เอฟ-14 ทอมแคท (อังกฤษ: F-14 Tomcat) เป็นเครื่องบินขับไล่ปีกพับสองที่นั่งสองเครื่องยนต์มีความเร็วเหนือเสียง เอฟ-14 เป็นเครื่องบินขับไล่ครองความได้เปรียบทางอากาศเครื่องบินสกัดกั้น และเครื่องบินลาดตระเวนทางยุทธวิธีของกองทัพเรือสหรัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517–2549 ต่อมามันได้เปลี่ยนมาทำภารกิจโจมตีที่แม่นยำเมื่อได้ใช้ระบบอินฟราเรดจับเป้ากลางคืนแลนเทิร์น (LANTIRN) [1] เอฟ-14 ถูกสร้างขึ้นหลังจากที่โครงการเอฟ-111 ล้มเหลว และเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่แบบแรกของสหรัฐฯ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับเครื่องบินมิกในสงครามเวียดนาม

เอฟ-14 ทอมแคท
บทบาทเครื่องบินสกัดกั้นหลากบทบาท
ชาติกำเนิด สหรัฐ
บริษัทผู้ผลิตกรัมแมน
เริ่มใช้กันยายน พ.ศ. 2517
ปลดประจำการ22 กันยายน พ.ศ. 2549 (กองทัพเรือสหรัฐ)
สถานะอยู่ในประจำการของอิหร่าน
ปลดประจำการจากสหรัฐฯ
ผู้ใช้งานหลักกองทัพเรือสหรัฐ
กองทัพอากาศอิหร่าน
จำนวนที่ผลิต712 ลำ
มูลค่า38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (พ.ศ. 2541)

มันได้เข้าประจำการในกองทัพเรือสหรัฐฯ เมื่อปี พ.ศ. 2517 โดยเข้าแทนที่เอฟ-4 แฟนทอม 2 ต่อมาถูกส่งให้กับกองทัพอากาศอิหร่านในปี พ.ศ. 2519 เมื่อสหรัฐฯ ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน มันถูกปลดประจำการจากกองทัพเรือสหรัฐ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยถูกแทนที่โดยเอฟ/เอ-18อี/เอฟ ซูเปอร์ฮอร์เน็ท[2] ในปีพ.ศ. 2551 มันยังคงประจำการในกองทัพอากาศสาธารณรัฐอิหร่าน

การพัฒนา แก้

 

โครงการเอฟ-14 ทอมแคทนั้นเริ่มขึ้นเมื่อกองทัพเรือสหรัฐตระหนักว่า ปัญหาน้ำหนักและความคล่องตัวกำลังทำลายเครื่องบินมากมายของตน (อย่างเอฟ-111บี) ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพเรืออย่างมาก ทางกองทัพเรือต้องการเครื่องบินขับไล่ป้องกันกองเรือ พร้อมด้วยบทบาทหลักในการเข้าสกัดกั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดของโซเวียต ก่อนที่พวกมันจะยิงขีปนาวุธเข้าใส่หมวดเรือบรรทุกเครื่องบินได้ กองทัพเรือยังต้องการให้เครื่องบินมีเอกลักษณ์เป็นเครื่องบินครองความได้เปรียบทางอากาศตามปกติ กองทัพเรือต่อต้านโครงการทีเอฟเอกซ์อย่างมาก ซึ่งร่วมกับความต้องการของกองทัพอากาศเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องบินโจมตีระดับต่ำ พวกเขากลัวว่าหากไม่คัดค้านจะทำให้ได้เครื่องบินที่ไม่สมบูรณ์ แต่ก็ถูกบังคับให้เข้าร่วมในโครงการจากคำสั่งโดยตรงของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมโรเบิร์ต แมคนามาร่าผู้ที่ต้องการแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อที่จะได้ลดค่าใช้จ่ายในโครงการพัฒนา ตัวอย่างก่อนหน้าอย่างเอฟ-4 แฟนทอม 2 ซึ่งเป็นโครงการของกองทัพเรือและกองนาวิกโยธินสหรัฐ ได้ถูกนำมาใช้โดยกองทัพอากาศ รองนายพลเรือโธมัส คอนนอลลี่ใช้การพัฒนาของเอฟ-111เอมาทดสอบและพบว่ามันในควมเร็วเหนือเสียงได้ยากและลงจอดก็ยากเช่นกัน ต่อมาเขาพิสูจน์ให้สภาคองเกรสเห็นว่าความกังวลของเขาต่อตำแหน่งของกระทรวงกองทัพเรือและในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2511 สภาคองเกรสก็ตัดงบของเอฟ-111บี ทำให้กองทัพเรือสามารถซื้อความต้องการใหม่ได้

ไม่นานกองบัญชาการระบบอากาศของกองทัพเรือได้ประกาศหาข้อเสนอสำหรับเครื่องบินขับไล่สำหรับกองทัพเรือ โดยเป็นเครื่องบินสองที่นั่งเรียงพร้อมความเร็วที่ 2.2 มัคและมีความสามารถในการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด ด้วยห้าบริษัทที่ยอมรับข้อเสนอ (สี่บริษัทร่วมกันสร้างแบบที่ปีกพับได้เหมือนกับเอฟ-111) แมคดอนเนลล์ ดักลาสและกรัมแมนถูกเลือกให้เป็นสองบริษัทสุดท้ายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2511 และกรัมแมนก็ชนะสัญญาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2512 กรัมแมนนั้นเป็นผู้ร่วมงานในเอฟ-111บี และได้เริ่มงานในอีกทางเลือกเมื่อพวกเขาเห็นว่าโครงการเดิมกำลังแย่ลง การออกแบบก่อนหน้านี้ของพวกเขาถูกหารือกับนายทหารของกองทัพเรือเพื่อเป็นอีกทางเลือกของเอฟ-111บี[3]

กรัมแมนได้นำเครื่องยนต์ทีเอฟ30 ของเอฟ-111บี มาใช้อีกครั้ง แม้ว่ากองทัพเรือได้วางแผนที่จะแทนที่มันด้วยเอฟ401-พีดับบลิว-400 ที่กำลังอยู่ในการพัฒนา[4] แม้ว่าจะเบากว่าเอฟ-111บี มันก็ยังใหญ่และหนักกว่าเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศสหรัฐลำใด ๆ ที่เคยบินบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ขนาดของมันมาจากการที่ต้องบรรทุกเรดาร์เอดับบลิว-9 ขนาดใหญ่และขีปนาวุธเอไอเอ็ม-54 ฟีนิกซ์ นอกจากนั้นเชื้อเพลิงข้างในยังมีถึง 7,300 กิโลกรัม เอฟ-14 ยังมีช่องรับลม ปีก และอุปกรณ์ลงจอดที่เหมือนกันกับเอ-6 อินทรูเดอร์ของกรัมแมน[5]

ด้วยการที่ได้สัญญาในการสร้างเอฟ-14 กรัมแมนจึงได้ขยายโรงงานที่นิวยอร์กเพื่อเป็นที่ทดสอบและพัฒนาเครื่องบินสกัดกั้นแบบใหม่ เพื่อประหยัดเวลาและป้องกันการแทรกแซงจากกระทรวงกลาโหม กองทัพเรือจึงข้ามขั้นตอนต้นแบบและมุ่งไปที่การพัฒนาเต็มรูปแบบ กองทัพอากาศก็ทำเช่นเดียวกันในเอฟ-15 ของพวกเขา.[6]

เอฟ-14 ทำการบินครั้งแรกในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2513 เพียง 22 เดือนหลังจากที่กรัมแมนได้รับสัญญา และเริ่มการทดสอบความมีประสิทธิภาพในพ.ศ. 2516 กองนาวิกโยธินสหรัฐสนใจในเอฟ-14 เพื่อนำมาแทนที่เอฟ-4 แฟนทอม 2และได้ส่งนักบินและเรดาร์เพื่อทำการฝึก นาวิกโยธินไม่เคยขายเครื่องบินเต็มอัตราและถอนออก เมื่อระบบการจัดการคลังแสงสำหรับอาวุธโจมตีภาคพื้นดินถูกทิ้งให้ไม่ได้รับการพัฒนา ทำให้เครื่องบินไม่สามารถใช้อาวุธเหล่านั้นได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการพัฒนาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2533[6]

การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง แก้

ขีปนาวุธเอไอเอ็ม-54 ฟีนิกซ์ ลูกแรกยิงโดยเอฟ-14 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2515[7] ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นมีการยิงเพื่อทำลายเป้าหมายที่พุ่งตรงเข้ามาจากระยะ 200 กิโลเมตร นี่คือเกินระยะปกติของระบบอาวุธของเอฟ-14 ที่มีเพียง 166 กิโลเมตร อีกการทดสอบที่ไม่ธรรมดาคือในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 โดยขีปนาวุธหกลูกถูกยิงภายใน 38 วินาทีที่ความเร็ว 0.78 มัคในระดับ 24,800 ฟุต ซึ่งมีสี่ลูกที่ยิงโดนเป้า ขีปนาวุธนี้ได้เข้าประจำการในต้นปี พ.ศ. 2518 หลังจากสงครามเวียดนามจบลง

