เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ นามเดิม แพ (5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397 – 22 มีนาคม พ.ศ. 2486) เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทำหน้าที่เป็นผู้เบิกพระโอษฐ์พระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าคุณจอมมารดาแพ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเกียรติยศขึ้นเป็นเจ้าคุณชั้นพิเศษให้ออกนามว่า เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ และได้รับเกียรติให้ใช้คำว่า "ถึงแก่พิราลัย" เทียบเจ้าประเทศราชและสมเด็จเจ้าพระยา[1] กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยกล่าวยกย่องท่านว่า "ท่านสมบูรณ์ด้วยเกียรติยศ และเป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลายมิรู้เสื่อมทรามจนตลอดอายุ"[2]

ท่านเจ้าคุณ

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์

เกิดคุณแพ
5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397
เมืองธนบุรี
เสียชีวิต22 มีนาคม พ.ศ. 2486 (88 ปี)
บ้านบรรทมสินธุ์ จังหวัดพระนคร
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตร
บุพการีเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
ท่านผู้หญิงอิ่ม สุรวงษ์ไวยวัฒน์
ญาติเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 (น้องสาว)

ประวัติ แก้

ชีวิตช่วงต้น แก้

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ มีนามเดิมว่า แพ เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397 เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอิ่ม และท่านผู้หญิงอ่วมซึ่งเป็นป้า (พี่สาวของแม่) ก็เป็นภรรยาเอกอีกท่านหนึ่งของบิดา[3] มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 9 คน ได้แก่ เล็ก (เป็นที่คุณหญิงสรราชภักดี), ฉาง, เหมา (เป็นที่หลวงจักรยานานุพิจารณ์), หมิว (เป็นที่จ่ายวดยศสถิต), โหมด (เป็นบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5), แม้น (เป็นห้ามของกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช), เมี้ยน และมิด[3]

ครอบครัวของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ สืบเชื้อสายจากเฉกอะหมัด แขกเจ้าเซ็นจากอิหร่าน ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีมาแต่ครั้งกรุงเก่า[4] จนกระทั่งลูกหลานรุ่นเหลนคือเจ้าพระยาเพ็ชร์พิไชย (ใจ) ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ[5] หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หลานชายของเจ้าพระยาเพ็ชร์พิไชย คือ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้นท่านลิ้ม ภรรยาของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงเกิดความสงสาร จึงนำพระขนิษฐาแท้ ๆ คือ เจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล ให้กับเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา และเป็นต้นสกุลบุนนาค นับเป็นตระกูลที่จงรักภักดี และมีฐานะเป็นเครือญาติใกล้กับราชวงศ์จักรีในฐานะคู่เขย หลังจากนั้นเป็นต้นมาสกุลบุนนาคและเครือญาติจึงมีหน้าที่คอยถวายตัวธิดาเป็นบาทบริจาริกาสนองพระเดชพระคุณมาในทุก ๆ รัชกาล[6]

มูลเหตุที่มีนามว่า แพ เพราะท่านเกิดที่แพริมแม่น้ำเจ้าพระยาในฝั่งเขตธนบุรี ทำนองเดียวกันกับพี่สาวที่ชื่อ ฉาง เพราะบิดาเคยย้ายครอบครัวไปอาศัยในฉางข้าวในระยะหนึ่งและให้กำเนิดธิดาที่นั่น[3] เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ที่ฝั่งธนบุรีมาตั้งแต่ยังเยาว์ ปัจจุบันบริเวณที่ตั้งเรือนดังกล่าวคือโรงเรียนศึกษานารี[7] ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ของสายสกุลบุนนาคไว้ปลูกเรือนอาศัยอยู่ต่อ ๆ กันมาริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ใต้คลองกุฎีจีนลงมาจนถึงคลองวัดพิชัยญาติ[3]

