เรือประจัญบานมูซาชิ

เรือประจัญบานมูซาชิ (ญี่ปุ่น: 武蔵โรมาจิMusashi) เป็นเรือประจัญบานของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นเรือธงแห่งกองเรือผสม ได้รับการตั้งชื่อตามแคว้นมูซาชิซึ่งเป็นชื่อแคว้นในสมัยโบราณของญี่ปุ่น เป็นเรือลำที่สองในชั้นยามาโตะต่อจากเรือประจัญบานยามาโตะ เป็นเรือที่หนักและติดอาวุธหนักที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างขึ้นมา ด้วยระวางขับน้ำเต็มที่ถึง 72,800 ตันและติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 460 มม.ถึง 9 กระบอก

Japanese battleship Musashi
มูซาชิออกจากบรูไนในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1944 เพื่อ
เข้าร่วมยุทธนาวีอ่าวเลย์เต
ประวัติ
Japanese Navy Ensign จักรพรรดิญี่ปุ่น
ชื่อมูซาชิ
ตั้งชื่อตามแคว้นมูซาชิ
Orderedมิถุนายน ค.ศ. 1937
อู่เรืออู่เรือนางาซากิมิตซูบิชิ
ปล่อยเรือ29 มีนาคม ค.ศ. 1938
เดินเรือแรก1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940
เข้าประจำการ5 สิงหาคม ค.ศ. 1942
ปลดระวาง1944
ความเป็นไปอับปาง 24 ตุลาคม ค.ศ. 1944 ในทะเลซิบูยัน (12°50′N 122°35′E / 12.833°N 122.583°E / 12.833; 122.583[1] หรือ 13°07′N 122°32′E / 13.117°N 122.533°E / 13.117; 122.533[2])
Stricken31 สิงหาคม ค.ศ. 1945
ลักษณะเฉพาะ
ชั้น: ยามาโตะ
ประเภท: เรือประจัญบาน
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 64,000 ตัน (มาตรฐาน)  ตัน[N 1]
72,809 ตัน (บรรทุกเต็มที่)
ความยาว: 862 ฟุต 10 นิ้ว (263 เมตร)
ความกว้าง: 127 ฟุต 7 นิ้ว (38.9 เมตร)
กินน้ำลึก: 35 ฟุต 8 นิ้ว (10.86 เมตร)
ระบบขับเคลื่อน: หม้อน้ำแบบคัมปง 12 หม้อ
ขับกังหันไอน้ำ 4 กังหัน
150,000 แรงม้า (110 MW)
ใบจักร 4 พวงแบบ 3 ใบพัดยาว 6 เมตร
ความเร็ว: 27.46 นอต (50.86 กม./ชม.)
พิสัยเชื้อเพลิง: 7,200 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอต
(13,000 กม.ที่ความเร็ว 30 กม./ชม.)
อัตราเต็มที่: 2,399 นาย
อาวุธ :
สิงหาคม
ค.ศ. 1942
9 × 460 มม. (18.1 นิ้ว) (3×3)[3]
12 × 155 มม. (6.1 นิ้ว) (4×3)
12 × 127 มม. (5 นิ้ว) (6×2)[3]
24 × 25 มม. (0.98 นิ้ว) AA Type 96 (8×3)[3]
4 × 13 มม. (2×2)[3]
อาวุธ :
ตุลาคม
ค.ศ. 1944
9 × 460 มม. (18.1 นิ้ว) (3×3)[4]
6 × 155 มม. (6.1 นิ้ว) (2×3)[4]
12 × 127 มม. (5 นิ้ว) (6×2)[4]
130 × 25 มม. (0.98 นิ้ว) AA Type 96 (32×3, 34×1)[2]
4 × 13 มม. (2×2)[4]
เกราะ: หน้าป้อมปืน 650 มม.[4]
ข้างลำเรือ 410 มม. (16.1 นิ้ว)[4]
กลางดาดฟ้า 200 มม. (8 นิ้ว)[4]
ขอบดาดฟ้า 226.5 มม. (9.06 นิ้ว)[4]
อากาศยาน: เครื่องบินทุ่นลอยน้ำ 7 ลำ
อุปกรณ์สนับสนุนการบิน: เครื่องดีด 2 เครื่อง