ขีปนาวุธรุ่นแรก ๆ ถูกแทนที่โดยรุ่นที่ก้าวหน้ากว่า โดยเฉพาะการมาของอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทำให้มันเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น และยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้กับเครื่องยนต์จรวด ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนเอไอเอ็ม-54เอ ฟีนิกซ์ เอไอเอ็ม-7อี-2 สแปร์โรว์ และเอไอเอ็ม-9เจ ไซด์ไวน์เดอร์มาเป็นฟีนิกซ์แบบบีและซี แบบเอฟ เอ็ม พีสำหรับสแปร์โรว์ และไซด์ไวน์เดอร์ก็เปลี่ยนเป็นแบบแอลและเอ็ม[7]

ระบบกระเปาะลาดตระเวนทางอากาศทางยุทธวิธีหรือทาร์ปส์ (Tactical Airborne Reconnaissance Pod System, TARPS) ถูกสร้างขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2513 สำหรับทอมแคท กระเปาะทาร์ปส์จะติดตั้งอยู่ที่ด้านขวาของลำตัวส่วนท้ายและต้องมีการเชื่อมต่อเพิ่มเติม มีเอฟ-14เอประมาณ 65 ลำ และเอฟ-14ดีทั้งหมดที่ถูกดัดแปลงให้ใช้กระเปาะดังกล่าว[8] ระบบนี้จะควบคุมโดยนั่งบินที่นั่งอยู่ด้านหลังเพื่อใช้มันในการลาดตระเวนหาข้อมูล[9] ระบบทาร์ปส์ถูกนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2523[9] ทาร์ปส์ถูกพัฒนาด้วยกล้องดิจิทัลในปี พ.ศ. 2539 กล้องดิจิทัลทำการพัฒนาต่อในปี พ.ศ. 2541 โดยใช้ชื่อว่า"ทาร์ปส์-ซีดี"[9]

เอฟ-14เอบางลำเผชิญกับการพัฒนาเครื่องยนต์ให้เป็นจีอี เอฟ110-400 ในปี พ.ศ. 2520 ทอมแคทที่พัฒนาเหล่านี้ถูกตั้งชื่อใหม่ว่าเอฟ-14เอ+ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นเอฟ-14บี ในปี พ.ศ. 2534[10] เอฟ-14ดี ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงเวลานี้เอง มันรวมทั้งเครื่องยนต์จีอี เอฟ110-400 พร้อมกับระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศดิจิทัลแบบใหม่และห้องนักบินแบบกระจก เอฟ-14ดี ยังได้รับระบบลิงก์ 16 เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล[11] ทอมแคทยังได้เปรียบจากระบบควบคุมการบินที่เป็นดิจิทัลหรือดีเอฟซีเอส (Digital Flight Control System, DFCS) ระบบนี้พัฒนาการควบคุมให้มีประสิทธิภาพสำหรับเครื่องบินบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ทั้งในมุมปะทะระดับสูง และในการหลบหลีก

การเพิ่มความสามารถในการโจมตีภาคพื้นดิน แก้

ในคริสต์ทศวรรษ 1990 เมื่อเอ-6 อินทรูเดอร์ถูกปลดประจำการโครงการอากาศสู่พื้นของเอฟ-14 ก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง การทดลองครั้งแรกกับระเบิดเกิดขึ้นในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 อย่างไรก็ดีงานหลักของเอฟ-14 คือให้การป้องกันทางอากาศในปฏิบัติการพายุทะเลทราย ดังนั้นภารกิจโจมตีภาคพื้นดินจึงตกเป็นของเอ-7 และเอฟ/เอ-18 เพื่อให้เอฟ-14 สามารถใช้อาวุธนำวิถีได้จึงมีโครงการพัฒนาสำหรับเอฟ-14เอ และเอฟ-14บี ที่เหลือ การพัฒนารวมทั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศแบบดิจิทัลแบบใหม่ จอแสดงภาพในห้องนักบิน การพัฒนาด้านโครงสร้าง และระบบป้องกันภัย เครื่องบินที่พัฒนาแล้วมีอิเล็กทรอนิกส์อากาศที่เทียบได้กับเอฟ-14ดีและถูกตั้งชื่อใหม่ว่าเอฟ-14เอ (อัพเกรด) และเอฟ-14บี (อัพเกรด) ตามลำกับ[8]

ในปี พ.ศ. 2537 กรัมแมนและกองทัพเรือได้รับข้อเสนอสำหรับการพัฒนาทอมแคทเพื่อเติมช่องว่างระหว่างเอ-6 ที่ปลดประจำการกับเอฟ/เอ-18อี/เอฟ ซูเปอร์ฮอร์เน็ทที่กำลังเข้าประจำการ แต่สภาคองเกรสก็ขัดขวางเอาไว้ การพัฒนานั้นมีมูลค่าพันล้านและอาจใช้เวลานาน[8] สุดท้ายทางออกคือการพัฒนาที่รวดเร็วและไม่แพง ด้วยการเติมระบบการนำร่องที่ความสูงต่ำและอินฟราเรดหาเป้าตอนกลางคืนหรือเรียกสั้น ๆ ว่าแลนเทิร์น (LANTIRN) ซึ่งทำให้เอฟ-14 มีกล้องอินฟราเรดด้านหน้าสำหรับตอนกลางคืนและเลเซอร์จับเป้าเพื่อชี้เป้าให้กับระเบิดนำวิถี[12]

แม้ว่าแลนเทิร์นเป็นระบบที่จะต้องมีสองกระเปาะ คือกระเปาะนำร่องเอเอ็น/เอเอคิว-13 และกระเปาะจับเป้าเอเอ็น/เอเอคิว-14 การตัดสินใจลงเอยด้วยการใช้กระเปาะจับเป้าเพียงอย่างเดียว กระเปาะจับเป้าในระบบแลนเทิร์นของเอฟ-14 มีจุดเด่นที่มีการพัฒนาเหนือแบบทั่วไป โดยเฉพาะระบบจีพีเอส-ไอเอ็นเอส (Global Positioning System / Inertial Navigation System, GPS-INS) ซึ่งทำให้เอฟ-14 รู้ตำแหน่งของตัวเองเสมอ กระเปาะถูกติดตั้งที่ใต้ปีกขวา[12]

กระติดตั้งกระเปาะแลนเทิร์นเข้าไปนั้นไม่ได้ทำให้เอฟ-14 ต้องเปลี่ยนแปลงระบบซอฟต์แวร์ใด ๆ ของมัน ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและขยายการพัฒนาออกไปอีก นักบินคนที่สองหรือผู้สกัดกั้นเรดาร์จะได้รับภาพจากกระเปาะบนหน้าจอของเขา และใช้คันบังคับแบบใหม่เพื่อนำทางระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์ คันบังคับแบบแรกนั้นแทนที่ระบบทาร์ปส์ แปลว่าเอฟ-14 จะไม่สามารถใช้ระบบแลนเทิร์นคู่กับระบบทาร์ปส์ได้ แต่ในที่สุดการพัฒนาก็ทำให้เอฟ-14 ใช้ได้ทั้งสองอย่าง[12] แลนเทิร์นที่ได้รับการพัฒนาถูกเรียกว่า"แลนเทิร์น 40เค"พร้อมด้วยเลเซอร์ 40เคที่ทำให้มันทำงานได้ในระดับ 40,000 ฟุตซึ่งถูกนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2544[12]

ทอมแคทยังได้รับความสามารถใหม่ในการใช้ระเบิดจีบียู-38 หรือเจแดมในปีพ.ศ. 2546 ทำให้มันมีระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์และอาวุธนำวิถีด้วยจีพีเอสที่หลากหลาย[13] เอฟ-14ดีบางลำถูกพัฒนาในปี พ.ศ. 2548 ด้วยระบบโรเวอร์ 3 ที่ทำหน้าที่ส่งภาพจริงจากเครื่องบินไปยังแล็ปท็อปของผู้ควบคุมอากาศยานหน้าบนพื้นดิน[14]

การออกแบบ แก้

ภาพรวม แก้

เอฟ-14 ทอมแคทถูกออกแบบมาให้เป็นทั้งเครื่องบินขับไล่ครองความได้เปรียบทางอากาศ และเครื่องบินสกัดกั้นทางทะเลพิสัยไกล เอฟ-14 มีสองที่นั่งพร้อมฝาครอบห้องนักบินที่ให้มุมมอง 360 องศา เครื่องบินมีจุดเด่นที่ปีกซึ่งสามารถพับได้อย่างอัตโนมัติเมื่อทำการบิน ในการเข้าสกัดกั้นด้วยความเร็วสูงปีกจะลู่ไปข้างหลัง พวกมันจะกางออกเพื่อทำให้เอฟ-14 เลี้ยวได้แคบขึ้นและได้เปรียบในการต่อสู้ มันถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาการทำงานของเอฟ-4 แฟนทอม 2 ในหลาย ๆ ด้าน ลำตัวและปีกของเอฟ-14 ทำให้มันไต่ระดับได้รวดเร็วกว่าเอฟ-4 ในขณะที่หางคู่นั้นช่วยเพิ่มความเสถียร เอฟ-14 มีปืนแกทลิ่งเอ็ม61 วัลแคนขนาด 20 ม.ม.ติดอยู่ที่ด้านซ้าย และสามารถใช้ขีปนาวุธเอไอเอ็ม-54 ฟีนิกซ์ เอไอเอ็ม-7 สแปร์โรว์ และเอไอเอ็ม-9 ไซด์ไวน์เดอร์ได้ กองทัพเรือสหรัฐต้องการให้เอฟ-14 มีอัตราแรงขับต่อน้ำหนักให้เท่ากับหนึ่งหรือมากกว่า แต่นั่นก็ไม่สามารถเป็นจริงได้จนกระทั่งเอฟ-14 เข้าประจำการ เพราะว่าการพัฒนาเครื่องยนต์ที่ล้าช้า