ในวัยเยาว์ เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้สมญาว่า ม่วง อันเป็นนามของแม่ค้าชราคนหนึ่งซึ่งทำขนมขายได้เลิศรส ท่านจึงติดใจและชอบยายม่วงมาก อยู่มาวันหนึ่ง กลุ่มเพื่อนของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้ถามเล่นว่าใครอยากเป็นอะไรบ้าง เมื่อถามมาถึงเจ้าคุณประยุรวงศ์ ท่านก็ตอบกลับไปว่า อยากเป็นยายม่วง เพื่อนเด็ก ๆ เห็นเป็นเรื่องขำขันจึงพากันเรียกล้อท่านว่าม่วงอยู่ช่วงหนึ่ง[3]

ถวายตัว แก้

เมื่อเจ้าคุณพระประยุรวงศ์มีอายุได้ 13 ปี ใน พ.ศ. 2409 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นปู่ ได้พาท่านเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายใน โดยพาไปฝากกับเจ้าจอมมารดาเที่ยง บาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับไว้ในพระอุปการะของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุ 15 พรรษา และเสด็จออกไปจากพระราชฐานฝ่ายในตามธรรมเนียม จึงไม่มีโอกาสได้เห็นหรือทันรู้จักเจ้าคุณพระประยุรวงศ์[8] แต่ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พบเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เมื่อครั้งตามเสด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐในงานพระเมรุที่ท้องสนามหลวง ก็ทรงพอพระทัยตั้งแต่ครั้งแรกที่ทอดพระเนตรเห็น หลังจากนั้นจึงทรงสืบจนทราบแน่ชัดว่าหญิงที่ทรงพอพระทัยนั้นเป็นใคร[3] หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดให้มีละครวังหลวงแสดงที่วังหน้า เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ถือหีบหมากเสวยตามเสด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐไปด้วย และนั่งชมละครที่บริเวณหน้าพลับพลาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักทอดพระเนตรตรงมายังตัวท่านบ่อย ๆ และในคืนนั้น เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ก็ฝันว่ามีงูใหญ่มารัดตัวท่าน จึงนำความฝันนี้ไปเล่าแก่ญาติผู้ใหญ่ในงานสมรสของคุณเล็ก พี่สาว เมื่อญาติได้ฟังความฝันของท่านก็พากันหัวเราะชอบใจ[3]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าไปขอร้องกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐ ว่าให้นำตัวเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ออกงานพระราชพิธีบ่อย ๆ เพื่อจะเห็นหน้าบ้าง รวมทั้งทรงใช้พระอนุชาพระองค์น้อย ๆ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ซึ่งยังสามารถเข้านอกออกในพระราชฐานชั้นในได้ ทำหน้าที่เป็นสื่อรัก ที่ชวนเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ไปรับชมมหรสพหรือขบวนแห่ต่าง ๆ รวมทั้งใช้ให้พระพี่เลียงนำของมาพระราชทานให้หลายต่อหลายครั้ง เจ้าคุณพระประยุรวงศ์กล่าวไว้ว่า "…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดให้พระพี่เลี้ยงชื่อกลาง นำหีบน้ำอบฝรั่งเข้าไปประทานหีบหนึ่ง ด้วยสมัยนั้นน้ำอบฝรั่งเพิ่งมีเข้ามาขายในเมืองไทย คนกำลังชอบกันมาก หีบน้ำอบฝรั่งที่ประทานนั้นทำเป็นสองชั้น เปิดฝาออกถึงชั้นบน มีพระรูปฉายวางไว้ในนั้น เปิดถึงชั้นล่างต่อลงไปมีน้ำอบฝรั่งสองขวดกับสบู่หอมก้อนหนึ่งวางเรียงกันอยู่…"[8] ในเวลาต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐทรงชักชวนเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ตามเสด็จไปงานวันวิสาขบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยกัน และเมื่อได้โอกาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสขอเจ้าคุณพระประยุรวงศ์จากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐไปเป็นห้าม[3] แต่เมื่อเรื่องถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นปู่ จึงมีคำสั่งให้ท่านผู้หญิงอิ่ม มารดา มารับตัวเจ้าคุณพระประยุรวงศ์กลับไปที่เรือน ทำให้ทั้งสองพรากจากกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงขอร้องให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชฐช่วยให้พระองค์พบกับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์อีกครั้ง เจ้าคุณพระประยุรวงศ์กล่าวถึงการพบกันในครั้งนั้นว่า "เป็นแต่รันทดกำสรดโศก หาได้ปรึกษาหารือคิดอ่านกันอย่างไรไม่"[8]

