เหตุเครื่องบินชนกันกลางอากาศที่จรรขีทาทรี พ.ศ. 2539

อุบัติเหตุเครื่องบินชนกันกลางอากาศที่ประเทศอินเดีย พ.ศ. 2539 เป็นอุบัติเหตุทางการบินที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 โดยเครื่องบินโดยสารที่เดินทางจากคาซัคสถานและกำลังจะลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลีชนกับเครื่องบินโดยสารอีกลำหนึ่งที่ขึ้นบินจากท่าอากาศยานเดียวกันมุ่งหน้าไปยังซาอุดีอาระเบีย โดยตำแหน่งที่เกิดอุบัติเหตุอยู่ใกล้กับเมืองจรรขีทาทรี (ฮินดี: चरखी दादरी) รัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่าเหตุเครื่องบินชนกันกลางอากาศที่จรรขีทาทรี (Charkhi Dadri mid-air collision) ผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินทั้งสองลำรวมทั้งสิ้น 349 คนเสียชีวิตทั้งหมด เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์เครื่องบินชนกันกลางอากาศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก[1] เป็นอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในประเทศอินเดีย[2] และเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในโลกรองจากเหตุการณ์เครื่องบินชนกันที่ท่าอากาศยานเตเนริเฟในแคว้นกานาเรียส ประเทศสเปนในปี พ.ศ. 2520 และอุบัติเหตุเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 123 ตกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2528[1]

สรุปการชนกลางอากาศ
วันที่12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
สรุปชนกันกลางอากาศเนื่องจากความผิดพลาดของนักบินและระบบการจราจรทางอากาศที่บกพร่อง
จุดเกิดเหตุจรรขีทาทรี รัฐหรยาณา
อินเดีย ประเทศอินเดีย
เสียชีวิต349 (ทั้งหมด)
อากาศยานลำแรก

โบอิง 747-168บี ของซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์หมายเลขทะเบียนลำที่เกิดเหตุ
ประเภทโบอิง 747-168บี
ดําเนินการโดยซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์
ทะเบียนHZ-AIH
ต้นทางท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี
เดลี ประเทศอินเดีย
จุดพักท่าอากาศยานนานาชาติอัซเซาะฮ์รอน
อัซเซาะฮ์รอน ประเทศซาอุดีอาระเบีย
ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ
ญิดดะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย
ผู้โดยสาร289
ลูกเรือ23
เสียชีวิต312 (ทั้งหมด)
อากาศยานลำที่สอง

เครื่องบินอิลยูชิน อิล-76ทีดี ของสายการบินคาซัคสถานแอร์ไลน์ลำที่เกิดเหตุ
ประเภทอิลยูชิน อิล-76ทีดี
ดำเนินการโดยคาซัคสถานแอร์ไลน์
ทะเบียนUN-76435
ต้นทางท่าอากาศยานนานาชาติเชิมเกนต์
เชิมเกนต์ ประเทศคาซัคสถาน
ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี
เดลี ประเทศอินเดีย
ผู้โดยสาร27
ลูกเรือ10
เสียชีวิต37 (ทั้งหมด)

เที่ยวบิน แก้

 
 
DEL
 
DHA
 
JED
 
CIT
 
ต้นทาง ปลายทาง และจุดที่เครื่องบินชนกัน
  ท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี
  ปลายทางของซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 763
  ต้นทางของคาซัคสถานแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 1907
  จุดที่เครื่องบินทั้งสองลำชนกัน
 
 
DEL
 
จุดเกิดเหตุ
ท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี และจุดที่เครื่องบินทั้งสองลำชนกัน

เหตุการณ์นี้เป็นการชนกันระหว่างเครื่องบินโบอิง 747 ของสายการบินซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์และเครื่องบินอิลยูชิน อิล-76 ของสายการบินคาซัคสถานแอร์ไลน์

ซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 763 แก้

ซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 763 เป็นเที่ยวบินเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยมีกำหนดลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติอัซเซาะฮ์รอน เมืองอัซเซาะฮ์รอน ทางตะวันออกของประเทศซาอุดีอาระเบียก่อนจะเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานนานาชาติสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ เมืองญิดดะฮ์ ทางตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย[3] โดยใช้เครื่องบินโบอิง 747-168บี หมายเลขทะเบียน HZ-AIH ขณะที่เกิดเหตุเครื่องบินลำนี้มีอายุ 14 ปี 10 เดือน[2] มีผู้โดยสารบนเครื่องบินลำนี้ 289 คน และลูกเรือ 23 คน ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียซึ่งเดินทางไปทำงานหรือไปแสวงบุญที่ซาอุดีอาระเบีย[4][5] และมีชาวต่างชาตินอกเหนือจากอินเดียและซาอุดีอาระเบียอยู่ด้วย 17 คน[6]

คาซัคสถานแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 1907 แก้

คาซัคสถานแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 1907 เป็นเที่ยวบินเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติเชิมเกนต์ เมืองเชิมเกนต์ ทางตอนใต้ของประเทศคาซัคสถานมายังท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลี โดยใช้เครื่องบินอิลยูชิน อิล-76ทีดี หมายเลขทะเบียน UN-76435 โดยขณะเกิดเหตุเครื่องบินลำนี้มีอายุ 4 ปี[7] ในรายงานข่าวแต่แรกนั้นระบุว่ามีคนบนเครื่องบินทั้งหมด 39 คน[4][6] อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของสายการบินคาซัคสถานแอร์ไลน์ได้แจ้งว่ามีคนบนเครื่องบินเพียง 37 คนเท่านั้น[5] โดยเป็นลูกเรือ 10 คน และผู้โดยสาร 27 คน ซึ่งเที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินเหมาลำโดยมีบริษัทเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในประเทศคีร์กีซสถานเป็นผู้เช่า ผู้โดยสาร 13 คนบนเครื่องบินลำนี้ถือสัญชาติคีร์กีซ[6][8]

อุบัติเหตุ แก้

คาซัคสถานแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 1907 ใกล้ถึงท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี จึงแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศของเดลี เจ้าหน้าที่สั่งให้เที่ยวบินที่ 1907 ลดระดับลงมาที่ 15,000 ฟุต ในขณะนั้น ซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 763 ได้ขึ้นบินจากท่าอากาศยานและมุ่งหน้าไปในเส้นทางบินเดียวกันซึ่งสวนทางกับเที่ยวบินที่ 1907 เจ้าหน้าที่จึงสั่งให้เที่ยวบินที่ 763 ไต่ระดับขึ้นไปที่เพดานบิน 14,000 ฟุต เที่ยวบินที่ 1907 เมื่อลดระดับถึง 15,000 ฟุตแล้วก็รายงานต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจร เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนเที่ยวบินที่ 1907 ว่าเที่ยวบินที่ 763 กำลังมุ่งหน้าสวนทางกัน อย่างไรก็ตาม อันที่จริงแล้วเที่ยวบินที่ 1907 ไม่ได้รักษาระดับความสูงอยู่ที่ 15,000 ฟุต หากแต่กำลังลดระดับลงมาโดยในขณะนั้นอยู่ที่ระดับความสูง 14,500 ฟุตและกำลังลดระดับต่อไปอีก เที่ยวบินที่ 1907 ลดระดับลงไปอีกประมาณ 310 ฟุตก่อนจะชนเข้ากับเที่ยวบินที่ 763[2] เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศไม่ทราบว่าเครื่องบินทั้งสองลำชนกันจนกระทั่งพยายามสื่อสารกับเครื่องบินทั้งสองลำแต่ไม่มีสัญญาณตอบกลับมาและจุดสัญญาณบนจอซึ่งเป็นของเครื่องบินทั้งสองลำนั้นหายไป[9] นักบินของกองทัพอากาศสหรัฐซึ่งขับเครื่องบินลำเลียงซี-141 และกำลังจะลงจอดที่นิวเดลีได้แจ้งว่ามองเห็นแสงสว่างสีส้มภายในก้อนเมฆ ก่อนที่แสงสว่างนั้นจะแยกออกเป็นลูกไฟสองลูกและแผ่ขยายออกเป็นวงกว้างเมื่อเครื่องบินทั้งสองลำตกถึงพื้น[6] ชาวบ้านที่อยู่ในเมืองจรรขีทาทรีซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือจากนิวเดลีประมาณ 80 กิโลเมตรมองเห็นแสงไฟสว่างวาบบนท้องฟ้าซึ่งตัดกับความมืดในช่วงใกล้ค่ำ และได้ยินเสียงที่ดังยิ่งกว่าฟ้าผ่า[4] เที่ยวบินที่ 763 ตกลงไปในไร่ว่างเปล่าและก่อให้เกิดหลุมขนาดยาว 55 เมตร (60 หลา) ลึก 4.5 เมตร (15 ฟุต) ส่วนเที่ยวบินที่ 1907 ตกลงห่างจากเที่ยวบินที่ 763 ประมาณ 10 กิโลเมตร ในช่วงหลังจากพบเครื่องบินที่ตกไม่นานมีชาวบ้านพบผู้โดยสาร 3 คนจากเที่ยวบินที่ 763 ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส อย่างไรก็ตาม ผู้รอดชีวิตดังกล่าวทนพิษบาดแผลไม่ไหวและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บนอกเหนือจากผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินทั้งสองลำ[9] ผู้เห็นเหตุการณ์เชื่อว่านักบินพยายามหักเลี้ยวเครื่องบินไม่ให้ตกลงไปในเขตชุมชนและป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตนอกเหนือจากบนเครื่องบิน[9][10]