ลำตัวและปีก แก้

ลำตัวนั้นประกอบด้วยพื้นที่ราบขนาดใหญ่ที่เรียกว่า"แพนเค้ก"อยู่ระหว่างส่วนแยกของเครื่องยนต์ เชื้อเพลิง อิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมการบิน และกลไกของปีกจะอยู่ที่ส่วนนี้ "แพนเค้ก"ยังช่วยสร้างแรงยกอีกด้วย เครื่องยนต์ทั้งสองถูกติดตั้งอยู่ที่ด้านใต้ของส่วนแยกและเยื้องออกไปทางข้างหลังเล็กน้อย โดยมีลำตัวที่ผสมกลืนเข้าไปในรูปของท่อไอเสีย ส่วนแยกจะมีขนาด 1.3 ฟุต สิ่งนี้ช่วยให้เกิดอุโมงค์ที่กว้างระหว่างส่วนแยกซึ่งสร้างแรงฉุดเล็กน้อย อย่างไรก็ตามมันก็เพิ่มพื้นที่ให้ติดตั้งขีปนาวุธฟีนิกซ์และสแปร์โรว์ ระเบิด หรือกระเปาะทาร์ปส์ และเพิ่มพื้นที่ให้กับเชื้อเพลิงและอุปกรณ์[7]

ปีกของเอฟ-14 สามารถทำมุมได้ระหว่าง 20–68 องศา[15] และจะควบคุมโดยคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติ สิ่งนี้จะคอยดูให้ปีกมีความเหมาะสมในอัตราแรงยกต่อแรงฉุดเมื่อความเร็วมัคเปลี่ยนไป แต่มันก็สามารถบังคับด้วยมือโดยนักบินได้หากจำเป็น เมื่อจอดเครื่องบินปีกจะสามารถพับได้ 75 องศาซึ่งมันจะไปทับส่วนหางเมื่อลดพื้นที่ที่มันใช้จอด หากฉุกเฉินเอฟ-14 สามารถลงจอดพร้อมปีกลู่เต็มที่ 68 องศา[7] แม้ว่ามันจะไม่ค่อยเหมาะสมและเสี่ยง เอฟ-14 สามารถบินและลงจอดอย่างปลอดภัยด้วยปีกที่ลู่หากว่าจำเป็น[16]

ปีกนั้นมีสองโครงสร้างกับถังเชื้อเพลิง โครงสร้างส่วนใหญ่อย่างกล่องปีก แกนหมุน และผิวบนล่างของปีกทำมาจากไทเทเนียม[7] มันเป็นวัสดุที่เบาและแข็งแรง แต่ยากที่จะเชื่อมและมีราคาสูง การบินหมุนควงนั้นจะเกิดจากสปอยเลอร์ที่ความเร็วระดับต่ำ (ซึ่งจะถูกยกเลิกหากปีกทำมุมเกิน 57 องศา) และโดยการเปลี่ยนแพนหางทั้งหมดในความเร็วสูง[7] ขอบส่วนหน้าของปีกหรือสแล็ท (Slat) ที่ยาวตลอดแนวและแฟล็บ (Flap) ถูกใช้เพื่อเพิ่มแรงยกทั้งในตอนลงจอดและต่อสู้ โดยสแล็ทจะทำมุม 17 องศาสำหรับลงจอดและ 7 องศาสำหรับต่อสู้ ในขณะที่แฟล็บจะทำมุม 35 องศาและ 10 องศาตามลำดับ[7] หางทั้งสองจะช่วยในการเคลื่อนไหวที่มุมปะทะระดับสูง ในขณะที่ลดความสูงของเครื่องบินเพื่อให้เก็บเข้าโรงเก็บบนเรือบรรทุกเครื่องบินได้ง่าย เครื่องยนต์ทั้งสองที่ติดตั้งอยู่ข้างใต้นั้นก็เพื่อติดตั้งถังเชื้อเพลิง

ผิวหน้าที่คืนรูปได้ ถูกเรียกว่ากังหันนวม (อังกฤษ: Glove Vane) เดิมทีติดตั้งอยู่ที่ส่วนหน้าของปีก และสามารถขยายได้อัตโนมัติด้วยระบบควบคุมการบินที่ความเร็วสูง พวกมันถูกใช้เพื่อสร้างแรงยกเพิ่มที่ส่วนหน้าของเครื่องบิน ดังนั้นมันจึงเป็นการช่วยชดเชยแนวโน้มที่เครื่องจะปักหัวลงเมื่อทำความเร็วเหนือเสียง มันจะถูกใช้งานโดยอัตโนมัติที่ความเร็วประมาณ 1 มัค อย่างไรก็ตามมันก็เป็นการเพิ่มน้ำหนักและความซับซ้อน[7]

เบรกอากาศประกอบด้วยผิวหน้าที่ยืดออกได้ที่ส่วนหลังสุดของลำตัว ระหว่างเครื่องยนต์ทั้งสอง ผิวหน้าด้านใต้จะแยกเป็นครึ่งซ้ายกับขวา รูปแบบจัดการนี้บางครั้งก็เรียกว่า"คาสเตอร์เทล" (castor tail)[17] หรือ"บีเวอร์เทล" (beavertail)[18] ทอมแคทใช้กลไลควบคุมการบินทั้งหมด[7] ยกเว้นเพียงสปอยเลอร์ซึ่งเป็นการใช้ไฮดรอลิก

เครื่องยนต์และอุปกรณ์ลงจอด แก้

 
เอฟ-14 ที่กลางล้อออกเพื่อลงจอด

เครื่องยนต์จะมีช่องรับลมสี่เหลี่ยมมุมฉากที่ติดตั้งอยู่ใต้ปีกทั้งสองข้าง แพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ เจที10เอนั้นให้กำลังมหาศาลในชั่วขณะหนึ่งและเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน พวกมันทำให้เกิดการลดการใช้เชื้อเพลิงในขณะที่บินร่อน ซึ่งจำเป็นในภารกิจลาดตระเวนระยะยาว

ช่องรับลมทั้งสองมีทางลาดที่ขยับได้และประตูที่จะควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้อากาศเข้าไปในเครื่องยนต์ในขณะที่ไม่ทำให้มันสั่นสะเทือน ท่อไอเสียยังมีจุดเด่นที่หัวฉีดกับกลีบที่ขยับได้ซึ่งจะเปิดหรือปิดตามสถานะของเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ทีเอฟ30 นั้นขาดทั้งกำลังและความเชื่อถือได้ รัฐมนตรีกองทัพเรือจอห์น เลห์แมนได้บอกกับสภาคองเกรสว่าการผสมผสานของเอฟ-14 กับเครื่องทีเอฟ30 อาจเป็นการจับคู่ของเครื่องยนต์กับโครงสร้างที่แย่ที่สุดในรอบปี และกล่าวว่าเครื่องยนต์ทีเอฟ30 นั้นเป็นเครื่องยนต์ที่แย่มาก[15][17] ด้วยการมีอุบัติเหตุของเอฟ-14 28% ที่มีสาเหตุมาจากเครื่องยนต์ รอยแตกของกังหันนั้นอันตรายมากด้วยการที่ส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์จะถูกเสริมกำลังเมื่อใบพัดไม่ทำงาน เพื่อช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดกับเครื่องทั้งเครื่อง เครื่องยนต์ทีเอฟ30 ยังมีแนวโน้มที่จะหยุดทำงานได้ง่ายซึ่งจะทำให้เสียการควบคุมเพราะว่าเครื่องยนต์ที่กว้าง ซึ่งส่งผลให้เกิดการหักเหอย่างรุนแรงจนเครื่องบินอาจหมุนควง เมื่อถึงความสูงระดับหนึ่งไอเสียจากขีปนาวุธที่ยิงออไปสามารถทำให้ตัวบีบอัดของเครื่องยนต์หยุดทำงานได้ สิ่งนี้ส่งผลให้มีการพัฒนาระบบไหลเวียนซึ่งจะลดกำลังของเครื่องยนต์ชั่วคราว และปิดช่องรับลมด้านหน้าในขณะทำการยิงขีปนาวุธ อัตราแรงขับต่อน้ำหนักพร้อมอาวุธเต็มที่จะอยู่ที่ 0.59 ซึ่งเทียบไม่ได้กับเอฟ-15เอ ที่มีอัตราอยู่ที่ 0.85[19] กระนั้นเครื่องบินเองก็ยังสามารถทำความเร็วได้ถึง 2.4 มัค และความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 2.34 มัค เชื้อเพลิงภายในมีขนาด 2,400 แกลลอน ในปีกแต่ละข้างอีก 290 แกลลอน ในถังท้านห้องนักบินอีก 690 แกลลอน และในถังเชื้อเพลิงด้านนอกสองถังอีก 457 แกลลอน เครื่องบินสามารถบรรทุกถังปลดได้ขนาด 267 แกลลอนสองถังที่ใต้ช่องรับลม[7] นอกจากนั้นยังมีระบบเติมเชื้อเพลิงทางอากาศซึ่งจะยื่นออกมาจากส่วนจมูก