เรือสร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1938–1941 และขึ้นระวางอย่างเป็นทางการในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1942 มูซาชิทำหน้าที่เป็นเรือธงของพลเรือเอกอิโซรกคุ ยามาโมโต้และมินีชิ โคะงะ (Mineichi Koga) ในปี ค.ศ. 1943 ตลอดปี ค.ศ. 1943 มูซาชิจอดทอดสมออยู่ในฐานทัพเรือที่ทรูก คุเระ และบรูไน แห่งใดแห่งหนึ่งขึ้นอยู่กับการโจมตีทางอากาศของสหรัฐ มูซาชิอับปางเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1944 โดยเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินในระหว่างยุทธนาวีอ่าวเลย์เต

การออกแบบและการก่อสร้าง แก้

มูซาชิเป็นเรือลำที่สองของเรือประจัญบานชั้นยามาโตะออกแบบโดยกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1937[2][5] มูซาชิและยามาโตะได้รับการสร้างขึ้นให้สามารถต่อสู้กับเรือหลวงฝ่ายตรงข้ามได้ทีละหลายลำพร้อมกัน เป็นวิธีที่จะชดเชยความสามารถทางด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ด้อยกว่ากองทัพเรือสหรัฐอเมริกา[N 2] เรือแต่ละลำในชั้นยามาโตะนั้นมีระวางขับน้ำมากกว่า 70,000 ตัน และหวังกันว่าอำนาจการยิงของมูซาชิและเรืออื่นในชั้นจะสามารถชดเชยความต่างชั้นจากอำนาจทางอุตสาหกรรมของสหรัฐได้[5]

ในการดำเนินการสร้างมูซาชิ โครงสร้างของช่องว่างระหว่างท่าเทียบถูกเสริมให้แข็งแรงขึ้น โรงงานบริเวณใกล้เคียงได้รับการขยาย เครนลอยน้ำสองตัว

