เดวส์เอกส์มาคีนา

เดวส์เอกส์มาคีนา หรือ เทวดามาโปรด[1] (ละติน: Deus ex machina, ออกเสียง: [ˈdeus eks ˈmaː.kʰi.na], พหูพจน์: dei ex machina) มาจากสำนวนกรีกว่า กรีก: ἀπὸ μηχανῆς θεός (อะปอ แมคาแนส เธออส) แปลว่า เทพเจ้าจากเครื่องจักร เป็นกลวิธีการสร้างโครงเรื่องวิธีหนึ่ง ที่ซึ่งปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางแก้นั้น จู่ ๆ ก็คลี่คลายได้ด้วยการแทรกแซงที่คาดหมายไม่ถึง ไม่ว่าเพราะสถานการณ์ใหม่ ตัวละครใหม่ ความสามารถใหม่ หรือวัตถุใหม่ที่ไม่ได้กล่าวถึงมาก่อน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ เดวส์เอกส์มาคีนาสามารถทำให้เรื่องดำเนินต่อไปได้ เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปถึงบางสถานการณ์ เช่น เมื่อผู้เขียนตกอยู่ในสภาวะ "จนตรอก" หาทางออกไม่ได้ เมื่อผู้เขียนต้องการให้ผู้ชมแปลกใจ เมื่อต้องการให้เรื่องลงเอยด้วยดี หรือแม้กระทั่งการใช้เดวส์เอกส์มาคีนาในฐานะจุดหักมุมเชิงขบขัน เป็นต้น

เดวส์เอกส์มาคีนา ในละครคลาสสิก : มีเดีย บทละครของ ยูริพีเดส, ในการแสดงปี 2009 (พ.ศ. 2552) ในซีราคิวส์ ประเทศอิตาลี

ต้นกำเนิดของสำนวน แก้

สำนวนละติน "เดวส์เอกส์มาคีนา" ประกอบด้วยคำว่า "เดวส์ (Deus)" หมายถึง "เทพเจ้า", "เอกส์ (ex)" หมายถึง "จาก" และ "มาคีนา (machina)" หมายถึง "เครื่องมือ, นั่งร้าน, กลไก" อันเป็นคำยืมจากภาษากรีก กลวิธีนี้ได้รับการกล่าวถึงโดยโฮเรซ (Horace) กวีชาวโรมัน ใน Ars Poetica (บรรทัดที่ 191–2) โดยโฮเรซได้แนะนำนักกวีว่าพวกเขาไม่ควรหันหา "เทพเจ้าจักรกล" ในการคลายปมเนื้อเรื่อง "นอกเสียแต่ว่าความยุ่งยากนั้นควรค่าแก่การช่วยเหลือจากเทพเจ้า" (nec deus intersit, nisi dignus uindice nodus inciderit; nec quarta loqui persona laboret).[2] ในกรณีนี้ โฮเรซอ้างอิงถึงวิธีปฏิบัติในละครโศกนาฏกรรมกรีก (Greek tragedy) ที่ซึ่งนักแสดงที่ได้รับบทบาทเป็นเทพเจ้าจะถูกนำขึ้นเวทีด้วยเครื่องจักร ซึ่งเป็นกลไกที่สามารถยกนักแสดงขึ้นหรือลงผ่านประตูกลบนเวทีได้