โครงสร้างส่วนล่างของเครื่องบินนั้นแข็งแรงมาก เพื่อที่จะทนทานจากการบินขึ้นและลงจอดที่รุนแรงบนเรือบรรทุกเครื่องบิน มันประกอบด้วยล้อคู่ที่ส่วนจมูกและพื้นที่กว้างมากในส่วนของล้อหลัก มันต่างจากส่วนล่างที่แคบและสูงของเอฟ-15 อีเกิล ทั้งสองแบบมีน้ำหนักที่เท่า ๆ กันและปีกที่สูงซึ่งทำให้ส่วนล่างนั้นติดตั้งอะไรเข้าไปได้ ลำตัวของทอมแคทนั้นกว้างกว่าและไม่ต้องใช้ถังเชื้อเพลิงขนาดใหญ่เหมือนกับของเอฟ-15 ที่ติดอยู่ที่ส่วนกลาง ในจุดที่ปีกพับนั้นจะไม่มีตำบลติดอาวุธ ดังนั้นอาวุธทั้งหมดจึงถูกติดตั้งที่ส่วนท้องระหว่างช่องรับลมและตรงปีกนวม

ระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศและระบบควบคุมการบิน แก้

ห้องนักบินนั้นเป็นที่นั่งเรียงกันสองที่นั่ง นักบินและผู้สกัดกั้นเรดาร์จะนั่งบนเก้าอี้ดีดตัวขับเคลื่อนด้วยจรวดมาร์ติน-เบเกอร์ จีอาร์ยู-7เอ[20] พวกเขาจะมีมุมมอง 360 องศาซึ่งเป็นฝาครอบที่มีกระจกสี่แผ่น หนึ่งสำหรับผู้สกัดกั้นเรดาร์และที่เหลือสำหรับนักบิน ฝาครอบยังคงเป็นแบบทั่วไปคือมีสามชิ้นส่วน แต่โครงสร้างโดยรวมนั้นมีขนาดใหญ่และให้การมองเห็นที่ดี ลูกเรือมีการควบคุมที่คลาสสิกและอุปกรณ์แบบเดิมโดยเป็นแบบผสมของอนาล็อกกับดิจิจอล มีเพียงนักบินเท่านั้นที่ควบคุมเครื่องบิน[7] เอฟ-14 นั้นไม่เคยมีระบบควบคุมคู่ ดังนั้นนักบินจึงเริ่มฝึกด้วยการบินในเครื่องลำอื่นและเครื่องจำลองการบินก่อน ระบบควบคุมหลักเป็นเฮด-อัพดิสเพลย์ที่ผลิตโดยไคเซอร์ มีจอวีเอสไอและเอชเอสไอที่แสดงข้อมูลความเร็ว การนำร่อง และข้อมูลอื่น ๆ เอฟ-14เอ และบี ไม่มีหน้าจอที่มีหลายรูปแบบ ไม่เหมือนกับของเอฟ-16 และเอฟ/เอ-18

ส่วนจมูกของเครื่องบินจะมีขนาดใหญ่เพื่อบรรจุระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศจำนวนมาก อีซีเอ็มและการนำร่องจะกินเนื้อที่เยอะและซับซ้อนมาก ส่วนประกอบหลักคือเรดาร์เอดับบลิวจี-9 เอ็กซ์-แบนด์ของฮิวจ์ส ซึ่งในรุ่นแรกนั้นมีทั้งระบบดิจิทัลน้ำหนักเบา 5400บีพร้อมแรม 32 กิโลไบต์ จานดาวเทียมขนาด 36 นิ้วใช้พลังงาน 10 กิโลวัตต์และทำงานร่วมกับเสาอากาศ มันมีรูปแบบค้นหาและติดตามมากมายให้เลือกใช้ เช่น ติดตามขณะสแกน หาระยะขณะค้นหา ติดตามเป้าหมายเดียวด้วยเรดาร์พัลส์ และรบกวนวัดมุมติดตาม มันสามารถจับเป้าหมายได้มากสุด 24 เป้าหมายในเวลาเดียวกัน และสามารถเข้าปะทะได้ 6 เป้าหมายในระยะ 100 กิโลเมตรในโหมดติดตามขณะสแกน ในโหมดติดตามเป้าหมายเดียวจะมีพิสัยสูงสุดที่ประมาณ 150 กิโลเมตร พิสัยค้นหาสูงสุดสามารถทำได้ถึง 190 กิโลเมตร และกระทั่งเครื่องบินขับไล่ก็สามารถถูกล็อกเป้าได้ที่ 120–140 กิโลเมตร ขีปนาวุธร่อนยังสามารถถูกตรวจพบโดยเรดาร์เอดับบลิวจี-9 เพราะเรดาร์นี้สามารถล็อกเป้าและติดตามวัตถุที่มีขนาดเล็กในความสูงต่ำได้เมื่อใช้เรดาร์พัลส์ จานดาวเทียมของเรดาร์ที่จมูกและระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศส่วนใหญ่จะอยู่ที่หลังส่วนจมูก ใกล้กับที่นั่งของนักบิน ระบบอื่น ๆ จะอยู่ใกล้กับที่นั่งของผู้สกัดกั้นเรดาร์ และส่วนใหญ่จะแสดงสถานะในหน้าจอระบบของเอดับบลิวจี-9

ทอมแคทยังมีจุดเด่นที่อุปกรณ์ต่อต้านอิเล็กทรอนิกส์และระบบเรดาร์แจ้งเตือน เครื่องปล่อยพลูและเป้าล่อ ระบบแบ่งข้อมูลระหว่างเครื่องบิน และระบบนำร่องที่แม่นยำ ระยะพิกัดในตอนแรกถูกโปรแกรมเข้าไปในคอมพิวเตอร์นำร่อง และไจโรสโคปในระบบจะติดตามทุกการเคลื่อนไหวของเครื่องบิน การเคลื่อนไหวเหล่านี้จะถูกส่งไปที่คอมพิวเตอร์นำร่อง ทำให้มันคำนวณระยะและทิศทางของเครื่องบินจากจุดเริ่มต้น ต่อมาระบบจีพีเอสถูกติดตั้งเข้าไปในระบบนี้ ทำให้มันไม่เพียงแค่ให้การนำร่องที่แม่นยำ แต่ยังให้ข้อมูลสำรองในกรณีที่ระบบเกิดล้มเหลว

เครื่องปล่อยพลูและเป้าล่อนั้นจะอยู่ที่ส่วนท้องบริเวณเกือบปลายหางใกล้กับขอเกี่ยว เครื่องปล่อยจะบรรจุไปด้วยกระบอกมากมาย ซึ่งเป้าล่อหรือพลุแต่ละดอกจะถูกผสมกันในแบบใดก็ได้ ระบบอาร์ดับบลิวอาร์ถูกจัดการให้มีเสาอากาศทั้ง 4 อยู่ทั่วเครื่องบิน และสามารถคำนวณทิศทางและระยะในรูปแบบต่าง ๆ ของเรดาร์จากเครื่องบินและขีปนาวุธหลายชนิด ระบบอาร์ดับบลิวอาร์สามารถแสดงสถานะเรดาร์ของเครื่องบินที่ติดตามอยู่ได้ มันสามารถบอกความแตกต่างระหว่างเรดาร์ค้นหากับเรดาร์ของขีปนาวุธได้ ระบบต่อต้านอิเล็กทรอนิกส์สามารถประเมินเรดาร์ที่สัญญาณเรดาร์ที่เข้ามา และทำการส่งสัญญาณไปรบกวนแหล่งเรดาร์นั้นได้

เซ็นเซอร์แบบเดิมนั้นประกอบด้วยอินฟราเรดที่อยู่ใต้ส่วนจมูก มันคือเอเอ็น/เอแอลอาร์-23 มันมีระบบหล่อเย็นในตัว แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพและถูแทนที่ด้วยระบบใหม่ นี่คือระบบมองเอเอเอ็กซ์-1 ของนอร์ธทรอป หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าทีซีเอสหรือชุดกล้องโทรทัศน์ (TV Camera Set) และถูกใช้เพื่อช่วยนักบินในการระบุและติดตามเครื่องบิน อย่างน้อยก็ในตอนกลางวัน[7] ได้ถึง 60 ไมล์สำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ชุดกล้องโทรทัศน์สามารถทำงานโดยพึ่งเรดาร์เพื่อติดตามอะไรก็ตามที่เรดาร์กำลังติดตามอยู่ และเรดาร์ก็สามารถทำงานโดยพึ่งชุดกล้องโทรทัศน์เพื่อติดตามอะไรก็ตามที่กล้องมองเห็น ลูกเรือทั้งสองนายสามารถเห็นภาพบนจอของพวกเขา แม้ว่ามันจะใช้งานได้ดีแต่เอฟ-14 ที่ทำงานระยะยาวกลับไม่มีระบบดังกล่าว บิน กันส์ตันได้รายงานว่าแม้กระทั่งในปี พ.ศ. 2526 มีเครื่องบินเพียง 1 ใน 8 ลำเท่านั้นที่มีระบบนี้[21]