สาเหตุ แก้

กล่องบันทึกข้อมูลการบินจากเที่ยวบินที่ 763 ถูกส่งไปยังสำนักงานสืบสวนอุบัติเหตุทางอากาศ (Air Accident Investigation Branch) ที่ฟาร์นบะระ สหราชอาณาจักรและกล่องบันทึกข้อมูลจากเที่ยวบินที่ 1907 ถูกส่งไปที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซียเพื่อถอดรหัสและอ่านข้อมูลจากบันทึก โดยจากการสืบสวนพบว่าสาเหตุหลักของอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความผิดพลาดของนักบินของเที่ยวบินที่ 1907 ที่ลดระดับความสูงจาก 15,000 ฟุตทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศสั่งให้เที่ยวบินที่ 1907 รักษาระดับไว้ที่ 15,000 ฟุต[11] อย่างไรก็ตาม คาซัคสถานแอร์ไลน์อ้างว่านักบินจำเป็นต้องลดระดับความสูงลงมาเนื่องจากสภาพอากาศปั่นป่วนที่ระดับความสูงดังกล่าว แต่ทั้งซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์และคณะเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศของอินเดียคัดค้านโดยอ้างข้อมูลรายงานสภาพอากาศว่าไม่มีสภาพอากาศปั่นป่วนแต่อย่างใด[11][12] นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์ยังกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรที่ไม่ได้แจ้งนักบินของเที่ยวบินที่ 763 ว่ามีเที่ยวบินที่ 1907 อยู่ในทิศทางสวนกับเที่ยวบินที่ 763[11]

ทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศและซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์ได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าสาเหตุอีกประการหนึ่งอาจจะมาจากธรรมเนียมปฏิบัติของนักบินจากประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตที่แตกต่างจากนักบินอื่น ๆ โดยนักบินส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่อง ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรวัดของเครื่องบินที่ผลิตในสหภาพโซเวียตใช้ระบบเมตริก (กิโลเมตร) แทนที่จะเป็นระบบอิมพีเรียล (ฟุต) อย่างที่เครื่องบินส่วนใหญ่ในโลกใช้กัน ทำให้นักบินต้องเสียเวลาแปลงหน่วย แม้ว่าทางฝ่ายคาซัคสถานจะคัดค้านก็ตาม[5][8][10][11]