วิธีการใช้ในสมัยโบราณ แก้

กว่าครึ่งของละครโศกนาฏกรรมของยูริพิเดส (Euripides) ใช้กลวิธีเดวส์เอกส์มาคีนาในการคลี่คลายปมปัญหา ซึ่งทำให้นักวิจารณ์หลายคนอ้างว่ายูริพิเดสเป็นผู้ให้กำเนิดกลวิธีนี้ขึ้น แม้ว่าเอสคิลัส (Aeschylus) นักเขียนโศกนาฏกรรมชาวกรีก จะใช้กลวิธีที่คล้ายกันในบทละคร "ยูเมนิเดส (Eumenides)"[3] ตัวอย่างที่ได้รับการยกขึ้นมาบ่อยครั้งคือ เรื่องมีเดีย (Medea) ของยูริพิเดส ซึ่งเดวส์เอกส์มาคีนา ในรูปลักษณ์ของรถลากมังกรที่ถูกส่งมาโดยเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ถูกนำมาเป็นพาหนะในการพามีเดีย ซึ่งเพิ่งก่อคดีฆาตกรรมและฆ่าทารก ให้ได้หนีจาก เจสัน สามีของเธอ สู่ที่ปลอดภัยใน เอเธนส์ ในบทละครเรื่อง "อัลเคสติส" (Alcestis) อัลเคสติส ตัวเอกได้ตกลงที่จะสละชีวิตเพื่อช่วยชีวิตสามีของเธอ แอดมีตัส (Admetus) โดยในตอนท้ายของเรื่อง เฮราคลีส (Heracles) ได้ปรากฏตัวขึ้นและแย่งตัวเธอจากยมทูตทำให้เธอรอดชีวิตและได้กลับไปอยู่กับแอดมีตัส

กลวิธีนี้ไม่รอดพ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจารณ์ในสมัยโบราณ โดยหนึ่งในคำวิจารณ์แรก ๆ ที่ได้รับการบันทึกนั้นมาจากไดอะล็อกของ เพลโต (Plato) คราไทลัส (Cratylus) แม้ว่าจะอยู่ในบริบทของการถกเถียงที่ไม่ได้เกี่ยวกับการละคร

อาริสโตเติล ได้วิจารณ์กลวิธีนี้ไว้ใน โพเอติกส์ (Poetics) โดยกล่าวว่าการคลี่คลายปมปัญหานั้นควรมาจากภายใน และสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในละคร:[4]

ในตัวละครก็เช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับโครงสร้างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น [กวี] ควรมองหาถึงสิ่งที่จำเป็นหรือเป็นไปได้อยู่เสมอ เพื่อที่ว่าตัวละครดังกล่าวจะสามารถกระทำหรือพูดสิ่งใดที่จำเป็นหรือเป็นไปได้สำหรับตัวละครนั้น ๆ และด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้เหตุการณ์ที่จำเป็นหรือเป็นไปได้เกิดขึ้นหลังจากการกระทำดังกล่าว เห็นได้ชัดว่านี่เอง จึงเป็นสิ่งสมควรที่การคลี่ปมปัญหาเนื้อเรื่องจะเป็นผลจากเนื้อเรื่องในตัวมันเอง ไม่ได้มาจากสิ่งประดิษฐ์ อย่างใน "มีเดีย" และบทที่กล่าวถึงการล่องเรือกลับบ้านใน อีเลียด (IIiad) สิ่งประดิษฐ์ควรใช้ในบริบทนอกเนื้อเรื่องในละคร — เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งอยู่นอกเหนือความรู้ของมนุษย์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังที่ควรเล่า เพราะเรายอมรับในดวงตาที่เห็นในทุกสิ่งของเทพเจ้า ไม่ควรมีส่วนประกอบใดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ดูเป็นไปไม่ได้ หากมี สิ่งนั้นก็ควรอยู่นอกเรื่องราวที่สำคัญ เช่น ในเรื่อง อิดิปุส (Oedipus) ของ ซอโฟคลีส (Sophocles)

— (1454a33–1454b9)

อย่างไรก็ตาม อาริสโตเติลได้ชื่นชมยูริพิเดสในการจบเรื่องด้วยเหตุร้าย ซึ่งอาริสโตเติลมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกควรในละครโศกนาฏกรรม และให้ข้อยกเว้นกับการแทรกแซงจากเทพเจ้า โดยกล่าวว่าควรมี "ความน่าประหลาดใจ" อยู่ในละครโศกนาฏกรรม:[5]

