เอดการ์ แอลลัน โพ

เอดการ์ แอลลัน โพ (อังกฤษ: Edgar Allan Poe; 19 มกราคม ค.ศ. 1809 – 7 ตุลาคม ค.ศ. 1849) เป็นนักเขียน กวี บรรณาธิการ และนักวิจารณ์วรรณกรรมชาวอเมริกัน เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดจากงานรหัสคดี และเรื่องสยองขวัญ โพเป็นนักเขียนคนแรก ๆ ที่เขียนเรื่องสั้นและได้รับการนับถือว่าเป็นผู้ริเริ่มเขียนเรื่องแต่งแนวสืบสวนสอบสวน เขายังได้รับการยอมรับว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาเรื่องแนวนิยายวิทยาศาสตร์ซึ่งเพิ่งถือกำเนิดในช่วงนั้นอีกด้วย[1] เขาเป็นนักเขียนชาวอเมริกันชื่อดังคนแรกที่พยายามหาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนหนังสืออย่างเดียวเท่านั้น อันเป็นผลให้ชีวิตและอาชีพการงานของเขาเต็มไปด้วยปัญหาทางการเงิน[2]

เอดการ์ แอลลัน โพ
เอดการ์ แอลลัน โพ (ถ่ายด้วยกล้องถ่ายรูปแบบดาแกโรไทป์ ค.ศ. 1848)
เอดการ์ แอลลัน โพ
(ถ่ายด้วยกล้องถ่ายรูปแบบดาแกโรไทป์ ค.ศ. 1848)
เกิด19 มกราคม ค.ศ. 1809
บอสตัน, แมสซาชูเซตส์, สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิตตุลาคม 7, 1849(1849-10-07) (40 ปี)
บอลทิมอร์, แมรีแลนด์, สหรัฐอเมริกา
อาชีพกวี, นักเขียนเรื่องสั้น, บรรณาธิการ, นักวิจารณ์
แนวแนวสยองขวัญ, อาชญากรรม, แนวสืบสวน
แนวร่วมในทางวรรณคดีศิลปะจินตนิยม
คู่สมรสเวอร์จิเนีย เอลิซา เคลมม์ โพ

ลายมือชื่อ

เขาเกิดมาในชื่อ เอดการ์ โพ ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ บิดามารดาของเขาเสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุยังน้อย เขาได้รับการเลี้ยงดูโดยจอห์น (John) และฟรานเซส (Frances) แอลลัน แห่งเมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย แต่ทั้งคู่ไม่ได้ทำเรื่องรับอุปการะเขาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด หลังจากใช้เวลาสั้น ๆ ในมหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย (University of Virginia) และพยายามไต่เต้าอาชีพการงานในกองทัพอยู่ระยะหนึ่ง โพก็แยกตัวจากครอบครัวแอลลัน อาชีพนักเขียนของเขาเริ่มต้นด้วยหนังสือรวมกวีนิพนธ์นิรนาม Tamerlane and Other Poems (1827) และใช้เพียงนามปากกาว่า “ชาวบอสตันคนหนึ่ง”

โพหันเหความสนใจของเขาไปยังงานร้อยแก้วและใช้เวลาหลายปีหลังจากนั้นทำงานให้วารสารและนิตยสารวรรณกรรมจนเป็นที่รู้จักจากรูปแบบการวิจารณ์วรรณกรรมของเขาเอง การทำงานของเขาทำให้เขาต้องโยกย้ายไปมาระหว่างหลายเมือง ซึ่งรวมถึงบอลทิมอร์, ฟิลาเดลเฟีย และนครนิวยอร์ก ที่เมืองบอลทิมอร์ ปี ค.ศ. 1835 เขาแต่งงานกับเวอร์จิเนีย เคลมม์ (Virginia Clemm) ลูกพี่ลูกน้องอายุ 13 ปีของเขา ต่อมาในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1845 โพประสบความสำเร็จจากการตีพิมพ์บทกวี The Raven ภรรยาของเขาเสียชีวิตด้วยวัณโรคในสองปีหลังจากนั้น เขาเริ่มวางแผนผลิตวารสารของตนเอง The Penn (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น The Stylus) แต่เขาก็เสียชีวิตไปก่อนที่จะทำได้สำเร็จ โพเสียชีวิตที่เมืองบอลทิมอร์ด้วยวัย 40 ปีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1849 ด้วยสาเหตุที่ไม่แน่ชัดและมีการคาดเดาอย่างหลากหลาย เช่น แอลกอฮอล์, เลือดคั่งในสมอง, ยาเสพติด, โรคหัวใจ, โรคพิษสุนัขบ้า, อัตวินิบาตกรรม, วัณโรค เป็นต้น[3]

