เอียวหงี (เสียชีวิต มีนาคมหรือเมษายน ค.ศ. 235) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หยาง อี๋ (จีน: 楊儀; พินอิน: Yáng Yí) ชื่อรอง เวย์กง (จีน: 威公; พินอิน: Wēigōng) เป็นขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน

เอียวหงี (หยาง อี๋)
楊儀
รูปปั้นของเอียวหงีในศาลจูกัดเหลียงที่ทุ่งราบอู่จ้าง มณฑลฉ่านซี
ที่ปรึกษาทัพกลาง (中軍師 จงจฺวินชือ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 234 (234) – ค.ศ. 235 (235)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนพลสงบทัพ
(綏軍將軍 ซุยจฺวินเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 230 (230) – ค.ศ. 234 (234)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
หัวหน้าเลขานุการของอัครมหาเสนาบดี
(丞相長史 เฉิงเซี่ยงจ๋างฉื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 230 (230) – ค.ศ. 234 (234)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
เสนาธิการทัพ (參軍 ชานจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 225 (225) – ค.ศ. 230 (230)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
เจ้าเมืองฮองหลง (弘農太守 หงหนงไท่โฉ่ว)
(แต่ในนาม)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 222 (222) – ค.ศ. 225 (225)
กษัตริย์เล่าปี่ / เล่าเสี้ยน
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 219 (219) – ค.ศ. 222 (222)
กษัตริย์เล่าปี่
หัวหน้ารัฐบาลจูกัดเหลียง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์
เสียชีวิตค.ศ. 235
อำเภอหลูชาน มณฑลเสฉวน
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองเวย์กง (威公)

ประวัติและการรับราชการช่วงต้น แก้

เอียวหงีเป็นชาวเมืองซงหยง (襄陽 เซียงหยาง) ในมณฑลเกงจิ๋ว ซึ่งอยู่บริเวณนครเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน เอียวหงีเกิดในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและเริ่มรับราชการเป็นนายทะเบียน (主簿 จู่ปู้) ภายใต้ฟู่ ฉฺวิน (傅羣) ข้าหลวง (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเกงจิ๋ว แต่ภายหลังเอียวหงีแปรพักตร์ไปเข้าด้วยกวนอู ขุนพลของขุนศึกเล่าปี่ กวนอูแต่งตั้งเอียวหงีให้เป็นเจ้าหน้าที่ปกครอง (功曹 กงเฉา) และส่งตัวไปยังเซงโต๋ เมืองเอกของมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) เพื่อพบกับเล่าปี่ เล่าปี่สนทนากับเอียวหงีในเรื่องยุทธวิธีและการเมืองและรู้สึกประทับใจกับคำพูดของเอียวหงีจึงตั้งให้เอียวหงีเป็นขุนนางผู้ช่วย ( เยฺวี่ยน) ในสำนักของตน[a] เล่าปี่เลื่อนตำแหน่งให้เอียวหงีเป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) ในปี ค.ศ. 219 หลังเล่าปี่สถาปนาตนเป็น "อ๋องแห่งฮันต๋ง" (漢中王 ฮั่นจงหวาง) หลังได้รับชัยชนะในยุทธการที่ฮันต๋ง[1]

ในปี ค.ศ. 221 เล่าปี่สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิและก่อตั้งรัฐจ๊กก๊กเพื่อต่อต้านการอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ราชวงศ์ฮั่นของโจผี[b] ในปีถัดมาระหว่างที่เล่าปี่ยกทัพไปทำศึกกับซุนกวน อดีตพันธมิตรที่กลายเป็นศัตรู เอียวหงีทำให้เล่าป๋าผู้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) ไม่พอใจ เล่าป๋าจึงให้เอียวหงีมีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองฮองหลง (弘農郡 หงหนงจฺวิน; อยู่บริเวณนครหลิงเป่า มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเพียงตำแหน่งแต่ในนามเพราะเมืองฮองหลงไม่ได้อยู่ในอาณาเขตของจ๊กก๊ก[2]

การรับราชการช่วงกลาง แก้

หลังการสวรรตตของเล่าปี่ในปี ค.ศ. 223 เอียวหงียังคงรับราชการกับจ๊กก๊กภายใต้เล่าเสี้ยนผู้เป็นโอรสและรัชทายาทของเล่าปี่ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากอัครมหาเสนาบดีจูกัดเหลียง

ในปี ค.ศ. 225 จูกัดเหลียงให้เอียวหงีย้ายไปสำนักของอัครมหาเสนาบดี ให้เอียวหงีทำหน้าที่เป็นเสนาธิการทัพ (參軍 ชานจฺวิน) ภายหลังในปีเดียวกัน เอียวหงีติดตามจูกัดเหลียงในการทัพรบกับกองกำลังกบฏและชนเผ่าต่าง ๆ ที่ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของจ๊กก๊ก

