เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในจังหวัดฉะเชิงเทรา

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ประมาณ 643,750 ไร่ หรือ 1,030 ตารางกิโลเมตร [1] อยู่รอยต่อของ 5 จังหวัดได้แก่ อำเภอท่าตะเกียบ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา, อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว, อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง, อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี และ อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
ไอยูซีเอ็นกลุ่ม 4 (เขตบริหารสิ่งแวดล้อม)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
แผนที่แสดงที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
แผนที่แสดงที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
ที่ตั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
ที่ตั้งประเทศไทย
เมืองใกล้สุด • จังหวัดฉะเชิงเทรา
 • จังหวัดสระแก้ว
 • จังหวัดระยอง
 • จังหวัดจันทบุรี
 • จังหวัดชลบุรี
พิกัด13°12′00″N 101°44′00″E / 13.2000°N 101.7333°E / 13.2000; 101.7333
พื้นที่1,030 ตารางกิโลเมตร
จัดตั้งพ.ศ. 2520
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภูมิประเทศ แก้

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน พื้นที่ตอนบนและตอนกลางส่วนใหญ่เป็นที่ราบลูกฟูก มีความลาดชันปานกลาง ส่วนพื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูเขาสูง ความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 30 - 802 เมตร ยอดเขาสูงสุดอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขตฯ คือ เขาสิบห้าชั้น มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 802 เมตร พื้นที่ทางตอนใต้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัด และเทือกเขาจันทบุรี ประกอบด้วยภูเขาที่มีความลาดชันต่อเนื่องกัน เช่น เขาอ่างฤๅไน เขาใหญ่ เขาชะมูนและเขาชะอม เป็นต้น ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นที่เกิดของลำห้วยและลำธารที่สำคัญหลายสาย ไหลลงสู่แม่น้ำสำคัญๆ คือ แควระบม - สียัด ที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำบางปะกง ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา คลองลำพระเพลิงใหญ่ คลองพระสะทึง จากเขาสิบห้าชั้น ไหลไปรวมกับแม่น้ำปราจีนบุรี คลองตะโหนด ไหลลงสู่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และคลองประแสร์ที่ต้นน้ำมาจากเทือกเขาใหญ่ ไหลผ่านอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ออกสู่ทะเลที่จังหวัดระยอง เป็นต้น

ภูมิอากาศ แก้

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน เป็นป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีร่องมรสุมพาดผ่าน ฝนตกค่อนข้างชุกและเนื่องจากมีเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาจันทบุรี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ จึงทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีฝนตกมากกว่าทางตอนเหนือ นอกจากอิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่านแล้วยังได้รับอิทธิพลจากทะเล ลักษณะของภูมิอากาศจึงมีทั้งแบบสะวันนาทางตอนบนของพื้นที่และแบบมรสุมเขตร้อนทางตอนล่างของพื้นที่ ด้วยเหตุของภูมิอากาศที่แตกต่างกันของพื้นที่โดยรอบผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความหลากหลายของสังคมพืชและสังคมสัตว์ในพื้นที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสังคมพืชนั้นมีการกระจายของพรรณพืชจาก 2 ภูมิภาคด้วยกัน คือ ภูมิภาคอินโดจีน (Indo-China) และภูมิภาคอินโดมาลายา (Indo-Malaya)

ทรัพยากรป่าไม้ แก้

ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าภาคตะวันออกเป็นป่าลุ่มต่ำที่ไม่ผลัดใบ และเป็นป่าพื้นที่รอยเชื่อมต่อ (transition zone) ระหว่างระบบนิเวศภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าดงดิบส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบแล้ง มีเพียงเล็กน้อยที่เป็นป่าดงดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้า แบ่งเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

  • ป่าดงดิบแล้ง (Dry Evergreen forest) เป็นป่าที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนเกือบทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่ตามสันเขาจะมีพืชชนิดอื่นขึ้นแทรกอยู่เป็นหย่อมๆ พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะแบกแดง กระบก ยางแดง สมพง ตะเคียน หรือ ตะเคียนทอง ปออีเก้ง เป็นต้น จะขึ้นอยู่เป็นกลุ่มๆ ตามริมลำธารหรือริมห้วย ค้างคาว ลำป้าง กระท้อน เฉียงพร้านางแอ ตาเสือ คอแลน แก้ว ตังตาบอด นางดำ ลำบิด จันทน์ชะมด ว่านช้างร้อง เป็นต้น

ทรัพยากรสัตว์ป่า แก้

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน แบ่งเป็นประเภทๆ ได้ดังนี้

  • สัตว์เลื้อยคลาน พบในพื้นที่รวม 53 ชนิด 40 สกุลใน 16 วงศ์ สัตว์ที่พบได้แก่ งูเขียวหัวบอน หรืองูง่วงกลางดง จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ จิ้งเหลนหลากลาย ตะกวด และงูสายม่านเกล็ดใต้ตาใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบจระเข้น้ำจืด และตะกอง หรือตัวลั้ง
  • แมลง แมลงที่หายากได้ถูกได้ประกาศเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น ผีเสื้อภูฐาน สกุลผีเสื้อไกเซอร์ สกุลผีเสื้อถุงทอง สกุลผีเสื้อนางพญา ผีเสื้อรักแร้ขาว ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว สกุลผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ ด้วงดินปีกแผ่น สกุลด้วงดินขอบทองแดง สกุลด้วงคีมยีราฟ และสกุลกว่างดาว เป็นต้น

แมลงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน สามารถพบเห็นได้ในทุกๆ ที่ โดยเฉพาะในฤดูฝน แมลงที่พบมีจำนวน 106 ชนิด จาก 76 สกุลใน 12 วงศ์ กลุ่มที่พบเห็นได้บ่อย ได้แก่ ผีเสื้อติ่งฉะอ้อน ผีเสื้อสะพายฟ้า ผีเสื้อหางติ่งแววมยุรา ผีเสื้อช่างร่อน ผีเสื้อหางติ่งนางระเวง ผีเสื้อโยม่า ผีเสื้อโคคิโน ผีเสื้อเจ้าป่า ด้วงกว่างสามเขาจันทร์ เป็นต้น

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°12′00″N 101°44′00″E / 13.2°N 101.733333°E / 13.2; 101.733333