โพและผลงานของเขาส่งอิทธิพลต่อแวดวงวรรณกรรมทั้งในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ ทั่วโลก รวมถึงแขนงวิชาเฉพาะทางบางอย่าง เช่น จักรวาลวิทยา และวิทยาการเข้ารหัสลับ โพและผลงานของเขาปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมสมัยนิยมหลากหลายรูปแบบ ทั้งวรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ บ้านของเขาหลายหลังได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ในปัจจุบัน

ชีวิตและอาชีพการงาน แก้

วัยเยาว์ แก้

เขาเกิดมาในชื่อ เอดการ์ โพ ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1809 เป็นลูกคนที่สองของนักแสดงสาว เอลิซาเบ็ธ อาร์โนลด์ ฮ็อปกินส์ โพ (Elizabeth Arnold Hopkins Poe) และนักแสดง เดวิด โพ จูเนียร์ (David Poe, Jr.) เขามีพี่ชายชื่อ วิลเลียม เฮนรี่ เลียวนาร์ด โพ (William Henry Leonard Poe) และน้องสาวชื่อ โรซาลี โพ (Rosalie Poe)[4] เป็นไปได้ว่าชื่อ เอดการ์ เป็นการตั้งชื่อตามตัวละครในเรื่อง King Lear ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ ที่ทั้งบิดามารดาเคยแสดงในปี ค.ศ. 1809[5] บิดาของเขาทิ้งครอบครัวไปในปี ค.ศ. 1810[6] ส่วนมารดาก็เสียชีวิตในปีต่อมาด้วยวัณโรค โพจึงถูกรับเลี้ยงโดยจอห์ แอลลัน พ่อค้าชาวสก็อตผู้ประสบความสำเร็จย่านเมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย และข้องเกี่ยวกับธุรกิจหลายประเภท รวมถึงยาสูบ, เสื้อผ้า, ป้ายหลุมศพ และทาส[7] ถึงแม้ตระกูลแอลลันจะเป็นครอบครัวผู้อุปถัมป์และเป็นผู้ตั้งชื่อ “เอดการ์ แอลลัน โพ” ให้[8] แต่พวกเขาก็ไม่เคยทำเรื่องให้โพเป็นลูกบุญธรรมอย่างเป็นทางการ[9]

ครอบครัวแอลลันให้โพเข้าพิธีล้างบาปของโบสถ์นิกายอิปิสโคปัลในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1812 ทั้งครอบครัว อันได้แก่ จอห์น แอลลัน ภรรยาของเขา ฟรานเซส วาเลนไทน์ แอลลัน (Frances Valentine Allan) และโพได้ล่องเรือไปสู่ประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1815 โพเข้าศึกษาในโรงเรียนไวยากรณ์ที่เมืองเออร์วิน (Irvine) สก็อตแลนด์ (ซึ่งเป็นที่ ๆ จอห์น แอลลันกำเนิด) เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในปี ค.ศ. 1815 ก่อนจะกลับไปอยู่กับครอบครัวที่เมืองลอนดอนในปี ค.ศ. 1816 และเข้าศึกษาที่โรงเรียนประจำปห่งหนึ่งในเมืองเชลซีจนถึงฤดูร้อนในปี ค.ศ. 1817 ในเวลาต่อมา เขาจึงถูกรับเข้าโรงเรียนเคหสถานของบาทหลวงจอห์น แบรสบี (Reverend John Brasby’s Manor House School) ที่เมือง สโตคเนวิงตัน (Stoke Newington) ซึ่งอยู่ห่างจากลอนดอนไปทางทิศเหนือ 4 ไมล์ (6 กิโลเมตร)[10]

