อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันตก หรือด้านเหนือสุดของภาคใต้ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย ในท้องที่อำเภอสามร้อยยอดและอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์[3][4][3]

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
ทัศนียภาพอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
แผนที่
ที่ตั้งอำเภอกุยบุรีและอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
พิกัด12°10′57″N 99°56′54″E / 12.18250°N 99.94833°E / 12.18250; 99.94833พิกัดภูมิศาสตร์: 12°10′57″N 99°56′54″E / 12.18250°N 99.94833°E / 12.18250; 99.94833
พื้นที่98 ตารางกิโลเมตร (61,000 ไร่)
จัดตั้ง29 มิถุนายน พ.ศ. 2509[1]
ผู้เยี่ยมชม164,735 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำเขาสามร้อยยอด
ขึ้นเมื่อ8 มกราคม 2551
เลขอ้างอิง2238[2]

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดจัดเป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งผสมผสานหมู่เกาะในทะเลแห่งแรกของไทย[ต้องการอ้างอิง] ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทิวเขาหินปูนสลับซับซ้อนเรียงรายตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ยาวประมาณ 30 กิโลเมตร และมีเกาะน้อยใหญ่อยู่รวม 6 เกาะ เนื่องจากอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดภูมิประเทศเป็นแบบเขาหินปูนที่ผ่านการสึกกร่อนมาเป็นเวลานานได้ก่อให้เกิดถ้ำขนาดใหญ่หลายแห่งในพื้นที่ ทั้งถ้ำพระยานคร ถ้ำแก้ว และถ้ำไทร ซึ่งล้วนมีหินงอกหินย้อยงดงาม โดยเฉพาะถ้ำพระยานครนั้นมีเพดานถ้ำทะลุเป็นปล่องใหญ่ ปล่อยให้ลำแสงสาดลงมาต้อง พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ซึ่งเป็นพระที่นั่งอันวิจิตรงดงามที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดมีลักษณะโดดเด่นถึง 3 ประการ คือ ตอนกลางเป็นทิวเขาหินปูนสูงชัน ด้านตะวันตกเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมขัง ส่วนทางด้านตะวันออกเป็นทุ่งตะกาดที่ติดต่อกับหาดโคลนปนทรายลงไปจดชายฝั่งทะเล ความหลากหลายของภูมิประเทศนี้เองที่เป็นตัวกำหนดความหลากหลายของสรรพชีวิต กล่าวคือพื้นที่ภูเขาหินปูนได้เป็นแหล่งรวมของพืชพรรณหายากต่าง ๆ เช่น จันผา โพเขา ปรงเขา สลัดได ฯลฯ อีกทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของเลียงผา สัตว์ป่าสงวนของไทยที่ใกล้สูญพันธุ์ ส่วนในที่ราบลุ่มน้ำท่วมขังด้านตะวันตกที่เรียกว่า "ทุ่งสามร้อยยอด" นั้นเป็นแหล่งรวมของพันธุ์ปลา พันธุ์ไม้น้ำ และเป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำอีกกว่า 316 ชนิด[5]

 
จุดชมทิวทัศน์เขาแดง อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด
 
พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์

ลักษณะภูมิอากาศ แก้

สภาพภูมิอากาศอุณหภูมิ

  • ฤดูหนาว ( ระหว่างเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ ) ตั้งแต่ ๑๘ ถึง ๒๕ องศาเซลเซียส
  • ฤดูร้อน (ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม) ตั้งแต่ ๒๓ - ๓๒ องศาเซลเซียส
  • ฤดูฝน (ระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน) ตั้งแต่ ๒๐ - ๓๐ องศาเซลเซียส

ทรัพยากรป่าไม้ แก้

เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นภูเขาและได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้สังคมพืชในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดแตกต่างกัน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ สังคมพืชที่เกิดในพื้นที่ชุ่มน้ำ และสังคมพืชป่าบก ดังนี้

1. สังคมพืชที่เกิดขึ้นในที่ลุ่มน้ำขัง ประกอบด้วย

• สังคมพืชที่พบในพรุบึงน้ำจืดบริเวณทุ่งสามร้อยยอด ส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุกพวกกกชนิดต่างๆ แห้วทรงกระเทียม อ้อ แขม หญ้าปล้อง หญ้าไซ บัวหลวง บัวสายชนิดต่างๆ ผักตบไทย บอน ตาลปัตรฤๅษี จอก แหน สาหร่ายข้าวเหนียว เป็นต้น

• ป่าชายเลน ซึ่งพบตามแนวชายคลองบางปู คลองเขาแดง และลำรางสาขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ แสมทะเล โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตาตุ่มทะเล ตะบูนดำ โปรงแดง ถั่วขาว ฝาดดอกแดง สำมะงา จาก เถาถอบแถบ เป็นต้น บริเวณที่โล่งซึ่งเป็นดอนตะกาดซึ่งได้รับอิทธิพลความเค็มของน้ำทะเลท่วมถึงแต่ไม่ท่วมต่อเนื่องกันทุกปี พบพืชล้มลุกพวก ชะคราม ผักเบี้ยทะเล หญ้าปราบน้ำเค็ม หญ้าขม เป็นต้น

