ฮาร์ปซิคอร์ด

เครื่องดนตรีประเภทลิ่มนิ้ว (Keyboard)

ฮาร์ปซิคอร์ด หรือ คลาวิเชมบาโล (อิตาลี: Clavicembalo, ฝรั่งเศส: Clavecin, เยอรมัน: Cembalo, อังกฤษ: harpsichord) เป็นเครื่องดนตรีตะวันตกประเภทแป้นดีดหรือคีย์บอร์ด ซึ่งได้รับความนิยมจนถึงสมัยปลายยุคบาโรค ก่อนที่เปียโนจะเข้ามาได้รับความนิยมแทนที่ ฮาร์ปซิคอร์ดถูกจัดให้เป็นเครื่องดีดสาย (plucked-string instrument) ที่คาดว่าได้รับการพัฒนามาจากเครื่องดนตรีประเภทพิณและกีตาร์ กลไกการเกิดเสียงจะใช้ตัวเดือย (plectrum) เกี่ยวดึงสายโลหะซึ่งมีขนาดและความยาวแตกต่างกันเพื่อให้ได้เสียงความถี่ต่าง ๆ การเล่นเครื่องดนตรีนี้จะใช้แป้นดีดหรือคีย์บอร์ด (Keyboard) ในการสร้างกลไกในการดึงสาย โดยผู้เล่นสามารถเลือกกดบนแป้นคีย์บอร์ด ซึ่งจะคล้ายคลึงกับการเล่นเปียโน (Piano) เพียงแต่ฮาร์ปซิคอร์ดสามารถติดตั้งคีย์บอร์ดได้มากกว่า 1 ชั้น เหมือนกับออร์แกน (Organ) โดยมีกลไกที่สามารถทำให้คีย์บอร์ดทั้งสองชั้นเล่นประสานเสียงพร้อมกันได้ ทำให้แม้ว่าผู้เล่นไม่สามารถควบคุมความดัง-ค่อยของเสียง (dynamics) ได้ด้วยน้ำหนักของการกดคีย์บอร์ด แต่ก็สามารถใช้กลไกอื่นช่วยในการสร้างความแตกต่างของคุณภาพเสียง

เครื่อง "ฮาร์ปซิคอร์ด" ผลิตโดยช่างฝีมือฝรั่งเศสชื่อ Dumont

ฮาร์ปซิคอร์ดปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกราวปลายศตวรรษที่ 14 และได้รับความนิยมต่อมาอีกตลอดสามศตวรรษ จนกระทั่งเปียโนได้รับความนิยมแทนที่ในฐานะอุปกรณ์คีย์บอร์มาตรฐานในราวช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ด้วยเหตุผลที่เปียโนมีขนาดใหญ่และมีเสียดังกังวานกว่า (เพราะมีกระดานเสียงหรือซาวน์บอร์ดที่หนากว่า) ทั้งยังสามารถควบคุมความหนัก-เบาของเสียงได้เพราะเปียโนใช้กลไกแบบค้อน (hammer) ที่ถูกดีดให้ไปกระทบกับสายโลหะ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของการแสดงคอนเสิร์ตในห้องโถงขนาดใหญ่