ในปี ค.ศ. 227 เอียวหงีติดตามจูกัดเหลียงไปยังฮันต๋ง ในปี ค.ศ. 230 เอียวหงีได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าเลขานุการ (長史 จ๋างฉื่อ) และได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลสงบทัพ (綏軍將軍 ซุยจฺวินเจียงจฺวิน) ในช่วงหลายปีต่อมาเมื่อจูกัดเหลียงนำทัพบุกขึ้นเหนือรบกับวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊กหลายครั้ง เอียวหงีมีหน้าที่รับผิดชอบจัดการทรัพยากรบุคคลและการขนส่ง[3]

เอียวหงีไม่ลงรอยกับอุยเอี๋ยนขุนพลอาวุโสของจ๊กก๊กและมักทะเลาะกันบ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งอุยเอี๋ยนมักชักกระบี่ออกมากวัดแกว่งต่อหน้าเอียวหงี เอียวหงีจึงร้องไห้น้ำตาอาบแก้ม บิฮุยจึงเข้ามาหยุดการวิวาทของทั้งคู่และสามารถควบคุมทั้งคู่ได้ในช่วงเวลาที่จูกัดเหลียงยังมีชีวิตอยู่[4] จูกัดเหลียงรู้สึกไม่สบายใจเรื่องที่เอียวหงีและอุยเอี๋ยนเข้ากันไม่ได้ แต่ก็ไม่อยากจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพราะชื่นชมความสามารถของทั้งคู่

ในปี ค.ศ. 234 เอียวหงีติดตามจูกัดเหลียงในการบุกวุยก๊กอีกครั้งซึ่งนำไปสู่ภาวะคุมเชิงในยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง จูกัดเหลียงป่วยเสียชีวิตระหว่างการคุมเชิงกัน ต่อมาเอียวหงีและคนอื่น ๆ ที่มีคำสั่งให้ถอยทัพกลับจ๊กก๊ก ในช่วงเวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างเอียวหงีและอุยเอี๋ยนแย่ลงจนถึงจุดแตกหัก ทั้งคู่ต่างก็กล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นกบฏและเกือบจะเริ่มทำสงครามกลางเมืองในจ๊กก๊ก ความขัดแย้งสิ้นสุดลงด้วยการเสียชีวิตของอุยเอี๋ยน[c][5]

ประวัติช่วงปลายและเสียชีวิต แก้

หลังกลับมาที่นครเซงโต๋ เอียวหงีเห็นว่าตนคงมีความดีความชอบยิ่งใหญ่จึงเชื่อมั่นว่าตนจะได้รับเลือกให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของจูกัดเหลียงในฐานะผู้นำขุนนางราชสำนักจ๊กก๊กคนใหม่ เอียวหงีขอให้เจ้า เจิ้ง (趙正) ใช้วิชาอี้จิงทำนายดวงชะตาให้ตน แล้วก็ต้องผิดหวังที่คำทำนายไม่เป็นไปตามที่ตนคาดหวัง เมื่อจูกัดเหลียงยังมีชีวิตได้แอบสังเกตว่าเอียวหงีเป็นคนหุนหันพลันแล่นและใจแคบ จูกัดเหลียงจึงเลือกเจียวอ้วนให้เป็นผู้สืบทอดของตน หลังการเสียชีวิตของจูกัดเหลียง เจียวอ้วนได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) และข้าหลวง (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเอ๊กจิ๋ว ส่วนเอียวหงีได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาการทหารส่วนกลาง (中軍師 จงจฺวินซือ) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง[6]

เดิมทีเมื่อเอียวหงีกำลังรับราชการในตำแหน่งราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) เจียวอ้วนมีตำแหน่งที่ต่ำกว่าเอียวหงี แต่ภายหลังทั้งคู่ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเลขานุการของจูกัดเหลียง เอียวหงีมองว่าตัวเองสูงส่งและเห็นว่าตนเหนือกว่าเจียวอ้วนเพราะตนเริ่มรับราชการในจ๊กก๊กมายาวนานกว่าเจียวอ้วน หลังเจียวอ้วนขึ้นเป็นผู้นำขุนนางขุนใหม่ของราชสำนักจ๊กก๊ก เอียวหงีก็มักบ่นแสดงความไม่พอใจอย่างเปิดเผย คนอื่น ๆ ต่างเพิกเฉยต่อเอียวหงีเพราะเอียวหงีเลือกใช้คำที่หยาบคายในการถ่ายทอดความคับข้องใจ ยกเว้นเพียงบิฮุยคนเดียวที่คอยปลอบโยนเอียวหงี ครั้งหนึ่งเอียวหงีพูดกับบิฮุยว่า "เมื่อครั้งท่านอัครมหาเสนาบดี (จูกัดเหลียง) สิ้นชีพ ข้าควรนำคนไปเข้าด้วยกับวุยเสียถ้ารู้ว่าข้าจะต้องลงเอยเช่นทุกวันนี้ ข้าเสียดายอย่างมากแต่บัดนี้ข้าทำอะไรไม่ได้แล้ว" บิฮุยลอบรายงานเรื่องที่เอียวหงีพูดไปยังราชสำนักจ๊กก๊ก

