เงาะ

สปีชีส์ของพืช
เงาะ
ลูกเงาะ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Sapindales
วงศ์: Sapindaceae
สกุล: Nephelium
สปีชีส์: N.  lappaceum
ชื่อทวินาม
Nephelium lappaceum
L.

เงาะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Nephelium lappaceum Linn.) เป็นไม้ผลเมืองร้อนขนาดกลางในวงศ์ Sapindaceae เป็นผลไม้พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย[1][2] และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[3] โดยทั่วไปเงาะเป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตได้ดี ในบริเวณที่มีความชื้นค่อนข้างสูง เงาะในประเทศไทย จึงนิยมปลูกในบริเวณภาค ตะวันออกและภาคใต้ อาทิ พันธุ์สีทอง พันธุ์น้ำตาลกรวด พันธุ์สีชมพู พันธุ์โรงเรียน และพันธุ์เจ๊ะมง เป็นต้น แต่พันธุ์เงาะที่นิยมปลูกเป็นการค้า มีแค่ 3 พันธุ์ คือ พันธุ์โรงเรียน พันธุ์สีทอง และพันธุ์สีชมพู ส่วนพันธุ์อื่น ๆ จะมีปลูกกันบ้างประปรายและโดยมากมักใช้เพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือใช้ประโยชน์ เพื่อการศึกษาทางวิชาการ[4] ในอดีตประเทศที่ผลิตและส่งออกรายใหญ่ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันพบว่าประเทศผู้ผลิตใหม่ เช่น ออสเตรเลีย และฮอนดูรัส ได้เข้ามามีส่วนแบ่งในตลาด[5]เพิ่มมากขึ้น

ลักษณะทั่วไป แก้

เงาะเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสม อยู่ในช่วง 25 – 30° C ความชื้นสัมพัทธ์สูงประมาณ 75 – 85 % ดินปลูกที่เหมาะสมควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (ค่า pH) ของดินประมาณ 5.5 – 6.5 และที่สำคัญควรเลือกแหล่งปลูกที่มีน้ำเพียงพอตลอดปี เงาะเป็นไม้ผลที่มีระบบรากหาอาหารลึกประมาณ 60 – 90 เซนติเมตรจากผิวดินจึงต้องการสภาพแล้งก่อนออกดอกติดต่อกัน ประมาณ 21 – 30 วัน เมื่อต้นเงาะผ่านสภาพแล้งและมีการจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเงาะจะออกดอก ช่วงพัฒนาการของดอก (ผลิตดอก – ดอกแรกเริ่มบาน) ประมาณ 10 – 12 วัน ดอกเงาะจะทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ ใช้เวลาประมาณ 25 – 30 วัน จึงจะบานหมดช่อ ดอกเงาะมี 2 ชนิด คือ ดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศ ต้นที่มีดอกตัวผู้จะไม่ติดผล ส่วนต้นที่มีดอกสมบูรณ์เพศนั้นเกสรตัวผู้ไม่ค่อยแข็งแรง ต้องปลูกต้นตัวผู้แซมในสวนเพื่อเพิ่มละอองเกสรหรือฉีดพ่นฮอร์โมนพืชเพื่อช่วยให้เกสรตัวผู้แข็งแรงขึ้น[6]

ประโยชน์ แก้

เงาะมีสารที่มีชื่อว่า แทนนิน ซึงแทนนินนี้สามารถใช้ฟอกหนัง ย้อมผ้า บำบัดน้ำเสีย ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ป้องกันแมลง ทำเป็นปุ๋ย ทำเป็นกาว และทำยารักษาโรค แต่มีโทษคือ แทนนินมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร หากกินเข้าไปมากจะทำให้รู้สึกท้องอืด หรือท้องผูก มีอาการเหมือนกับการดื่มน้ำชา เปลือกผลของเงาะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ[7]

การปลูก แก้

วิธีการปลูกต้นกล้า แก้

ทำได้ทั้งการขุดหลุมปลูกซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่ยังไม่มีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก วิธีนี้ดินในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้น และสามารถปลูกโดยวิธีไม่ต้องขุดหลุม (ปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก) เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก วิธีการนี้ระบายน้ำดีน้ำไม่ขังโคนต้น แต่ต้องมีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก ซึ่งต้นเงาะจะเจริญเติบโตเร็วกว่าการขุดหลุม ทั้งนี้จุดเน้นที่สำคัญในการปลูก คือ ควรใช้ต้นกล้าที่มีระบบรากดี ไม่ขดงอในถุง แต่ถ้าจะใช้ต้นกล้าขนาดใหญ่ก็ให้ตัดดินและรากที่ขดหรือพันตรงก้นถุงออก