การจัดการเส้นทางบินภายในประเทศอินเดียก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง โดยน่านฟ้าโดยรอบท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธีในขณะนั้นโดยส่วนใหญ่จะให้เครื่องบินของกองทัพอากาศอินเดียใช้ขึ้นและลง ในขณะที่เที่ยวบินพาณิชย์ถูกจำกัดให้อยู่ในบริเวณส่วนน้อย[6][10][11] และระบบเรดาร์ของท่าอากาศยานยังคงเป็นระบบดั้งเดิมที่ระบุเพียงตำแหน่งของเครื่องบินเท่านั้น และไม่ระบุข้อมูลที่สำคัญอื่น ๆ เช่นระดับความสูง หรือชื่อเรียกของเครื่องบิน ทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรต้องอาศัยข้อมูลจากนักบินที่รายงานตำแหน่งและระดับความสูง[6][8][11] และเครื่องบินทั้งสองลำก็ไม่มีระบบ ACAS (Airborne Collision Avoidance System) ที่แจ้งเตือนว่ามีเครื่องบินอีกลำหนึ่งอยู่ในระยะใกล้พอที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้[3]

ในสื่อ แก้

เหตุการณ์นี้ถูกนำไปสร้างเป็นสารคดีชื่อ Head On! โดยบริษัทมิดเทค ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสื่อจากรัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย และออกฉายทางช่องเนชั่นแนลจีโอกราฟิก[13] และถูกนำไปสร้างเป็นสารคดีชุดเมย์เดย์หรือแอร์แครชอินเวสติเกชัน โดยบริษัทซีเนฟลิกซ์โปรดักชันส์จากประเทศแคนาดา ซึ่งออกฉายทางช่องเดียวกัน[14]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Morris, Hugh (12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560). "The truth behind the 10 deadliest plane crashes of all time". เดอะเทเลกราฟ. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |date= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 Aviation Safety Network. "ASN Aircraft accident Boeing 747-168B HZ-AIH Charki Dadri". สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. 3.0 3.1 Kingsley-Jones, Max; Learmount, David (20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "Collision raises doubts on ATC routeings". Flightglobal. Flight International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2558. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date=, |date= และ |archive-date= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 Halarnka, Samar (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "Saudi-Kazakh air collision: Boeing 747 crashes into IL-76 over Indian skies killing 351". India Today. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite magazine}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |date= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 Guruswamy, Krishnan (13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "Transcript in Air Collision That Killed 349 Showed All Appeared Normal". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-18. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |date= (help)
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 Burns, John F. (13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "Two Airliners Collide in Midair, Killing All 351 Aboard in India". นิวยอร์กไทมส์. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |date= (help)
  7. Aviation Safety Network. "ASN Aircraft accident Ilyushin Il-76TD UN-76435 Charkhi Dadri". สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  8. 8.0 8.1 8.2 "Pilot error focus of India collision investigation". ซีเอ็นเอ็น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มกราคม พ.ศ. 2543. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |archive-date= (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 Cooper, Kenneth J. (13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "At Least 349 Are Killed in Collision". วอชิงตันโพสต์. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |date= (help)
  10. 10.0 10.1 10.2 McGirk, Tim (14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539). "THE INDIAN AIR CRASH: Tapes point blame at Kazakh pilot". ดิอินดีเพ็นเดนต์. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |date= (help)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 Burns, John F. (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2540). "One Jet in Crash Over India Ruled Off Course". นิวยอร์กไทมส์. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |date= (help)
  12. "Communication gap caused Charkhi Dadri mishap: ATC guild". Rediff. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2542. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |archive-date= (help)
  13. "Head On - AirCrash". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2550. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= และ |archive-date= (help)
  14. ""Air Crash Investigation" Sight Unseen (TV Episode 2009) - IMDb". อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส. สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)