อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพังงา[2] มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 250,000 ไร่ หรือ 400 ตารางกิโลเมตร[3] ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมอยู่มาก เป็นป่าชายเลนกว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยมีเนื้อที่ป่าโดยรวมทั้งจังหวัด 190,265 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 18.17 ของเนื้อที่ป่าชายเลนทั้งประเทศ (พ.ศ. 2539)[4] เขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงานับตั้งแต่เขตอำเภอเมืองพังงา เลียบตามชายฝั่งจนถึงเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง และบริเวณพื้นน้ำในทะเลอันดามัน ซึ่งมีพื้นที่ร้อยละ 80 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 42 เกาะ เช่น เกาะเขาเต่า เกาะพระอาตเฒ่า เกาะโบยน้อย เกาะโบยใหญ่ เกาะรายาหริ่ง เกาะพนัก เกาะห้อง เกาะปันหยี เขาพิงกัน เป็นต้น[5]

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
เขาตาปู
แผนที่
ที่ตั้งจังหวัดพังงา, ประเทศไทย
พิกัด8°21′0″N 98°29′0″E / 8.35000°N 98.48333°E / 8.35000; 98.48333
พื้นที่400 ตารางกิโลเมตร (250,000 ไร่)
จัดตั้ง29 เมษายน พ.ศ. 2524
ผู้เยี่ยมชม999,035 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
ขึ้นเมื่อ14 สิงหาคม พ.ศ. 2545
เลขอ้างอิง1185[1]
เขาตาปู (เกาะตาปู)

ประวัติและภูมิประเทศ แก้

ตามลักษณะโครงสร้างและธรณีสัณฐานเป็นทิวเขาที่เกิดในยุคครีเทเชียสกับยุคเทอร์เชียรีตอนต้น อายุประมาณ 36-136 ล้านปีมาแล้ว ภูมิสัณฐานและภูมิประเทศทั่วไปของบริเวณนี้ ยังเป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างที่เรียกว่า รอยเลื่อน มีชื่อทางธรณีวิทยาว่า "รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย" และ "รอยเลื่อนพังงา" นอกจากนั้นยังมีภูเขาหินตะกอน หินแปร แทรกสลับอยู่เป็นแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูนลูกโดด จากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติดังกล่าวทำให้เกิดเป็นช่อง โพรง หรือถ้ำมากมาย ส่วนภูเขาหินดินดานบางแห่งสลายตัวกลายเป็นหย่อมเนินเขาขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระเว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะซึ่งเป็นภูเขาหินปูนลูกโดดกระจายอยู่ตามฝั่งมากมาย

ได้มีการค้นพบหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2530 บริเวณเขาเต่าในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา โดยพบหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัย รวมถึงการฝังศพของผู้คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากการศึกษาของนักธรณีวิทยา โดยนำเอาซากดึกดำบรรพ์ของหอยบริเวณถ้ำและเพิงผาตามเกาะและหินโผล่ในอ่าวพังงา พบว่าในระหว่างยุคไพลสโตซีนกับไฮโลซีน คือ เมื่อประมาณ 11,000 ปี ที่ผ่านมาระดับน้ำทะเลลดต่ำลงมากในช่วงยุคน้ำแข็ง ภูเขาหินที่เป็นเกาะแก่งดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จึงอยู่บนที่ดอน ไม่มีสภาพเป็นเกาะดังที่เป็นอยู่ ต่อมาในช่วง 7,500-8,500 ปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลค่อยๆ ขยับสูงขึ้นจนสูงสุด คือ สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางในปัจจุบันถึง 4.5 เมตร และต่อมาในช่วง 4,000-5,000 ปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลขึ้นๆ ลงๆ (มีทั้งขึ้นสูงและลดต่ำกว่าปัจจุบัน) ในช่วงระหว่าง 2,700-3,700 ปีมาแล้วนั้น ระดับน้ำทะเลค่อนข้างจะคงตัว แต่ยังสูงกว่าปัจจุบันระหว่าง 1.5-2.5 เมตร และตั้งแต่ 1,500 ปีเป็นต้นมา ระดับน้ำทะเลสูงสุดกว่าปัจจุบัน 1.5 เมตร เช่นกัน