เนื่องจากฮาร์ปซิดคอร์ดเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ศตวรรษ คีตกวีผู้เลื่องชื่อนับตั้งแต่สมัยก่อนยุคบาโรคจนถึงต้นสมัยของยุคคลาสสิคต่างก็ได้ประพันธ์ผลงานอมตะไว้ให้แก่ฮาร์ปซิคอร์ดเป็นจำนวนมาก ในยุคบาโรคมีการเล่นเครื่องฮาร์ปซิคอร์ดอย่างแพร่หลายในบทเพลงประเภทเดี่ยว และวง สำหรับประเภทเดี่ยวมีคีตกวีและประพันธ์กรผู้เรืองนามจำนวนมากได้รจนาเพลงไว้ให้บรรเลงด้วยฮาร์ปซิคอร์ดโดยเฉพาะ เช่น บัค แฮนเดิล สกาลัตติ คูโน โดยแต่ละท่านได้รจนาบทเพลงไว้มากมาย โดยเฉพาะสกาลัตตีได้แต่เพลงประเภท โซนาตา ไว้เป็นจำนวนมากกว่าห้าร้อยบทเพลง และเป็นบทเพลงที่มีความซับซ้อนในด้านเทคนิคการเล่นอย่างสูง สำหรับประเภทวง เครื่องดนตรีนี้สามารถเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้ โดยวงมโหรีหรือออเครสตราในยุคนั้นได้กำหนดให้มีการเล่นดนตรีประกอบจังหวะประเภท "บาสโซคอนทินิวโอ" (Basso Continuo) ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเครื่องดนตรีเบสอย่างเดียว แต่รวมถึงการเล่นคอร์ดเสริมทำนองเพลงด้วย และได้มีการใส่สัญลักษณ์เป็นตัวเลขเอาไว้เพื่อให้ฮาร์ปซิคอร์ดเล่นประกอบด้วย ถ้าจะเปรียบเทียบกับการเล่นดนตรีในปัจจุบันแล้ว ฮาร์ปซิคอร์ดเป็นเหมือนกับเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ซึ่งเป็นตัวกำหนดจังหวะของผู้เล่นเครื่องดนตรีอื่น และที่สำคัญที่สุด ผู้อำนวยเพลง (Conductor) ในสมัยบาโรค ก็มักจะนั่งประจำที่ฮาร์ปซิคอร์ดด้วย ตัวอย่างเพลงที่สำคัญของเครื่องดนตรีนี้ได้แก่ บทเพลงประเภท ออเครสตราสวิท (Orchestra Suite) ของบาค และ เฮนเดล บราเดนบวกคอนแซโต (Brandenburg Concerto) โดยเฉพาะหมายเลขห้า มีความพิเศษที่บาคนำฮาร์ปซิคอร์ดมาเป็นเครื่องดนตรีโซโลเพื่อฉลองให้กับฮาร์ปซิคอร์ดตัวใหม่ของเขาด้วย

ฮาร์ปซิคอร์ดเรื่อมเสื่อมความนิยมไป และถูกแทนที่โดยฟอร์เต้-เปียโน (เปียโนสมัยแรก) ตั้งแต่ราวต้นศตวรรษที่ 19 เพราะห้องโถงแสดงคอนเสิร์ตในยุดนั้นต้องการเครื่องดนตรีที่มีเสียงดังกว่า ทำให้ผู้คนหลงลืมเครื่องดนตรีนี้ไปจนเกือบหมดสิ้น เพราะเมื่อมีการสร้างสื่อบันทึกเสียงขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 ก็ไม่มีการเล่นฮาร์ปซิคอร์ดแล้ว ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินเสียงเครื่องดนตรีชนิดนี้ จนกระทั่งเกิดกระแสปลุกความนิยมในเครื่องดนตรีประวัติศาสตร์ขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 ทำให้พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาฮาร์ปซิคอร์ดไว้นำเครื่องดนตรีเหล่านี้มาบูรณะใหม่ และมีการบันทึกเสียงการแสดงของศิลปินที่นำบทเพลงของคีตกวีชื่อดังเช่น บัค หรือสกาลัตติ มาบรรเลงด้วยเครื่องฮาร์ปซิคอร์ด ในปัจจุบันก็ยังมีการเล่นฮาร์ปซิคอร์ดกันอยู่เมื่อมีการเล่นดนตรีบาโรคเพราะเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ และเทคนิคการเล่นที่ไม่สามารถหาเครื่องดนตรีอื่นมาทดแทนได้

อ้างอิง แก้

  • Boalch, Donald H. (1995) Makers of the Harpsichord and Clavichord, 1440-1840, 3rd ed., with updates by Andreas H. Roth and Charles Mould, Oxford University Press, ISBN 0-19-318429-X. A catalogue, originating with work by Boalch in the 1950's, of all extant historical instruments.