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นเจ้าชายหนุ่มกลัดกลุ้มพระราชหฤทัยยิ่งนัก และเมื่อการณ์เป็นเช่นนั้น เจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นเจ้าจอมคนโปรด นำความกราบทูลแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ทรงมีพระเมตตาแก้ปัญหาแก่พระราชโอรส ด้วยการตรัสขอเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ต่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ รับท่านเป็นสะใภ้หลวง[8]

บาทบริจาริกา แก้

 
เจ้าคุณพระประยุรวงศ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอภิเษกสมรสกับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ใน พ.ศ. 2410 เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ถูกส่งตัวไปยังพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยเจ้าคุณพระประยุรวงศ์กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า "เดินออกไปทางประตูราชสำราญ เหมือนกับกระบวนแห่พระนเรศวร พระนารายณ์ มีคนถือเทียนนำหน้า และถือคบรายสองข้าง มีคนตามหลังเป็นพวกใหญ่ พวกชาววังก็พากันมานั่งดูแน่นทั้งสองข้างทาง อายจนแทบจะเดินไม่ได้"[8] เจ้าคุณพระประยุรวงศ์มีฐานะเป็น หม่อม และหลังอภิเษกสมรสได้เพียงสามเดือน เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ก็ตั้งครรภ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชวังนันทอุทยาน ริมคลองมอญ ฝั่งธนบุรี เป็นสถานที่สำหรับประสูติพระหน่อ เพราะตามโบราณราชประเพณี สตรีสามัญชนไม่สามารถคลอดลูกในพระบรมมหาราชวังได้[3] ในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าต้องเสด็จข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อปฏิบัติราชการที่พระบรมมหาราชวัง และข้ามฟากกลับพระตำหนัก เย็นบ้าง ค่ำบ้าง และบางคราวก็ดึก โดยในช่วงน้ำลง พระองค์ต้องเสด็จพระราชดำเนินบนสะพานไม้รวกยาว ๆ ริมคลองเพื่อกลับพระตำหนักไปหาครอบครัวอยู่เสมอ[8] หลังตั้งครรภ์ได้เพียงเจ็ดเดือน เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ก็ให้ประสูติการพระราชธิดา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี[3]

หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงใน พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมา ส่วนเจ้าคุณพระประยุรวงศ์มีฐานะเป็น เจ้าจอมมารดา และย้ายที่อยู่อาศัยไปยังพระบรมมหาราชวัง สามีต้องมีบาทบริจาริกาอีกหลายนางตามโบราณราชประเพณี เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้ทูลขอพรพิเศษจากสามีไว้ ความว่า "พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ จะมีพระสนมกำนัลมากสักเท่าใด ก็จะไม่เคียดขึ้งตึงหวง และไม่ปรารถนาจะมีอำนาจว่ากล่าวบังคับบัญชาผู้หนึ่งผู้ใด ขอแต่ให้ได้สนองพระเดชพระคุณเหมือนอย่างเมื่อเสด็จอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบเท่านั้นก็พอใจ" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงมีพระเมตตาต่อเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เป็นอย่างดี[8] ทรงให้สิทธิพิเศษหลายประการแก่เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ เช่น ห้ามท้าวนางไปว่ากล่าวรบกวนท่าน อนุญาตให้เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ปรนนิบัติพระองค์ภายในพระที่นั่งเย็น รวมทั้งการปรนนิบัติเป็นกิจวัตรในทุก ๆ วัน คือ การถวายเครื่องพระสำอางและตั้งเครื่องพระกระยาหารต้มเมื่อตื่นบรรทม หลังเสร็จพระกรณียกิจช่วงเช้า ท่านก็มาปรนนิบัติอีกในช่วงบ่าย กลางคืนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าบรรทมแล้ว ซึ่งหมดจากนี้เจ้าคุณพระประยุรวงศ์จะไม่เข้าไปยุ่งกิจการใด ๆ อีก[8] รวมทั้งใช้ราชาศัพท์กับเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ เช่น สรง บรรทม เสด็จ และพิราลัย เทียบเจ้าประเทศราชและสมเด็จเจ้าพระยา[9] และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียก จะทรงเรียกว่า แม่แพ หากอยู่ต่อหน้าผู้อื่นจะทรงเรียกว่า คุณแพ ไม่เรียก นาง อย่างนางบาทบริจาริกานางอื่น[10]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เหนือยิ่งกว่านางสนมคนใด โดยพระราชทานหีบหมากทองคำลงยาประดับเพชร[10][11] ในวันสวดพระอภิธรรมพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตกอยู่ในอาการโศกเศร้าอย่างสุดซึ้ง เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้ขับร้องเพลงในวรรณคดีเชิงล้อเลียนเปรียบเปรยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิทรงถือโทษโกรธเคือง ทรงให้อภัยเพราะท่านคือรักแรกของพระองค์[12] ทั้งยังทรงแต่งตั้งให้ท่านขึ้นเป็น เจ้าคุณจอมมารดา ดังระบรมราชโองการว่า "มีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ราชประเพณีแต่ก่อนมา เจ้าจอมมารดาฝ่ายในที่เป็นผู้ใหญ่และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย และเป็นที่นับถือของคนในพระบรมมหาราชวังโดยมาก เคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องขึ้นให้เรียกว่า เจ้าคุณ บัดนี้ทรงพระราชดำริว่า เจ้าจอมมารดาแพ ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาถึง 37 ปี เป็นเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ และเป็นบุตรีท่านอัครมหาเสนาบดี มีตระกูลสูงเนื่องในราชนิกูล สมควรจะมียศบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคุณได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า แต่นี้ไปให้เรียกเจ้าจอมมารดาแพว่า เจ้าคุณจอมมารดา"[11]

ในกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังดุสิตเป็นที่ประทับ ด้วยทรงปรารภว่าในอนาคตหากพระองค์เสด็จสวรรคต เจ้าจอมมารดาที่มีพระราชโอรสก็คงออกไปอยู่วังของพระราชโอรส เจ้าจอมที่ไม่มีพระราชบุตรก็จะออกไปเป็นอิสระ ขณะที่เจ้าจอมมารดาที่มีพระราชธิดาคงจำต้องอาศัยอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นในภายในพระบรมมหาราชวังเรื่อยไป พระองค์จึงซื้อที่ดินบริเวณริมคลองสามเสนด้านใต้ เพื่อจัดสรรให้แก่เจ้าจอมมารดาที่มีแต่พระราชธิดาอาศัยอยู่ในบั้นปลาย เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้รับพระราชทานก่อนคุณจอมท่านอื่น ท่านทูลขอออกมาสร้างเรือนพำนักอยู่สวนนอกเมื่ออายุราว 50 ปี[13] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าคุณพระประยุรวงศ์สามารถออกเที่ยวเตร่ได้ และดำรัสสั่งกรมทหารเรือซึ่งเป็นพนักงานรักษาเรือพาหนะของหลวงอยู่ด้วยในสมัยนั้น ว่าถ้าเจ้าคุณจะไปไหน ก็ให้จัดพาหนะของหลวงให้ใช้ทุกเมื่อ คือมีใช้ทั้งรถหลวงและเรือหลวง แต่ตัวของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เองนั้นพอใจที่จะพายเรือตามเรือกสวนภายในจังหวัดพระนครเสียมากกว่า[14]

