อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่

อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ (ชื่อเดิม: อุทยานแห่งชาติคลองตรอน)1 ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีคลองขนาดใหญ่เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตสัตว์ทั้งหลายของที่นี่ และในพื้นที่อุทยานยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง เช่น ต้นสักใหญ่ ซึ่งประกอบเป็นคำขวัญประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ น้ำตกห้วยเนียม น้ำตกกกมอนแก้ว และยังมีถ้ำ ได้แก่ ถ้ำจัน ถ้ำเจดีย์ ถ้ำเสือดาว ถ้ำผาตั้ง และยังมียอดดอยที่คนทั่วไปรู้จักกันดีใน ชื่อยอดดอยภูเมี่ยง ยอดดอยที่สูงเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศไทย โดยอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ มีพื้นโดยรวมทั้งหมด 324,240.80 ไร่ หรือ 518.80 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2546 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 103 ของประเทศไทย[3]

อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่
น้ำตกคลองตรอน สถานที่ทางธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่
ที่ตั้งอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์
พื้นที่324,240.80 ไร่ (518.80 ตารางกิโลเมตร)[1]
จัดตั้ง1 ตุลาคม 2512
ผู้เยี่ยมชม4,358 [2] (2551)
หน่วยราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ

ภูมิประเทศ แก้

ประกอบไปด้วยป่าคลองตรอนฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ท้องที่อำเภอน้ำปาด อำเภอท่าปลา อำเภอทองแสนขัน อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

ป่าคลองตรอนฝั่งซ้าย ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงต่ำโดย มีแนวเทือกเขาที่สำคัญคือ เขาภูเมี่ยง เขาคว่ำเรือ เขาหงายเรือ เขาสามเหลี่ยม เขาหยวก เขาถนน เขาแดด เขาไม้ผา เขาตักบอน เขาน้ำย้อย เขาผักขวง และเขาจันทร์ ยอดเขาที่สูงที่สุดอยู่ด้านทิศตะวันออกคือ เขาภูเมี่ยง สูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แหล่งกำเนิดห้วยที่สำคัญไหลจากแนวตะวันออกไปสู่แนวตะวันตกและไหลสู่แม่น้ำน่าน ได้แก่ ห้วยคลองม้ามืด

 
ต้นสักใหญ่ภายในอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ ซึ่งประกอบเป็นคำขวัญประจำจังหวัดอุตรดิตถ์

ป่าคลองตรอนฝั่งขวา เป็นป่าเบญจพรรณผสมป่าเต็งรังบนเนินเขา และมีภูเขาสลับกัน ไม่สูงชันมากนัก บริเวณในวนอุทยานมีสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่ศึกษาธรรมชาติทางป่าไม้มากมาก ในบริเวณวนอุทยานกว้างขวางเต็มไปด้วยป่าที่เขียวขจีมากมาย

ภูมิอากาศ แก้

สภาพภูมิอากาศทั่วไปค่อนข้างร้อน ในฤดูร้อน

  • ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม - เดือนเมษายน อากาศร้อนและค่อนข้างร้อนยาวนานที่สุด
  • ฤดูหนาว เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม - เดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวเย็น
  • ฤดูฝน มีฝนตกชุกปานกลางเป็นระยะสั้น

พืชพันธุ์ และสัตว์ป่า แก้

ป่าคลองตรอนฝั่งซ้าย ป่าไม้ทั่วไปเป็น แบ่งเป็น 5 เขตได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ กระบก ตะเคียนหิน กระบาก ยอมหอม สมพง ยาง มะขามป้อม จำปีป่า สัก แดง ประดู่ ตะแบก ตระคร้อ ตีนนก สมอไทย เต็ง รัง เหียง พลวง ติ้ว แต้ว เป็นต้น สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา หมี เก้ง กระจง เสือลายเมฆ เสือปลา อีเห็น กระต่ายป่า หมูป่า ลิง ลิงลม พังพอน กระรอก กระแต และเม่น

ป่าคลองตรอนฝั่งขวา ในส่วนที่เคยเป็นวนอุทยานต้นสักใหญ่ เป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังบริเวณต้นสักใหญ่ ประกอบด้วยไม้สักหลายชั้น อายุมีตั้งแต่ขนาดใหญ่ ขนาดเล็กและลูกไม้ นอกจากนี้มี เต็ง รัง พะยอม แดง ประดู่ ตะแบก เป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณ และนอกจากจะมีพันธุ์ไม้มากมายหลายชนิดยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบอีกด้วย

