เบวูล์ฟ (อังกฤษ: Beowulf) เป็นบทกวีมหากาพย์เกี่ยวกับวีรบุรุษยุคอังกฤษโบราณแต่งโดยผู้ประพันธ์หลายคนที่ไม่ทราบชื่อ งานวรรณกรรมภาษาแองโกลแซกซอนชิ้นนี้คาดว่าแต่งขึ้นในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8[1] ถึง 11 โดยมีต้นฉบับที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน คาดว่าเขียนขึ้นในราวปี ค.ศ. 1010[2] มีความยาวทั้งสิ้น 3183 บรรทัด ซึ่งถือเป็นบทกวีที่มีความยาวมาก ได้รับยกย่องเป็นวรรณกรรมมหากาพย์แห่งประเทศอังกฤษ[3]

ต้นฉบับเก่าแก่ของบทกวี เบวูล์ฟ หน้าแรก

เนื้อหาในบทกวี เล่าถึงวีรบุรุษชาวกีตส์คนหนึ่งชื่อ เบวูล์ฟ และการสู้รบกับศัตรูของเขาสามตัวคือ เกรนเดล มารดาของเกรนเดล และมังกร เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการรบครั้งสุดท้าย หลังจากเสียชีวิต บริวารช่วยกันฝังร่างของเขาไว้ในสุสานแห่งกีตส์แลนด์

การออกเสียงภาษาอังกฤษของชื่อนี้คือ IPA: /ˈbeɪəwʊlf/ (เบ-เออ-วูล์ฟ) แต่สระ "ēo" ถือว่าเป็นสระควบ การออกเสียงจึงมักออกเพียงสองพยางค์ และเน้นน้ำหนักที่คำแรก เป็น "เบวูล์ฟ" (IPA: [ˈbeːo̯wʊɫf]).[4]

ประวัติ แก้

เจ้าของต้นฉบับเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบคือนักวิชาการในศตวรรษที่ 16 ชื่อ ลอเรนซ์ โนเวลล์ ต่อมาจึงเรียกต้นฉบับงานเขียนชุดนี้ด้วยชื่อของเขา แม้ว่าชื่อต้นฉบับอย่างเป็นทางการบันทึกไว้ว่า 'Cotton Vitellius A.XV' โดยที่พบเป็นเอกสารในความครอบครองของ โรเบิร์ต บรูซ คอตตอน ในราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทว่า เควิน เคียร์แนน แย้งว่า โนเวลล์น่าจะได้ต้นฉบับชุดนี้มาจาก วิลเลียม เซซิล บารอนเบอร์ลีย์ที่หนึ่ง เมื่อ ปี ค.ศ. 1563 เมื่อครั้งที่โนเวลล์ได้เป็นครูประจำตัวของ เอ็ดเวิร์ด เดอเวียร์ เอิร์ลแห่งออกซฟอร์ดคนที่ 17 ผู้อยู่ในอภิบาลของเซซิลในเวลานั้น[5]

ต้นฉบับชุดนี้ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ห้องสมุดของคอตตอนที่บ้านแอชเบอร์แนม เมื่อปี ค.ศ. 1731 จากเหตุนั้น ชิ้นส่วนของต้นฉบับนี้ก็กระจัดกระจายปะปนอยู่กับจดหมายต่าง ๆ จำนวนมาก แม้จะมีความพยายามรวบรวมต้นฉบับและป้องกันการผุสลายอย่างไรก็ดี ต้นฉบับก็เสียหายมากยิ่งขึ้น เควิน เคียร์แนน ศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยเคนทักกี เป็นผู้แรกที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเก็บข้อมูลและรักษาเนื้อความต้นฉบับไว้ (คือโครงการ "Electronic Beowulf Project"[6]) โดยใช้เทคนิค backlight เพื่อตรวจดูตัวอักษรในบทกวีที่เลือนหายไป

