เคาะวาริจญ์ (อาหรับ: الخوارج, อักษรโรมัน: al-Khawārij, เอกพจน์ อาหรับ: خارجي, อักษรโรมัน: khāriji, แปลว่า "ผู้ที่ออกไป"[1]) หรือ อัชชุรอต (อาหรับ: الشراة, อักษรโรมัน: al-Shurāt, แปลว่า "ผู้แลกเปลี่ยน"[2][3]) เป็นกลุ่มคนที่ปรากฏครั้งแรกในฟิตนะฮ์ครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 656–661) เดิมเคาะวาริจญ์เป็นผู้สนับสนุนอะลี อิบน์ อะบี ฏอลิบแต่ก่อขบถหลังอะลียอมรับอนุญาโตตุลาการเพื่อยุติความขัดแย้งกับมุอาวิยะฮ์ที่ 1 ในยุทธการที่ศิฟฟีนในค.ศ. 657[4] เคาะวาริจญ์ยืนกรานว่า "การตัดสินเป็นของพระเป็นเจ้าเท่านั้น"[5] และกบฏอย่างมุอาวิยะฮ์สมควรถูกปราบตามคำสั่งห้ามในอัลกุรอาน[6] อะลีเอาชนะเคาะวาริจญ์ในยุทธการที่นะฮ์เราะวานใน ค.ศ. 658 แต่การกบฏยังดำเนินต่อไป อะลีถูกลอบสังหารใน ค.ศ. 661 โดยอับดุรเราะฮ์มาน อิบน์ มุลญัม เคาะวาริจญ์ผู้ต้องการแก้แค้นความพ่ายแพ้ที่นะฮ์เราะวาน[7]

หลังมุอะวิยะฮ์ตั้งรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ใน ค.ศ. 661 ข้าหลวงของมุอะวิยะฮ์ยังคงควบคุมเคาะวาริจญ์ไว้ได้ แต่สุญญากาศทางอำนาจจากฟิตนะฮ์ครั้งที่สอง (ค.ศ. 680–692) เอื้อให้เคาะวาริจญ์ก่อกบฏอีกครั้ง[8] อัลอะซาริเกาะฮ์และนัจญ์ดาต สองกลุ่มแยกของเคาะวาริจญ์ครองพื้นที่จำนวนมากในเปอร์เซียและอาระเบีย อย่างไรก็ตามปัญหาและความแตกแยกภายในบั่นทอนกำลังเคาะวาริจญ์ก่อนจะพ่ายแพ้ให้กับกองทัพอุมัยยะฮ์ช่วง ค.ศ. 696–699 ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 740 เคาะวาริจญ์ก่อกบฏครั้งใหญ่ทั่วรัฐเคาะลีฟะฮ์ แต่ถูกปราบปรามจนสิ้น กระนั้นกบฏเคาะวาริจญ์ยังดำเนินต่อไปจนถึงสมัยอับบาซียะฮ์ (ค.ศ. 750–1258) ก่อนเคาะวาริจญ์หัวรุนแรงจะค่อย ๆ เสื่อมลงและแทนที่ด้วยสายกลางอย่างอิบาฎียะฮ์ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน[9] ด้านกลุ่มอิบาฎียะฮ์ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเคาะวาริจญ์ ทั้งยังประณามเคาะวาริจญ์ว่าเป็นพวกสุดโต่ง

เคาะวาริจญ์เชื่อว่ามุสลิมไม่ว่าจะเชื้อสายหรือชาติพันธุ์ใด หากผ่านการรับรองความเชื่อความศรัทธาย่อมมีคุณสมบัติเป็นเคาะลีฟะฮ์[10] จุดยืนนี้แตกต่างจากซุนนีย์ที่ยอมรับผู้นำจากเผ่ากุเรช[11] ขณะที่ชีอะฮ์ยืนยันว่าตำแหน่งผู้นำเป็นของอะลีและทายาท[12] อัลอะซาริเกาะฮ์และนัจญ์ดาตเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของมุสลิมในการขับไล่เคาะลีฟะฮ์ที่ผิดบาป[13] เคาะวาริจญ์สุดโต่งอย่างอะซาริกาถือว่าการฆ่ากาฟิร (ผู้ไม่ยอมรับ) ไม่ใช่เรื่องผิด[14][15] และการแต่งงานระหว่างเคาะวาริจญ์กับกาฟิรเป็นเรื่องต้องห้าม[16] ขณะที่นัจญดัตอนุญาตการแต่งงานกับผู้ไม่ใช่เคาะวาริจญ์[17] เคาะวาริจญ์หลายคนเป็นนักพูดและกวีที่มีความสามารถ หัวข้อบทกวีของพวกเขามักเป็นเรื่องศรัทธา ความกล้าหาญและชะฮีด[18][19][20] เคาะวาริจญ์สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 9 มีส่วนในการถกเถียงทางเทววิทยาซึ่งมีส่วนพัฒนาต่อมาเป็นเทววิทยาอิสลามกระแสหลัก[21]