ความไม่เป็นเหตุเป็นผลควรอยู่ในกรอบของสิ่งที่คนพูด นี่เป็นทางออกหนึ่ง เพราะบางครั้งมีความเป็นไปได้เสมอว่าสิ่งที่ไม่น่าเกิดอาจเกิดขึ้นได้

ในบทละครของอริสโตเฟน เธสโมโฟเรียโซไซ (Thesmophoriazusae) อริสโตเฟน (Aristohane) ได้ล้อการชอบใช้เครนของยูริพิเดสด้วยให้ยูริพิเดสเป็นตัวละครหนึ่งที่ถูกเครนยกขึ้นบนเวที

ในวรรณกรรมสมัยใหม่ แก้

โดยทั่วไป "เดวส์เอกส์มาคีนา" มักถูกมองว่าเป็นกลวิธีที่ไม่ควรใช้ในการเขียน โดยมักชี้ให้เห็นถึงการขาดความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียน ด้วยเหตุผลที่ว่ากลวิธีนี้ไม่ต้องตรงกับตรรกะภายในเรื่อง (แม้ว่าบางครั้งกลวิธีนี้จะถูกใช้อย่างจงใจด้วยประการนี้) และมักจะ ระงับความไม่เชื่อ (Suspension of disbelief) ของผู้ชมลงได้ในชั่วครู่ เพื่อให้ผู้เขียนสามารถจบเรื่องได้ด้วยบทสรุปที่ไม่น่าเชื่อ แม้ว่าอาจทำให้ได้ตอนจบที่น่าพอใจกว่าก็ตาม[6] ตามข้อวิจารณ์ของอาริสโตเติล นักวิจารณ์ในช่วงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยายังคงมองเดวส์เอกส์มาคีนาในฐานะกลวิธีที่ขาดความสร้างสรรค์ แม้ว่านักเขียนบทละครหลายคนในช่วงยุคนี้จะยังใช้กลวิธีนี้อยู่ก็ตาม เช่น วิลเลียม เชกสเปียร์ ที่ใช้กลวิธีนี้ใน ตามใจท่าน (As You Like It) เพริคลีส, พรินซ์ ออฟ ไทร์ (Pericles, Prince of Tyre) ซิมเบอลีน (Cymbeline) และ เดอะ วินเทอร์ส เทล (The Winter's Tale)[7]

ระหว่างความผันผวนทางการเมืองในศตวรรษที่ 17 และ 18 กลวิธีเดวส์เอกส์มาคีนามักถูกนำมาใช้เพื่อทำให้ประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงดูดีมากขึ้น เพื่อความพึงพอใจของผู้ที่มีอำนาจ เช่น ในฉากสุดท้ายของ Tartuffe (Tartuffe) บทละครของ มอลีแยร์ (Molière) ตัวเอกได้รับการช่วยเหลือให้พ้นภัยจากกษัตริย์ผู้มีความเมตตาและรู้เห็นทุกสิ่งอย่าง — ซึ่งเป็นกษัตริย์คนเดียวกันที่กุมชะตาชีวิตของมอลีแยร์[8]

ในวรรณคดีไทย ตัวอย่างของการใช้ เดวส์เอกส์มาคีนา ก็มีอยู่ เช่น ในนิทานคำกลอนของสุนทรภู่ เรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาคร เมื่อนางเงือกจะคลอดสุดสาครนั้นนางอยู่ตัวคนเดียว หาใครช่วยก็ไม่มี มีแต่พระฤๅษีซึ่งถือตบะบำเพ็ญพรต ทำให้แตะต้องตัวนากเงือกไม่ได้ และท่านก็ไม่รู้วิธีผูกแต่งเปลไว้เลี้ยงเด็ก แต่เทพยาดาก็มาช่วยให้นางเงือกคลอดได้อย่างปลอดภัย ส่วนเปลเลี้ยงเด็กนั้นพระฤๅษีหลับตาเข้ากรรมฐานแล้วเปลเด็กก็ปรากฏขึ้นเอง