ระบบอินฟราเรดและกล้องคู่ถูกใช้งานในเอฟ-14ดี โดยมีเสาอากาศต่อต้านอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในตำแหน่งของแบบเก่า นั่นแปลว่าเอฟ-14 สามารถใช้เสาอากาศต่อต้านอิเล็กทรอนิกส์เพียงอันเดียว หรือเซ็นเซอร์อินฟราเรด หรือชุดกล้องโทรทัศน์ได้ ระบบต่อต้านอิเล็กทรอนิกส์ของทอมแคทประกอบด้วยระบบรองจำนวนมาก ทั้งอาร์ดับบลิวอาร์ ระบบต่อต้านอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปล่อยพลูและเป้าล่อ จมูก หาง และปีก สิ่งนี้ถูกจัดว่าเป็นความแตกต่างในหมู่เครื่องบินขับไล่ก่อนหน้า

อาวุธ แก้

เดิมทีทอมแคทนั้นถูกออกแบบมาเพื่อเป็นทั้งเครื่องบินที่คล่องแคล่วและเครื่องบินจัดการกับขีปนาวุธร่อนและเครื่องบินทิ้งระเบิดของโซเวียต ผลที่ได้คือเครื่องบินที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในแทบจะทุกด้าน ในด้านอาวุธทอมแคทถูกออกแบบมาเพื่อใช้เอไอเอ็ม-54 ฟีนิกซ์ โดยเฉพาะ แต่ไม่เหมือนกับเอฟ-111บี ที่มันสามารถจัดการกับเป้าหมายทั้งในระยะกลางและใกล้ได้ ดังนั้นเอฟ-14 จึงเป็นเครื่องบินขับไล่ครองความได้เปรียบทางอากาศอย่างสมบูรณ์และไม่ได้เป็นแค่เครื่องบินสกัดกั้นพิสัยไกลเท่านั้น มันมีปืนเอ็ม61 วัลแคน พร้อมกระสุน 676 นัดและสามารถเลือกการยิงแบบ 4,000 หรือ 6,000 นัดต่อนาทีได้ มันสามารถบรรทุกได้มากกว่า 6,700 กิโลกรัมสำหรับภารกิจต่อสู้ในหลายตำแหน่งทั้งที่ใต้ท้องและใต้ปีก โดยปกติแล้วนั่นแปลว่ามันสามารถมีฟีนิกซ์ หรือสแปร์โรว์สูงสุดได้ 2–4 ลูก ฟีนิกซ์หรือสแปร์โรว์สามารถติดตั้งที่ปีกได้ 2 ลูก และไซด์ไวน์เดอร์ 2 ลูกบนปีก ในบางกรณีเอไอเอ็ม-7 สี่ลูก และเอไอเอ็ม-9 สี่ลูกจะติดตั้งอยู่ที่ใต้ท้องเหมือนกับของเอฟ-4 และเอฟ-15

ฟีนิกซ์สามารถบรรจุเต็มที่ 6 ลูกซึ่งก็ไม่เคยมีใครทำมาตลอดการใช้งาน แม้ว่าการทดสอบแรก ๆ นั้นจะพิสูจน์ว่ามันสามารถทำได้ แต่ก็ไม่เคยมีภัยอะไที่อันตรายจนถึงขั้นต้องใช้ฟีนิกซ์พร้อมกันถึง 6 ลูก และมันก็เยอะเกินไปที่จะทำการจอดลงบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ขีปนาวุธฟีนิกซ์ถูกใช้เพียงสองครั้งโดยกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในอิรักเมื่อปี พ.ศ. 2542[22][23][24]แต่ทั้งสองนัดก็พลาดเป้า

ในช่วงที่สงครามเย็นดุเดือดในปลายพุทธทศวรรษ 2510 และ 2520 อาวุธโดยทั่วไปของเอฟ-14 บนเรือบรรทุกเครื่องบินนั้นจะเป็นเอไอเอ็ม-54 ฟีนิกซ์ไม่มากกว่า 1 ลูก แต่จะเป็นเอไอเอ็ม-9 ไซด์ไวน์เดอร์ 2 ลูก เอไอเอ็ม-7 สแปร์โรว์ 2 ลูก กระสุนขนาด 20 ม.ม.ของปืนเอ็ม61 วัลแคน และถังปลดทิ้งได้สองถัง

ประวัติการใช้งาน แก้

เอฟ-14 ทอมแคทเป็นเครื่องบินขับไล่และสอดแนมหลักของกองทัพเรือสหรัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515–2549 เอฟ-14 ยังได้ทำหน้าที่ของมันในกองทัพอากาศอิหร่านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน

กองทัพเรือสหรัฐ แก้

เอฟ-14 เริ่มเข้ามาแทนที่เอฟ-4 แฟนทอม 2 ในกองทัพเรือสหรัฐโดยเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2517 บนเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรซ์และได้มีส่วนร่วมในการถอนกำลังออกจากไซง่อนของอเมริกา เอฟ-14 ได้ทำแต้มครั้งแรกในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2524 เหนืออ่าวซิดร้า หลังจากที่เอฟ-14 สองลำถูกเข้าปะทะโดยซู-22 ฟิตเตอร์ สองลำของลิเบีย เอฟ-14 ได้หลบพ้นจากขีปนาวุธวิมเปล เค-13 และยิงตอบโต้ที่ส่งผลให้เครื่องบินของลิเบียทั้งสองลำตก เอฟ-14 ของสหรัฐได้เข้าปะทะกับเครื่องบินของลิเบียอีกครั้งในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2532 เมื่อมิก-23 ฟลอกเกอร์ สองลำของลิเบียถูกยิงตกเหนืออ่าวซิดร้าอีกครั้ง

แม้ว่าทอมแคทจะได้รับความสนใจจากเหตุการณ์เหนืออ่าวซิดร้า แต่มันก็เป็นการรบในขณะที่ทำการลาดตระเวนเท่านั้น ทอมแคทได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ลาดตระเวนสอดแนมแทนอาร์เอ-5ซี วิจิลานเต และอาร์เอฟ-8จี ครูเซเดอร์ กระเปาะขนาดใหญ่ที่ถูกเรียกสั้น ๆ ว่าทาร์ปส์ (Tactical Airborne Reconnaissance Pod System, TARPS) ถูกสร้างขึ้นและติดตั้งกับเครื่องทอมแคทในปีพ.ศ. 2524 เมื่ออาร์เอฟ-8จี ครูเซเดอร์ถูกปลดประจำการในปี พ.ศ. 2525 ทาร์ปส์ก็กลายมาเป็นระบบลาดตระเวนหลักของกองทัพเรือสหรัฐ[25] หนึ่งในสองของฝูงบินทอมแคทจะมีกระเปาะทาร์ปส์ติดอยู่และจะได้รับเครื่องบินที่สามารถติดตั้งทาร์ปส์ได้ 3 ลำ และมีลูกเรือที่ถูกฝึกมาเพื่อใช้มันอีก 4 นาย

ในขณะที่อิหร่านใช้ทอมแคทสำหรับการโจมตีอิรักในต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 แต่สหรัฐกลับใช้มันทำภารกิจรบรายวันเหนือเลบานอนเพื่อถ่ายภาพกิจกรรมในหุบเขาเบกา ในตอนนั้นทอมแคทถูกมองว่ามีขนาดใหญ่และบอบบางเกินไปที่จะใช้บินบนบก แต่ความต้องการภาพถ่ายเหล่านั้นก็มากเสียจนลูกเรือทอมแคทได้ทำการพัฒนายุทธวิธีพิเศษเพื่อจัดการกับปืนต่อต้านอากาศยานและขีปนาวุธเอสเอ-7 ในบริเวณหุบเขา การเผชิญหน้ากับเอสเอ-2 ครั้งแรกเกิดขึ้นในโซมาเลียเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2526 เมื่อฐานปืนไม่ระวังต่อทอมแคทสองลำที่บินตามตารางบินเพื่อทำภารกิจทาร์ปส เอสเอ-2 ยิงใส่ทอมแคทลำที่สองในตอนที่มันบินเหนือขึ้นไป 1 หมื่นฟุต นักบินตรวจพบขีปนาวุธและทำการหลบหลีกได้สำเร็จ ความต้องการที่คาดไม่ถึงของการต่อสู่ขณะปฏิบัติภารกิจทาร์ปสนั้นนำไปสู่เซ็นเซอร์ความสูงสูงอย่างเคเอ-93 เพื่อให้มันทำงานร่วมกับเอไอเอ็ม-54 ฟีนิกซ์ เครื่องตรวจจับเรดาร์แบบ "ฟัซบัสเตอร์" (Fuzz buster) ก็ถูกนำมาใช้เช่นกัน เพื่อเติมช่องว่างในการตรวจจับเรดาร์ของขีปนาวุธอย่างเอสเอ-6 การแก้ไขปัญหาสุดท้ายคือการพัฒนาเป็นเอแอลอาร์-67 แต่มันก็ยังไม่พร้อมถูกใช้จนกระทั่งมีเอฟ-14เอ ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ในปฏิบัติการอ่าวซิดร้าเมื่อปี พ.ศ. 2529 ทอมแคทถูกใช้ทำภารกิจเหนือผิวน้ำเพราะมันอันตรายเกินไปที่จะใช้เหนือพื้นดิน

