เรนาโต ซี. โคโรนา (Renato C. Corona; 15 ตุลาคม 2491 – ) เป็นประธานศาลสูงสุดคนที่ยี่สิบสามแห่งฟิลิปปินส์ เดิมกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย ประธานาธิบดี ตั้งให้เป็นตุลาการสมทบในศาลสูงสุดตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2545 ต่อมาเมื่อเรย์นาโต ปูโน (Reynato Puno) พ้นจากตำแหน่งประธานศาลสูงสุด เขาจึงได้เลื่อนสู่ตำแหน่งนั้นตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2553

เรนาโต โคโรนา
Renato Corona
ประธานศาลสูงสุดแห่งฟิลิปปินส์
ดำรงตำแหน่ง
17 พฤษภาคม 2553 – 29 พฤษภาคม 2555
แต่งตั้งโดยกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย
ก่อนหน้าเรย์นาโต ปูโน
ถัดไปอันโตนิโอ คาร์ปิโอ (รักษาการ)
ตุลาการสมทบในศาลสูงสุดแห่งฟิลิปปินส์
ดำรงตำแหน่ง
9 เมษายน 2545 – 17 พฤษภาคม 2553
แต่งตั้งโดยกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย
ก่อนหน้าอาร์ตูโร บูเอนา
ถัดไปมาเรีย เลาวร์เดส เซเรโน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแห่งฟิลิปปินส์
ดำรงตำแหน่ง
20 มกราคม 2544 – 9 เมษายน 2545
ประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย
ก่อนหน้าอาโปรดิกิโอ ลาเควียน
ถัดไปริโกเบอร์โต ทิกลาโอ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด15 ตุลาคม 2491 (75 ปี 187 วัน)
ทานาอวน ฟิลิปปินส์
คู่สมรสคริสตินา รอโก
ศิษย์เก่า

โคโรนานั้นเดิมเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ นักกฎหมายเอกชน และรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของฟิเดล วี. รามอส กับของกลอเรีย อาร์โรโย ก่อนได้รับแต่งตั้งเข้าสู่ศาลสูง

ครั้นวันที่ 12 ธันวาคม 2554 เขาถูกสภาผู้แทนราษฎรร้องขับจากตำแหน่งประธานศาลสูงสุด[1] ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 วุฒิสภาชี้ขาดว่า เขามีความผิดฐานไม่แถลงทรัพย์สิน หนี้สิน และมูลค่าสุทธิ ตามความในข้อ 2 แห่งคำร้องขับออกจากตำแหน่ง[2]

ภูมิหลัง แก้

โคโรนาเกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2491 ณ อำเภอทานาอวน จังหวัดบาทังกัส ประเทศฟิลิปปินส์ สมรสกับคริสตินา โคโรนา (Christina Corona) หรือชื่อสกุลเดิมว่า รอโก (Roco) มีบุตรด้วยกันสามคน และมีหลานอีกหกคน[3]

การศึกษา แก้

คุณวุฒิ แก้

ในปี 2513 โคโรนาสำเร็จเป็นศิลปศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอาเตเนโอเดมะนิลา (Ateneo de Manila University) ครั้งเป็นนักศึกษา เขาได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นักศึกษาเรียก เดอะกีด็อน (The GUIDON) ด้วย ต่อมาในปี 2517 จึงสำเร็จเป็นนิติศาสตรบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาเตเนโอ (Ateneo Law School) และสอบเนติบัณฑิตผ่าน ได้คะแนนร้อยละ 84.6 นับเป็นที่ยี่สิบห้าจากผู้สอบทั้งหมดหนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบห้าคน[3]

ลุปี 2524 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) ตกลงรับเขาเข้าศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิต และเขาสำเร็จการศึกษาได้ปริญญานั้นในปีถัดมา ต่อมา จึงสำเร็จเป็นนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยซันโตโทมัส (University of Santo Tomas) และได้รับเลือกเป็นตัวแทนเพื่อนร่วมห้องกล่าวคำอำลาในพิธีประสาทปริญญาบัตรด้วย[3]