ในปลายศตวรรษที่ 19 ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) ได้วิจารณ์ยูริพิเดสที่ทำให้โศกนาฏกรรมเป็นประเภทวรรณกรรมสุขนาฏกรรมผ่านการใช้กลวิธีนี้ นอกจากนี้ นีทเชอยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับ "ความรื่นเริงแบบชาวกรีก" ที่ทำให้เขามองละครประเภทดังกล่าวว่าเป็น "ความสุขยินดีในชีวิต"[9] สำหรับนีทเชอ เดวส์เอกส์มาคีนา เป็นอาการของวัฒนธรรมแบบโสกราตีส (Socrates) ซึ่งให้คุณค่าความรู้เหนือสุนทรียดนตรี และเป็นสาเหตุของจุดจบและความเสื่อมถอยของละครโศกนาฏกรรม:[10]

แต่ตอนนี้ จิตวิญญาณใหม่ที่ไร้สุนทรียะนั้นเห็นได้ชัดแจ้งที่สุดใน "ตอนจบ" ของละครใหม่ ๆ ในตอนจบของโศกนาฏกรรมแบบเก่านั้นมีกลิ่นอายของความประนีประนอมเชิงอภิปรัชญาอยู่ ซึ่งหากปราศจากสิ่งนี้แล้วยากเหลือเกินที่จะจินตนาการว่า เราจะหาความยินดีจากโศกนาฏกรรมได้อย่างไร บางที น้ำเสียงผ่อนโยนนั้นอาจสะท้อนก้องจากอีกโลกหนึ่งอย่างพิสุทธิ์สูงสุดใน อีดิปุส แอท โคโลนัส (Oedipus at Colonus) ตอนนี้ เมื่อโศกนาฏกรรมขาดอัจฉริยภาพทางดนตรี โศกนาฏกรรมในความหมายของตัวมันเองได้ตายลงเสียแล้ว ก็ในเมื่อความประนีประนอมเชิงอภิปรัชญานั้นหายไปเสียแล้ว ดังนั้นทางออกสำหรับความไม่กลมกลืนในโศกนาฏกรรมนั้นต้องเกิดขึ้น ตัวเอก หลังจากได้รับความทรมานจากชะตากรรม ได้รับรางวัลที่คุ้มค่าจากการแต่งงานที่สมเกียรติ รวมไปถึงเครื่องแสดงเกียรติยศที่สมศักดิ์ศรี ตัวเอกได้กลายเป็นนักรบ ได้รับอิสรภาพหลังจากที่พานพบอุปสรรคนานัปการ การปลอบประโลมเชิงอภิปรัชญากลับถูกขับออกไปด้วยเดวส์เอกส์มาคีนา

— ฟรีดริช นีทเชอ

นีทเชอได้กล่าวว่าเดวส์เอกส์มาคีนาทำให้เกิดการปลอบประโลมอย่างลวง ๆ ซึ่งไม่ควรมีขึ้นในปรากฏการณ์นี้[11] คำครหาของเขาได้กลายเป็นข้อคิดเห็นกระแสหลักในหมู่นักวิจารณ์

