เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต

มหาอำมาตย์โท นายพลตรี เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต (ไทยถิ่นเหนือ: ) (6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2400 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2465) [1] ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร (ครองราชย์ พ.ศ. 2441 - 2465) ตลอดรัชสมัย เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตดำรงความมั่นคงสุจริตและความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรี พระองค์ได้ทรงพัฒนานครลำปางและเมืองบริวารในด้านต่าง ๆ ให้ทันกับการพัฒนาในส่วนกลาง ได้ทรงประทานที่ดินและทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างถาวรวัตถุในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการก่อสร้างสถานศึกษา ตลอดจนสถานที่ราชการต่าง ๆ เพื่อความผาสุกแก่ประชาชนลำปางอย่างแท้จริง

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต
เจ้าผู้ครองนครลำปาง
ครองราชย์3 มกราคม พ.ศ. 2441 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2465
รัชสมัย24 ปี
ก่อนหน้าเจ้านรนันทไชยชวลิต
ถัดไปเจ้าราชบุตร (ผู้รั้งตำแหน่ง)
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
อุปราชเจ้าอุปราชทิพจักร
เจ้าอุปราชนครลำปาง
ดำรงพระยศพ.ศ. 2438 - 3 มกราคม พ.ศ. 2441
ก่อนหน้าเจ้าอุปราชธนัญไชย
ถัดไปเจ้าอุปราชทิพจักร
เจ้าหลวงเจ้านรนันทไชยชวลิต
ประสูติ6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2400
เจ้าหนานบุญทวงศ์ ณ ลำปาง
พิราลัย5 ตุลาคม พ.ศ. 2465 (64 ปี)
พระราชทานเพลิง19 พฤษภาคม พ.ศ. 2470
เมรุชั่วคราวสนามเสือป่า
ราชเทวีแม่เจ้าเมืองชื่น
สนม
  • 13 ท่าน
พระนามเต็ม
เจ้าบุญวาทยวงษ์มานิต ลามันตวิชิตประเทศราช บริสัษยนารถทิพยจักราธิวงษ์ ดำรงโยนวิไศย อภัยรัษฎารักษ์ อุดมศักดิสัตยาธิวรางค์ ลำปางคมหานคราธิปตัย เจ้านครลำปาง
พระบุตร15 องค์
ราชสกุลณ ลำปาง
ราชวงศ์ทิพย์จักร
พระบิดาเจ้านรนันทไชยชวลิต
พระมารดาแม่เจ้าฟองแก้ว
ศาสนาเถรวาท
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ สยาม
แผนก/สังกัดกองทัพบกสยาม
ชั้นยศ พลตรี

พระประวัติ แก้

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต มีนามเดิมว่า เจ้าบุญทวงศ์ ณ ลำปาง ประสูติเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2400 เป็นเจ้าราชโอรสในเจ้านรนันทไชยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 12 กับแม่เจ้าฟองแก้ว ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าอุปราช ในปี พ.ศ. 2438[2]

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตมีราชเชษฐา ราชภคินี ราชอนุชา และราชขนิษฐา ร่วมพระราชบิดา 23 พระองค์ มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