ข้อโต้เถียงเรื่องปริญญาดุษฎีบัณฑิต แก้

วันที่ 22 ธันวาคม 2554 มาริเตส วีทัก (Marites Vitug) นักข่าวออนไลน์ประจำเว็บไซต์แร็ปเปลอร์.คอม (Rappler.com) ลงบทความอ้างว่า มหาวิทยาลัยซันโตโทมัส "คงแหกระเบียบตัวเองเสียแล้ว" ในการที่ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขากฎหมายแพ่งให้แก่โคโรนา ทั้งยังได้อนุมัติคุณวุฒิต่าง ๆ ให้แก่เขาด้วย วีทักว่า โคโรนาไม่ได้ส่งวาทนิพนธ์สำหรับสำเร็จการศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิตของเขาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้เป็นระเบียบสำหรับคนทั้งปวงที่ประสงค์จะได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิต เธอยังว่า โคโรนาเรียนนานเกินอนุญาต เพราะมหาวิทยาลัยกำหนดว่า ผู้ศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิตต้องสำเร็จการศึกษาภายในห้าปีแต่ไม่เกินเจ็ดปีเป็นอย่างสูง แต่ตามที่โคโรนาให้สัมภาษณ์ไว้เองปรากฏว่า เขาเริ่มทำงานส่งอาจารย์ในชั้นดุษฎีบัณฑิตเมื่อปี 2543 หรือ 2544 ทว่า มาจบการศึกษาเอาในเดือนเมษายน 2554 ทั้งยังได้เป็นหนึ่งในบัณฑิตหกคนที่ได้รับเกียรติยศสูงสุดในพิธีเฉลิมฉลองวันครบรอบสี่ร้อยปีของมหาวิทยาลัยด้วย[4][5]

บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยซันโตโทมัส ออกแถลงการณ์บอกปัดว่ามิได้ละเมิดระเบียบตนเองเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่โคโรนา โดยเสริมว่า โคโรนาได้ลงทะเบียนเรียนวิชาบังคับทั้งปวงเพื่อสำเร็จเป็นดุษฎีบัณฑิต ได้เข้าเรียนและผ่านวิชาทั้งนั้น และได้ส่ง "ศาสตรนิพนธ์ทางการศึกษา" เป็นวาทนิพนธ์ในระหว่างบรรยายรวมแล้ว มหาวิทยาลัยยังว่า นับแต่คณะกรรมการการอุดมศึกษาประกาศให้มหาวิทยาลัยเป็น "สถาบันอุดมศึกษาที่ปกครองตนเอง" สืบมา มหาวิทยาลัยย่อมมีเสรีภาพทางการศึกษาประจำสถาบันในอันที่จะวางมาตรฐานคุณลักษณะและความเป็นเลิศของตนเอง และกำหนดเองว่าจะประสาทปริญญาใดให้แก่ผู้ใดตามสมควร มหาวิทยาลัยกล่าวด้วยว่า ประเด็นระยะเวลาการเป็นนักศึกษาของโคโรนากับประเด็นเรื่องเกียรติยศที่เขาได้รับนั้นเป็นแต่เรื่องมโนสาเร่ เพราะเรื่องเหล่านี้ย่อมเป็น "เสรีภาพทางการศึกษาประจำสถาบัน" ของมหาวิทยาลัย[6] ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยซันโตโทมัสก็อ้างว่า วีทักผิดใจกับโคโรนาและศาลสูงสุดอยู่ จึงสงสัยว่า เธอเขียนบทความเพื่อวัตถุประสงค์อันใด[7]