อุปกรณ์สำหรับการปล่อยเรือประจัญบานมูซาชิลงน้ำ แก้

ประการแรกจะต้องใช้ท่อนไม้ขนาดใหญ่ ทั้งความยาวและความหนามาปูเป็นทางลาด เพื่อให้เรือลื่นไถลลงน้ำได้ ท่อนไม้นี้จะต่อกันกว้าง 13 ฟุต ยาว 880 ฟุต โดยต้องต่อกันอย่าง สนิท ไม่มีปุ่มปม แล้วทาด้วยไขวัว 18 ตัน เพื่อให้ลื่น แล้วทาทับด้วยน้ำมัน หล่อลื่นอีก 7 ตัน เนื่องจากอ่าวเมืองนางาซากิ นี้มีขนาดไม่ใหญ่นัก บริษัทมิตซูบิชิ จึงได้นำโซ่เหล็กมาต่อกัน เป็นน้ำหนัก 2,000 ตัน ผูกไว้ที่หัวเรือ ให้เรือที่ปล่อยลงน้ำทางท้ายนั้นต้องลากโซ่นี้ไปด้วยเพื่อ ให้มีความหนืดไม่เลยไปชนฝั่งตรงข้าม นอกจากนี้ยังได้นำ สบู่เหลวอีก 2 ตัน มาชโลมให้เรือ ที่มีน้ำหนักจริงถึง 35,737 ตัน ลื่นไถลลงน้ำได้อย่างปลอดภัยอีกด้วยแต่อ่าวนางาซากิ เป็นอ่าวรูปตัว "ยู" ด้านนอกออกสู่ทะเล ดังนั้นจึงมีโอกาสที่น้ำจะเอ่อล้น ขึ้นมาบนฝั่งได้ ที่ท่าเรือนางาซากินั้น เมื่อปล่อยเรือประจัญบานมูซาชิลงน้ำแล้วประมาณ 10 นาที ระดับน้ำทะเลจะเอ่อสูงขึ้นถึง 58 เซนติเมตร นับเป็นปรากฏการณ์คล้ายกับคลื่น "สึนามิ" น้อยๆ แต่มันมิได้เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน หรือ แผ่นดินไหว แต่เป็นการแทนที่น้ำ ด้วยน้ำหนักกว่า 30,000 ตัน ของเรือ มูซาชิ จึงเกิดคลื่น "สึนามิ" เทียมขึ้นมา ยังผลให้ชาว บ้านที่มีบ้านเรือนอยู่ริมฝั่ง พบว่ามีน้ำทะเลเอ่อล้นขึ้นมาถึงพื้นใต้ถุนบ้านจนเกิดโกลาหลกัน ยกใหญ่ เพราะไม่ทราบถึงสาเหตุ นอกจากนี้แม่น้ำสายเล็ก ๆ สายหนึ่งที่ไหลลงอ่าวนางาซากิ ก็มีระดับน้ำสูงขึ้นกว่าปกติ ถึง 30 เซนติเมตรอีกด้วย เมื่อดูจาก สถิติการปล่อยเรือลงน้ำของโลกแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2477 อังกฤษได้ปล่อยเรือ โดยสารขนาดใหญ่ "ควีนแมรี่" ระวางขับน้ำ 37,387 ตัน และใน พ.ศ. 2483 ญี่ปุ่นได้ปล่อย เรือประจัญบาน มูซาชิ ซึ่งมีระวางขับน้ำขณะที่ปล่อยลงน้ำ 35,737 ตัน จึงเป็นเรือที่มีระวาง ขับน้ำเป็นลำดับที่สอง แต่เรือควีนแมรี่นั้น ได้บรรทุกน้ำถ่วงเรือไว้ประมาณ 2,000 ตัน เพื่อมิ ให้เรือลอยออกไปไกล ดังนั้นเมื่อหักน้ำหนักน้ำถ่วงเรือออกไป ก็จะเป็นระวางขับน้ำของเรือ เพียง 35,387 ตันเท่านั้น ดังนั้น เรือประจัญบาน มูซาชิ จึงครองสถิติโลก เมื่อ พ.ศ. 2485 ด้วยระวางขับน้ำขณะปล่อยลงน้ำ 35,737 ตัน

อำนาจการยิงของปืนใหญ่ ขนาด 460 มิลลิเมตร ของเรือประจัญบานมูซาชิ แก้

ปืนใหญ่เรือขนาด 460 มิลลิเมตร (น้ำหนักลูกละ 1,460 กิโลกรัม หมอนรองอีกกระบอกละ 55 กิโลกรัม ดินขับอีกกระบอกละ 330 กิโลกรัม เบ็ดเสร็จปืนใหญ่ 1 กระบอก กับกระสุน 1 ลูกนั้น รวมน้ำหนักถึง 1,845 กิโลกรัม หรือประมาณเกือบ 2 ตันทีเดียว) แบบ 94 นั้น มีระยะยิงไกลสุด 42,000 เมตร (26.1 ไมล์)โดย มีจอมกระสุนวิถีสูงกว่าความสูงของภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดของญี่ปุ่นถึง 2 เท่า (สูง 3,776 เมตร) กระสุนมีความเร็วต้น 780 เมตร/วินาที สามารถทะลุเกราะเหล็กที่หนา 430 มิลลิเมตร ได้อย่างสบาย

เรดาร์และเครื่องฟังเสียงใต้น้ำ แก้

จากการที่ได้รับการฝึกอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เรดาร์ของเรือประจัญบานมูซาชิ สามารถตรวจจับเครื่องบินที่เข้ามาโจมตีได้ตั้งแต่ระยะห่าง 240 กิโลเมตร และเครื่องฟังเสียงใต้น้ำสามารถตรวจจับลูกตอร์ปิโดที่วิ่งเข้าหาเรือได้ ตั้งแต่ระยะห่าง 5,000 เมตร

