เบ้งตัด (เสียชีวิต ค.ศ. 228) มีชื่อภาษาจีนกลางว่า เมิ่ง ต๋า (จีน: 孟達; pronunciation) ชื่อรอง จื่อตู้ (จีน: 子度) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เดิมรับใช้ขุนศึกเล่าเจี้ยงและเล่าปี่ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกก่อนจะแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ํก ในวุยก๊กเบ้งตัดรับราชการในรัชสมัยของโจผีและโจยอย ราวปลายปี ค.ศ. 227 เบ้งจัดเริ่มก่อกบฏในวุยก๊ก มีเป้าหมายที่จะกลับไปเข้าร่วมกับจ๊กก๊ก แต่กบฏถูกสุมาอี้ขุนพลวุยก๊กปราบปรามลงอย่างรวดเร็ว เบ้งตัดถูกจับและถูกประหารชีวตในข้อหากบฏ

เบ้งตัด (เมิ่ง ต๋า)
孟達
ภาพวาดสมัยราชวงศ์ชิงแสดงเหตุการณ์การเสียชีวิตของเบ้งตัด
เจ้าเมืองซินเสีย (新城太守 ซินเฉิงไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 228 (228)
กษัตริย์โจผี
ขุนพลสถาปนายุทธ
(建武將軍 เจี้ยนอู่เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 220 (220) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจผี
ขุนนางทหารม้าผู้ถวายการรับใช้
(散騎常侍 ซั่นฉีฉางชื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 220 (220) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจผี
เจ้าเมืองงิเต๋า (宜都太守 อี๋ตูไท่โฉ่ว)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 214 (214) – ค.ศ. 219 (219)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครซิงผิง มณฑลฉ่านซี
เสียชีวิตค.ศ. 228
อำเภอฝาง มณฑลหูเป่ย์
อาชีพขุนพล
ชื่อรองจื่อจิ้ง (子敬) / จื่อตู้ (子度)
บรรดาศักดิ์ผิงหยางถิงโหฺว
(平陽亭侯)
รูปเบ้งตัดจากเกม Romance Of The Three Kingdoms XI ของค่ายเกม KOEI

รับใช้เล่าเจี้ยงและเล่าปี่ แก้

เดิมเบ้งตัดรับใช้เล่าเจี้ยง เจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพิ้นที่มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) ต่อมาแปรพัตรไปเข้าด้วยเล่าปี่ที่เป็นขุนศึกอีกคน เมื่อเล่าปี่บุกเอ๊กจิ๋วในช่วงต้นทศวรรษ 210 และยึดอำนาจปกครองมณฑลจากเล่าเจี้ยง เล่าปี่ส่งเบ้งตัดไปรักษาอำเภอกังเหลง (江陵 เจียงหลิง) และเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉฺ่ว) ของเมืองงิเต๋า (宜都 อี๋ตู) เดิมเบ้งตัดมีชื่อรองว่า "จื่อจิ้ง" แต่เปลี่ยนชือเป็น "จื่อตู้" เพื่อไม่ให้พ้องกับชื่อรองของอาของเล่าปี่ซึ่งก็มีชื่อรองว่า "จื่อจิ้ง"

ในปี ค.ศ. 219 เบ้งตัดได้รับคำสั่งให้นำกองกำลังจากอำเภอจีกุ๋ย (秭歸 จื่อกุย) เพื่อโจมตีอำเภอห้องเหลง (房陵 ฝางหลิง) หลังจากยึดห้องเหลงได้ เบ้งตัดบุกขึ้นเหนือและยึดได้อีกเมืองหนึ่งคือเซียงหยง[a] (上庸 ช่างยง) โดยสมทบกับเล่าฮองบุตรบุญธรรมของเล่าปี่ ต่อมาในปีเดียวกัน เมื่อกวนอูขุนพลของเล่าปี่ถูกล้อมโดยกองกำลังของข้าศึกในมณฑลเกงจิ๋ว กวนอูขอกำลัังเสริมจากเล่าฮองและเบ้งตัด แต่ทั้งคู่ปฏิเสธที่จะส่งกำลังเสริม ในที่สุดกวนอูจึงถูกจับโดยกองกำลังของซุนกวนขุนศึกภาคตะวันออกและถูกประหารชีวิต

แปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊ก แก้

เบ้งตัดเกรงว่าตนจะถูกลงโทษเหตุเพราะไม่ส่งกำลังเสริมไปช่วยกวนอู เวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างเบ้งตัดและเล่าฮองก็ตึงเครียดเช่นกัน เบ้งตัดจึงนำทหาร 4,000 นายแปรพักตร์ไปเข้าด้วยโจผีที่เป็นอริกับเล่าปี่ โจผีต้อนรับเบ้งตัดเป็นอย่างดี จากนั้นเบ้งตัดจึงเขียนหนังสือส่งไปถึงเล่าฮอง แจ้งว่าตนกำลังตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงเพราะมีบางคนที่ใกล้ชิดกับเล่าปี่พูดใส่ร้ายตน[2] และเกลี้ยกล่อมให้เล่าฮองไปสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊กด้วยเช่นกัน แต่เล่าฮองเพิกเฉยต่อข้อเสนอของเบ้งตัดและกลับไปที่เซงโต๋ จึงถูกเล่าปี่ที่เป็นบิดาบุญธรรมสั่งประหารชีวิตในข้อหาที่ไม่ส่งกำลังเสริมไปช่วยกวนอูและหยุดการแปรพักตร์ของเบ้งตัดไม่สำเร็จ

ภายหลังโจผีล้มล้างราชวงศ์ฮั่นตะวันออกโดยบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้สละราชบัลลังก์ให้ตน จากนั้นโจผีจึงขึ้นเป็นจักรพรรดิและสถาปนารัฐวุยก๊กขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊ก ในวุยก๊ก เบ้งตัดได้รับตำแหน่งราชการที่สำคัญจำนวนมากและได้บรรดาศักดิ์ระดับโหว โจผีรวมเมือง 3 เมือง ได้แก่ ห้องเหลง เซียงหยง และเสเสีย (西城 ซีเฉิง) เข้าด้วยกันและก่อตั้งเป็นเมืองที่ใหญ่ขึ้นชื่อซินเสีย (新城 ซินเฉิง) และแต่งตั้งเบ้งตัดให้เป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองซินเสีย รวมถึงมอบหมายให้เบ้งตัดป้องกันชายแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวุยก๊ก เล่าหัวทูลแนะนำโจผีว่า "เบ้งตัดมีใจแสวงสิ่งที่ตนไม่ควรได้รับโดยอาศัยวิธีอันแยบยล คงไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของฝ่าบาท ชายแดนของซินเสียติดกับอาณาเขตของซุนกวนและเล่าปี่ หากสถานการณ์ในแถบนั้นเปลี่ยนแปลงย่อมสร้างปัญหาให้รัฐ" โจผีเพิกเฉยต่อคำของเล่าหัว[3] เบ้งตัดกลายเป็นสหายสนิทกับขุนนางวุยก๊กอย่างฮวนกายและแฮหัวซง

ในปี ค.ศ. 225 หลี่ หง (李鴻) อดีตข้าราชการของวุยก๊กผู้สวามิภักดิ์ต่อจ๊กก๊ก (รัฐที่ก่อตั้งโดยเล่าปี่) เข้าพบจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊ก กับขุนนางจ๊กก๊กเจียวอ้วนและบิสี หลี่ หงเล่าให้พวกเขาเกี่ยวกับการพบปะระหว่างเบ้งตัดกับคนที่ชื่อหวาง ชง (王沖) หวาง ชงบอกกับเบ้งตัดว่าจูกัดเหลียงยุยงเล่าปี่ให้ประหารชีวิตครอบครัวของเบ้งตัดหลังจากเบ้งตัดแปรพักตร์ แต่เล่าปี่ปฏิเสธ เบ้งตัดนั้นก็ไม่เชื่อคำของหวาง ชง[4]