หลักฐานทางโบราณคดี แก้

ได้มีการค้นพบถึงการดำรงชีวิตของกลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ที่ทิ้งร่องรอยไว้ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาและบริเวณใกล้เคียง กล่าวคือ มนุษย์ซึ่งเคยอาศัยในเขตจังหวัดกระบี่และพังงา เมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว อาจสัญจรไปมาและเข้าอยู่อาศัยตามเพิงผา และถ้ำได้โดยสะดวก โดยมิต้องอาศัยแพหรือเรือ แต่เวลาผ่านไปในช่วงระดับน้ำทะเลขึ้นสูง กลุ่มชนที่สืบเชื้อสายต่อมาคงถอยร่นเข้ามาอาศัยอยู่บนพื้นที่ดอนภายใน และอาจมีกลุ่มชนที่รู้จักการทำแพ เรือ สัญจรไปในอ่าวพังงาบ้าง แต่แหล่งเหล่านี้อาจไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยถาวร ถ้ำและเพิงผา ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม หรือมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานใหม่ จนกระทั่งเป็นชุมชนที่มีความสามารถทางทะเล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานและการเข้ามาอยู่อาศัยของกลุ่มชนก่อนประวัติศาสตร์ในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ปรากฏจากแหล่งโบราณคดี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นงานสร้างสรรค์ ของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ เขาเขียน เกาะปันหยี เขาระย้า ถ้ำนาค และเกาะพระอาตเฒ่า

โบราณวัตถุที่พบที่เขาพังมีเครื่องกะเทาะหินหลายชิ้น นอกจากนั้นพบเศษภาชนะดินเผาแบบเรียบ ลายเชือกทาบ หินลับ แกนหิน และสะเก็ด ที่มีร่อยรอยการกะเทาะ แต่ไม่มีลักษณะเป็นเครื่องมือที่ชัดเจนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ที่ เกาะพระอาตเฒ่า ยังมีการค้นพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ แบบเรียบ แบบลายเชือกทาบ ชิ้นส่วนขวานหินขัด เครื่องมือสะเก็ดหิน กระดูกปลามีรอยขัดฝน

ภาพเขียนหินบนผนังในอ่าวพังงา ส่วนใหญ่เป็นภาพลายเส้น มีการระบายสีบ้าง มีทั้งวาดเส้นด้วยสี เขียนด้วยสีอย่างแท้จริง และเขียนด้วยการหยดสี สะบัดสี มักเขียนด้วยสีแดงและสีดำ มีสีอื่นๆ บ้างแต่เป็นส่วนน้อย รูปลักษณ์ที่เขียนมีทั้งลักษณะที่เป็นรูปร่างของคนและสัตว์ เช่น ภาพคนแบกปลา ปลา กุ้ง ค่าง นก ช้าง และรูปลักษณ์ของสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ลายเส้นคล้ายยันต์หรือตัวอักษร ลูกศร เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เรือ เป็นต้น[6]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Phang Nga Bay Marine National Park". Ramsar Sites Information Service. สืบค้นเมื่อ 25 April 2018.
  2. "Ao Phang-nga National Park". National Park website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 October 2014. สืบค้นเมื่อ 24 November 2014.
  3. "ข้อมูลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา 133 แห่ง". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022, no 25{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  4. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ทะเลไทย
  5. "Thailand: Ko Khao Phing Kan (James Bond Island), Ao Phang Nga (Phangnga Bay) National Park, Phang Nga Province". Pictures from History. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ 24 November 2014.
  6. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา hamanan.com

แหล่งข้อมูลอื่น แก้