เนื้อหาของบทกวีเป็นที่รู้จักแต่เพียงต้นฉบับชุดเดียวเท่านั้น ประมาณว่าเขียนขึ้นในราวปี ค.ศ. 1000 ศจ.เควิน เคียร์แนนเห็นว่าอายุของต้นฉบับนั้นเป็นอายุของฉบับคัดลอก เขาคาดว่าต้นฉบับแท้จริงน่าจะเขียนขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าคนุตมหาราช[2] เนื้อหาในบทกวีปรากฏดังชุดที่ปัจจุบันเรียกว่า "ต้นฉบับเบวูล์ฟของโนเวลล์" (หรือฉบับหอสมุดอังกฤษ Cotton Vitellius A.xv) มีงานที่อ้างถึงต้นฉบับของโนเวลล์นี้เป็นครั้งแรกสุดในราวปี 1628 ถึง 1650 โดย Franciscus Junius คนลูก[5] แต่ส่วนผู้ครอบครองต้นฉบับที่เก่าแก่กว่าฉบับของโนเวลล์เป็นผู้ใดยังไม่อาจทราบได้[5]

ผู้ประพันธ์ แก้

เบวูล์ฟ เป็นบทกวีที่แต่งด้วยภาษาอังกฤษ แต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสแกนดิเนเวีย พบการกล่าวอ้างถึงวันเวลาแตกต่างกันตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 รูปแบบเป็นบทกวีมหากาพย์ที่เล่าเรื่องราวของวีรบุรุษ ไม่ปรากฏชื่อของผู้แต่งว่าเป็นใคร แต่รูปแบบของบทกวีและเนื้อหาทำให้คาดได้ว่าเป็นบทลำนำพื้นบ้านที่ขับร้องต่อ ๆ กันมาในหมู่พลเมือง และน่าจะมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บางส่วนแฝงอยู่ในเนื้อเรื่องด้วย

นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับลักษณะการประพันธ์ของบทร้อยกรองว่าเป็นสิ่งเกิดขึ้นร่วมสมัยกับการบันทึก หรือว่าเป็นบทกวีที่แต่งขึ้นนานมาแล้ว และเล่าปากเปล่าต่อ ๆ กันมานานหลายปีก่อนจะมีการบันทึกในภายหลัง ศจ.เคียร์แนนเห็นว่าบทกวีกับการบันทึกน่าจะเกิดร่วมสมัยกัน เมื่อพิจารณาจากการใช้คำและฉันทลักษณ์[5] แต่นักวิชาการจำนวนมากเห็นว่าบทกวีนี้น่าจะแต่งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 8 หรือก่อนหน้านั้น เพราะเนื้อหาที่เอ่ยถึงชะตากรรมของชาวเดนมาร์กไม่น่าจะถูกประพันธ์ขึ้นโดยชาวแองโกล-แซกซอนในยุคไวกิง (คือราวศตวรรษที่ 9-10)[5] เคียร์แนนเห็นแย้งกับสมมุติฐานนี้ เพราะเช่นนั้นจะหมายความว่าบทกวีถูกแปลมาเป็นภาษาแองโกล-แซกซอนในยุคไวกิง รวมถึงลักษณะของคำและฉันทลักษณ์ก็บ่งชี้ว่า บทกวีน่าจะประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 11 นักวิชาการที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เห็นว่า ต้นฉบับเบวูล์ฟเกิดจากการแปลและประพันธ์ขึ้นใหม่โดยกวีในศตวรรษที่ 11 มิใช่เรื่องเล่าตามตำนานที่สืบทอดมาโดยนักบวชที่ได้รับการศึกษา[1][7]

โครงเรื่อง แก้

การรบกับเกรนเดล แก้

บทกวีเบวูล์ฟ เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของกษัตริย์ร็อดการ์ (Hroðgar) ผู้สร้างหอเมรัยขนาดใหญ่ชื่อ เฮร็อต (Heorot) สำหรับเป็นสโมสรของพลเมือง ทั้งองค์กษัตริย์ พระชายา และบรรดานักรบต่างพากันร้องรำทำเพลง เฉลิมฉลองอยู่ในหอเมรัย จนกระทั่งเกรนเดล ผู้ถูกขับจากชุมชน ทนไม่ไหว และเข้ามาบุกทำลายหอเมรัย กับสังหารนักรบของร็อดการ์ระหว่างหลับเสียชีวิตไปมาก แต่เกรนเดลกลับไม่กล้าแตะต้องบัลลังก์แห่งร็อดการ์ ด้วยว่าองค์กษัตริย์นั้นได้รับการพิทักษ์จากเทพเจ้า แต่ร็อดการ์กับพลเมืองของพระองค์ก็จำต้องละทิ้งเฮร็อตเสีย