  1. เจ้าหญิงหอม ณ ลำปาง
  2. เจ้าน้อยคำแสน ณ ลำปาง
  3. มหาอำมาตย์โท พลตรี เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต, เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 13
  4. เจ้าน้อยกิ ณ ลำปาง
  5. เจ้าชวลิตวงศ์วรวุฒิ (น้อยแก้วเมืองมูล เป็นเจ้าราชภาคินัยแล้วเลื่อนเป็นเจ้าราชบุตรนครลำปาง เลื่อนเป็นเจ้าชวลิต วงศ์วรวุฒิ เมื่อ 27 เมษายน 2455) ตำแหน่งที่ปฤกษาราชการเมืองนครลำปาง - พระบิดาใน "เจ้าราชสัมพันธวงศ์ คำผาย สุยะราช, เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์นครลำปาง" ซึ่งสมรสกับ "เจ้าหญิงอุษาวดี ศีติสาร" ราชธิดาองค์ใหญ่ในเจ้าหลวงอินต๊ะชมภู พระญาประเทศอุดรทิศ เจ้าเมืองพะเยา องค์ที่ 4 เจ้านายราชวงศ์เชียงแสนเก่า
  6. เจ้าน้อยพึ่ง ณ ลำปาง
  7. เจ้าน้อยเมือง ณ ลำปาง
  8. เจ้าน้อยหม่อม ณ ลำปาง
  9. เจ้าหญิงนวล ณ ลำปาง
  10. เจ้าหญิงซุ่ย ณ ลำปาง
  11. เจ้าหญิงหวัน ณ ลำปาง
  12. เจ้าน้อยแก้ว ณ ลำปาง
  13. เจ้าหญิงหยิ่น ณ ลำปาง
  14. เจ้าไชยสงคราม น้อยโท่น ณ ลำปาง, เจ้าไชยสงครามนครลำปาง
  15. เจ้าหญิงบัวเกษร ณ ลำปาง
  16. เจ้าหญิงบัวเทพ ณ ลำปาง - พระอัยยิกา (เจ้ายาย) ใน "เจ้าอินทเดชสุวรรณบท ณ ลำพูน"
  17. เจ้าหญิงแก้วมาลา ณ ลำปาง
  18. เจ้าน้อยปั๋นแก้ว ณ ลำปาง
  19. เจ้าหญิงฟอง ณ ลำปาง
  20. เจ้าน้อยอ้น ณ ลำปาง
  21. เจ้าอุปราช ทิพจักร ณ ลำปาง, เจ้าอุปราชนครลำปาง - พระบิดาใน "เจ้าเทพธำรงค์ ณ ลำปาง", "เจ้าหญิงอัตถ์ ณ ลำปาง", "เจ้าหญิงต่วน ณ ลำปาง"
  22. เจ้าน้อยหมวก ณ ลำปาง
  23. เจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ ลำปาง

เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2440 (นับแบบปัจจุบันเป็นปี พ.ศ. 2441) เจ้าอุปราช (บุญทวงษ์) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น เจ้าบุญวาทยวงษ์มานิต ลามันตวิชิตประเทศราช บริสัษยนารถทิพยจักราธิวงษ์ ดำรงโยนวิไศย อภัยรัษฎารักษ์ อุดมศักดิสัตยาธิวรางค์ ลำปางคมหานคราธิปตัย เจ้านครลำปาง[3]

ถึงแก่พิราลัย แก้

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ถึงแก่พิราลัยด้วยโรควัณโรคภายในเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2465[4][5] สิริชันษา 65 ปี รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร 25 ปี และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ณ เมรุชั่วคราวสนามเสือป่า (ปัจจุบันคือ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศโถประกอบศพ มีฐานตั้ง 1 ชั้น พร้อมด้วยเครื่องอิสริยยศ ฉัตรเบญจาตั้ง 4 คัน เมื่อพระราชทานเพลิงมีเครื่องประโคมจ่าปี่ 1 กลองเป็นของสำหรับเมืองลำปาง[6] เหตุที่มีการพระราชทานเพลิงศพหลังจากถึงแก่พิราลัยไปแล้วกว่า 5 ปี เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีทายาทองค์ใด ที่มีทรัพย์มากเพียงพอที่จะจัดการถวายเพลิงพระศพ จนความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ[5] จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะเจ้านายฝ่ายเหนือ ขอให้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในการจัดการพระศพ และถวายเพลิงพระศพอย่างสมเกียรติ พร้อมกับขอให้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ลำพูน และน่าน ร่วมเป็นกรรมการด้วย[7]

ราชโอรส ราชธิดา แก้

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต มีราชโอรสและราชธิดา รวม 13 องค์ อยู่ในราชตระกูล ณ ลำปาง มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

พระกรณียกิจสำคัญ แก้

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจอันทรงคุณูปการต่อนครลำปางและประเทศชาติเป็นอเนกประการ มีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

ด้านงานราชการ แก้

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ได้อุทิศที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของคุ้มหลวงให้ทางราชการเพื่อก่อสร้างศาลากลางจังหวัดลำปาง[8]

ด้านการทหารและการป้องกันนคร แก้

พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มและวางรากฐานด้านการทหารให้แก่นครลำปาง ได้ทรงระดมชาวเมืองต่อสู้ป้องกันนครจากพวกเงี้ยวที่ก่อการจลาจล ยกกำลังเข้าตีนครลำปางเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2445 และสามารถปราบปรามเงี้ยวราบคาบ การที่ทรงระดมพลเมืองเป็นทหารเพื่อรบพุ่งทำสงครามดังกล่าว ทำให้เกิดมีกองทหารนครลำปางขึ้น และเพื่อความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของกิจการทหาร พระองค์ได้ประทานที่ดินส่วนพระองค์สร้างโรงทหาร โรงพยาบาลทหาร และค่ายทหาร[8]

เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์พิเศษ เมื่อปี พ.ศ. 2458[9]

ด้านการศึกษา แก้

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ทรงได้รับการศึกษาหนังสือไทยเหนือในสำนักอภิไชย วัดเชียงมั่น นครลำปาง และหนังสือไทยกลางที่คุ้มหลวง เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีโรงเรียน พระองค์ทรงตระหนักดีว่าการศึกษาของประชาชนลำปางที่มีอยู่ในวัดนั้นไม่เพียงพอต่อการพัฒนานคร เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ทรงสนพระทัยติดตามความเคลื่อนไหวด้านการจัดการศึกษาของส่วนกลาง แล้วทรงนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของนครลำปาง ทรงนำการศึกษาแบบสอนภายในโรงเรียนเข้ามาแทนการศึกษาในวัดเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2447 ณ สถานที่ตั้งโรงเรียนเทศบาล 3 (บุญทวงศ์อนุกูล) ในปัจจุบัน

พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาว่าจำเป็นยิ่งต่อการพัฒนานครลำปาง พระองค์ได้สนับสนุนส่งเจ้านายบุตรหลานและประชาชนลำปาง ที่ทรงคัดเลือกว่ามีสติปัญญาความสามารถไปศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร โดยให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งบุคคลเหล่านั้นก็ได้กลับมาทำงานสร้างคุณประโยชน์ให้แก่นครลำปางและประเทศชาติหลายท่าน นอกจากนั้น พระองค์ยั่งได้ทรงสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินและอาคารของห้างเซ่งหลี สร้างโรงเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่งแล้วประทานให้เป็นของรัฐ[10][8] ซึ่งในปี พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ และทรงพระกรุณาเสด็จทรงเปิดโรงเรียนใหม่แห่งนี้เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน และพระราชทานนามว่า "โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย" เพื่อถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต

ด้านการศาสนา แก้

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ทรงเคยเข้ารับการอุปสมบท ณ สำนักพระปัญญา วัดสวนดอก (จังหวัดลำปาง) พระองค์ทรงมีราชศรัทธาอย่างแรงกล้าในทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้ทรงพระราชทานพระอุปถัมภ์แก่วัดต่าง ๆ โดยในนครลำปางและเมืองบริวารอย่างทั่วถึง ทรงสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยความศรัทธาเลื่อมใสอย่างแท้จริง อนึ่ง เพื่อให้พระสงฆ์ในจังหวัดลำปาง ได้มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องพระศาสนาดียิ่งขึ้น พระองค์ยังได้ทรงสนับสนุนส่งพระสงฆ์ให้เข้ารับศึกษาพระปริวัติธรรม ณ วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร อีกด้วย

ด้านการอุตสาหกรรมและการคมนาคม แก้

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ทรงเล็งเห็นว่าการอุตสาหกรรมต่อไปจักเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของบ้านเมือง ได้ทรงจัดตั้งโรงงานทอผ้าและโรงงานฟอกหนังขึ้นในนครลำปาง ซึ่งนับเป็น โรงงานฟอกหนังแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงส่งเสริมกิจการด้านการคมนาคม ทรงมีราชดำริให้มีการก่อสร้างปรับปรุงถนนต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงนครลำปางและเมืองบริวารใกล้เคียง รวมทั้ง ได้ประทานที่ดินส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข[8] เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารของประชาชน

การขอพระราชทานนามสกุล แก้

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ ลำปาง (อักษรโรมัน: na Lampang) ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทาน ลำดับที่ 1,166 จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2457[11] โดยพระราชทานให้แก่ผู้สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่มีนิวาสถานตั้งอยู่ในที่แห่งนั้นเป็นเวลานานมาก มีผู้คนรู้จัก และนับถือโดยมาก โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตใช้คำว่า "ณ" นำหน้าสกุลเป็นอันขาด[12] ต่อมาภายหลังตระกูล ณ ลำปาง เป็นหนึ่งในสิบตระกูลที่ได้เข้าเฝ้าในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[13]