การปรับปรุงหลังขึ้นระวางประจำการ แก้

มีการปรับปรุงระบบอาวุธต่อสู้อากาศยาน โดยเมื่อฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2486 ได้ลดปืน ขนาด 155 มิลลิเมตร จากป้อมละ 3 กระบอก จำนวน 4 ป้อม เหลือเพียง 2 ป้อม ที่หัวเรือ และท้ายเรือเพิ่มปืนต่อสู้อากาศขนาด 127 มิลลิเมตร ป้อมละ 2 กระบอก จาก 6 ป้อม เป็น 12 ป้อม เพิ่มปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด 25 มิลลิเมตร จากที่มีเพียงแท่น 3 กระบอก 8 แท่น หรือ 24 กระบอก เป็นแท่น 3 กระบอก และแท่นเดี่ยว เมื่อรวมกับปืนกล 13 มิลลิเมตรแท่นคู่ที่มีอยู่เดิม 2 แท่นแล้ว จะมีปืนกลต่อสู้อากาศยานถึง 184 กระบอก ส่วนด้านอื่น ๆ มีการติดตั้งระบบแสงอินฟราเรด เพื่อใช้บอกฝ่ายในเวลากลางคืน มีการติดตั้งเรดาร์เพื่อตรวจจับการเข้ามาของเครื่องบินข้าศึก ติดตั้งเครื่องฟังเสียงใต้น้ำเพื่อตรวจจับการเคลื่อนที่เข้ามาของตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำข้าศึก ปรับปรุงเครื่องถือท้ายอะไหล่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการลดสิ่งของเครื่องใช้ประจำเรือที่อาจเป็นเชื้อเพลิงเมื่อเกิดเพลิงไหม้ให้น้อยลง เพิ่มเครื่องสูบน้ำในระบบน้ำดับไฟ ปรับปรุงถังน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความจุเพิ่มขึ้น เตรียมติดตั้งปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 100/65 มิลลิเมตร "ไอ้ก้านยาว" เพื่อป้องกันตนเองจากการโจมตีของเครื่องบินข้าศึก

เกราะป้องกันของเรือประจัญบานมูซาชิ แก้

เกราะของเรือมูซาชิมีความหนามากซึ่งสามารถทนทานต่อลูกตอร์ปิโดได้ในระยะ 25 - 30 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังติดเกราะป้องกันกระสุนปืนใหญ่ขนาด 18.1 นิ้วไว้หน้าป้อมปืนหมายเลข 1

การออกปฏิบัติการยุทธ แก้

เรือประจัญบานมูซาชิ ได้เข้าร่วมในยุทธการ "อะ" ในการยุทธ์นอกหมู่เกาะมาเรียนา ที่ฝ่ายสหรัฐ ฯ เรียกว่า "การยุทธ์ที่ทะเลฟิลิปปินส์" เมื่อ 19 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2487 และในยุทธการ "โช" ในการยุทธ์ที่อ่าวเลเต แต่ถูกโจมตีทางอากาศจมในทะเลซิบูยัน เมื่อ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2487