บั้นปลายและพิราลัย แก้

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าสถาปนาให้ท่านขึ้นเป็น เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ เป็นเจ้าคุณชั้นพิเศษ ในฐานะที่เป็นสนมเอกชั้นผู้ใหญ่ และเป็นหัวหน้านักนางสนมทั้งปวง[15]

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ปี พ.ศ. 2486 เวลา 20 นาฬิกา ณ บ้านบรรทมสินธุ์ สิริอายุ 88 ปี มีพิธีหลวงอาบน้ำศพและเชิญศพลงโกศในวันที่ 24 มีนาคม ปีเดียวกัน ได้รับพระราชทานโกศประกอบลองกุดั่นน้อย และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุในสุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร[2] อัฐิของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์บรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดสุรชายาราม[16]

กิจกรรม แก้

ในราชสำนัก แก้

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์เป็นสตรีที่กล้าแสดงออก สนุกสนาน มีความคิดแปลกใหม่และทันสมัย ผิดกับหญิงสาวในยุคนั้น ท่านชื่นชอบการร้องรำทำเพลงและเล่นละครเป็นอย่างยิ่ง บทละครร้องที่ท่านแต่งมีเรื่องราวสนุกสนาน แปลก ทันสมัยไม่เหมือนใคร รวมทั้งยังกล้าที่จะแต่งเนื้อหากระทบกระเทียบเปรียบเปรยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้เป็นสามี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงถือโทษโกรธอันใด[12] ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงต้องการหนังสือถวายพระพรของเซอร์เจมส์ บรุก รายาแห่งซาราวัก ซึ่งทรงเขียนหลังซองจดหมายดังกล่าวไว้ว่า "หนังสือเซอร์เจมส์ บรุ๊ก" ไว้ข้างที่ จึงสอบถามเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นพระสนมเอกและเป็นเจ้าพนักงานหนังสือข้างที่ ว่าเหตุใดคุณเพียนเถ้าแก่จึงหาหนังสือดังกล่าวไม่พบ เจ้าคุณพระประยุรวงศ์จึงอ้างคำพูดของคุณเพียน ซึ่งกล่าวว่าเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) ระบุว่าด้านหลังซองจดหมายเขียนว่า "ครือคะรึ" คุณเพียนหาหนังสือดังกล่าวไม่พบก็จนใจ ครั้นวันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไปต่อว่าเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต ท่านเจ้าพระยาก็กราบบังคมทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เรียกว่า ครือคะรึ ไปบอกคุณเพียนเถ้าแก่ว่า หนังสือซีจำปลุ๊กตามรับสั่ง"[17]

กิจกรรมที่สำคัญของท่านเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ นอกจากในรัชกาลที่ 5 จะได้เป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวภายในราชสำนักแล้ว ยังได้รับหน้าที่เป็นผู้เบิกพระโอษฐ์พระราชโอรส และพระราชธิดา ในรัชกาลที่ 5 (หมายความว่า ท่านเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ได้เป็นผู้ที่ถวายน้ำนมจากหน้าอกของท่านเองแก่บรรดาพระราชโอรส-ธิดา เพื่อเป็นปฐมมงคล แต่เมื่อปลายรัชกาลเมื่อท่านมีอายุสูงขึ้นนั้นจนตลอดในรัชกาลที่ 6 น่าจะเป็นการถวายน้ำนมจากพระนมที่มีการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันมากกว่าจะเป็นน้ำนมที่มาจากท่านเอง) หน้าที่นี้ท่านยังได้รับปฏิบัติสืบมาถึงรัชกาลที่ 6 คือได้เป็นผู้รับเบิกพระโอษฐ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นครั้งที่สุด

