เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ

เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (อังกฤษ: automated external defibrillator, AED) เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่ง สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตชนิดเวนทริคูลาร์ฟิบริลเลชัน (ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว) และเวนทริคูลาร์แทคีคาร์เดีย (ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ) ได้โดยอัตโนมัติ[1] และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง

เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติในสภาพพร้อมใช้งาน

เครื่อง AED ถูกออกแบบมาให้ใช้ได้โดยคนทั่วไป โดยจะให้คำแนะนำผ่านเสียงพูดและภาพประกอบบนจอ โดยถูกรวมอยู่ในการเรียนการสอนการปฐมพยาบาล การอบรมผู้ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน (first responder) และการช่วยกู้ชีพ (CPR) ทุกระดับขั้น รวมถึงขั้นพื้นฐาน (basic life support)[2]

การใช้ แก้

1.ติดแผ่น AED ให้แนบสนิทกับหน้าอกของผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วยสวมเสื้อ หากจำเป็นสามารถใช้กรรไกรตัดเสื้อผู้ป่วยออกได้

2.การติดแผ่น AED ต้องแน่ใจว่าติดแนบสนิทกับหน้าอกของผู้ป่วย และหน้าอกของผู้ป่วยต้องแห้งสนิทดี ไม่เปียกน้ำ ไม่เปียกเหงื่อ หากเปียกต้องใช้ผ้าขนหนูเช็ดให้แห้ง

3.การติดแผ่น AED เริ่มต้นด้วยการลอกแผ่นพลาสติกด้านหลังออก จากนั้นติดแผ่น AED ตามรูปที่แสดง เครื่องบางรุ่นจะมีรูปแสดงการติดแผ่น AED ที่ถูกต้องบนตัวแผ่นนำไฟฟ้าหรือตัวเครื่อง

4.ติดแผ่น เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) ลอกแผ่นพลาสติกด้านหลังออก ก่อนนำไปติดให้แนบสนิทกับผู้ป่วยด้วยความรวดเร็ว แผ่นหนึ่งติดไว้ใต้กระดูกไหปลาร้า และอีกแผ่นติดใต้ราวนมซ้ายด้านข้างลำตัว

 

ภาวะที่รักษาได้ แก้

เครื่อง AED ใช้รักษาภาวะหัวใจหยุดที่มีสาเหตุมาจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนใหญ่เครื่องจะสามารถรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ 2 ชนิดหลักๆ คือ

1. เวนทริคูลาร์ แทคีคาร์เดีย (หัวใจห้องล่างเต้นเร็ว) ชนิดคลำชีพจรไม่ได้ (VT หรือ V-Tach)

2. เวนทริคูลาร์ ฟิบริลเลชัน (หัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว) (VF หรือ V-Fib)

ทั้งสองภาวะนี้เป็นภาวะซึ่งหัวใจยังเต้นอยู่ แต่เต้นในจังหวะที่ผิดปกติจนเป็นอันตรายต่อชีวิต ใน VT เป็นภาวะที่หัวใจเต้นเร็วมากเกินไปจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้มากพอ เมื่อเป็นมากถึงระดับหนึ่งจะกลายเป็น VF ซึ่งกระแสไฟฟ้าในหัวใจที่คอยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานนั้นเกิดความปั่นป่วนอย่างมากจนกล้ามเนื้อหัวใจเต้นไม่ประสานกัน ไม่เกิดเป็นกลไกสูบฉีดเลือด หากยังเป็นต่อไปกระแสไฟฟ้าหัวใจจะปั่นป่วนมากขึ้น จนหัวใจหยุดเต้น

เครื่อง AED ทำงานเช่นเดียวกับเครื่องกระตุกหัวใจธรรมดาอื่น ๆ คือไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ช็อคหัวใจที่หยุดเต้นแบบไม่มีคลื่นไฟฟ้า (เส้นคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบนราบ) ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นโดยสิ้นเชิงจะมีโอกาสรอดชีวิตได้ด้วยการนวดหัวใจและการใช้ยากระตุ้นหัวใจเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อเกิดเป็นคลื่นหัวใจชนิดที่สามารถช็อคไฟฟ้าได้แล้วจึงจะมีบทบาทของการช็อคหัวใจ

อ้างอิง แก้

  1. Kerber, Richard E (March 18, 1997). "Automatic External Defibrillators for Public Access Defibrillation". Circulation. American Heart Association. 95 (1677–1682): 1677–82. PMID 9118556. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-08. สืบค้นเมื่อ 2007-06-28. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  2. "CPR Adult Courses". American Red Cross. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-06-28.