ต้นสักใหญ่ แก้

 
ป้ายประวัติต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก ในจังหวัดอุตรดิตถ์

ต้นสักใหญ่ เป็นต้นไม้สักที่โตที่สุดในโลกปัจจุบัน[4] ที่ยังยืนต้นอยู่ และยังได้รับยกย่องให้เป็น 10 สุดยอดต้นไม้มหัศจรรย์ของไทย โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม[5] มีความสูงจากพื้นดิน 1.30 เมตร ลำต้นโต 9.85 เมตร (วัดเมื่อ 13 ตุลาคม 2525) สูงประมาณ 47 เมตร มีอายุซึ่งประมาณว่าไม่น้อยกว่า 1,500 ปี บริเวณรอบ ๆ ต้นสักใหญ่ประกอบด้วยต้นสักขนาดย่อม ลูกไม้สัก เป็นป่าเบญจพรรณซึ่งมีไม้สักเป็นองค์ประกอบโดยรอบป่าธรรมชาติ บริเวณวนอุทยานต้นสักใหญ่สภาพป่าธรรมชาติโดยทั่วไปสภาพดี ประกอบด้วยป่าเต็งรัง ไม้รัง ไม้เพียง ไม้พลอง เป็นองค์ประกอบและป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วย ไม้ประดู่แดง แดง มะค่าโมง พะยอม ป่าธรรมชาติดังกล่าวปรากฏตามเนินเขาสูง ต่ำ ๆ สลับกันไปเป็นทิวทัศน์สวยงามมาก

การเดินทาง แก้

ป่าคลองตรอนฝั่งซ้าย (ภูเมี่ยง) จากอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 107-108 (สามแยกบ้านป่าขนุน) แยกไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1047 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 36-37 สามารถเที่ยวชมถ้ำจัน และเมื่อเดินทางต่อไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1047 อีกประมาณ 11 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ โดยเดินทางตามทางแยกเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่

ป่าคลองตรอนฝั่งขวา (ต้นสักใหญ่)

  • จากทางหลวงสายพิษณุโลก - อุตรดิตถ์ ตรงกิโลเมตรที่ 104 - 110 เข้าไปตามทางหลวงหมายเลข 1047 ไปอีก 53 กิโลเมตร จึงถึงวนอุทยานต้นสักใหญ่
  • จากทางหลวงสายอุตรดิตถ์ - เขื่อนสิริกิติ์ - น้ำปาด แยกเข้าไปตรงกิโลเมตรที่ 64–65 เข้าไปตามทางหลวงหมายเลข 1047 ไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร จึงถึงวนอุทยานต้นสักใหญ่

สถานที่พัก แก้

มีพื้นที่กางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำ-ห้องสุขารวม ไว้ให้บริการ ท่านสามารถนำเต็นท์มากางเอง หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีค่าบริการอยู่หลายอัตราขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ

เชิงอรรถ แก้

หมายเหตุ 1: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีประกาศลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 เปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติจาก อุทยานแห่งชาติคลองตรอน เป็น อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ เพราะบริเวณที่ดินดังกล่าวเป็นถิ่นกำเนิดของไม้สักที่สำคัญของประเทศ และมีต้นสักใหญ่ขึ้นอยู่ในท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้การเรียกชื่ออุทยานแห่งชาติมีความเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของความโดดเด่นตามสภาพธรรมชาติในท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ [6]

อ้างอิง แก้

  1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. (2556). อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1103
  2. "สถิติข้อมูลนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-16. สืบค้นเมื่อ 2013-02-03.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำปาด ป่าปากห้วยฉลอง ป่าห้วยสีเสียด ป่าคลองตรอนฝั่งขวา และป่าคลองตรอนฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลแสนตอ ตำบลน้ำไคร้ ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด ตำบลถ้ำฉลอง อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา และตำบลน้ำพี้ ตำบลผักขวงตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๖ เก็บถาวร 2014-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๑๙ ก, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖, หน้า ๑
  4. "ชมต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก ที่วนอุทยานต้นสักใหญ่". Travel.thaiza.com. 2010-05-09. สืบค้นเมื่อ 2017-12-02.
  5. "ประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง ประกาศผลการคัดเลือก "๑๐ สุดยอดต้นไม้มหัศจรรย์ของไทย" ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-04-02. สืบค้นเมื่อ 2019-04-02.
  6. ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแจ้งเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติในจังหวัดอุตรดิตถ์. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=24155 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

17°41′N 100°57′E / 17.683°N 100.950°E / 17.683; 100.950