เบวูล์ฟเป็นนักรบหนุ่มชาวกีตส์ เขาได้ยินเรื่องความวิบัติที่เกิดกับแผ่นดินของร็อดการ์ ต่อมาร็อดการ์ได้เชิญให้เขาเดินทางออกจากแผ่นดินของตนเพื่อมาช่วยเหลือ

เบวูล์ฟกับนักรบของเขาค้างคืนในเฮร็อต หลังจากพวกเขาหลับไป เกรนเดลก็เข้ามาโจมตี และสังหารคนของเบวูล์ฟไปคนหนึ่ง เบวูล์ฟนั้นแสร้งหลับอยู่ จึงโจนขึ้นจับแขนของเกรนเดลไว้ ทั้งสองต่อสู้กันอย่างหนักหน่วงจนหอเมรัยแทบถล่มทลาย นักรบของเบวูล์ฟชักดาบออกและเข้าไปช่วยเหลือ แต่ดาบของพวกเขาไม่อาจทำร้ายเกรนเดลได้เลย เพราะมันลงอาคมใส่ดาบของพวกมนุษย์ ในที่สุด เบวูล์ฟฉีกแขนของเกรนเดลหลุดจากร่าง ขาดจนถึงหัวไหล่ เกรนเดลหนีกลับไปยังรังของมันได้และเสียชีวิต

การรบกับมารดาของเกรนเดล แก้

คืนต่อมา มีการเฉลิมฉลองใหญ่ที่เบวูล์ฟสังหารเกรนเดลได้ จากนั้นร็อดการ์กับคนของพระองค์ก็นอนในเฮร็อต คืนนั้นมารดาของเกรนเดลปรากฏตัวขึ้นและเข้าทำลายหอเมรัยอีก นางสังหารนักรบฝีมือดีของร็อดการ์ไปมาก โดยเฉพาะคนฝีมือดีที่สุดคือ Æschere เพื่อแก้แค้นให้เกรนเดล

ร็อดการ์ เบวูล์ฟ และเหล่านักรบ สะกดรอยตามมารดาของเกรนเดลไปจนถึงรังของนางซึ่งอยู่ใต้ทะเลสาบประหลาดแห่งหนึ่ง เบวูล์ฟเตรียมตัวเข้าไปรบกับนาง เขาได้รับดาบวิเศษเล่มหนึ่งจากนักรบคนหนึ่งชื่อ อุนเฟียร์ธ ดาบนั้นมีชื่อว่า รุนทิง (Hrunting) หลังจากต่อรองผลประโยชน์ตอบแทน และพินัยกรรมของเบวูล์ฟแล้ว เขาจึงดำน้ำลงไปในทะเลสาบนั้น เมื่อล่วงล้ำเข้าไป เขาก็ถูกมารดาของเกรนเดลโจมตีทันที แต่นางไม่สามารถทำอันตรายแก่เบวูล์ฟได้ เพราะเขาสวมเกราะอยู่ นางลากตัวเบวูล์ฟลงไปยังถ้ำที่ก้นทะเลสาบ ที่ซึ่งร่างของเกรนเดลและเหล่านักรบที่ปีศาจทั้งสองสังหารไปนอนแน่นิ่งอยู่ แล้วทั้งสองก็ต่อสู้กันอย่างหนัก

