อุทยานแห่งชาติแหลมสน

อุทยานแห่งชาติแหลมสน (อังกฤษ: Laem Son National Park) เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ประกอบไปด้วยป่าชายเลน หาดทราย และแนวปะการัง มีพื้นที่ประมาณ 196,875 ไร่ หรือ 315 ตารางกิโลเมตร[2] ครอบคลุมอำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ และอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง และอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ตั้งอยู่ทางใต้ของเทศบาลเมืองระนอง 60 กิโลเมตร (37 ไมล์)[3][4] กับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 100 กิโลเมตร (62 ไมล์) ทำให้เป็นพื้นที่ป้องกันชายฝั่งที่ยาวที่สุดของประเทศไทย[5] ชื่อของอุทยานได้มาจากต้นสนที่ชายฝั่งแหลม[6]

อุทยานแห่งชาติแหลมสน
แผนที่
ที่ตั้งจังหวัดระนองและพังงา ประเทศไทย
พิกัด9°36′14″N 98°27′58″E / 9.604°N 98.466°E / 9.604; 98.466
พื้นที่315 ตารางกิโลเมตร (197,000 ไร่)
จัดตั้ง19 สิงหาคม พ.ศ. 2526
ผู้เยี่ยมชม28,258 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำปากคลองกะเปอร์ - อุทยานแห่งชาติแหลมสน - ปากแม่น้ำกระบุรี
ขึ้นเมื่อ14 สิงหาคม พ.ศ. 2545
เลขอ้างอิง1183[1]

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

อุทยานแห่งชาติแหลมสนจะมีลักษณะเป็นชายฝั่งจมตัว ซึ่งก่อให้เกิดชายหาดตลอดแนวฝั่งแคบ มีลำน้ำสายสั้นขนาดเล็กจำนวนมาก เช่น คลองลัดโนด คลองขะนุด และคลองบางเบน ซึ่งลำคลองเหล่านี้จะพัดพาตะกอนดินมาทับถมตามปากแม่น้ำ และชายฝั่ง ทำให้ลักษณะชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำลำคลอง ถูกปกคลุมไปด้วยป่าโกงกาง

ความหลากหลายทางชีวภาพ แก้

ชายฝั่งบริเวณปากคลองมีสภาพเป็นป่าชายเลน พืชที่พบในป่าบริเวณนี้ ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก พังกาหัวสุมดอกขาว ถั่วดำ ถั่วขาว ตะบูนขาว และตะบูนดำ ส่วนป่าชายเลนบนชายฝั่งบริเวณอื่น จะพบพืชประเภทลำแพน แสมขาว และโปรงแดง บนชายหาดบางแห่งมีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ซึ่งมีพืชประเภทสนทะเล หยีทะเล และจิกทะเล บริเวณตอนในของเกาะต่างๆ และบนเขาปากเตรียมบนเกาะบางเบน มีลักษณะเป็นป่าดงดิบ พืชที่พบได้แก่ ยาง หวาย และระกำ

ภายในอุทยานจะพบนกได้อย่างน้อย 175 ชนิด โดยเป็นนกประจำถิ่นอย่างน้อย 122 ชนิด เช่น นกยางทะเล เหยี่ยวแดง นกกระแตแต้แว้ดหรือนกต้อยตีวิด นกอพยพที่ไม่ได้มาผสมพันธุ์ประมาณ 60 ชนิด เช่น นกปากแอ่นหางลาย นกสติ๊นท์คอแดง นกเด้าดิน นกนางนวลแกลบธรรมดา และนกอพยพตามฤดูกาล 12 ชนิด เช่น เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น นกจาบคาหัวเขียว นกจับแมลงสีฟ้าท้องขาว ในจำนวนนี้มีนกชนิดหนึ่งที่ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามระดับนานาชาติ คือ นกหัวโตมลายู ซึ่งจัดเป็นนกชนิดหนึ่งในสองชนิดของนกที่พบในเขตอุทยานที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยด้วย โดยอีกชนิดหนึ่งคือ นกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ ส่วนนกที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม มีอยู่ชนิดหนึ่งที่พบได้ในเขตอุทยาน คือ นกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล และมีนกอีก 2 ชนิดที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม คือ นกออก และนกเงือกกรามช้าง

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบในเขตอุทยาน ได้แก่ กระแตธรรมดา บ่าง ลิงลม ลิงกัง ลิงแสม ค่างแว่นถิ่นใต้ อีเห็นธรรมดา หมีขอ หมูป่า กระจงเล็ก พญากระรอกดำ อ้นใหญ่ และเม่นหางพวง

ความสำคัญและการใช้ประโยชน์ แก้

บริเวณหาดแหลมสนและหาดบางเบนเป็นแหล่งอาศัยของนกจำนวนมาก ส่วนแนวปะการังรอบเกาะกำและเกาะค้างคาวเป็นทั้งแหล่งอาศัย แหล่มหลบภัย และแหล่งผสมพันธุ์ของสัตว์ทะเลหลายชนิด และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง

ปัญหาและการจัดการพื้นที่ แก้

  • พื้นที่นี้ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2526
  • เนื่องจากสภาพของพื้นที่นี้เดิมเป็นทุ่งหญ้า จึงมีการนำปศุสัตว์เข้ามาเพาะเลี้ยงภายในอุทยาน และยังมีการลักลอบทำประมงอย่างผิดกฎหมายในเขตอุทยาน
  • นักท่องเที่ยวบางส่วนก่อให้เกิดปัญหาในอุทยาน เช่น เหยียบย่ำแนวปะการังระหว่างดำน้ำ รบกวนที่อยู่อาศัยของนกบนชายหาด
  • การทำประมงด้วยอวนนอกชายฝั่งในเขตอุทยานทำให้เรือประมงที่มีขนาดเล็กกว่าไม่สามารถออกทะเลไปจับสัตว์น้ำได้ และยังอาจทำให้วิถีชีวิตการทำประมงแบบพื้นบ้านถูกลืมเลือนไป

อ้างอิง แก้

  1. "Kaper Estuary - Laemson Marine National Park - Kraburi Estuary". Ramsar Sites Information Service. สืบค้นเมื่อ 16 July 2019.
  2. "ข้อมูลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา 133 แห่ง". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022, no 46{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  3. Braatz, Susan M. (November 1992). Conserving biological diversity: a strategy for protected areas in the Asia-Pacific region. World Bank Publications. pp. 57–. ISBN 978-0-8213-2307-6. สืบค้นเมื่อ October 1, 2011.
  4. Hoskin, John (October 2006). Thailand. New Holland Publishers. pp. 109–. ISBN 978-1-84537-549-2. สืบค้นเมื่อ 10 December 2011.
  5. Williams, China (1 August 2009). Thailand. Lonely Planet. pp. 638–. ISBN 978-1-74179-157-0. สืบค้นเมื่อ 10 December 2011.
  6. Angell, James Burrill (December 2000). Water is the Animal: Fin de Millenaire Reflections of Planet Earth from a Diplomatic Courier. iUniverse. pp. 104–. ISBN 978-0-595-15423-4. สืบค้นเมื่อ 10 December 2011.