ฝ่ายวีทักนั้น เมื่อมีผู้ขอให้วิจารณ์แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัย ก็ตอบว่า ในแถลงการณ์นั้น มหาวิทยาลัย "บอกอยู่เป็นพื้นแล้วว่า เรามีระเบียบ แต่เราจะฝืนมันก็ได้โดยเอาเสรีภาพทางการศึกษาและอำนาจในการปกครองตนเองเข้าอ้าง"[8] เธอยังเขียนหนังสือชื่อ แชโดว์ออฟเดาบต์: โพรบิงเดอะสุพรีมคอร์ต (Shadow of Doubt: Probing the Supreme Court) ตอนหนึ่งว่า ที่โคโรนาอ้างว่าได้ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอาเตเนโอเดมะนิลาพร้อมด้วยเกียรติยศต่าง ๆ นั้น ไม่มีบันทึกไว้ในบรรณสารของมหาวิทยาลัยแต่ประการใด[5]

ตำแหน่งประธานศาลสูงสุด แก้

การเข้าสู่ตำแหน่ง แก้

วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 อันเป็นวันที่สองหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไป และเป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนกลอเรีย อาร์โรโย พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี นางได้ตั้งโคโรนาเป็นประธานศาลสูงสุดคนที่ยี่สิบสาม หลังจากเรย์นาโต ปูโน ประธานศาลคนก่อน เกษียณอายุราชการไป

การถูกร้องขับจากตำแหน่ง แก้

วันที่ 12 ธันวาคม 2554 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งร้อยแปดสิบคนเข้าชื่อในคำร้องขับโคโรนาจากตำแหน่งประธานศาลสูงสุด[1] เมื่อพิจารณาแล้วว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสมาชิกเข้าชื่อไม่ต่ำกว่าเก้าสิบห้าคนขึ้นไป ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงส่งคำร้องนั้นให้วุฒิสภาพิจารณา[9][10]

คำร้องนั้นว่า คดีทั้งหลายอันว่าด้วยการบริหารราชการของกลอเรีย อาร์โรโยนั้น โคโรนาได้ชี้ขาดตัดสินอย่างไม่เป็นกลางโดยต่อเนื่องสืบ ๆ มา อนึ่ง โคโรนายังมิได้แถลงทรัพย์สินตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วย โคโรนาแก้ว่า ทรัพย์สินจำนวนสองล้านสี่แสนดอลลาร์สหรัฐของเขานั้นหาจำต้องเปิดเผยไม่ เพราะรัฐธรรมนูญว่า เงินตราต่างประเทศซึ่งฝากอยู่นั้นไม่ต้องรายงาน ส่วนทรัพย์สินจำนวนที่เหลือซึ่งเป็นเงินเปโซนั้นเป็นของญาติ เขายังว่า ที่เป็นความขึ้นมาครั้งนี้ล้วนแต่ถูกแรงขับเคลื่อนทางการเมืองอันเนื่องมาจากการที่เบนิกโน อากีโนที่ 3 รณรงค์ต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง[11]

ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 วุฒิสภาพิจารณาเป็นสัตย์แล้วเห็นว่า โคโรนามีความผิดโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้แถลงทรัพย์สิน หนี้สิน และมูลค่าสุทธิต่อสาธารณชน ตามความในข้อ 2 แห่งคำร้องของสภาผู้แทนราษฎร[2]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Chief Justice Corona impeached". ABS-CBN News. 2011-12-11.
  2. 2.0 2.1 "Senate votes 20-3 to convict Corona". Inquirer.net. 2012-5-29. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 "The Chief Justice". Supreme Court of the Philippines. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-20. สืบค้นเมื่อ 30 May 2012.
  4. "UST breaks rules to favor Corona". Rappler.com. 2011-12-11. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30.
  5. 5.0 5.1 "UST: Corona's lecture enough for PhD". Rappler.com. 2012-1-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-08. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  6. "UST: CJ Corona earned Ph.D". Inquirer.net. 2012-1-12. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  7. "UST faculty affirms: Corona earned summa honors". GMA News Online. 2012-1-3. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  8. "UST denies favoring Corona in doctoral program". GMA News Online. 2012-1-2. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  9. "House majority oks impeach case vs Corona for Senate trial". GMA News. 2011-12-11.
  10. "Chief Justice Corona impeached". ABS-CBN News. 2011-12-11.
  11. "Philippine senate convicts top judge". Aljazeera. May 29, 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้