ต้นปี ค.ศ. 235[d] เอียวหงีถูกปลดจากตำแหน่ง ถูกลดสถานะลงเป็นสามัญชน และถูกเทรเทศไปอยู่เมืองแก่กุ๋น (漢嘉郡 ฮั่นเจียจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภอหลูชาน มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) ระหว่างที่อยู่ในเมืองแก่กุ๋น เอียวหงีเขียนฎีกาถึงราชสำนักจ๊กก๊กด้วยสำนวนภาษาที่ใส่อารมณ์รุนแรงเพื่อแสดงความคับข้องใจและด่าว่าราชสำนัก ราชสำนักตัดสินว่าเอียวหงีมีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและมีคำสั่งให้จับตัวเอียวหงี เอียวหงีจึงฆ่าตัวตาย ครอบครัวของเอียวหงีกลับไปยังนครเซงโต๋หลังการเสียชีวิตของเอียวหงี[7]

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. เล่าปี่ดำรงยศเป็นขุนพลซ้าย (左將軍 จั่วเจียงจฺวิน) ภายใต้ราชสำนักฮั่น ชื่อตำแหน่งเต็มของเอียวหงีจึงเป็น "ขุนนางผู้ช่วยในสำนักกิจการทหารของขุนพลซ้าย" (左將軍兵曹掾 จั่วเจียงจฺวินปิงเฉาเยฺวี่ยน)
  2. โจผีโค่นล้มราชวงศ์ฮั่นในปลายปี ค.ศ. 220 โดยการบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ จักรพรรดิลำดับสุดท้ายของราชวงศ์ฮั่นให้สละบัลลังก์ให้ตน ภายหลังโจผีจึงก่อตั้งรัฐวุยก๊กโดยตนเป็นจักรพรรดิลำดับแรก เหตุการณ์นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสากก๊กอย่างเป็นทางการ
  3. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่อุยเอี๋ยน#เสียชีวิต
  4. จือจื้อทงเจี้ยนเล่มที่ 73 ระบุว่าเหตุการณ์ที่นำสู่การฆ่าตัวตายของเอียวหงีอยู่ในช่วงระหว่างวันติงซื่อของเดือน 2 ถึงวันเกิงอิ๋นของเดือน 3 ในศักราชชิงหลงปีที่ 3 ในรัชสมัยของโจยอย เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 14 มีนาคมถึง 16 เมษายน ค.ศ. 235 ในปฏิทินจูเลียน

อ้างอิง แก้

  1. (楊儀字威公,襄陽人也。建安中,為荊州刺史傅羣主簿,背羣而詣襄陽太守關羽。羽命為功曹,遣奉使西詣先主。先主與語論軍國計策,政治得失,大恱之,因辟為左將軍兵曹掾。及先主為漢中王,拔儀為尚書。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  2. (先主稱尊號,東征吳,儀與尚書令劉巴不睦,左遷遙署弘農太守。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  3. (建興三年,丞相亮以為參軍,署府事,將南行。五年,隨亮漢中。八年,遷長史,加綏軍將軍。亮數出軍,儀常規畫分部,籌度糧穀,不稽思慮,斯須便了。軍戎節度,取辦於儀。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  4. (值軍師魏延與長史楊儀相憎惡,每至並坐爭論,延或舉刃擬儀,儀泣涕橫集。禕常入其坐間,諫喻分別,終亮之世,各盡延、儀之用者,禕匡救之力也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  5. (亮深惜儀之才幹,憑魏延之驍勇,常恨二人之不平,不忍有所偏廢也。十二年,隨亮出屯谷口。亮卒于敵場。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  6. (儀旣領軍還,又誅討延,自以為功勳至大,宜當代亮秉政,呼都尉趙正以周易筮之,卦得家人,默然不恱。而亮平生宓指,以儀性狷狹,意在蔣琬,琬遂為尚書令、益州刺史。儀至,拜為中軍師,無所統領,從容而已。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  7. (初,儀為先主尚書,琬為尚書郎,後雖俱為丞相參軍長史,儀每從行,當其勞劇,自為年宦先琬,才能踰之,於是怨憤形于聲色,歎咤之音發於五內。時人畏其言語不節,莫敢從也,惟後軍師費禕往慰省之。儀對禕恨望,前後云云,又語禕曰:「往者丞相亡沒之際,吾若舉軍以就魏氏,處世寧當落度如此邪!令人追悔不可復及。」禕密表其言。十三年,廢儀為民,徙漢嘉郡。儀至徙所,復上書誹謗,辭指激切,遂下郡収儀。儀自殺,其妻子還蜀。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.

บรรณานุกรม แก้