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีร้าน 195 สาขาทั่วประเทศ

ร้านฮากาตะ เปิดสาขาแรกที่โรงพยาบาลศิริราช บริการอาหารญี่ปุ่นประเภทราเมนชนิดต่าง ๆ เกี๊ยวซ่า และเครื่องดื่ม มีจำนวน 2 สาขา ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช และดอนเมือง

ร้านมิยาซากิ เปิดสาขาแรกในเดือนตุลาคม ปี 2555 ที่ศูนย์การค้าเดอะซีน ทาวน์อินทาวน์ ซ. ลาดพร้าว 94 ให้บริการอาหารญี่ปุ่นกระทะร้อนประเภทต่าง ๆ (เทปปันยากิ) เครื่องดื่มและขนมหวาน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ร้านมิยาซากิ มีจำนวน 13 สาขา[2]

ธุรกิจร้านอาหารไทย แก้

ในปี พ.ศ. 2562 เอ็มเคได้เข้าร่วมลงทุนในกิจการร้านอาหารแหลมเจริญซีฟู้ด ในสัดส่วนร้อยละ 65 ของทุนจดทะเบียนบริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด[5]

ร้านอาหารแหลมเจริญ ซีฟู้ด เป็นร้านอาหารทะเลแบบไทยที่มีเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดระยอง มีความโดดเด่นด้วยคุณภาพ ความสด และรสชาติ โดยมีเมนูยอดนิยม อาทิ ปลากระพงทอดน้ำปลา โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ร้านแหลมเจริญ ซีฟู้ด มีจำนวน 36 สาขา

ร้าน ณ สยาม เป็นร้านอาหารไทยตกแต่งร้านรูปแบบไทย มีสาขาแรกที่สยามสแควร์ เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูง มีเมนูอาหารประเภทกับข้าวได้แก่ น้ำพริก ต้มยำ แกง ผัดผักชนิดต่าง ๆ อาหารจานเดียว ก๋วยเตี๋ยว อาหารทานเล่น ของหวาน และเครื่องดื่ม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มี 1 ร้าน ตั้งอยู่เซ็นทรัล บางนา

สำหรับร้านอาหาร เลอ สยาม เป็นร้านอาหารไทยตกแต่งร้านรูปแบบไทย เน้นกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ หรือกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ค่อนข้างสูง และต้องการใช้ร้านเป็นสถานที่เลี้ยงรับรอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มี 3 สาขา ได้แก่ สาขาศาลาแดง สาขาจังซีลอน จังหวัดภูเก็ต และลอนดอนสตรีต กรุงเทพฯ[2]

ธุรกิจร้านกาแฟและเบเกอรี แก้

ร้านเลอ เพอทิท เปิดร้านแรกปี 2555 บริการขนมทานเล่น เบเกอรี กาแฟ และเครื่องดื่ม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มี 3 สาขา คือ สาขาโรงพยาบาลศิริราช สาขาลอนดอนสตรีท และสาขาสำนักงานใหญ่ ถนนเทพรัตน[2]

ธุรกิจอื่น แก้

ร้านข้าวกล่อง ชื่อร้าน บิซซี่ บ็อกซ์ เป็นเมนูข้าวกล่อง ลูกค้านำเงินไปจ่ายที่แคชเชียร์ มีอาหารไทย ญี่ปุ่น ตะวันตก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ร้านบิซซี่ บ็อกซ์ มีทั้งหมด 2 สาขา ในเขตกรุงเทพมหานคร

บริษัทฯ ยังมีบริการส่งถึงบ้าน และบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ ดำเนินงานโดยบริษัท เอ็ม เค อินเตอร์ฟู้ด จำกัด

บริษัทย่อย แก้

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีบริษัทย่อยดังนี้[6]

  • บริษัท เอ็ม เค อินเตอร์ ฟู้ด จำกัด (MKI) ถือหุ้นร้อยละ 100.00 ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ
  • บริษัท เอ็ม เค เซอร์วิส เทรนนิ่ง จำกัด (MKST) ถือหุ้นร้อยละ 100.00 ให้บริการฝึกอบรมบริการแก่บริษัทในเครือ
  • บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (IFS) ถือหุ้นร้อยละ 100.00 ผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย
  • บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด (MSL) ถือหุ้นร้อยละ 49.75 ประกอบธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าและจัดส่ง
  • บริษัท มาร์ค วัน อินโนเวชั่น เซ้นเตอร์ จำกัด (MKO) ถือหุ้นร้อยละ 100.00 วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม
  • บริษัท พลีนัส แอนด์ เอ็มเค พีทีอี ลิมิเท็ด ถือหุ้นร้อยละ 50.00 ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในประเทศสิงคโปร์
  • บริษัท พลีนัส-เอ็มเค ลิมิเท็ด ถือหุ้นร้อยละ 12.00 ดำเนินธุรกิจร้านเอ็มเค สุกี้ ในประเทศญี่ปุ่น
  • บริษัท แหลมเจริญซีฟู้ด จำกัด (LCS) ถือหุ้นร้อยละ 65.00 ดำเนินธุรกิจร้านอาหารแหลมเจริญ ซีฟู้ด

อ้างอิง แก้

  1. "สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)". ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2019.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "รายงานประจำปี 2565" (PDF). สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022.
  3. ประวัติของเอ็มเค. mkrestaurant.com.
  4. 4.0 4.1 ระบบสารสนเทศและประวัติของเอ็มเค. MK for goodhealth. 15 กันยายน 2010.
  5. "รายงานประจำปี 2564" (PDF). สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022.
  6. "ภาพรวมธุรกิจ". mkrestaurant.com. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้