สถานที่สำคัญ แก้

  • อนุสาวรีย์เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521
  • กู่เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เป็นสถานที่บรรจุอัฐิของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวัดพระบาท ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม แก้

พระยศ แก้

พระยศทหาร แก้

  • นายพลตรี[14]

พระยศพลเรือน แก้

  • มหาอำมาตย์โท[15]

พระยศเสือป่า แก้

  • – นายหมู่เอก
  • 13 ตุลาคม 2456 – นายกองตรี[16]

ตำแหน่ง แก้

  • 2 มกราคม 2458 – ราชองครักษ์พิเศษ[17]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

ลำดับสาแหรก แก้

อ้างอิง แก้

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-08. สืบค้นเมื่อ 2009-02-02.
  2. พระราชทานสัญญาบัตร
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานหิรัญบัตรแลสัญญาบัตร, เล่ม ๑๔, ตอน ๔๑, ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๐, หน้า๗๐๑
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตาย, เล่ม ๓๙, ตอน ง, ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๕, หน้า ๒๐๐๓
  5. 5.0 5.1 วรชาติ มีชูบท, เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ, กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, หน้า 119
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเพลิงศพ, เล่ม ๔๔, ตอน ง, ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐, หน้า ๗๑๔
  7. ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น (บรรณาธิการ), 2 ฟากแม่น้ำวัง 2 ฝั่งนครลำปาง, ลำปาง : เทศบาลนครลำปาง, 2551
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. เพ็ชร์ล้านนา. เชียงใหม่: ผู้จัดการ, พิมพ์ครั้งที่ 2. 2538, หน้า 48
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงกลาโหม ตั้งราชองครักษ์พิเศษ
  10. 10.0 10.1 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งคณะกรรมการป้องกันการค้ากำไรเกินควร ประจำจังหวัดลำปาง
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๑๔ (ลำดับที่ ๑๑๕๖ ถึงลำดับที่ ๑๑๘๒), เล่ม 31 วันที่ 5 เมษายน 2457 หน้า 10
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานนามสกุลใช้ "ณ" นำหน้านามสกุล, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๓๙๕
  13. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-04. สืบค้นเมื่อ 2013-02-07.
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งนายทหารบก เก็บถาวร 2022-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๖๘๖, ๒๓ มิถุนายน ๑๓๑
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานยศ แก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เก็บถาวร 2022-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๐๐๐, ๒๐ สิงหาคม ๑๓๐
  16. ส่งสัญญาบัตรเสือป่าไปพระราชทาน
  17. แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ตั้งราชองครักษ์พิเศษ
  18. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์, เล่ม ๒๓ ตอนที่ ๕๑ หน้า ๑๒๙๕, ๑๗ มีนาคม ๑๒๕
  19. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์, เล่ม ๒๐ ตอนที่ ๔๑ หน้า ๗๑๐, ๑๐ มกราคม ๑๒๒
  20. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๗ ตอนที่ ๔๓ หน้า ๖๑๘, ๒๐ มกราคม ๑๑๙
  21. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเหรียญดุษฎีมาลาไปพระราชทาน, เล่ม ๑๖ ตอนที่ ๔๔ หน้า ๖๒๙, ๒๘ มกราคม ๒๔๔๒
  22. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเหรียญจักรพรรดิมาลาไปพระราชทาน, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๙๔๐, ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓
  23. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายหน้า, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๑๐๑๒, ๒๙ พฤศจิกายน ๑๒๗
  24. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๕๕, ๓ ธันวาคม ๑๓๐
  25. พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิม

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. เพ็ชร์ล้านนา. (ครั้งที่ 2) เชียงใหม่ :ผู้จัดการ ศูนย์ภาคเหนือ, 2538.
  • ศักดิ์ รัตนชัย. พงศาวดารสุวรรณหอคำนครลำปาง (ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์กับหอคำมงคล ฉบับสอบทานกับเอกสารสืบค้น สรสว.ลำปาง) .
  • คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์, นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. [1] เก็บถาวร 2021-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ถัดไป
เจ้านรนันทไชยชวลิต   เจ้าผู้ครองนครลำปาง
(3 มกราคม พ.ศ. 2440 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2465)
  เจ้าราชบุตร (แก้วเมืองพวน ณ ลำปาง)