เมื่อกำลังรบส่วนกลาง อันประกอบด้วยเรือประจัญบาน ยามาโตะ มูซาชิ นางาโตะ คองโง และ ฮารุนะ เรือลาดตระเวนหนัก โจไค เมียวโค ฮากุโระ คุมาโนะ ซึสึยะ จิคุมะ และโทเนะ เรือลาดตระเวนเบา โนชิโระ และ ยาฮางิ พร้อมด้วยเรือพิฆาตอีก 15 ลำ เดินทางผ่านทะเลซิบูยันเพื่อออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ทางช่องแคบซานเบอร์นาร์ดิโน มุ่งไปยังอ่าวเลย์เตนั้น เมื่อเวลา 1026 ของ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2487 ก็ถูกกำลังทางอากาศจากกำลังรบเฉพาะกิจที่ 38 เข้าโจมตี โดยระลอกแรก เป็นเครื่องบินขับไล่ F6F 21 เครื่อง เครื่องบินดำทิ้งระ เบิด SB2C 12 เครื่อง และเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโด TBM 12 เครื่อง จากเรือบรรทุกเครื่องบิน อินเทรปิด (CV-11) และเรือบรรทุกเครื่องบินเบา คาบอต (CVL-27) ระลอกที่สองด้วยจำนวนเกือบเท่ากัน เมื่อ 10.45 ระลอกที่สาม เป็นเครื่องบินขับไล่ 16 เครื่อง เครื่องบินดำทิ้งระเบิด 12 เครื่อง และเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโด 3 เครื่อง เข้าโจมตีเมื่อ 1550 นอกจากนี้เมื่อเวลา 1330 มีเครื่องบินขับไล่ 8 เครื่อง เครื่องบินดำทิ้งระเบิด 5 เครื่อง และเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโด 11 เครื่อง จากเรือบรรทุกเครื่องบินเล็กซิงตัน (ลำที่ 2) (CV-16) และบางส่วนจากเรือเอ็สเซ็ก (CV-9) เข้าร่วมโจมตี และเมื่อ 1415 มีกำลังทางอากาศของหมวดเฉพาะกิจที่ 38.4 เรือบรรทุกเครื่องบิน แฟรงกลิน (CV-13) เอ็นเทอร์ไพรส์ (CV-6) เรือบรรทุกเครื่องบินเบา ซานฮาซินโต้ (CVL-30) เบลลิววู๊ด (CVL-24)] ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินขับไล่ 26 เครื่อง เครื่องบินดำทิ้งระเบิด 21 เครื่อง และเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโด 18 เครื่อง ก็เข้าร่วมโจมตีด้วย รวมแล้วในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2487 สหรัฐ ฯ ได้ส่งเครื่องบินเข้าโจมตีกำลังรบส่วนกลาง ของญี่ปุ่น ในทะเลซิบูยัน เป็นจำนวน 259 เที่ยวบิน

ปฏิบัติการสุดท้าย แก้

 
เรือประจัญบานมูซาชิถูกโจมตีอย่างหนักในทะเลซิบูยัน

เรือประจัญบาน มูซาชิ ซึ่งได้รับการทาสีใหม่จนเด่นเพื่อดึงความสนใจของเครื่องบิน ข้าศึกก็ได้ถูกโจมตีตั้งแต่ระลอกแรกเรือถูกตอร์ปิโดที่ท้ายเรือกราบซ้าย 1 ลูก แรงสั่นสะเทือนทำให้ศูนย์รวมของปืนใหญ่ ขนาด 460 มิลลิเมตร ชำรุด ยังผลให้อำนาจการยิงลดลงเพราะต้องให้แต่ละป้อมยิงอิสระ การโจมตีระลอกที่ 2 และ 3 ก็ติดตามมาโดยเฉพาะในระลอกที่ 3 นี้ จะเน้นที่เรือมูซาชิ นอกจากจะโจมตีด้วยลูกระเบิดและตอร์ปิโดแล้ว เครื่องบินขับไล่ข้าศึกยังได้ทำการยิงกราดลงมาด้วยปืนกล ขนาด 12.7 มิลลิเมตร ที่มีลำละ 6 กระบอก ทำให้ทหารประจำปืนกลต่อสู้อากาศยาน ซึ่งไม่มีโล่ปืนกำบังได้รับ บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เรือมูซาชิความเร็วลดลงจาก 27 นอต เหลือเพียง 16 นอต จึงตามกระบวนเรือไม่ทัน ถูกทิ้งห่างออกไป ต่อมาความเร็วของเรือก็ลดลงอีก จนทำความเร็วได้ไม่เกิน 12 นอต แม้ฝ่ายพรรคกลินจะได้พยายามซ่อมแซมแล้วก็ตาม แต่เรือก็ถูกตอร์ปิโดหลายลูก เครื่องไฟฟ้าหมายเลข 3 และ 5 ขัดข้อง เรือเริ่มเอียงจนถึง 25 องศา การโจมตีระลอกที่ 5 ทำให้สะพานเดินเรือเสียหาย ต้อง ใช้สะพานเดินเรือสำรองนำเรือต่อไป