การมีส่วนร่วมของเอฟ-14 ในสงครามอ่าวเมื่อปี พ.ศ. 2534 ประกอบด้วยการลาดตระเวนรบเหนือทะเลแดงและอ่าวเปอร์เซีย และภารกิจเหนือพื้นดินที่ทั้งคุ้มกันการโจมตีและการสอดแนม จนกระทั่งวันสุดท้ายของปฏิบัติการพายุทะเลทรายมาถึง การบินครองอากาศในประเทศก็ถูกทำโดยเอฟ-15 อีเกิล ของกองทัพอากาศสหรัฐ กฎการเข้าปะทะยังเน้นถึงการระบุมิตรหรือศัตรูเมื่อต้องใช้ขีปนาวุธระยะไกลเกินสายตาอย่างเอไอเอ็ม-7 สแปร์โรว์และเอไอเอ็ม-54 ฟีนิกซ์ สิ่งนี้เป็นการขัดขวางทอมแคทจากการใช้อาวุธที่ทรงอานุภาพที่สุดของมัน นอกจากนั้นสัญญาณที่ทรงพลังจากเรดาร์เอดับบลิวจี-9 ถูกตรวจจับได้ง่ายในระยะไกล กองทัพเรือสหรัฐได้รับความเสียหายโดยเสียเอฟ-14 ไปเพียงลำเดียวจากศัตรูเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2534 เมื่อเอฟ-14เอ+ หมายเลขบี/เอ็น 161430 ถูกยิงตกโดยขีปนาวุธพื้นสู่อากาศเอสเอ-2 ขณะทำภารกิจคุ้มกันใกล้กับฐานบินอัล อซาดในอิรัก ลูกเรือทั้งสองนายดีดตัวออกมาทัน โดยนักบินได้รับการช่วยเหลือจากกองกำลังพิเศษ และผู้ควบคุมเรดาร์ถูกจับเป็นเชลยโดยทหารฝ่ายอิรักในค่ายเชลยศึกจนจบสงคราม[26] เอฟ-14 ยังได้ทำแต้มสุดท้ายของมันโดยการยิงเฮลิคอปเตอร์มิล เอ็มไอ-8 ตกด้วยเอไอเอ็ม-9 ไซด์ไวน์เดอร์

ในปี พ.ศ. 2538 เอฟ-14 ได้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการเดบิเบอร์เรทฟอร์ซและปฏิบัติการอัลไลด์ฟอร์ซในปี พ.ศ. 2542 และในปี พ.ศ. 2541 กองบินสองกองบินที่ใช้เอฟ-14 ก็ได้เข้าร่วมในปฏิบัติการดีเซิร์ทฟอกซ์ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 มีการติดตั้งขีปนาวุธเจแดมให้กับเอฟ-14 ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2544 เอฟ-14 ได้นำการรุกครั้งแรกในอัฟกานิสถานซึ่งเป็นการเริ่มปฏิบัติการเอ็นดัวริงฟรีดอมและได้ทิ้งระเบิดเจแดมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2545 เอฟ-14ดี ของกองบินที่เหลือได้รับการติดตั้งเจแดมในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2546[13] ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2548 เอฟ-14ดี จากสองกองบินได้รับการพัฒนาระบบดาวน์ลิงก์ โรเวอร์ 3 เพื่อใช้ในการส่งภาพให้กับผู้ควบคุมการบินส่วนหน้า[14] เอฟ-14 จากกองบินทั้งสองได้ทำการรบครั้งสุดท้ายบนเรือยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลท์ ในปี พ.ศ. 2548

สิ่งที่เข้ามาแทนที่ แก้

 
เอฟ-14 และเอฟ/เอ-18 กำลังเตรียมบินขึ้นจากเรือยูเอสเอส เอ็นเตอร์ไพรส์เมื่อปี พ.ศ. 2528

ในขณะที่เอฟ-14 ได้พัฒนาจนเป็นเอฟ-111บี ขนาด 36,000 กิโลกรัม เอฟ-14 ก็ยังคงเป็นเครื่องบินขับไล่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและแพงที่สุดในช่วงเวลาของมัน มีโครงการใหม่เข้ามาในทศวรรษที่ 2513 เพื่อทางออกราคาถูกสำหรับการทดแทนกองบินเอฟ-4 ของกองทัพเรือและกองทัพอากาศสหรัฐ โครงการดังกล่าวต้องการให้เกิดเครื่องบินขับไล่น้ำหนักเบารุ่นใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเอฟ/เอ-18 ฮอร์เน็ท ซึ่งเป็นเครื่องบินโจมตีและเครื่องบินขับไล่ขนาดกลาง

ในปีพ.ศ. 2537 สภาคองเกรสได้ปฏิเสธข้อเสนอของกรัมแมนที่ต้องการจะพัฒนาทอมแคทของกองทัพเรือให้มากกว่ารุ่นดี (อย่างซูเปอร์ทอมแคท 21 รุ่นควิกสไตรค์ที่ถูกกว่า และรุ่นแอทแท็คทอมแคท 21 ที่ก้าวหน้าอย่างที่สุด)[27] แทนที่จะเป็นเช่นนั้นกองทัพเรือกลับเลือกที่จะปลดประจำการเอฟ-14 และนำเอฟ/เอ-18อี/เอฟ ซูเปอร์ฮอร์เน็ทมาทำหน้าที่แทน

อิหร่าน แก้

 
เอฟ-14เอ "ท็อปกัน" ของสหรัฐที่ทาสีตามแบบเครื่องบินขับไล่ของอิหร่าน

ผู้ใช้ทอมแคทนอกจากสหรัฐเพียงรายเดียวคือกองทัพอากาศจักรวรรดิอิหร่าน

ในต้นทศวรรษที่ 2513 กองทัพอากาศจักรวรรดิอิหร่านได้มองหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะลำที่สามารถเข้าสกัดกั้นมิก-25 "ฟ็อกซ์แบท" ของโซเวียตได้ หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐริชาร์ด นิกสันได้ไปเยือนอิหร่านในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งได้ยื่นเทคโนโลยีทางทหารใหม่ล่าสุดของอเมริกันให้กับอิหร่าน กองทัพอากาศจักรวรรดิอิหร่านมีสองทางเลือกคือเอฟ-14 ทอมแคท หรือเอฟ-15 อีเกิล บริษัทกรัมแมนได้จัดการสาธิตระหว่างทอมแคทกับอีเกิล ต่อหน้ากษัตริย์ซาห์ของอิหร่านในตอนนั้น และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2517 อิหร่านก็ได้สั่งซื้อเอฟ-14 30 ลำพร้อมขีปนาวุธเอไอเอ็ม-54 ฟีนิกซ์ 424 ลูก โดยมีมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่กี่เดือนต่อมารายการดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นกลายเป็นเครื่องบิน 80 ลำและขีปนาวุธ 714 ลำเพื่อเป็นอะไหล่ให้กองทัพไปอีก 10 ปี

เอฟ-14 ลำแรกมาถึงในเดือนมกราคม พ.ศ. 2519 มันถูกดัดแปลงด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศเท่านั้น แต่ก็ยังคงใช้เครื่องยนต์เดิม ปีต่อมาอีก 12 ลำก็มาถึง ในขณะนั้นเองการฝึกลูกเรืออิหร่านก็เริ่มขึ้นโดยกองทัพเรือสหรัฐโดยทำการฝึกในสหรัฐเอง และในการฝึกครั้งนี้มีการใช้ขีปนาวุธฟีนิกซ์ยิงใส่เป้าหมายที่เป็นโดรนในความสูง 5 หมื่นฟุต

หลังจากการโค่นล้มอำนาจกษัตริย์ซาห์ในปี พ.ศ. 2522 กองทัพอากาศก็มีชื่อใหม่ว่ากองทัพอากาศสาธารณัฐอิสลามอิหร่าน และรัฐบาลใหม่ก็ทำการยกเลิกรายการสั่งซื้ออาวุธส่วนมากจากฝั่งตะวันตก มีข้อมูลถึงการใช้เอฟ-14 ของอิหร่านน้อยมาก

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2550 มีการประกาศโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐว่าการขายชิ้นส่วนเอฟ-14 ถูกยกเลิก เพราะว่ากลัวว่าพวกมันจะตกไปอยู่ในมือของอิหร่าน การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นตามสถานการณ์ในขณะนั้นของอิหร่าน[28] ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 เอฟ-14 ของอเมริกาที่ยังเหลืออยู่ถูกแยกชิ้นส่วน เพื่อทำให้แน่ใจว่าชิ้นส่วนของพวกมันจะไม่ถูกซื้อไปโดยรัฐบาลที่เป็นศัตรูของสหรัฐ[29] อิหร่านนั้นมีเอฟ-14 ประมาณ 44 ลำ[30] โดยมี 20 ที่ยังปฏิบัติการอยู่เมื่อถึงปีพ.ศ. 2552[31]