การแต่งกาย แก้

 
เจ้าคุณพระประยุรวงศ์เมื่อไว้ผมยาว

เมื่อราชสำนักสยามรับอิทธิพลจากชาติตะวันตกเข้ามา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เรื่องทรงผมของสตรีสยาม มีพระราชประสงค์ให้สตรีเลิกไว้ผมปีกอย่างโบราณ เปลี่ยนเป็นไว้ผมยาวแทน เจ้าคุณพระประยุรวงศ์จึงสนองพระราโชบายด้วยไว้ผมยาวประบ่าและขมวดปลายผม เบื้องต้น สตรีชาววังต่างพากันซุบซิบนินทาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์เป็นอันมาก แต่ด้วยความที่เป็นคนโปรด เรื่องนินทาจึงค่อย ๆ หายไป และหญิงชาววังจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาไว้ผมยาวสนองพระราโชบาย[11]

เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ยังเป็นผู้ริเริ่มการ "สะพายแพร" เป็นครั้งแรก โดยเริ่มจากการที่ท่านขี่ม้าตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในท้องถิ่นต่าง ๆ จึงไม่สะดวกเมื่อจะห่มสไบเฉียงเพราะจะอาจจะหลุดออกจากตัวได้ง่าย เจ้าคุณพระประยุรวงศ์จึงใช้การสะพายแพรเย็บติดแนบตัว[11] เผยให้เห็นเสื้อลูกไม้ซึ่งอยู่ภายใน[18] และสวมหมวกอย่างสตรียุโรปเพื่อกันแดด หญิงชาววังก็แต่งกายตามอย่างท่านเรื่อยมา[11] จนกระทั่งการสะพายแพรยุติลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[19] นอกจากการสะพายแพรแล้ว ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มการแต่งกายด้วยการสะพายมาลัยครุย[20] คือมาลัยกลมขนาดใหญ่ มีอุบะห้อยตุ้งติ้งคล้ายระบายเป็นครุยโดยรอบทั้งด้านในและด้านนอก สะพายจากไหล่ขวาและมาซ้าย คล้ายการห่มสไบเฉียงเมื่อนุ่งโจงกระเบน[21]

พ.ศ. 2484 เจ้าคุณพระประยุรวงศ์เมื่อวัยแก่ชราใกล้จะถึง 90 ปี จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศชักชวนสตรีไทยให้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เช่นเปลี่ยนตัดผมสั้นเป็นไว้ยาว เปลี่ยนนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นนุ่งถุง และให้ใส่เกือกใส่หมวกเป็นต้น รัฐบาลไทยได้ชวนเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ให้เป็นผู้นำสตรีที่มีบรรดาศักดิ์ให้เปลี่ยนแปลง ท่านก็ยินดีรับช่วยและเอาตัวของท่านเองออกหน้าเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวตามอย่างที่ต้องการ ก็มีผลให้ผู้อื่นปฏิบัติตามท่านอย่างคึกคัก ท่านจึงได้รับความเคารพนับถือจากรัฐบาลในสมัยนั้นและได้รับเชิญไปเข้าสมาคมและไปเป็นประธานในการให้รางวัลต่าง ๆ ต่อมาเนือง ๆ

การบำเพ็ญกุศล แก้

นอกจากนี้ยังได้บำเพ็ญกุศลอื่น ๆ อีกในคราวฉลองอายุครบรอบ เช่น สร้างสุขศาลาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ บูรณะศาสนสถานต่าง ๆ ในวัดของบุรพชนทั้งในและนอกจังหวัดพระนคร เช่นปฏิสังขรณ์วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร[22] สร้างตึกประยูรวงศ์ในวัดบุปผารามวรวิหาร[23] สร้างเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆังกลมวัดสุรชายาราม[24] เป็นต้น