ความเร็วของเรือมูซาชิ เหลือเพียง 6 นอต น้ำเข้าเรือมากจนดาดฟ้าหัวเรือจมอยู่ใต้น้ำ ในการโจมตีระลอกที่ 5 นี้ เรือถูกลูกระเบิด 2 ลูก และตกใกล้เรืออีก 3 ลูก ลูกที่ตกถูกเรือได้ ทะลุดาดฟ้าลงไปทำลายหม้อน้ำ หมายเลข 1 และพัดลมของหม้อน้ำ หมายเลข 2 และ 5 ด้วย ต่อมาหม้อน้ำหมายเลข 2 4 และ 6 ก็เสียหายตามไปด้วย ทำให้ไอน้ำส่งไปยังเครื่องจักรใหญ่ไม่ได้ เรือมีความเร็วเหลือเพียง 2 นอต แต่ยังไม่ยอมจมง่าย ๆ เรือถูกตอร์ปิโดรวม 21 ลูก และลูกระเบิด ขนาด 450 กิโลกรัม อีก 17 ลูก นอกจากนั้นยังมีลูกระเบิดที่ตกระเบิดใกล้เรืออีกกว่า 20 ลูก แต่เรือที่ได้รับการออกแบบให้ทุกส่วนมีการป้องกันอย่างดี จึงเสียหายไม่มากนัก ปัญหาสำคัญก็คือ การปรับสมดุล แก้อาการเอียงของเรือ เมื่อเรือถูกตอร์ปิโดทางกราบซ้าย ก็ต้องปล่อยน้ำทะเลเข้าถังอับเฉาทางกราบขวา เพื่อแก้อาการเอียง แต่ เมื่อถูกหลายลูก เข้าก็ต้องปล่อยน้ำทะเลเข้า มาแก้เอียงมากขึ้น จนหัวเรือมุดต่ำลง จน ดาดฟ้าจากหัวเรือจนถึงป้อ ปืนหมายเลข 1 มีน้ำท่วมเต็มเหมือนทะเลสาบ แม้การโจมตีจะผ่านไปกว่า 3 ชั่วโมง แล้วก็ไม่สามารถแก้ไข อาการจมน้ำของหัวเรือได้ เรือต้องลอยลำ อยู่รอเวลาจมเท่านั้น ในที่สุด พลเรือตรี อิงุจิ โตชิฮิระ ผู้บังคับการเรือประจัญบาน มูซาชิ ก็จำต้องสั่งสละ เรือใหญ่ โดยตัวท่านได้ยอมจมไปกับเรือ ต่อมาไม่นานส่วนท้ายเรือ มูซาชิ ก็ยกสูงขึ้น เพราะหัวเรือได้จมลงไปใต้น้ำแล้ว เรือเอียงซ้ายแล้วจมลงสู่ใต้ทะเล และจมมิดน้ำเมื่อเวลา 1930 ของวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2487 ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าพอดี

เมื่อเรือประจัญบานมูซาชิถูกโจมตีได้รับความเสียหาย ความเร็วลดลงจนไม่สามารถตามกระบวนได้ทัน พลเรือเอก คุริตะ ผู้บัญชาการทัพเรือ ก็ได้สั่งการให้เรือ ลาดตระเวนหนัก โทเนะ เรือพิฆาตฮามะคาเซะ และ คิโยชิโมะ อยู่ให้ความคุ้มกัน ต่อมาเรือพิฆาตชิมะคาเซะ ก็เข้ามารับหน้าที่แทนเรือ ฮามะคาเซะ ซึ่งได้รับความเสียหายจากการโจมตีระลอกที่ 5 จาก นั้น เมื่อเห็นว่าเรือมูซาชิต้องลอยลำรอเวลาจมเท่านั้น เรือลาดตระเวนหนักโทเนะ ได้ขออนุมัติแยกตัวใช้ความเร็วตามกระบวนเรือใหญ่ไปปฏิบัติภารกิจหลัก จึงเหลือเรือพิฆาต 2 ลำ ที่อยู่ จนวาระสุดท้ายของเรือ มูซาชิ เพื่อช่วยเหลือพลประจำเรือที่สละเรือใหญ่ คือ เรือพิฆาต ชิมะคาเซะ และเรือพิฆาตคิโยชิโมะ