ก่อกบฏและเสียชีวิต แก้

จูกัดเหลียงพยายามติดต่อเบ้งตัดและเกลี้ยกล่อมให้เบ้งตัดแปรพักตร์กลับมาเข้าด้วยจ๊กก๊ก แม้ว่าบิสีจะทัดทานเพราะเห็นว่าเบ้งตัดเป็นคนทรยศที่ไว้ใจไม่ได้ เวลานั้นโจผีจักรพรรดิวุยก๊กสวรรคตไปแล้วและโจยอยขึ้นสืบราชบัลลังก์ โจยอยปฏิบัติต่อเบ้งตัดในทางไม่ดีนัก เพื่อนสนิทของเบ้งตัดอย่างฮวนกายและแฮหัวซงก็เสียชีวิตไปแล้ว เบ้งตัดจึงรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่พอใจราชสำนักวุยก๊กมากขึ้น หลังจากติดต่อทางจดหมายกับจูกัดเหลียง เบ้งตัดจึงยิ่งเกลียดชังวุยก๊กมากขึ้นและเก็บงำเจตจาที่จะก่อกบฏ

ในปี ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงเปิดฉากการบุกขึ้นเหนือครั้งแรกต่อวุยก๊ก และประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมเบ้งตัดในช่วยเหลือทัพจ๊กก๊กในการก่อกบฏต่อวุยก๊ก แต่แผนการก่อกบฏของเบ้งตัดรั่วไหลโดยซินหงี (申儀 เชินอี๋) เจ้าเมืองเว่ย์ซิง (魏興) ซึ่งกำลังขัดแย้งกับเบ้งตัด สุมาอี้ขุนพลวุยก๊กเขียนจดหมายถึงเบ้งตัดเพื่อทำให้เบ้งตัดรู้สึกลังเลว่าจะก่อกบฏหรือไม่ แล้วสุมาอี้ก็ลอบนำกองกำลังจากอ้วนเซีย (宛 หว่าน; ปัจจุบันคือเขตหว่านเฉิง นครหนานหยาง มณฑลเหอหนาน) เข้าโจมตีฐานที่มั่นของเบ้งตัดที่ซินเสีย กองกำลังของสุมาอี้ไปถึงซินเสียภายใน 8 วันโดยเบ้งตัดไม่ทันตั้งตัว เบ้งตัดถูกทรยศโดยเตงเหียน (鄧賢 เติ้ง เสียน) และลิจู (李輔 หลี ฝู่) ผู้ใต้บังคับบัญชา กบฏของเบ้งตัดถูกปราบลงอย่างรวดเร็ว เบ้งตัดถูกจับตัวและถูกประหารชีวิตโดยสุมาอี้

ในนิยายสามก๊ก แก้

เบ้งตัดปรากฏเป็นตัวละครในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ในนวนิยาย เบ้งตัดมีชื่อชื่อรองว่า "จื่อชิ่ง" (子庆; 子慶; Zǐqìng) มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์กบฏซินเสีย

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มักเรียกซ่างยง (上庸) ว่า "ซงหยง" เหมือนกับชื่อ "ซงหยง" ที่ใช้เรียกเมือง "เซียงหยาง" (襄陽) ในที่นี้จึงเรียก "ซ่างยง" ว่า "เซียงหยง" ตามชื่อที่ปรากฏการเรียกใน สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 62[1]

อ้างอิง แก้

  1. (ครั้งนั้นแฮเฮาเซียงกับซิหลงทหารโจผี ๆ ใช้ให้มาอยู่เมืองยังหยง ให้มาเกลี้ยกล่อมทหารเมืองเซียงหยง) "สามก๊ก ตอนที่ ๖๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 27, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. (私怨人情,不能不見,恐左右必有以間於漢中王矣。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  3. (王甚器爱之,引与同辇,以达为散骑常侍、建武将军,封平阳亭侯。合房陵、上庸、西城三郡为新城,以达领新城太守,委以西南之任。行军长史刘晔曰:“达有苟得之心,而恃才好术,必不能感恩怀义。新城与孙、刘接连,若有变态,为国生患。”王不听。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 69
  4. (建興三年,隨諸葛亮南行,歸至漢陽縣,降人李鴻來詣亮,亮見鴻,時蔣琬與詩在坐。鴻曰:「閒過孟達許,適見王沖從南來,言往者達之去就,明公切齒,欲誅達妻子,賴先主不聽耳。達曰:『諸葛亮見顧有本末,終不爾也。』盡不信沖言,委仰明公,無復已已。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 41.

บรรณานุกรม แก้