โพย้ายกลับไปอยู่กับครอบครัวแอลลันที่เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนียในปี ค.ศ. 1820 ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1825 วิลเลี่ยม แกลท์ (William Galt) ซึ่งเป็นลุงของจอห์น แอลลัน[11] และเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้ธุรกิจของเขาด้วย ได้เสียชีวิตลงและทิ้งอสังหาริมทรัพย์หลายเอเคอร์ไว้ให้แก่แอลลัน มรดกที่ได้รับคาดว่าสูงถึง $750,000 เมื่อถึงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1825 จอห์น แอลลันฉลองทรัพย์สมบัติที่เพิ่มพูนขึ้นด้วยการซื้อบ้านก่ออิฐสูงสองชั้นชื่อ มอลโดเวีย (Moldovia)[12] เป็นไปได้ว่าโพได้มีความสัมพันธ์กับซาราห์ เอลมิน่า รอยสเตอร์ (Sarah Elmira Royster) ก่อนที่เขาจะลงทะเบียนที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) ซึ่งเพิ่งก่อตั้งได้เพียงหนึ่งปีเพื่อเรียนภาษาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1826[13] มหาวิทยาลัยนี้ถูกก่อตั้งขึ้นตามอุดมการณ์ของผู้ก่อตั้ง นั่นคือทอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ที่นี่มีกฎเกณฑ์ที่สั่งห้ามการพนัน, การแทงม้า, การใช้ปืน, การสูบยา และการดื่มแอลกอฮอล์ แต่โดยทั่วไปแล้ว กฎเหล่านี้กลับถูกเพิกเฉย เจฟเฟอร์สันได้ประกาศวางระบบให้นักเรียนปกครองกันเอง, อนุญาตให้นักเรียนเลือกวิชาที่จะเรียนอย่างอิสระ, ตระเตรียมการเดินทางด้วยตนเอง, และรายงานการกระทำผิดทั้งหมดแก่คณาจารย์ ระบบอันเป็นเอกลักษณ์นี้ยังมีความวุ่นวายอยู่และทำให้มีอัตราการเลิกเรียนสูง[14] ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่นั่น โพก็ขาดการติดต่อกับรอยสเตอร์และมีเรื่องระหองระแหงกับบิดาอุปถัมป์เกี่ยวกับหนี้สินการพนัน โพอ้างว่าแอลลันให้เงินเขาไม่เพียงพอสำหรับการลงทะเบียนเรียน, ซื้อตำราเรียน รวมถึงซื้อและตกแต่งหอพัก แอลลันจึงส่งเงินและเสื้อผ้าเพิ่มไปให้เขา แต่หนี้สินของโพก็ยังเพิ่มพูน[15] โพเลิกเรียนมหาวิทยาลัยหลังจากผ่านไปหนึ่งปี และเนื่องจากเขารู้สึกไม่เป็นที่ต้อนรับที่เมืองริชมอนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขารู้ว่ารอยสเตอร์ที่ตนเองหลงรักอยู่ได้แต่งงานกับอเล็กซานเดอร์ เชลตัน (Alexander Shelton) ไปแล้ว เขาจึงเดินทางไปเมืองบอสตันในเดือนเมษายน ค.ศ. 1827 และเลี้ยงชีพตนเองด้วยการทำงานเป็นเสมียนและนักเขียนหนังสือพิมพ์[16] ในช่วงนี้เองที่โพเริ่มใช้นามปากกา อองรี เลอ เรเนต์ (Henri Le Rennet)[17]

อาชีพการงานในกองทัพ แก้

เนื่องจากไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ ในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1827 โพจึงสมัครเข้าเป็นพลทหารในกองทัพบกสหรัฐอเมริกาโดยใช้ชื่อว่า “เอดการ์ เอ. เพอร์รี่” (Edgar A. Perry) และอ้างว่าตนเองอายุ 22 ปีทั้ง ๆ ที่ความจริงเขามีอายุเพียง 18 ปี[18] เขารับใช้กองทัพครั้งแรกที่ป้อมอินดิเพนเดนซ์ (Fort Independence แปลว่า ป้อมอิสรภาพ) ในท่าจอดเรือบอสตัน (Boston Harbor) ด้วยค่าแรง 5 ดอลลาร์ต่อเดือน[19] ในปีเดียวกันนั้นเองที่เขาเขียนหนังสือเล่มแรกออกจำหน่าย Tamerlane and Other Poems ซึ่งเป็นรวมกวีนิพนธ์ยาว 40 หน้า โดยลงชื่อผู้เขียนไว้ว่า “โดยชาวบอสตันคนหนึ่ง” ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ 50 เล่มและไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างเลย[20] กองทหารที่โพประจำการอยู่ถูกโยกย้ายไปที่ป้อมมอลทรี (Fort Moultrie) ในเมืองชาลส์ตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา และเดินทางไปด้วยเรือใบสองเสา วอลธัม (Waltham) ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1827 โพได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นช่างชำนาญงานในกองทัพที่ทำหน้าที่เตรียมลูกกระสุนปืนใหญ่และได้รับค่าแรงรายเดือนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า[21] หลังจากรับใช้กองทัพได้สองปีและได้รับตำแหน่งจ่าสิบเอกสำหรับปืนใหญ่ (Sergeant Major for Artillery) ซึ่งเป็นยศสูงสุดเท่าที่นายทหารที่ไม่ใช่ชั้นสัญญาบัตรจะได้รับ โพจึงหาทางที่จะปลดประจำการตัวเองก่อนระยะเวลา 5 ปีที่กำหนดไว้ เขาเปิดเผยชื่อจริงและสถานภาพของตนเองให้ร้อยโทฮาเวิร์ด (Lieutenant Howard) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนเองรับรู้ ฮาเวิร์ดจะอนุญาตปลดประจำการโพก็ต่อเมื่อโพไกล่เกลี่ยเรื่องกับจอห์น แอลลันและเขียนจดหมายไปหาแอลลันก่อนแล้วเท่านั้น หลายเดือนผ่านไป แอลลันซึ่งไม่ไยดีไม่ได้ตอบจดหมายโพแต่อย่างใด กระทั่งเรื่องอาการป่วยของแม่อุปถัมป์ของเขาแอลลันก็ดูเหมือนจะไม่แจ้งให้โพทราบ ฟรานเซส แอลลันเสียชีวิตในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1829 โพไปเยี่ยมนางในวันหลังจากที่ทำพิธีฝังศพเรียบร้อยแล้ว อาจเป็นเพราะการเสียชีวิตของภรรยา แอลลันจึงใจอ่อนยอมสนับสนุนคำขอร้องปลดประจำการของโพเพื่อไปรับตำแหน่งที่วิทยาลัยกองทัพสหรัฐฯ ณ ค่ายเวสต์พอยท์ (West Point)[22]

