พลตรี เซอร์ เดวิด บรูซ (อังกฤษ: David Bruce, 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1855 – 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1931) เป็นนักจุลชีววิทยาและพยาธิแพทย์ชาวสกอต เกิดที่เมืองเมลเบิร์น เป็นบุตรคนเดียวของเดวิด บรูซกับเจน รัสเซล แฮมิลตัน ครอบครัวของบรูซย้ายกลับสกอตแลนด์เมื่อเขาอายุได้ 5 ปี บรูซเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมในเมืองสเตอร์ลิง[1] ก่อนจะเรียนจบด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระในปี ค.ศ. 1881 ต่อมาเขารับราชการในหน่วยแพทย์ของกองทัพและไปประจำการที่เมืองวัลเลตตาในมอลตา[2]

เซอร์ เดวิด บรูซ
เกิด29 พฤษภาคม ค.ศ. 1855(1855-05-29)
เมลเบิร์น, ออสเตรเลีย
เสียชีวิต27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1931(1931-11-27) (76 ปี)
ลอนดอน, สหราชอาณาจักร
สัญชาติสกอต
พลเมืองบริติช
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเอดินบะระ
มีชื่อเสียงจากค้นพบปรสิต Trypanosoma brucei
รางวัล
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาจุลชีววิทยา

ขณะประจำอยู่ที่มอลตา บรูซพบว่าทหารบริติชหลายนายป่วยด้วยโรคที่เรียกว่า "ไข้มอลตา" เขาและทีมจึงทำการศึกษาจนพบว่าโรคนี้เกิดจากแบคทีเรียชนิด Brucella melitensis ต่อมาในปี ค.ศ. 1905 เธมิสโตคลีส แซมมิต หนึ่งในทีมของบรูซทำการทดลองจนพบว่าโรคนี้เกิดจากการที่ผู้ป่วยดื่มนมแพะที่มีเชื้อปนเปื้อน[3] ต่อมาโรคไข้มอลตารู้จักในชื่อโรคติดเชื้อบรูเซลลา (Brucellosis)[4]

ในปี ค.ศ. 1889 บรูซดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่โรงเรียนแพทย์ทหารในเมืองเนตลีย์ ก่อนจะถูกส่งไปประจำการที่ปีเตอร์มาริตซ์เบิร์กในแอฟริกาใต้ เขาได้ทำการศึกษาโรคแอฟริกัน ทริปาโนโซมิเอซิสจนพบว่าเกิดจากปรสิตชนิด Trypanosoma brucei ในแมลงวันเซตซี[5] บรูซและแมรี เอลิซาเบธ บรูซ (นามสกุลเดิม สตีล) ภรรยาของเขาดูแลโรงพยาบาลสนามเมื่อเกิดสงครามโบเออร์ครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1899[6] ทำให้บรูซได้รับแต่งตั้งยศพันโทในปีต่อมา ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาของหน่วยแพทย์ทหารและผู้บัญชาการโรงเรียนแพทย์ทหารในเมืองเนตลีย์ ก่อนจะเกษียณด้วยยศพลตรีในปี ค.ศ. 1919 บรูซเสียชีวิตที่กรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1931[7]

อ้างอิง แก้

  1. "Bruce, Colonel David". Who's Who. Vol. 59. 1907. pp. 234–235.
  2. SACHS A (October 1951). "A memorial to major-general Sir David Bruce, K.C.B., F.R.S". Journal of the Royal Army Medical Corps. 97 (4): 293–5. PMID 14889518.
  3. "Discoverer of brucellosis" (PDF). Singapore Med J. สืบค้นเมื่อ August 16, 2018.
  4. Di Pierdomenico A, Borgia SM, Richardson D, Baqi M (2011). "Brucellosis in a returned traveller". CMAJ. 183: E690-2. doi:10.1503/cmaj.091752. PMC 3134761. PMID 21398234.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. Joubert JJ, Schutte CH, Irons DJ, Fripp PJ (1993). "Ubombo and the site of David Bruce's discovery of Trypanosoma brucei". Transactions of the Royal Society of Tropical Medicine and Hygiene. 87 (4): 494–5. doi:10.1016/0035-9203(93)90056-v. PMID 8249096.
  6. "Health for Heroes - Malta Fever" (PDF). IBMS. สืบค้นเมื่อ August 16, 2018.
  7. King-thom, Chung; Jong-kang, Liu (2017). Pioneers In Microbiology: The Human Side Of Science. World Scientific. p. 189-193. ISBN 9789813200388.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้