รุ่นต่าง ๆ แก้

เอฟ-14 สร้างออกมาทั้งสิ้น 712 ลำ[32]ที่โรงงานของกรัมแมนในคาลเวอร์ตันบนลองไอแลนด์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512–2534[33] ในขณะที่เอฟ-14 ทำการผลิตอยู่ที่เบธเพจในนิวยอร์ก การก่อสร้างและการทดสอบทั้งหมดก็เกิดขึ้นในคาลเวอร์ตัน โรงงานที่เบธเพจได้ผลิตเครื่องบินของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นที่อยู่ของวิศวกรผู้ออกแบบเอฟ-14 อย่างไรก็ตามที่เบธเพจนั้นก็ไม่ได้เป็นโรงงานผลิตเครื่องบินอีกต่อไปแล้ว[33] เครื่องบินกว่า 160 ลำของสหรัฐถูกทำลายในอุบัติเหตุครั้งหนึ่ง[34]

เอฟ-14เอ แก้

รุ่นเอเป็นเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นในทุกสภาพอากาศสองที่นั่งแบบเริ่มแรกของกองทัพเรือสหรัฐ มันทำการบินครั้งแรกในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2513 เอฟ-14เอ 12 ลำแรกเป็นต้นแบบ[35] (บางครั้งก็เรียกวายเอฟ-14เอ) การดัดแปลงเกิดขึ้นในช่วงท้ายของมันเพื่อทำให้มันสามารถใช้อาวุธนำวิถีได้ กองทัพเรือสหรัฐได้รับเอฟ-14เอ ทั้งหมด 478 ลำและส่วนอิหร่านได้รับ 79 ลำ[32] เอฟ-14เอ 102 ลำสุดท้ายถูกส่งมอบพร้อมกับเครื่องยนต์ทีเอฟ30-พี-414เอ[36] นอกจากนี้แล้วเอฟ-14เอ ลำที่ 80 ที่ถูกผลิตขึ้นมาให้กับอิหร่าน กลับถูกส่งให้กับกองทัพเรือสหรัฐแทน[32]

เอฟ-14บี แก้

เอฟ-14 ได้รับการพัฒนาครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2530 โดยทำให้เกิดเอฟ-14เอ+ (พลัส) เครื่องยนต์พีดับบลิว ทีเอฟ30 ของเอฟ-14เอ ถูกพัฒนาเป็นจีอี เอฟ110-400 แทน เอฟ-14เอ+ ยังมีระบบเตือนภัยเรดาร์เอแอลอาร์-67 ระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศส่วนมากยังคงเหมือนเดิม ต่อมาเอฟ-14เอ+ ถูกเรียกว่าเอฟ-14บีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 มีเครื่องบินใหม่ทั้งหมด 38 ลำที่ถูกผลิตขึ้นมาและเอฟ-14เอ 48 ถูกพัฒนาจนกลายเป็นรุ่นบี[10]

เครื่องยนต์ทีเอฟ30 นั้นมีข้อด้อยมาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะการที่มันง่ายที่จะเกิดอาการคอมเพรสเซอร์หยุดทำงานเมื่อบินในระดับสูง เครื่องยนต์เอฟ110 พิสูจน์ให้เห็นว่ามันมีแรงขับที่มากพอถึง 27,600 ปอนด์เมื่อใช้สันดาปท้าย แรงขับพื้นฐานของเครื่องยนต์โดยไม่ใช้สันดาปท้ายก็ทรงพลังพอแล้วที่จะส่งมันขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งยิ่งเร็วก็ยิ่งปลอดภัย อีกข้อได้เปรียบหนึ่งคือมันทำให้ทอมแคทบินอย่างประหยัดเชื้อเพลิงได้ในระดับ 30,000 ฟุต ซึ่งเพิ่มโอกาสรอดและพิสัยของมัน เอฟ-14บี นั้นเกิดขึ้นทันเวลาของสงครามอ่าวพอดี

ในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เอฟ-14บี 67 ลำถูกพัฒนาให้มีอายุการใช้งานมากขึ้นและมีการพัฒนาระบบป้องกันและโจมตีให้ดียิ่งขึ้น เครื่องบินที่ได้รับการดัดแปลงกลายมาเป็นเอฟ-14บี อัพเกรด (F-14B Upgrade)[36]

เอฟ-14ดี แก้

แบบสุดท้ายของเอฟ-14 คือเอฟ-14ดี ซูเปอร์ทอมแคท รุ่นดีทำการส่งมอบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2534 เครื่องยนต์เดิมแบบทีเอฟ30 ถูกแทนที่ด้วยเครื่องยนต์จีอี เอฟ110-400 เหมือนกับของรุ่นบี เอฟ-14ดี ยังมีระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบดิจิทัลที่ใหม่กว่าในห้องนักบินกระจกและแทนที่เรดาร์เอดับบลิวจี-9 ด้วยเรดาร์เอเอ็น/เอพีจี-71 ระบบอื่น ๆ ยังรวมทั้งเครื่องรบกวนการป้องกันตนเองทางอากาศหรือเอเอสพี (Airborne Self Protection Jammer, ASPJ) ระบบเกื้อหนุนข้อมูลทางยุทธวิธีร่วมหรือเจทีไอดีเอส (Joint Tactical Information Distribution System, JTIDS) เก้าอี้ดีดตัวรุ่นเอสเจยู-17(วี) และอินฟราเรดค้นหาและติดตาม

แม้ว่าเอฟ-14ดี จะเป็นรุ่นที่แตกต่างจากทอมแคทธรรมดา แต่ก็ไม่มีกองบินใดที่ได้รับรุ่นดี ในปี พ.ศ. 2532 รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมดิก เชนีย์ได้ปฏิเสธที่จะอนุมัติการซื้อเอฟ-14ดี มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐและเอาเงิน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปใช้กับการพัฒนาเอฟ-14 รุ่นเก่าแทน สภาคองเกรสตัดสินใจที่จะไม่หยุดการผลิตและให้ทุนกับเครื่องบิน 55 ลำ มีเครื่องบินใหม่ 37 ลำที่ถูกสร้างขึ้นมาและเอฟ-14เอ 18 ลำได้ถูกพัฒนาเป็นรุ่นดี[10] มีการวางแผนพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ของเอฟ-14ดี เพื่อให้มันใช้ขีปนาวุธเอไอเอ็ม-120 แอมแรมได้ แต่ก็ถูกยกเลิกในเวลาต่อมา[8][37]

ขณะที่การพัฒนาทำให้เอฟ-14 เดินหน้าไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เชนีย์ก็หยุดเอฟ-14 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากคริสต์ทศวรรษ 1960 แม้ว่าจะมีข้อเสนอที่แข็งขันจากกรัมแมนเพื่อหาเครื่องบินมาทดแทน แต่เชนีย์ก็ได้วางแผนที่จะแทนที่เอฟ-15 ด้วยเครื่องบินแบบอื่นที่ไม่ได้ผลิตโดยกรัมแมน เชนีย์เริ่มตั้งโครงการใหม่เมื่อเอฟ-14 ถูกยกเลิก มีลูกจ้าง บุคลากรสนับสนุน หรือผู้รับเหมาของกรัมแมนประมาณ 8 หมื่นรายที่ได้รับผลกระทบ[38]

รุ่นที่เป็นโครงการ แก้

เอฟ-14ซี
เป็นรุ่นโครงการของเอฟ-14บี (ที่มีเครื่องยนต์เอฟ401) โดยมีระบบอิเล็กทรอนิกส์อากาศแบบหลากภารกิจที่ก้าวหน้า[39]

ประเทศผู้ใช้งาน แก้

 
ประเทศผู้ใช้งานเอฟ-14 ทอมแคท (อดีตผู้ใช้งานแสดงในสีแดง)
  •   อิหร่าน
    • กองทัพอากาศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
  •   สหรัฐ(อดีต)
    • กองทัพเรือสหรัฐ

รายละเอียด เอฟ-14ดี ทอมแคท แก้

 
 
อาวุธปล่อยอากาศสู่อากาศ เอไอเอ็ม-54 จำนวน 6 นัด
  • นักบิน 2 นาย (นักบินและผู้สกัดกั้นเรดาร์)
  • ความยาว 19.1 เมตร
  • ระยะระหว่างปีกทั้งสอง
    • เมื่อกลางปีก 19.55 เมตร
    • เมื่อพับปีก 11.58 เมตร
  • ความสูง 4.88 เมตร
  • พื้นที่ปีก 54.5 ตารางเมตร
  • น้ำหนักเปล่า 19,838 กิโลกรัม
  • น้ำหนักพร้อมอาวุธ 27,700 กิโลกรัม
  • น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด 33,720 กิโลกรัม
  • ขุมกำลัง เครื่องยนต์เทอร์โบแฟนเจเนรัล อิเลคทริก เอฟ110-จีอี-400 สองเครื่องยนต์พร้อมสันดาปท้าย
    • ให้แรงขับเครื่องละ 13,810 ปอนด์ เมื่อไม่ใช้สันดาปท้าย
    • ให้แรงขับเครื่องละ 27,000 ปอนด์ เมื่อใช้สันดาปท้าย
  • ความเร็วสูงสุด 2.34 มัค (2,485 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ในระดับความสูง
  • พิสัยทำการรบ 926 กิโลเมตร
  • พิสัยในการขนส่ง 2,926 กิโลเมตร
  • เพดานบินทำการ 53,000 ฟุต
  • อัตราการไต่ระดับ 45,000 ฟุตต่อนาที
  • น้ำหนักที่ปีกบรรทุกได้ 553.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
  • อัตราแรงขับต่อน้ำหนัก 1.02
  • อาวุธ