คำวิจารณ์จากนักคิดแนวหันเหใหม่ (Revisionism) ในศตวรรษที่ 20 ได้ชี้ว่าเดวส์เอกส์มาคีนา ไม่สามารถได้รับการวิเคราะห์ได้ในคำจำกัดความที่ตื้นเขินได้ และโต้เถียงว่ากลวิธีนี้ทำให้มนุษย์สามารถ "ล้วงลึก" ถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าได้[12] โดยเฉพาะรัช เรห์ม (Rush Rehm) ที่ได้ยกตัวอย่างละครโศกนาฏกรรมกรีกที่เดวส์เอกส์มาคีนา ได้เข้ามาทำให้ชีวิตและทัศนคติของตัวละครที่พบกับเทพเจ้ายุ่งยากยิ่งขึ้น ในขณะที่ยังสื่อเรื่องราวให้แก่ผู้ชม[12] ทั้งนี้ ในบางกรณี ความไม่น่าเชื่อของเดวส์เอกส์มาคีนาถูกนำมาใช้อย่างจงใจ เช่น การหักมุมอย่างขบขันที่เกิดขึ้นในฉากหนึ่งของ มอนตี้ ไพธอนส ไลฟ์ ออฟ ไบรอัน' (Monty Python's Life of Brian)' เมื่อไบรอัน ตัวละครที่อาศัยอยู่ในจูเดีย ในคริสต์ศักราชที่ 33 ได้รับการช่วยชีวิตจากการตกลงจากที่สูงด้วยยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวที่ผ่านมา[13]

ตัวอย่างใหม่ ๆ แก้

ในนวนิยายคลาสสิก ลอร์ด ออฟ เดอะ ฟลายส์ (Lord of the Flies) การกู้ภัยกลุ่มเด็กที่ติดเกาะด้วยนายทหารนาวีที่บังเอิญผ่านมา (ซึ่งวิลเลียม โกลดิง (William Golding) ผู้เขียน ได้กล่าวว่าเป็น "กลสนุกเล็ก ๆ น้อย ๆ") ถูกนักวิจารณ์บางกลุ่มมองว่าเป็นเดวส์เอกส์มาคีนา ตอนจบที่กระทันหันนั้นชี้เป็นนัยว่า หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ เด็ก ๆ จะต้องประสบกับชะตากรรมที่เลวร้าย (โดยเฉพาะราล์ฟ)[14]

นักเขียนการ์ตูน แมท แฟรคชั่น (Matt Fraction) ถูกวิจารณ์ว่าได้ใช้ที่พลังมหาศาล แต่ไม่เคยได้รับการระบุอย่างชัดเจนว่าคืออะไรของตัวละคร แฟรงคลิน ริชาร์ด (Franklin Richards) เป็นเดิส เอ็กาส์ มาคีนา ในการ์ตูนเรื่อง เฟียร์ อิทเซลฟ์ #5 (Fear Itself #5) (2011).[15]

เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) ได้ประดิษฐ์คำว่า ยูคาสทรอฟี (eucatastrophe) ซึ่งหมายถึงจุดหักเหของเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวเอกไม่พบกับชะตากรรมที่เลวร้าย โทลคีนยังได้กล่าวถึง อินทรียักษ์ (Great Eagles) ที่ปรากฏตัวทั้งใน ฮอบบิท (The Hobbit) และ อภินิหารแหวนครองพิภพ (The Lord of the Rings) ว่าเป็น "เครื่องจักรที่อันตราย"[16] นักวิจารณ์บางสำนักได้กล่าวว่ายูคาสทรอฟี โดยเฉพาะในกรณีอินทรียักษ์ เป็นตัวอย่างของเดวส์เอกส์มาคีนา เช่น เมื่ออินทรียักษ์ได้ช่วยชีวิตโฟรโดและแซมจากเมาท์ดูมในตอนสุดท้ายของ มหาสงครามชิงพิภพ (The Return of the King)[17][18] ในขณะที่นักวิจารณ์สำนักอื่นโต้ว่าสองแนวคิดนี้ไม่เหมือนกัน โดยยูคาสทรอฟีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย แต่เป็นส่วนหนึ่งของโลกในนวนิยาย ที่ซึ่งความหวังจะชนะทุกสิ่งในตอนท้าย[19]