อ้างอิง แก้

  1. Stableford, Brian. "Science fiction before the genre." The Cambridge Companion to Science Fiction, Eds. Edward James and Farah Mendlesohn. Cambridge: Cambridge University Press, 2003. pp. 18–19.
  2. Meyers. หน้า 138
  3. Meyers หน้า 256
  4. Allen, Hervey. "Introduction". The Works of Edgar Allan Poe, New York: P. F. Collier & Son, 1927.
  5. Nelson, Randy F. The Almanac of American Letters. Los Altos, California: William Kaufmann, Inc., 1981: 65. ISBN 0-86576-008-X
  6. Canada, Mark, ed. "Edgar Allan Poe Chronology เก็บถาวร 2007-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Canada's America. 1997. เรียกดูเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 2007
  7. Meyers หน้า 8
  8. Meyers หน้า 9
  9. Quinn หน้า 61
  10. Silverman หน้า 16–18
  11. Meyers หน้า 20
  12. Silverman หน้า 27–28
  13. Silverman หน้า 29–30
  14. Meyers หน้า 21–22
  15. Silverman หน้า 32–34
  16. Meyers หน้า 32
  17. Silverman หน้า 41
  18. Cornelius, Kay. "Biography of Edgar Allan Poe", Bloom's BioCritiques: Edgar Allan Poe, Ed. Harold Bloom, Philadelphia: Chelsea House Publishers, 2002. หน้า 13 ISBN 0-7910-6173-6
  19. Meyers หน้า 32
  20. Meyers หน้า 33–34
  21. Meyers หน้า 35
  22. Silverman หน้า 43–47

อ้างอิง แก้

  • Foye, Raymond (editor) (1980). The Unknown Poe (Paperback ed.). San Francisco, CA: City Lights. ISBN 0872861104. {{cite book}}: |first= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  • Frank, Frederick S. (1997). The Poe Encyclopedia. Westport, CT: Greenwood Press. ISBN 0313277680. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  • Hoffman, Daniel (1998). Poe Poe Poe Poe Poe Poe Poe (Paperback ed.). Baton Rouge, La.: Louisiana State University Press. ISBN 0807123218.
  • Krutch, Joseph Wood (1926). Edgar Allan Poe: A Study in Genius. New York: Alfred A. Knopf.
  • Meyers, Jeffrey (1992). Edgar Allan Poe: His Life and Legacy (Paperback ed.). New York: Cooper Square Press. ISBN 0815410387.
  • Quinn, Arthur Hobson (1941). Edgar Allan Poe: A Critical Biography. New York: Appleton-Century-Crofts, Inc. ISBN 0801857309.
  • Rosenheim, Shawn James (1997). The Cryptographic Imagination: Secret Writing from Edgar Poe to the Internet. Baltimore: Johns Hopkins University Press. ISBN 9780801853326.
  • Silverman, Kenneth (1991). Edgar A. Poe: Mournful and Never-Ending Remembrance (Paperback ed.). New York: Harper Perennial. ISBN 0060923318.
  • Sova, Dawn B. (2001). Edgar Allan Poe: A to Z (Paperback ed.). New York: Checkmark Books. ISBN 081604161X.
  • Whalen, Terence (2001). "Poe and the American Publishing Industry". ใน J. Kennedy (บ.ก.). A Historical Guide to Edgar Allan Poe. Oxford Oxfordshire: Oxford University Press. ISBN 0195121503.