ในช่วงแรก มารดาของเกรนเดลเป็นฝ่ายมีเปรียบ เบวูล์ฟพบว่าดาบรุนทิงของเขาไม่สามารถทำอันตรายต่อนางได้เลย ต่อมาเบวูล์ฟหันไปหยิบดาบขนาดใหญ่ในหมู่สรรพาวุธที่สะสมอยู่ในถ้ำ (ในบทกวีบอกว่า ไม่มีผู้ใดสามารถยกดาบนั้นขึ้นใช้ในการรบได้เลย) แล้วเบวูล์ฟจึงตัดศีรษะนางเสีย เขาสำรวจลึกเข้าไปในถ้ำจนพบร่างของเกรนเดล ก็ตัดเอาศีรษะมันมาด้วย เขาเดินทางกลับออกมาสู่ผิวน้ำอีกครั้งใน "ชั่วโมงที่เก้า" (คือเวลาประมาณบ่ายสามโมง)[8] และเดินทางกลับไปยังเฮร็อต ร็อดการ์พระราชทานของขวัญให้แก่เขามากมาย รวมทั้งดาบ Nægling ซึ่งเป็นมรดกประจำตระกูลของพระองค์

 
ภาพวาดการต่อสู้ระหว่างเบวูล์ฟกับมังกร โดย เจ. อาร์. สเกลตัน ค.ศ. 1908

การรบกับมังกร แก้

เบวูล์ฟเดินทางกลับบ้าน ต่อมาเขาได้เป็นกษัตริย์ของพลเมืองของเขา จนวันหนึ่งเมื่อเบวูล์ฟอยู่ในวัยชรา ทาสคนหนึ่งลอบขโมยถ้วยทองคำออกมาจากรังมังกรที่ไม่ปรากฏชื่อตัวหนึ่ง เมื่อมังกรรู้ตัวว่าถ้วยทองคำถูกขโมยไป ก็ออกตามหาด้วยความโกรธแค้น และเผาทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า เบวูล์ฟกับเหล่านักรบของเขาออกมาต่อสู้กับมังกร แต่ปรากฏว่ามีเพียงนักรบหนุ่มชื่อ วิกลัฟ เพียงคนเดียว ที่กล้าออกไปร่วมรบเคียงไหล่กับเบวูล์ฟ เพราะคนที่เหลือพากันหวาดกลัว เบวูล์ฟสามารถสังหารมังกรได้ด้วยความช่วยเหลือของวิกลัฟ แต่เขาก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนเสียชีวิต

หลังจากเผาศพแล้ว เบวูล์ฟถูกฝังอยู่ในกีตส์แลนด์ เหนือหน้าผาที่มองออกไปสู่ท้องทะเล ซึ่งเหล่ากลาสีสามารถมองเห็นหลุมฝังศพของเขาได้ ส่วนสมบัติของมังกรถูกฝังไปพร้อมกับเขาด้วย มิได้นำออกแจกจ่ายพลเมือง เพราะในสมบัติของมังกรมีคำสาปอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีของชาวเยอรมันและสแกนดิเนเวีย ในการฝังทรัพย์สมบัติไปพร้อมกับผู้ตายด้วย

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (1958). เบวูล์ฟ : บทวิจารณ์แง่มุมของปีศาจ (Beowulf: the Monsters and the Critics) . ลอนดอน: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
  2. 2.0 2.1 เควิน เอส. เคียร์แนน (1997). Beowulf and the Beowulf Manuscript เก็บถาวร 2008-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Ann Arbor, MI: University of Michigan Press. ISBN 978-0-472-08412-8.
  3. The Question of genre in byliny and Beowulf by Shannon Meyerhoff, 2006.
  4. Mitchell, Bruce (1986). "Diphthongs", A Guide to Old English. Blackwell, 14-15
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Kiernan, Kevin (1996). Beowulf and the Beowulf manuscript. แอนน์อาร์เบอร์, มิชิแกน: มหาวิทยาลัยมิชิแกน, footnote 69 น. 162, 90, 258, 257,171, xix-xx, xix, 3 , 4 , 277-278 , 23-34, 29, 29, 60, 62, footnote 69 162.
  6. "Electronic Beowulf". มหาวิทยาลัยเคนทักกี. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-11-06.
  7. Heaney, Seamus (2000). Beowulf: A New Verse Translation. นิวยอร์ก: นอร์ตัน.
  8. Jack, George. Beowulf: A Student Edition. Oxford University Press, USA, 123.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้