เอ็กเซล ซาก้า (Excel Saga) ซีรีส์อนิเมะและมังงะญี่ปุ่น ใช้เดวส์เอกส์มาคีนาเป็นกลวิธีเพื่อความขบขัน ด้วยการใช้ตัวละคร นาเบะชิน[20] หรือชินอิจิ วาตานาเบะ ผู้กำกับอนิเมะ ซึ่งได้รับบทเป็นตัวร้ายในเรื่อง รวมไปถึงเดอะ เกรท วิล ออฟ เดอะ มาโครคอสซึม (The Great Will of the Macrocosm) ซึ่งเป็นสิ่งที่มีรูปร่างเหมือนหลุมดำที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเวลาและสถานที่ได้ตามความต้องการของเนื้อเรื่อง

หมายเหตุ แก้

  1. ศัพท์บัญญัติสาขาวรรณกรรมของราชบัณฑิตยสถาน
  2. Ars Poetica by Horace
  3. Rehm (1992, 72) and Walton (1984, 51).
  4. Janko (1987, 20)
  5. Poetics 11.5, Penguin (1996, 45).
  6. Dr. L. Kip Wheeler. "Literary Terms and Definitions: D". สืบค้นเมื่อ 2008-07-26.
  7. Rehm (1992, 70).
  8. "Tartuff: Novel Guide" เก็บถาวร 2012-01-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 2003. Retrieved November 2, 2011.
  9. Nietzsche (2003, 85).
  10. Nietzsche (2003, 84–86).
  11. Nietzsche (2003, 80).
  12. 12.0 12.1 Rehm (1992, 71).
  13. James Berardinelli, James. "Review: Life of Brian". Reelviews Movie Reviews. 2003
  14. Friedman, Lawrence S. (2008). "Grief, grief, grief: Lord of the Flies". ใน Bloom, Harold (บ.ก.). William Golding's Lord of the Flies. Infobase Publishing. pp. 67–68. สืบค้นเมื่อ 2013-12-31.
  15. Evans, Alex. "Fear Itself #5 – Review" เก็บถาวร 2013-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Weekly Comic Book Review. August 12, 2011
  16. J. R. R. Tolkien, letter 210 as quoted here
  17. Tolkien's Art: A Mythology for England by Jane Chance (2001), p. 179
  18. The Greenwood Encyclopedia of Science Fiction and Fantasy: Themes, Works, and Wonders, Volume 1, p. 195 [1]
  19. Mallinson, Jeffrey (2011). "Eucatastrophe". ใน Mazur, Eric Michael (บ.ก.). Encyclopedia of Religion and Film. ABC-CLIO. p. 175. สืบค้นเมื่อ 2014-01-01.
  20. MyAnimeList Character Database: Nabeshin

อ้างอิง แก้

  • Bushnell, Rebecca ed. 2005. A Companion to Tragedy. Malden, MA and Oxford: Blackwell Publishing. ISBN 1-4051-0735-9.
  • Heath, Malcolm, trans. 1996. Poetics. By Aristotle. Penguin: London. ISBN 978-0-14-044636-4.
  • Janko, Richard, trans. 1987. Poetics with Tractatus Coislinianus, Reconstruction of Poetics II and the Fragments of the On Poets. By Aristotle. Cambridge: Hackett. ISBN 0-87220-033-7.
  • Mastronarde, Donald, 1990. Actors on High: The Skene roof, the Crane and the Gods in Attic Drama. Classical Antiquity, Vol 9, October 1990, pp 247–294. University of California.
  • Rehm, Rush, 1992. Greek Tragic Theatre. Routledge, London. ISBN 0-415-04831-1.
  • Tanner, Michael ed. 2003. The Birth of Tragedy. By Nietzsche, Friedrich. Penguin: London. ISBN 978-0-14-043339-5.
  • Taplin, Oliver, 1978. Greek Tragedy in Action. Methuen, London. ISBN 0-416-71700-4.
  • Walton, J Michael, trans. 2000. Euripides: Medea. Methuen, London. ISBN 0-413-75280-1.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้