ประวัติศาสตร์และความเชื่อของเคาะวาริจญ์มาจากนักเขียนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 9 และ 10 ที่เป็นปฏิปักษ์กับเคาะวาริจญ์[22][23] การขาดหลักฐานจากทางเคาะวาริจญ์ทำให้ยากต่อการค้นหาเจตนาที่แท้จริงของพวกเขา[24] มุสลิมดั้งเดิมมองเคาะวาริจญ์ว่าเป็นกลุ่มสุดโต่งที่โหดร้าย[2][25][26] ขณะที่มุสลิมสมัยใหม่เปรียบเทียบรัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ อัลกออิดะฮ์ ภราดรภาพมุสลิมและเตฮ์รีกีตอลิบานปากีสถานกับเคาะวาริจญ์ในแง่อุดมการณ์เชิงมูลวิวัติและการใช้กำลัง[27][28][29][30] อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์อาหรับบางคนเน้นด้านสมภาคนิยมและแนวโน้มก่อนประชาธิปไตยของเคาะวาริจญ์[31][32] ปัจจุบันมุมมองของนักประวัติศาสตร์ต่อมูลเหตุเคาะวาริจญ์แบ่งเป็นจุดประสงค์ทางศาสนา[33] ปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจ[34] หรือการตอบสนองของเบดูอินต่อการจัดตั้งรัฐที่เป็นแบบแผน[35]

อ้างอิง แก้

  1. Francesca 2006, p. 84.
  2. 2.0 2.1 Della Vida 1978, p. 1075.
  3. Gaiser 2016, pp. 1–2.
  4. "Kharijite". Encyclopedia Britannica. สืบค้นเมื่อ May 5, 2022.
  5. Della Vida 1978, p. 1074.
  6. Watt 1973, p. 14.
  7. Madelung 1997, p. 308.
  8. Gaiser, Adam R. (2010). Muslims, Scholars, Soldiers: The Origin and Elaboration of the Ibadi Imamate Traditions. Oxford, United Kingdom: Oxford University Press. p. 34. ISBN 978-0-19-973893-9.
  9. Campo, Juan Eduardo (2009). Encyclopedia of Islam. New York City, United States: Infobase Publishing. p. 432. ISBN 978-1-43-812696-8.
  10. Demichelis 2015, p. 108.
  11. "Sunni". Encyclopedia Britannica. สืบค้นเมื่อ May 5, 2022.
  12. Della Vida 1978, p. 1076.
  13. Wellhausen 1901, pp. 13–14.
  14. Kenney 2006, pp. 34–35.
  15. Hoffman 2012, p. 28.
  16. Lewinstein 2008.
  17. Gaiser 2020.
  18. Donner 1997, pp. 15–16.
  19. Hagemann 2021, p. 87.
  20. Badawi 1980, p. 6.
  21. Wellhausen 1901, p. 17.
  22. Gaiser 2013.
  23. Kenney 2006, pp. 28–29.
  24. Hagemann 2021, pp. 64–65.
  25. Gaiser 2016, p. 2.
  26. Hagemann & Verkinderen 2020, p. 489.
  27. Timani 2008, p. 78.
  28. Bunzel 2016, p. 23.
  29. Kenney 2006, pp. 90–91.
  30. Akram 2014, p. 596.
  31. Kennedy 2016, p. 68.
  32. Timani 2008, pp. 26ff, 77ff.
  33. Brünnow 1884, pp. 15–17.
  34. Hagemann 2021, pp. 10–11.
  35. Watt 1973, pp. 11, 20.