ตำบลที่ที่เรือประจัญบานมูซาชิจม แก้

จากรายงานของเรือพิฆาต คิโยชิโมะ แจ้งว่า เรือประจัญบาน มูซาชิ จมที่ละติจูด 12 องศา 08 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 122 องศา 41.5 ลิปดา ตะวันออก แต่หลักฐานทางฝ่ายสหรัฐ ฯ แจ้งว่าตำบลที่ที่เรือจม คือ ที่ละติจูด 12 องศา 35 ลิปดา เหนือ ลองจิจูด 122 องศา 35 ลิปดา ตะวันออก ซึ่งแตกต่างกัน จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าที่ใดแน่

กำลังพล แก้

เรือประจัญบานมูซาชิ มีกำลังพลนายทหารสัญญาบัตร 112 นาย นายทหารประทวน และพลทหาร 2,287 นาย รวม 2,399 นาย จำนวนผู้รอดชีวิตหลังจากเรือจมไปแล้ว มีนายทหารสัญญาบัตร 73 นาย นายทหารประทวนและพลทหาร 1,303 นาย โดยได้รับการช่วยเหลือจากเรือพิฆาต ชิมะคาเซะ และ คิโยชิโมะ นำไปส่งที่เกาะคอร์เรจิดอร์ ปากอ่าวมะนิลา ของฟิลิปปินส์

กำลังพลของเรือประจัญบาน มูซาชิ ที่สูญหายไป เป็นนายทหารสัญญาบัตร 39 นาย นายทหารประทวนและพลทหาร 984 นาย นั้น คาดว่าคงจะเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจาก การโจมตีทางอากาศจมไปกับเรือ หรืออาจจะจมน้ำเสียชีวิตหลังจากที่สละเรือใหญ่แล้ว

การค้นพบ แก้

ล่าสุดนาย พอล อัลเลน จากไมโครซอฟท์ได้ประกาศผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมาว่าได้ค้นพบซากเรือประจัญบานมูซาชิแล้วที่ระดับความลึก 1000 เมตรหลังจากจมอยู่ก้นอ่าวเลย์เตนานถึง 70 ปี

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. "ตัน" ในบทความนี้ไม่ใช่เมตริกตันแต่เป็น Long ton ที่มีขนาดเท่ากับ 2,240 ปอนด์ (1,016 กก.)
  2. ในปี ค.ศ. 1937 จักรวรรดิญี่ปุ่นมีผลผลิตอุตสาหกรรม 3.5% ของโลก ขณะที่สหรัฐมีถึง 35%[6]
อ้างอิง
  1. Jentshura (1977), p. 39.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Combined Fleet - tabular history of Musashi". Parshall, Jon; Bob Hackett, Sander Kingsepp, & Allyn Nevitt. สืบค้นเมื่อ 8 January 2009.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Jackson (2000), p. 74
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 Johnston and McAuley (2000), p. 123
  5. 5.0 5.1 Schom (2004), p. 43
  6. Willmott (2000), p. 35

บรรณานุกรม แก้

  • Jackson, Robert (2000). The World's Great Battleships. Brown Books. ISBN 1-89788-460-5
  • Jentschura, Hansgeorg (1977). Warships of the Imperial Japanese Navy, 1869-1945. Annapolis: United States Naval Institute. ISBN 0-87021-893-X. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  • Johnston, Ian & McAuley, Rob (2000). The Battleships. MBI Publishing Company. ISBN 0-7603-1018-1
  • Reynolds, Clark G (1982). The Carrier War. Time-Life Books. ISBN 0-80943-304-4
  • Schom, Alan (2004). The Eagle and the Rising Sun; The Japanese-American War, 1941-1943. Norton & Company. ISBN 2-00201-594-1
  • Steinberg, Rafael (1978). Island Hopping. Time-Life Books Inc.
  • Steinberg, Rafael (1980). Return to the Philippines. Time-Life Books Inc. ISBN 0-80942-516-5
  • Thompson, Robert S. (2001). Empires on the Pacific: World War II and the struggle for mastery of Asia. New York. Basic Books. ISBN 2001036561
  • Wheeler, Keith (1980). War Under the Pacific. Time-Life Books. ISBN 0-8094-3376-1
  • Willmott, H.P. (2000). The Second World War in the Far East. Wellington House. ISBN 2004049199.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้