เกียรติยศ แก้

บรรดาศักดิ์ แก้

  • 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397 – พ.ศ. 2410 : คุณแพ
  • พ.ศ. 2410 – 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 : หม่อมแพ ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 – 22 เมษายน พ.ศ. 2447 : เจ้าจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5
  • 22 เมษายน พ.ศ. 2447 – 26 กันยายน พ.ศ. 2464 : เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5
  • 26 กันยายน พ.ศ. 2464 – 22 มีนาคม พ.ศ. 2486 : เจ้าคุณพระประยุรวงศ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และสายไหม จบกลศึก (บรรณาธิการ) (2555). ราชาศัพท์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. p. 350.[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 วิจิตรวาทการ, น.พ.วิบูล (สิงหาคม 2544). พระปิยมหาราช รัฐกิจและชีวิตส่วนพระองค์ (2 ed.). 217 ซอยสุขุมวิท 20 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร: บริษัท สร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด. ISBN 974-7481-07-3. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)CS1 maint: location (ลิงก์)
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์". ศิลปะไทย. 3 ธันวาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 6
  5. เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 8
  6. เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 9
  7. "ถิ่นฐานและร้านเรือนของสกลุบุนนาค". ชมรมสายสกุลบุนนาค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-20. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย (13 มิถุนายน 2564). "เจ้าคุณจอมมารดาแพ พระภรรยาที่รัชกาลที่ 5 ทรง "จีบ" แต่ถูกผู้ใหญ่ขัดขวาง". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "ที่สุดของ "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์" และพระราชธิดา "พระองค์ใหญ่"". ประชาชาติธุรกิจ. 26 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.0 10.1 "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์". ข่าวสด. 5 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 ผู้นำแฟชันสตรีไทย". ศิลปวัฒนธรรม. 13 สิงหาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. 12.0 12.1 ขนิษฐา บัวงาม. พระมหาธีรราชเจ้าและโฮเต็ลวังพญาไท. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2557, หน้า 52-53
  13. "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ผู้เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวหลังเกษียณ". สยามเรเนซองส์. 22 กุมภาพันธ์ 2565. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ผู้เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวหลังเกษียณ". Siam Renaissance. 22 กุมภาพันธ์ 2565. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเลื่อนเจ้าคุณจอมมารดาแพขึ้นเป็นเจ้าคุณพระประยุรวงศ์, เล่ม 38, ตอน ง, 2 ตุลาคม พ.ศ. 2464, หน้า 1834
  16. "วัดสุรชายาราม". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  17. ส.พลายน้อย. เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2564, หน้า 75
  18. "เล่าเรื่องเจ้านายกับชุดไทย แต่ละสมัยรับอิทธิพลจากไหนกันบ้าง". ศิลปวัฒนธรรม. 17 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. สมุดภาพ วิวัฒนาการการแต่งกายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. 2525. p. 33. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-09. สืบค้นเมื่อ 2022-08-28.
  20. ภัทรธีรา เพ็ชรบัวศักดิ์ (2558). โครงการออกแบบชุดอุปกรณ์ประดิษฐ์ดอกไม้ไทยแบบประยุกต์ (PDF). คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 5.
  21. อภิรัติ โสฬศ และคณะ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (2559). รายงานวิจัย เรื่อง การพัฒนามาลัยจากผ้าด้วยเทคโนโลยีการตกแต่งกลิ่น (PDF). คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร. p. 13.
  22. "การสร้างวัดในสกุลบุนนาค". ชมรมสายสกุลบุนนาค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2022-08-28.
  23. "ถาวรวัตถุอื่นๆ". วัดบุปผาราม วรวิหาร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-11. สืบค้นเมื่อ 2022-08-28.
  24. "วัดสุรชายาราม พระอารามหลวง". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรี.
  25. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐, ตอน ๓๕, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖, หน้า ๓๗๔
  26. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน, เล่ม ๒๕, ตอน ๓๖, ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๑, หน้า ๑๐๔๑
  27. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๕, ตอน ๓๙, ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๑, หน้า ๑๑๕๓
  28. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม ๓๗, ตอน ๐, ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๓๗๓๑
  29. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๓, ตอน ๐ ง, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙, หน้า ๓๑๑๔
  30. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน ฝ่ายใน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 2021-10-25.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้