เซนต์ (อังกฤษ: Saint) ชาวคาทอลิกและชาวออร์ทอดอกซ์ เรียกว่านักบุญ หมายถึง ผู้ศักดิ์สิทธิ์[1] ชาวโปรเตสแตนต์เรียกว่าธรรมิกชนหรือผู้บริสุทธิ์[2] แต่ละนิกายในศาสนาคริสต์อธิบายลักษณะของเซนต์แตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปจะถือตามคัมภีร์ไบเบิลที่ระบุว่าเซนต์หมายถึงบุคคลใด ๆ ไม่ว่าบนโลกมนุษย์หรือบนสวรรค์ ที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ มีชีวิตอยู่ในพระคริสต์ และเป็นผู้ที่พระคริสต์ทรงประทับอยู่[3][4] เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงแยกไว้ต่างหากเพื่อเป็นชนชาติที่บริสุทธิ์ของพระองค์[5][6] ในคริสตจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์และโรมันคาทอลิกถือว่าคริสต์ศาสนิกชนทั้งหมดที่อยู่บนสวรรค์เป็นนักบุญ แต่แต่ละองค์จะได้รับเกียรติ ถูกยึดถือเป็นแบบอย่าง และรับความเคารพไม่เท่ากัน

ภาพ "นักบุญทั้งหลาย" วาดโดยฟราอันเจลีโก

ในคัมภีร์ไบเบิล มีหลายคนถูกเรียกว่าเป็นเซนต์ เช่น อาโรน ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นคนบริสุทธิ์ของพระยาห์เวห์[7] ส่วนในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวเอเฟซัส เปาโลอัครทูตก็ประกาศว่าตนเองเป็น “คนเล็กน้อยยิ่งกว่าคนเล็กน้อยที่สุดในพวกธรรมิกชนทั้งหมด”[8]

ในปัจจุบันคำว่า "เซนต์" ยังอาจใช้หมายถึงผู้ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอื่น ๆ ด้วย เช่น ซาดิคในศาสนายูดาห์ พระอริยบุคคลในศาสนาพุทธ ฤๅษีหรือคุรุในศาสนาฮินดู วะลีย์ในศาสนาอิสลาม เป็นต้น

คริสตจักรโรมันคาทอลิก แก้

ในคริสตจักรโรมันคาทอลิก นักบุญหมายถึงบุคคลที่ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการโดยพระศาสนจักร ซึ่งมีความเชื่อว่าบุคคลเหล่านั้นได้อยู่ในสวรรค์แล้ว โดยความหมายนี้ทุกคนที่อยู่ในสวรรค์ก็คือนักบุญถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการ บุคคลที่พระศาสนจักรได้ประการให้เป็นนักบุญนั้นมีความดีโดดเด่น ในการปฏิบัติตามน้ำพระทัยพระเป็นเจ้า คริสตจักรจะยกย่องบุคคลนั้นเป็นพิเศษเพื่อเป็นแบบอย่างและกำลังใจแต่คริสตชนอื่น ๆ[9]

ตามกระบวนการประกาศเป็นนักบุญ (canonization) ในคริสตจักรคาทอลิก จะมีการสอบสวนและให้พระสันตะปาปาประกาศสถาปนาเป็นลำดับขั้นดังนี้

  1. ผู้รับใช้พระเป็นเจ้า (The Servant of God)
  2. ผู้น่าเคารพ (The Venerable)
  3. บุญราศี (The Blessed) หลังจากที่ได้รับการประกาศให้เป็น "ผู้น่าเคารพ" หรือ "คารวียะ" แล้ว ก็จะมีการดำเนินการเพื่อให้บุคคลนั้นได้รับการประกาศเป็นบุญราศี แต่ก่อนที่จะได้รับประกาศเป็นนักบุญราศีนั้น ต้องมีการพิสูจน์ได้ว่า มีอัศจรรย์อย่างน้อย 2 ประการเกิดขึ้น โดยอาศัยบุญบารมีของ "ผู้น่าเคารพ" นั้น (ในกรณีของมรณสักขี หรือผู้ที่ยอมพลีชีพเพื่อศาสนา ความตายของเขา ก็ถือว่าเป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ สามารถใช้แทนอัศจรรย์สองประการที่กำหนดนี้ได้)[10]
  4. นักบุญ (The Saint) หลังจากได้รับการประกาศเป็นบุญราศีแล้ว ก่อนที่จะประกาศแต่งตั้งบุญราศีนั้นเป็น "นักบุญ" จะต้องมีผู้ได้รับการอัศจรรย์อีกอย่างน้อย 2 ประการ ที่เชื่อได้ว่ามาจากการที่บุญราศีนั้นอธิษฐานต่อพระเป็นเจ้าแทนผู้นั้น ซึ่งการคอยอัศจรรย์ขั้นนี้อาจจะยาวนานหลายปี ซึ่งบางรายกินเวลาเป็นศตวรรษก็มี เมื่อผ่านขั้นตอนทุกอย่างแล้ว ก็จะมีพิธีการประกาศแต่งตั้งบุญราศีองค์นั้นขึ้นเป็น "นักบุญ" โดยพระสันตะปาปา ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม[10]

เมื่อได้รับการประกาศเป็นนักบุญแล้วจึงถือว่าสิ้นสุดกระบวนการสอบสวน[11]

อ้างอิง แก้

  1. Wycliffe Bible Encyclopedia, "saint", ISBN 0-8024-9697-0, "Christians in general are 'saints' in NT usage, and the term is common in reference to the inclusive membership of a local church . . . Other references in the NT equate Christians in general with 'saints' . . . All these are identified as saints because they are in Christ Jesus."
  2. เอเฟซัส 1:18
  3. "2 โครินธ์ 5:17". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-12-12.
  4. "2 โครินธ์ 13:5". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-12-12.
  5. 2 โครินธ์ 1:1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  6. ฟีลิปปี 1:1, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011
  7. สดุดี 106:16
  8. เอเฟซัส 3:8
  9. โรแบร์ โกสเต, บาทหลวง, คำสอนคริสตชน, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2550, หน้า 194
  10. 10.0 10.1 "ขั้นตอนการแต่งตั้งเป็นนักบุญ, ประวัตินักบุญตลอดปี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-23. สืบค้นเมื่อ 2013-01-03. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "blessed" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  11. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 475-6