เวชศาสตร์ป้องกัน

เวชศาสตร์ป้องกัน (อังกฤษ: preventive medicine) หรือมาตรการป้องกันโรค (อังกฤษ: prophylaxis) ประกอบด้วยมาตรการที่ใช้สำหรับป้องกันโรค ซึ่งตรงข้ามกับการรักษาโรค[1] สุขภาพมีสถานะทางกายภาพและจิตใจเช่นเดียวกับโรคและความพิการซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม ความโน้มเอียงรับโรคทางกรรมพันธุ์ เชื้อก่อโรคและทางเลือกวิถีชีวิต สุขภาพ โรคและความพิการเป็นกระบวนการพลวัตซึ่งเริ่มตั้งแต่ก่อนปัจเจกบุคคลรู้สึกตัว การป้องกันโรคอาศัยการกระทำล่วงหน้าที่สามารถจำแนกได้เป็นการป้องกันปฐมภูมิ ทุยติภูมิและตติยภูมิ[1][2][3]

มีประชากรหลายล้านคนเสียชีวิตจากสาเหตุที่ป้องกันได้ทุกปี การศึกษาในปี 2547 พบว่า การเสียชีวิตประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมดในสหรัฐในปี 2543 เกิดจากพฤติกรรมและการสัมผัสที่ป้องกันได้[4] สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ได้แก่ โรคหัวใจแลแหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง การบาดเจ็บที่ไม่เจตนา เบาหวานและโรคติดเชื้อบางอย่าง การศึกษาเดียวกันประมาณการว่ามีประชากร 400,000 คนเสียชีวิตในสหรัฐทุกปีเนื่องจากอาหารเลวและวิถีชีวิตแบบนั่งนอนมาก ตามประมาณการขององค์การอนามัยโลก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 55 ล้านคนทั่วโลกในปี 2554 ซึ่งสองในสามของกลุ่มนี้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ รวมทั้งมะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรัง และโรคปอดเรื้อรัง[5] จำนวนนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ซึ่งผู้เสียชีวิตร้อยละ 60 มีสาเหตุจากโรคเหล่านี้ เวชศาสตร์ป้องกันมีความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากทั่วโลกมีความชุกของโรคเรื้อรังและการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้มากขึ้น

มีวิธีป้องกันโรคหลายวิธี แนะนำให้ผู้ใหญ่และเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ แม้รู้สึกว่าตนสุขภาพดี เพื่อตรวจคัดโรค ระบุปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรค อภิปรายข้อแนะนำสำหรับวิถีชีวิตที่สุขภาพดีและสมดุล การฉีดวัคซีนล่าสุด และรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ให้บริการสุขภาพ[6] การตรวจคัดโรคที่พบบ่อยบางโรคเช่น การตรวจหาความดันโลหิตสูง ภาวะน้ำตาลสูงในเลือด (ปัจจัยเสี่ยงต่อเบาหวาน) ภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเลือด โรคซึมเศร้า เอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดที่พบบ่อย เช่น โรคหนองในเทียม ซิฟิลิสและโรคหนองใน การถ่ายภาพรังสีเต้านม (เพื่อตรวจคัดโรคมะเร็งเต้านม) การตรวจคัดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง การทดสอบแพปเพื่อทดสอบมะเร็งปากมดลูก และการตรวจคัดโรคกระดูกพรุน สามารถทำการทดสอบทางพันธุกรรมเพื่อตรวจคัดการกลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคทางกรรมพันธุ์หรือความโน้มเอียงรับโรคบางโรค เช่น มะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ทว่า ปัจเจกบุคคลทุกคนไม่สามารถจ่ายค่ามาตรการเหล่านี้ได้ และประสิทธิผลราคาของเวชศาสตร์ป้องกันยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันอยู่

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Hugh R. Leavell and E. Gurney Clark as "the science and art of preventing disease, prolonging life, and promoting physical and mental health and efficiency. Leavell, H. R., & Clark, E. G. (1979). Preventive Medicine for the Doctor in his Community (3rd ed.). Huntington, NY: Robert E. Krieger Publishing Company.
  2. http://primalprevention.org
  3. Primal Health Research Database, on http://www.birthworks.org/primalhealth เก็บถาวร 2008-08-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. Mokdad A. H., Marks J. S., Stroup D. F., Gerberding J. L. (2004). "Actual Causes of Death in the United States, 2000". Journal of the American Medical Association. 291 (10): 1238–1245. doi:10.1001/jama.291.10.1238.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. The Top 10 Causes of Death. (n.d.). Retrieved March 16, 2014, from World Health Organization website: http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs310/en/index2.html
  6. Vorvick, L. (2013). Preventive health care. In D. Zieve, D. R. Eltz, S. Slon, & N. Wang (Eds.), The A.D.A.M. Medical Encyclopedia. Retrieved from http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/encyclopedia.html