ระยะปลูก แก้

จำนวนการปลูกประมาณ 25 - 40 ต้นต่อไร ในระยะปลูก 6 – 8 X 6 – 8 เมตร ถ้าใช้ระยะปลูกชิด 6 X 6 เมตร จะตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มอย่างใกล้ชิดไม่ให้ทรงพุ่มชนและบังแสงกัน สำหรับสวนที่ใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงาน ควรเว้นระยะระหว่างแถวให้ห่างพอที่เครื่องจักรกลจะเข้าไปทำงาน แต่ให้ระยะระหว่างต้นชิดขึ้น ปลูกในเดือนเมษายน

การดูแลรักษา แก้

ให้น้ำสม่ำเสมอช่วงเจริญทางใบ งดน้ำช่วงปลายฝน ต้นเงาะที่มีใบแก่และสมบูรณ์ทั้งต้นและผ่านสภาพแล้งติดต่อกันนาน 21 – 30 วัน จะแสดงอาการขาดน้ำ (ใบห่อ) ให้กระตุ้นการออกดอกโดยการให้น้ำในปริมาณมากเต็มที่ จากนั้นให้หยุดดูอาการ 7 – 10 วัน เมื่อพบว่าตายอดเริ่มพัฒนาเป็นตาดอก ก็เริ่มให้น้ำอีกครั้งปริมาณเท่าเดิมเพื่อเร่งการพัฒนาของตาดอก แต่ถ้าหลังจากให้น้ำครั้งที่ 1 แล้ว พบว่าตา ยอดเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลอมเขียว แสดงว่าให้น้ำมากเกินไปตายอดพัฒนาเป็นตาใบแทนที่จะเป็นตาดอก ต้องหยุดน้ำและปล่อยให้เงาะกระทบแล้งอีกครั้งจนเห็นว่าสีเขียวน้ำตาลของตายอดเปลี่ยนเป็นน้ำตาลทองของตาดอก ก็เริ่มให้น้ำในอัตรา ½ ของครั้งแรก จากนั้นเมื่อแทงช่อดอกและติดผลแล้วควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ เพื่อเร่งพัฒนาการของดอก และเร่งพัฒนาการของผลให้ขึ้นลูกได้เร็วและผลโต[8]

คุณค่าทางโภชนาการ แก้

เงาะเป็นผลไม้อีกชนิดที่มีขายกันอยู่ทั่วไป เป็นผลไม้รสหวานและ อมเปรี้ยวรับประทานเงาะสดสามารถแก้อาการท้องร่วงชนิดรุนแรง ได้ผลดี นอกจากนี้ผลเงาะนำมาต้ม นำน้ำที่ได้มาเป็นยาแก้อักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รักษาอาการอักเสบในช่องปาก และโรคบิดท้องร่วง มีข้อควรระวัง คือเม็ดในของเงาะมีพิษแม้ว่าจะเอาไปคั่วจนสุกแล้ว แต่ถ้ารับประทานมากเกินไปจะมีอาการปวดท้อง เวียนศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ดังนั้นไม่ควรจะรับประทานเม็ด[9]

อ้างอิง แก้

  1. Morton JF (1987). ""Rambutan", in Fruits of Warm Climates". Center for New Crops & Plant Products, Purdue University Department of Horticulture and Landscape Architecture, W. Lafayette, IN. pp. 262–265.
  2. H. D. Tindall (1 January 1994). Rambutan Cultivation. UN FAO. ISBN 978-92-5-103325-8.
  3. "The Rambutan Information Website". Panoramic Fruit Farm, Puerto Rico. สืบค้นเมื่อ 25 June 2011.
  4. อิทธิฤทธิ อึ้งวิเชียร. เงาะ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
  5. กรมวิชาการเกษตร (2546). เอกสารวิชาการ ศัตรูเงาะ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  6. กรมส่งเสริมการเกษตร. เงาะ. [online]. เข้าถึงได้จาก http://www.doae.go.th/plant/rambutan.htm เก็บถาวร 2007-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  7. อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ ประภัสสร รักถาวร เมทิกา ลีบุญญานนท์ และพจมาน พิศเพียงจันทน์. 2553. สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ การต้านอนุมูลอิสระ และการต้านเชื้อแบคทีเรียก่อสิวของสารสกัดจากเปลือกผลไม้. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 48 3-5 ก.พ. 2553 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า 364-373
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-16. สืบค้นเมื่อ 2007-11-16.
  9. องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. เงาะ [online] เข้าถึงได้จาก http://www.mof.or.th/fruit-ngaw.htm เก็บถาวร 2007-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

อื่น ๆ แก้