2. สังคมพืชป่าบก ประกอบด้วย

• ป่าชายหาด พบตามชายหาดบริเวณที่น้ำไม่ท่วมจนถึงบริเวณเชิงเขา พื้นดินเป็นทราย กรวด และโขดหิน พันธุ์ไม้สำคัญที่พบได้แก่ สนทะเล โพทะเล กระทิง เม่า หูกวาง เกด มะนาวผี เตยทะเล ผักบุ้งทะเล เป็นต้น

• ป่าเบญจพรรณ ส่วนใหญ่ขึ้นบนเขาหินปูน พรรณไม้ที่ขึ้นหลายชนิดมักเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นเฉพาะแห่ง เช่น จันทน์ผา จันทน์ชะมด โมกเขา ทะลายเขา และแก้วผา เป็นต้น ไม้ยืนต้นที่พบมักมีลำต้นแคระแกร็น เนื่องจากพื้นที่เป็นหินปูนมีเนื้อดินน้อย ส่วนบริเวณที่มีการสะสมสารอินทรีย์มากและเนื้อดินหนาในบริเวณหุบเขาและเชิงเขา พันธุ์ไม้ที่ขึ้นจะมีลำต้นสูงใหญ่ แต่มีอยู่เป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อยกระจัดกระจาย พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ กุ่มน้ำ มะเกลือ พลับดง มะค่าโมง โมกมัน โมกขาว กระดูกไก่ และพลอง เป็นต้น

ทรัพยากรสัตว์ป่า แก้

บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดมีความหลากหลายของสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกซึ่งมีมากถึง 316 ชนิด ประกอบด้วยนกที่อาศัยประจำถิ่นและที่ย้ายถิ่นมาจากที่อื่นตามฤดูกาล และเป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทยที่นกกระสาแดง สร้างรังวางไข่ รวมทั้งมีเป็ดแดงอาศัยอยู่ตลอดปี เช่นเดียวกับนกอัญชันอกเทา นกอัญชันคิ้วขาว และนกอีโก้ง

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่พบในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดมีน้อยมาก ที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่หากินกลางคืนและสัตว์ที่ขุดรูอยู่ใต้ดินในทุ่ง ได้แก่ เลียงผา เก้ง กระจงเล็ก หมูป่า ลิงลม ลิงแสม ค่างแว่นถิ่นใต้ อีเห็น พังพอนธรรมดา หรือ พังพอนเล็ก เม่น ชะมด ค้างคาว หนูพุกใหญ่ หนูท้องขาว ค้างคาวมงกุฏมลายู และชนิดที่น่าสนใจที่พบในน่านน้ำชายฝั่งทะเลบริเวณนี้คือ โลมาหัวบาตร สำหรับสัตว์เลื้อยคลานและสะเทินน้ำสะเทินบกที่พบได้แก่ เต่าเหลือง เต่าหับ เต่าดำ กิ้งก่าบินปีกส้ม หรือ กิ้งก่าบินปีกจุด กิ้งก่าหัวแดง กิ้งก่าสวน จิ้งเหลนบ้าน เหี้ย งูเหลือม งูเห่า งูกะปะ งูสิงธรรมดา งูเขียว คางคกบ้าน เขียดหลังปุ่ม กบหนอง กบน้ำเค็ม อึ่งขาคำ อึ่งอ่างบ้าน เขียดบัว หรือ เขียดจิก

ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 45 ชนิด ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุกด้าน ปลานิล ปลาซิว ปลาตะเพียนขาว ปลาไหล ปลาทู ปลาลัง ปลากระบอก ปลากระเบน ปลาตีน กุ้งแชบ๊วย หมึกกล้วย ปูแป้น ปูม้า หอยโข่ง หอยขม หอยแมลงภู่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ประเภทอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ผีเสื้อหางติ่งธรรมดา ผีเสื้อเณรจิ๋ว แมลงปอ ยุงน้ำจืด ตั๊กแตนหนวดสั้น จิ้งหรีด มวนแดง และแมลงดา เป็นต้น

จุดน่าสนใจ แก้

  • จุดชมทิวทัศน์เขาแดง
  • คลองเขาแดง
  • หาดสามพระยา
  • หาดแหลมศาลา
  • ถ้ำแก้ว
  • ถ้ำพระยานคร
  • ถ้ำไทร
  • เกาะโครำ
  • เกาะนมสาว
  • บึงบัว[6]

อ้างอิง แก้

  1. "Royal Decree specifying the area as a National Park in 1966" (PDF). Royal Gazette. 83 (53 ก): 420–423. 28 June 1966. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-10-11. สืบค้นเมื่อ 2022-12-13.
  2. "Khao Sam Roi Yot Wetland". Ramsar Sites Information Service. สืบค้นเมื่อ 25 April 2018.
  3. 3.0 3.1 "ข้อมูลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา 133 แห่ง". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022, no 4{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  4. Svasti, Pichaya (21 June 2018). "Close to Nature". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 21 June 2018.
  5. [1]กรมอุทยานแห่งชาติ
  6. หนังสือพิมพ์ออนไลน์ข่าวสด ชมทุ่งบัวบาน-300ยอด ท่องโลกใต้ทะเลหว้ากอ 26 ก.ค. พ.ศ. 2563 15:32 น.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้