[40][19][41][42]

สื่อบันเทิง แก้

เอฟ-14 ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับวัฒนธรรมมากมายทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2523 ภาพยนตร์เดินทางข้ามเวลาเรื่องเดอะ ไฟนอล เคาท์ดาวน์ที่มีเอฟ-14จากฝูงบินวีเอฟ-41 "แบล็กเอซ"และวีเอฟ-84 "จอลลี่โรเจอร์ส"บนเรือยูเอสเอส นิมิทซ์ เอฟ-14 จาก"จอลลี่โรเจอร์ส"ยังได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเครื่องบินวีเอฟ-1 วัลคีรี ในการ์ตูนแอนนิเมชั่นของญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2525–2526 เรื่องThe Super Dimension Fortress Macross[43][44] ในปี พ.ศ. 2529 เอฟ-14 ถูกใช้เป็นเครื่องบินหลักในการสร้างภาพยนตร์เรื่องท็อปกันที่เกี่ยงกับกองทัพเรือสหรัฐ[45]เช่นเดียวกับท็อปกัน ในซีรีส์โทรทัศน์เรื่องJAGในปีพ.ศ. 2538–2548 มีนักบินเอฟ-14 ซึ่งเป็นตัวละครนำและมีโครงสร้างของเอฟ-14 ในหลายตอน เอฟ-14 ยังมีบทบาทในวิดีโอเกมอีกมากมาย และอีกเล็กน้อยในภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์

ดูเพิ่ม แก้

การพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
อากาศยานที่เทียบเท่า

อ้างอิง แก้

  1. F-14 Tomcat fighter fact file เก็บถาวร 2006-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, United States Navy, 5 July 2003. Retrieved 20 January 2007.
  2. "Navy's 'Top Gun' Tomcat Fighter Jet Makes Ceremonial Final Flight". Associated Press, 22 September 2006. Retrieved: 17 July 2008.
  3. Woolridge, Capt. E.T., ed. Into the Jet Age: Conflict and Change in Naval Aviation 1945-1975, an Oral History. Annapolis, Maryland: Naval Institute Press, 1995. Note: Admiral Thomas F. Connolly wrote the chapter, "The TFX - One Fighter For All", in Into the Jet Age....
  4. Spick 2000, p. 112.
  5. Gunston and Spick 1983, p. 112.
  6. 6.0 6.1 Jenkins, Dennis R. F/A-18 Hornet: A Navy Success Story. New York: McGraw-Hill, 2000. ISBN 0-07-134696-1.
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 Baugher, Joe. "Grumman F-14A Tomcat."[ลิงก์เสีย], 13 February 2000.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Donald, David. "Northrop Grumman F-14 Tomcat, US Navy today". Warplanes of the Fleet. London: AIRtime Publishing Inc, 2004. ISBN 1-880588-81-1.
  9. 9.0 9.1 9.2 "F-14A Tomcat Described / F-14 Tarps", Vectorsite.net, 1 November 2006.
  10. 10.0 10.1 10.2 Anft, Torsent. "F-14 Bureau Numbers." Home of M.A.T.S. Retrieved: 30 September 2006.
  11. Friedman, Norman (2006). "F-14". The Naval Institute Guide to World Naval Weapon Systems (fifth ed.). Naval Institute Press. ISBN 1557502625.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 "Bombcat / Tomcat In Service 1992:2005", Vectorsite.net, 1 November 2006.
  13. 13.0 13.1 "U.S. Navy's F-14D Tomcats Gain JDAM Capability." เก็บถาวร 2007-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Navy Newsstand (United States Navy), 21 March 2003. Retrieved: 20 January 2007.
  14. 14.0 14.1 "ROVER System Revolutionizes F-14's Ground Support Capability." เก็บถาวร 2006-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Navy Newsstand (United States Navy), 14 December 2005. Retrieved: 20 January 2007.
  15. 15.0 15.1 Dorr 1991, p. 50.
  16. "F-14 Association". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-26. สืบค้นเมื่อ 2009-07-07.
  17. 17.0 17.1 Sgarlato 1988, pp. 40–46.
  18. Beavertail
  19. 19.0 19.1 Spick 2000, p. 81.
  20. Dorr 1991, p. 51.
  21. Gunston and Spick 1983, p. 66.
  22. Vinson/CVW-11 Report - VF-213 Highlights Wings of Gold
  23. Tony Holmes (2005). Chapter One – OSW, p. 16 and 17.
  24. DoD News Briefing January 5, 1999
  25. Baugher, Joe. "TARPS Pod for F-14." เก็บถาวร 2009-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน F-14 Tomcat, February 13, 2000.
  26. Baugher, Joe. US Navy and US Marine Corps BuNos เก็บถาวร 2010-01-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 30 September 2006. Retrieved: 7 January 2007.
  27. Donald 2004, pp. 13, 15.
  28. US halts sale of F-14 jet parts
  29. "Pentagon shreds F-14s to keep parts from enemies", AP, 2 July 2007.
  30. Cooper, Tom and Liam Devlin. "Iranian Air Power Combat Aircraft". Combat Aircraft, Vol. 9 No. 6, January 2009.
  31. "World Military Aircraft Inventory". 2009 Aerospace Source Book. Aviation Week and Space Technology, 2009.
  32. 32.0 32.1 32.2 F-14 Bureau Numbers
  33. 33.0 33.1 Anft, Torsten. Grumman Memorial Park. Home of M.A.T.S. Retrieved: 28 December 2006.
  34. Anft, Torsent. "F-14 Crashes sorted by Date." Home of M.A.T.S. Retrieved: 1 January 2008.
  35. Spick 2000, pp. 75–79.
  36. 36.0 36.1 "F-14 Tomcat variants". GlobalSecurity.org. Retrieved: 20 September 2006.
  37. Goebel, Greg. Tomcat Improvements, F-14B / F-14D. Air Vectors, 1 October 2008.
  38. Saul, Stephanie. "Cheney Aims Barrage at F-14D Calls keeping jet a jobs program." Newsday Washington Bureau, 24 August 1989, p. 6.
  39. Spick 2000, p.75.
  40. "U.S. Navy file". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-02. สืบค้นเมื่อ 2009-05-01.
  41. F-14 Specifications, M.A.T.S.
  42. อภิวัตน์ โควินทรานนท์,อากาศยาน1979ฉบับเครื่องบิน,เอวิเอชั่น ออบเซิร์ฟเวอร์,กรุงเทพ,2522
  43. Kawamori, Shoji. Shoji Kawamori Macross Design Works เก็บถาวร 2009-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Tokyo: Movic, 2001. ISBN 4-89601-512-6.
  44. Editors of Koku Fan. F-14 Tomcat. Tokyo: Bunrindo, 2004.
  45. Down, John. "The Song Machine", opendemocracy.net. Retrieved: 25 July 2006.
บรรณานุกรม
  • Crosby, Francis. Fighter Aircraft. London: Lorenz Books, 2002. ISBN 0-7548-0990-0.
  • Donald, David. Warplanes of the Fleet. London: AIRtime Publishing Inc., 2004. ISBN 1-880588-81-1.
  • Dorr, Robert F. "F-14 Tomcat: Fleet Defender", World Air Power Journal. Volume 7 Autumn/Winter 1991, pp. 42–99. London: Aerospace Publishing. ISSN 0959-7050.
  • Drendel, Lou. F-14 Tomcat in Action. Carrollton, Texas: Squadron/Signal Publications, 1977. ISBN 0-89747-031-1.
  • Eden, Paul. Modern Military Aircraft. Phoenix, Arizona: Amber Books, 2004. ISBN 1-904687-08-3.
  • Eshel, D. Grumman F-14 Tomcat (War Data No. 15). Hod Hasharon, Israel: Eshel-Dramit Ltd., 1982.
  • Gunston, Bill and Mike Spick. Modern Air Combat. New York: Crescent Books, 1983. ISBN 0-517-41265-9.
  • Holmes, Tony. US Navy F-14 Tomcat Units of Operation Iraqi Freedom. London: Osprey Publishing Limited, 2005. ISBN 1-84176-801-4.
  • Sgarlato, Nico. "F-14 Tomcat" (in Italian). Aereonautica & Difesa magazine Edizioni Monografie SRL., December 1988.
  • Spick, Mike. F-14 Tomcat, Modern Fighting Aircraft, Volume 8. New York: Arco Publishing, 1985. ISBN 0-668-06406-4.
  • Spick, Mike. "F-14 Tomcat". The Great Book of Modern Warplanes. St. Paul, Minnesota: MBI Publishing Company, 2000. ISBN 0-7603-0893-4.
  • Stevenson, J.P. Grumman F-14, Vol. 25. New York: Tab Books, 1975. ISBN 0-8306-8592-8.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้