เอ็งกะ (ญี่ปุ่น: 演歌โรมาจิEnka) (演 (เอ็ง) แปลว่า การแสดง ความบันเทิง / 歌 (คะ) แปลว่า เพลง) คือ รูปแบบดนตรีที่มีการผสมผสานกันระหว่างแนวดนตรีสองแนวที่แตกต่างกัน แนวแรกคือแนวดนตรีแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นในช่วงยุคเมจิ (พ.ศ. 24112455) กับยุคไทโช (พ.ศ. 2455 – 2469) ส่วนแนวที่สองคือแนวเพลงประโลมโลกแบบป็อปของญี่ปุ่นที่มีกลิ่นอายของเพลงสไตล์คันทรีแบบอเมริกันผสมอยูด้วย โดยเอ็งกะในปัจจุบันนั้น จะหนักไปทางแนวที่สองมากกว่า

เอ็งกะกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น สมัยยุคเมจิ โดยได้รับอิทธิพลหรือมีรากฐานมาจากเพลงทางเกาหลีหรือจีน ในช่วงแรก เพลงแนวนี้ถูกนำมาใช้ในด้านการเมืองอยู่บ่อย ๆ อย่างเช่นนำมาใช้แปลงบทแถลงการณ์ต่าง ๆ ให้เป็นทำนองเพลงเพื่อง่ายต่อการเผยแพร่ เป็นต้น แต่ในเวลาต่อมา การใช้ประโยชน์ในด้านนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

แนวเพลงเอ็งกะนี้ ถือได้ว่าเป็นแนวเพลงแรกที่สังเคราะห์เอาสเกลโน้ตเพ็นทาโกนิคของเพลงญี่ปุ่นรวมเข้ากับท่วงทำนองของดนตรีสไตล์ตะวันตกได้เป็นอย่างดี เนื้อร้องของเพลงแนวนี้ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องความรักและการสูญเสีย ความเหงา ความรันทด ความทุกข์ยากลำบาก ไปจนถึงความตายและการฆ่าตัวตาย เอ็งกะจะสะท้อนให้เห็นถึงประเพณี อุดมการณ์ หรือความเย้ายวนใจในมุมมองของวัฒนธรรมหรือทัศนคติในแบบของญี่ปุ่น คล้ายกับแนวเพลงคันทรีของอเมริกันและเพลงสไตล์ตะวันตก

นักร้องเพลงแนวเอ็งกะที่โด่งดังและเป็นที่รักมากที่สุดคือ ฮิบาริ มิโซระ (พ.ศ. 2480 – พ.ศ. 2532) เธอได้รับการขนานนามว่าเป็น "ราชินีเพลงเอ็งกะ" และ "ราชินีแห่งยุคโชวะ" ในช่วงที่เธอยังมีชีวิตอยู่และได้รับความนิยมมากที่สุด

เอ็งกะได้รับความนิยมมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงช่วงทศวรรษล่าสุดนี้เองที่เพลงเอ็งกะได้เสื่อมความนิยมลงทั้งทางด้านยอดขายและการยอมรับ ประจวบกับการที่เพลงแนวเจ-ป็อปแบบอเมริกันโด่งดังขึ้นมาแทนที่พอดี เหตุหนึ่งที่เอ็งกะเดินทางมาถึงช่วงขาลงตรงจุดนี้ก็เพราะว่านักฟังชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ ๆ ไม่ประทับใจแนวเพลงดั้งเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีชาวญี่ปุ่นอีกหลาย ๆ คนที่ยังหลงใหลกับเพลงแนวเอ็งกะนี้อยู่ จนกระทั่งต่อมา เมื่อนักร้องขวัญใจวัยรุ่นของญี่ปุ่นในช่วงนั้นอย่างคิโยชิ ฮิกาวะ และยูโกะ นากาซาวะ (อดีตสมาชิกรุ่นที่ 1 ของมอร์นิงมูซูเมะ) หันมาร้องเพลงแนวเอ็งกะบ้าง ก็ทำให้แฟนเพลงหนุ่มสาวของญี่ปุ่นหันมานิยมเพลงแนวนี้ได้พอสมควร

การแต่งกายของนักร้องเอ็งกะเวลาขึ้นแสดงส่วนใหญ่ ถ้าหากว่าเป็นผู้หญิงพวกเธอจะใส่ชุดกิโมโนหรือไม่ก็ชุดราตรีในการแสดง และถ้าหากว่าเป็นผู้ชายพวกเขาจะใส่ชุดที่เป็นทางการหรือไม่ก็ชุดญี่ปุ่นที่ถูกต้องตามประเพณี

เครื่องดนตรีที่ใช้ในเพลงแนวเอ็งกะก็จะเหมือนกันกับที่ใช้ในเพลงดั้งเดิมของญี่ปุ่นทั่วไป อย่างเช่น ชิโนบูเอะ และชามิเซ็ง เป็นต้น ส่วนแหล่งที่จะสามารถฟังเพลงเหล่านี้ได้ในญี่ปุ่น นอกจากจะในรายการโทรทัศน์และวิทยุแล้ว ก็คือที่ร้านอาหาร ร้านสุรา คาเฟ่ และสถานที่ให้บริการคาราโอเกะ

ในสหรัฐอเมริกา เอ็งกะก็ยังได้รับความนิยมอยู่ในกลุ่มคนที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกัน (โดยเฉพาะที่สูงอายุแล้ว) แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีแฟนเพลงเอ็งกะที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นอยู่ด้วย นอกจากนั้นแล้ว ในอเมริกาก็ยังมีวงดนตรีและนักร้องแนวเอ็งกะอยู่ด้วยเหมือนกัน อย่างเช่นวง ซานโฮเซ จิโดริ ที่เปิดการแสดงในเทศกาลโอบงในช่วงฤดูร้อนอยู่เป็นครั้งคราว เป็นต้น

ศิลปินแนวเอ็งกะ แก้

ต่อไปนี้จะเป็นรายชื่อของนักร้องญี่ปุ่นแนวเอ็งกะที่มีชื่อเสียง

แหล่งข้อมูลอื่น แก้