เสียงกรีดร้อง

(เปลี่ยนทางจาก เดอะสกรีม)

เสียงกรีดร้อง (นอร์เวย์: Skrik; อังกฤษ: The Scream) หรือ เสียงกรีดร้องของธรรมชาติ (เยอรมัน: Der Schrei der Natur) เป็นภาพวาดโดยเอ็ดวัด มุงก์ จิตรกรชาวนอร์เวย์ เป็นภาพบุคคลแสดงสีหน้าหวาดกลัวอยู่ด้านหน้า ด้านหลังมีบุคคลสองคนกำลังเดินห่างออกไป และด้านบนเป็นท้องฟ้าสีแดง มุงก์วาดภาพนี้ไว้ 4 ภาพและทำภาพพิมพ์หินจำนวนหนึ่ง โดยแบบที่เป็นที่รู้จักดีเป็นภาพวาดสีน้ำมัน สีฝุ่นเทมเพอรา และสีชอล์กบนกระดาษแข็งในปี ค.ศ. 1893 ปัจจุบันได้รับการจัดแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติในกรุงออสโล[2]

เสียงกรีดร้อง
Figure on cliffside walkway holding head with hands
ศิลปินเอ็ดวัด มุงก์
ปีค.ศ. 1893
ประเภทสีน้ำมัน, สีฝุ่นเทมเพอรา และสีชอล์กบนกระดาษแข็ง[1]
มิติ91 cm × 73.5 cm (36 นิ้ว × 28.9 นิ้ว)
สถานที่หอศิลป์แห่งชาติและพิพิธภัณฑ์มุงก์, ออสโล นอร์เวย์

มุงก์กล่าวถึงที่มาของ เสียงกรีดร้อง ในบันทึกส่วนตัวเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1892 ว่า

ผมกำลังเดินไปตามถนนกับเพื่อนสองคน ตอนนั้นดวงอาทิตย์กำลังตกดิน ทันใดนั้นท้องฟ้าก็เปลี่ยนเป็นสีแดงฉาน ผมหยุด รู้สึกหมดแรงและพิงตัวกับราวกั้น มันเหมือนมีเลือดและเปลวไฟลอยอยู่เหนือฟยอร์ดและเมืองที่ผมอยู่ เพื่อนผมเดินจากไปแล้ว แต่ผมยังอยู่ตรงนั้น ตัวสั่นเทาด้วยความวิตก และรู้สึกได้ถึงเสียงกรีดร้องที่ดังมาจากสภาพแวดล้อมนั้น[3]

มีการระบุว่าสถานที่ในภาพคือเนินเขาเอเกอบาร์ที่มองลงไปเห็นกรุงออสโลและฟยอร์ดออสโล[4] ซึ่งในช่วงเวลาที่มุงก์วาดภาพนี้ เขามาเยี่ยมน้องสาวที่ป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วที่โรงพยาบาลจิตเวชที่ตั้งอยู่ที่ตีนเขา ในปี ค.ศ. 1978 รอเบิร์ต โรเซนบลัม นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวอเมริกันเสนอว่ามุงก์อาจได้รับแรงบันดาลใจในการวาดบุคคลที่แสดงสีหน้าหวาดกลัวมาจากมัมมี่เปรูที่มุงก์เห็นในงานนิทรรศการโลกที่กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1889[5]

มีความพยายามในการอธิบายถึงสีท้องฟ้าในภาพ ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่ามาจากความทรงจำของมุงก์ที่เห็นท้องฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการปะทุของภูเขาไฟกรากะตัวเมื่อสิบปีก่อน ส่งผลให้ท้องฟ้ายามเย็นของซีกโลกตะวันตกมีสีแดงจัดนานหลายเดือน[6] ในขณะที่อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าเป็นผลมาจากเมฆมุก (nacreous cloud หรือ polar stratospheric cloud) ซึ่งเป็นเมฆที่ก่อตัวที่ชั้นสตราโตสเฟียร์และเกิดการเลี้ยวเบนของแสงจนปรากฏเป็นสีรุ้ง[7][8]

เสียงกรีดร้อง เป็นหนึ่งในผลงานที่เป็นที่รู้จักดีของมุงก์ และเป็นหนึ่งในผลงานที่ส่งผลให้เกิดกลุ่มลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20[9] สีหน้าที่แสดงถึงความหวาดวิตกและสภาพแวดล้อมที่บิดเบี้ยว ทำให้ภาพนี้มักถูกเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางจิต[10] นอกจากนี้ยังส่งอิทธิพลต่อผลงานอื่น ๆ ในยุคหลัง เช่น หน้ากากโกสต์เฟซในภาพยนตร์ หวีดสุดขีด, ตัวละครไซเลนซ์ในซีรีส์ ดอกเตอร์ฮู และงานล้อเลียนอีกจำนวนมาก[5]

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. Farthing, Stephen (2016). 1001 Paintings You Must See Before You Die. London, Great Britain: Octopus Publishing Group. p. 547. ISBN 9781844039203.
  2. Esaak, Shelley (May 23, 2019). "The Scream by Edvard Munch". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.
  3. Peter Aspden (21 April 2012). "So, what does 'The Scream' mean?". Financial Times.
  4. Egan, Bob. ""The Scream" (various media 1893–1910) – Edvard Munch – Painting Location: Oslo, Norway". PopSpots. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 สิงหาคม 2014.
  5. 5.0 5.1 Laohakul, Thamonwan (February 13, 2018). "The Scream: เสียงกรีดร้องสุดสยองภายใต้ท้องฟ้าสีเพลิง". Medium. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.
  6. Olson, Donald W.; Russell L. Doescher; Marilynn S. Olson (May 2005). "The Blood-Red Sky of the Scream". APS News. American Physical Society. 13 (5). สืบค้นเมื่อ 22 December 2007.
  7. Svein Fikke. "Screaming Clouds". q-mag.org. สืบค้นเมื่อ 2019-07-14.
  8. Case, Nathan (February 3, 2016). "Explainer: what are the 'nacreous clouds' lighting up the winter skies?". The Conversation. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.
  9. "Edvard Munch's The Scream". Khan Academy. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.
  10. "10 Things You May Not Know About "The Scream"". The British Museum Blog. March 5, 2019. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.
  11. Sooke, Alastair (March 4, 2016). "Culture - What is the meaning of The Scream?". BBC. สืบค้นเมื่อ August 5, 2019.